ประวัติศาสตร์ฉลองพระองค์ฮ่องเต้สีเหลือง



ช่วงนี้กำลังมีการรณรงค์ให้ใส่เสื้อเหลืองเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทำให้นึกถึงฮ่องเต้ (皇帝 หวงตี้) หรือจักรพรรดิของจีนที่มักสวมใส่ฉลองพระองค์สีเหลืองเหมือนกัน บทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอประวัติศาสตร์เรื่องนี้ให้ได้ทราบกันนะครับ

หลายคนน่าจะทราบว่าสีเหลืองเป็นสีของฮ่องเต้ และน่าจะเคยเห็นภาพของฮ่องเต้ในหนังจีนที่สวมชุดสีเหลืองสดๆ อยู่เสมอ แต่ตลอดประวัติศาสตร์จีนหลายพันปี ฮ่องเต้ทรงมีฉลองพระองค์หลากหลายรูปแบบ ไม่ได้มีเพียงฉลองพระองค์สีเหลืองที่ปรากฏหลักฐานว่าเพิ่งนิยมสวมใส่ในสมัยราชวงศ์สุยและถัง นอกจากนี้สีเหลืองที่นิยมใช้เป็นฉลองพระองค์ก็ไม่ใช่สีเหลืองสดแบบที่เข้าใจกัน

ฮ่องเต้ในราชวงศ์ของชาวฮั่น จะมีฉลองพระองค์พิธีการชื่อว่า เหมี่ยนฝู (冕服) ปรากฏในโจวหลี่ (周禮) หรือตำราขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยโจวได้กำหนดบรรทัดฐานและแบ่งระดับเหมี่ยนฝูเป็นหลายระดับ สวมใส่ได้ตั้งแต่โอรสสวรรค์ (天子) หรือกษัตริย์ลงมาถึงขุนนาง

เหมี่ยนฝูของโอรสสวรรค์ประดับสัญลักษณ์มงคลสิบสองประการ สวมคู่กับเหมี่ยนกวน (冕冠) ห้อยลูกปัดสิบสองสาย เป็นฉลองพระองค์ระดับสูงสุดสำหรับใช้ในพิธีการสำคัญ เช่น ราชาภิเษก หรือพิธีบวงสรวงต่างๆ ปรากฏใช้เป็นฉลองพระองค์ฮ่องเต้ตั้งแต่สมัยฮั่นตะวันออกสืบต่อมาจนถึงสมัยราชวงศ์หมิง

จักรพรรดิฮั่นกวงอู่ตี้ ทรงฉลองพระองค์เหมี่ยนฝู ทรงเหมี่ยนกวนสิบสองสาย ผลงานของเหยียนลี่เปิ่น (閻立本) จิตรกรและขุนนางสมัยถัง


เหมี่ยนฝู ประกอบด้วยเสื้อสีเสวียน (玄) เป็นสีของฟ้า ผ้านุ่งสีแดง (纁) เป็นสีของดิน จึงถูกเรียกว่า เสวียนอีซวินฉาง (玄衣纁裳) หรือ “เสื้อดำผ้านุ่งแดง” สวมคู่กับเหมี่ยนกวน (冕冠) หรือที่ครอบมวยผมมีแผ่นกระดานด้านบนห้อยสายลูกปัด

เสวียน (玄) เดิมไม่ใช่สีดำสนิท แต่เป็นสีดำเจือแดงออกเป็นสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำ  ซวิน (纁) เป็นสีแดงเจือเหลืองเหมือนอาทิตย์อัสดง

สีทั้งสองถูกยกย่องเป็นสีระดับสูงส่งที่สุดมายาวนาน เพราะสื่อถึงฟ้าดิน ปรากฏในคัมภีร์อี้จิง (易經) ว่าสีทั้งสองเป็นสีฉลองพระองค์ของหวงตี้ (黄帝) หรือจักรพรรดิเหลือง สีผ้านุ่งตามคัมภีร์เป็นสีเหลือง (黃) ซึ่งเป็นสีของดิน แต่ธาตุดินไม่มีทิศมงคล ทิศมงคลอยู่ทิศใต้เป็นธาตุไฟ สีประจำธาตุเป็นสีแดง (赤) จึงเอาสีแดงผสมสีเหลือง ได้เป็นสีซวิน (纁)

สำหรับสีเหลือง ในสมัยก่อนราชวงศ์สุยและถังเป็นสีที่สามัญชนนิยมสวมใส่ เพราะสามารถหาวัสดุธรรมชาติย้อมทำได้ง่าย ถือเป็นสีระดับล่าง แต่ก็มีหลักฐานว่าฮ่องเต้มีฉลองพระองค์สีเหลืองเหมือนกัน

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ฮ่องเต้มีฉางฝู (常服) หรือฉลองพระองค์สำหรับสวมใส่ทั่วไปห้าสีตามธาตุทั้งห้าสำหรับทรงตามฤดูกาล คือสีคราม (青) สีแดง (赤) สีเหลือง (黃) สีขาว (白) สีดำ (皁)   แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าสีเหลืองมีความพิเศษเหนือกว่าสีอื่นๆ

สีเหลืองเริ่มปรากฏความสำคัญในฐานะสีประจำฉลองพระองค์ในสมัยสุย ปรากฏในพงศาวดารราชวงศ์สุย หมวดธรรมเนียมปฏิบัติ《隋書·禮儀志》 ระบุว่า ฉางฝูของขุนนางเป็นสีเหลืองเหมือนสามัญชน เฉาฝู (朝服) หรือฉลองพระองค์ทางการของสุยเหวินตี้ (隋文帝) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์สุยเป็นสีเหลืองแบบเดียวกัน 

เหตุที่ราชสำนักสุยใช้สีเหลืองเป็นสีฉลองพระองค์และเครื่องแบบขุนนาง มีการวิเคราะห์ว่าเพราะราชสำนักของสุยเหวินตี้เน้นความประหยัดมัธยัสถ์ ไม่โปรดความฟุ่มเฟือย จึงนิยมใช้สีที่หาย้อมได้ง่ายในธรรมชาติ

สีเหลืองของจักรพรรดิสุยเหวินตี้ไม่ใช่สีเหลืองทั่วไป แต่เรียกว่าเจ่อหวง (赭黄) หรือ สีดินเหลือง ปรากฏในพงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับใหม่ บรรพราชรถและฉลองพระองค์《新唐書·車服志》 ระบุว่า ฉลองพระองค์เฉาฝูของสุยเหวินตี้เป็นชุดเหวินหลิ่งผาว (文绫袍 ชุดยาวคอกลมประเภทหนึ่ง) เป็นสีดินเหลือง

นอกจากนี้ยังถูกกล่าวถึงในเอกสารอื่น เช่น ถังลิ่วเตี้ยน บรรพราชยานและฉลองพระองค์《唐六典 ·輿服志》 เรียกสีดินเหลืองของฉลองพระองค์สุยเหวินตี้ว่า เจ้อหวง (柘黄) ทั้งนี้เพราะสีดินเหลืองย้อมด้วยสีจากต้นเจ้อมู่ (柘木 ต้นหม่อนจีน)

สีดินเหลือง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ochre yellow เป็นสีเหลืองเข้มอมแดง ออกไปทางสีส้มหรือน้ำตาล บ่อยครั้งจึงถูกเรียกว่าสีเหลืองแดง (赤黄)

ราชวงศ์สุยครองแผ่นดินจีนไม่นานก็ถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ถัง ราชสำนักถังได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากสมัยสุยมามาก และรับสีดินเหลืองหรือสีเหลืองแดงมาเป็นสีฉลองพระองค์เช่นเดียวกัน

พงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับเก่า บรรพราชยานและฉลองพระองค์《舊唐書·輿服志》 ระบุว่า ต้นรัชศกอู่เต๋อ (武德 ค.ศ. 618-626) รัชสมัยถังเกาจู่ (唐高祖) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ถัง เห็นว่าสีเหลืองแดงใช้เป็นสีฉลองพระองฮ่องเต้มาตั้งแต่อดีต จึงกำหนดให้ใช้เป็นสีประจำฉลองพระองค์ จึงห้ามสามัญชนสวมใส่โดยเด็ดขาด เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สีเหลืองกลายเป็นสีประจำพระองค์ของฮ่องเต้

มีความเชื่อว่า ถังเกาจู่ทรงเห็นว่าสีเหลืองแดงเป็นสีของพระอาทิตย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้ จึงเห็นควรใช้เป็นสีประจำฉลองพระองค์ และด้วยความเชื่อที่ว่า “ฟ้าไม่อาจมีอาทิตย์สองดวง” จึงสั่งห้ามไม่ให้ผู้อื่นใช้สีนี้เป็นอันขาด

เหตุผลอีกประการที่เป็นไปได้ อาจเพราะคนจีนในสมัยโบราณมีแนวคิดเรื่องคุณธรรมธาตุทั้งห้าประจำราชวงศ์ ราชวงศ์ถังเป็นคุณธรรมธาตุดิน สีของธาตุดินคือสีเหลือง จึงใช้สีดินเหลืองเป็นสีฉลองพระองค์

หลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงฉลองพระองค์ฮ่องเต้สมัยถัง คือภาพเขียน ปู้เหนี่ยนถู (步辇图) ผลงานของเหยียนลี่เปิ่น (閻立本) แสดงภาพจักรพรรดิถังไท่จงทรงฉลองพระองค์สีดินเหลือง เสด็จออกรับราชทูตจากธิเบต


ตั้งแต่สมัยถัง ผู้ชายนิยมสวมหยวนหลิ่งผาว (圓領袍) หรือชุดคลุมยาวคอกลมซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชนเผ่านอกด่านในสมัยราชวงศ์เหนือใต้เหมือนกันทั้งฮ่องเต้และสามัญชน จึงมีการกำหนดสีของเครื่องแต่งกายเพื่อแยกชนชั้นในช่วงรัชศกอู่เต๋อ โดยสีเหลืองแดงเป็นสีประจำองค์ฮ่องเต้เท่านั้น ขุนนางขั้นสามขึ้นไปแต่งกายสีม่วง ขุนนางขั้นห้าขึ้นไปแต่งกายสีแดง ขุนนางขั้นหกและเจ็ดแต่งกายสีเขียว ขุนนางขั้นแปดและเก้าแต่งกายสีคราม ส่วนสีเหลืองธรรมดาเป็นสีของข้าราชการระดับต่ำกว่าขั้นเก้า (流外) และสามัญชน

สำหรับการห้ามใช้สีเหลืองทั่วไปปรากฏใน ประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียมราชวงศ์ถัง 《唐會要》 ระบุว่า ในรัชศกซ่างหยวน (上元) ปีที่หนึ่ง (ค.ศ. 674) รัชสมัยถังเกาจง (唐高宗) เกิดเหตุผู้ว่าการเมืองลั่วหยาง (洛陽尉) สวมเสื้อสีเหลืองตอนกลางคืนแล้วถูกทำร้ายเหมือนสามัญชน ถังเกาจงจึงมีพระราชโองการห้ามไม่ให้ขุนนางสวมเสื้อผ้าสีเหลืองอีก

สีดินเหลืองยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในรัชสมัยถังเสฺวียนจง (唐玄宗) โดยในรัชศกเทียนเป่า (天寶) ปีที่สิบ (ค.ศ. 750) ได้เปลี่ยนสีธงประจำราชวงศ์จากสีแดงเป็นสีเหลืองแดง สะท้อนถึงคุณธรรมธาตุดิน

สำหรับสีเหลืองทั่วไป ราชสำนักไม่ได้ห้ามสามัญชนสวมใส่ พบหลักฐานการใช้งานเรื่อยมาตลอดราชวงศ์ถัง

นับตั้งแต่ราชวงศ์ถังเรื่อยมา สีเหลืองยังถูกใช้เป็นสีฉลองพระองค์คอกลมยาวที่เรียกว่า ผาว (袍) มาโดยตลอด ปรากฏในสมัยโฮ่วโจวว่าเมื่อบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายอัญเชิญจ้าวควงอิ้น (趙匡胤) หรือจักรพรรดิซ่งไท่จู่ (宋太祖) ให้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ที่สะพานเฉินเฉียว (陳橋) ก็เอาชุดผาวสีเหลืองมาสวมใส่ให้

พงศาวดารราชวงศ์ซ่ง บรรพราชยานและฉลองพระองค์ 《宋史·舆服志》ระบุว่าราชสำนักซ่งยังใช้สีดินเหลืองเป็นสีฉลองพระองค์เหมือนสมัยถัง และได้เพิ่มสีเหลืองอ่อน (淡黄) กับสีแดง (红) มาเป็นสีฉลองพระองค์ด้วย โดยกำหนดการใช้งานว่า

- ฉลองพระองค์ซานผาว (衫袍) เป็นเสื้อป้ายคอกลมแขนใหญ่ผ่าด้านข้าง สีดินเหลือง หรือ สีเหลืองอ่อน รัดพระองค์หยกสีแดง ใช้ในงานฉลองใหญ่

- ฉลองพระองค์คุ่ยผาว (䙆袍) เป็นเสื้อคอกลมผ่ากลางแขนใหญ่ สีดินเหลือง สีเหลืองอ่อน หรือ สีแดง ใช้เป็นทั้งฉางฝู (常服) คือสวมใส่ทั่วไป และเฉาฝู (朝服) หรือฉลองพระองค์ทางการ

- ฉลองพระองค์จ่ายผาว (窄袍) เป็นเสื้อป้ายแคบ สำหรับสวมใส่ลำลองทั่วไป

เหตุที่เพิ่มสีแดงเป็นสีฉลองพระองค์ เพราะราชวงศ์ซ่งเป็นคุณธรรมธาตุไฟ สีแดงเป็นสีประจำธาตุ ปรากฏในภาพเขียนฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งแทบทุกพระองค์ทรงฉลองพระองค์คุ่ยผาวสีแดงไม่ปักลวดลาย มีภาพเขียนบางพระองค์คือซ่งไท่จู่และซ่งไท่จง (宋太宗) ทรงฉลองพระองค์สีเหลืองอ่อนดูเกือบจะเป็นสีขาว มักทรงในพิธีไว้ทุกข์ ในขณะที่สีดินเหลืองเป็นระดับสูงสุด แต่มีการใช้งานไม่บ่อยนัก

จักรพรรดิซ่งไท่จู่ ทรงฉลองพระองค์ผาวซานสีเหลืองอ่อน


ต่อมาในราชวงศ์หยวนของมองโกล รัชศกเหยียนโย่ว (延祐) ปีที่สอง (ค.ศ. 1315) รัชกาลหยวนเหรินจง (元仁宗) ออกคำสั่งไม่ให้ขุนนางใช้กระโจมสีดินเหลือง และห้ามสามัญชนแต่งกายด้วยสีดินเหลือง

ในสมัยราชวงศ์หมิง ฮ่องเต้ยังคงใช้สีดินเหลืองเป็นสีประจำฉลองพระองค์ ดังที่พบหลักฐานคือภาพเขียนฮ่องเต้สมัยราชวงศ์หมิงจะทรงฉลองพระองค์สีเหลืองเข้ม แต่ก็ไม่ได้เป็นเฉดเดียวกันหมด บางพระองค์เป็นสีส้มหรือสีน้ำตาลแบบชัดเจน



ในสมัยราชวงศ์หมิง มีการออกประกาศเกี่ยวกับสีเหลืองอยู่บ่อยครั้ง สะท้อนถึงความสำคัญของสีเหลืองในฐานะสีประจำฉลองพระองค์มากขึ้น ซึ่งได้ขยายขอบเขตไปถึงสีเหลืองอื่นๆ นอกจากสีดินเหลืองอย่างมาก

- รัชศกหงอู่ (洪武) ปีที่หนึ่ง (ค.ศ. 1368) จักรพรรดิหมิงไท่จู่ (明太祖) ทรงออกคำสั่งห้ามสามัญชนแต่งกายด้วยสีเหลือง

- รัชศกหงอู่ปีที่สาม (ค.ศ. 1370) ออกคำสั่งห้ามไม่ให้เครื่องแต่งกายสามัญชนมีสีเหลืองประกอบอยู่

- รัชศกหงอู่ปีที่ยี่สิบสี่ (ค.ศ. 1394) ออกคำสั่งห้ามเครื่องแต่งกายขุนนางมีสีเหลือง

- รัชศกเทียนซุ่น (天順) ปีที่สอง (ค.ศ. 1458) ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ขุนนางใช้สีเหลือง (黃) สีเหลืองใบหลิว (柳黄) สีเหลืองสว่าง (明黄) และสีเหลืองขมิ้น (姜黄) เพิ่มเติม และมีการออกคำสั่งอีกครั้งในรัชศกหงจื้อ (弘治) ปีที่สิบเจ็ด (ค.ศ. 1504)

ความสำคัญของสีดินเหลืองยังสะท้อนให้เห็นในวรรณกรรมสำคัญสมัยราชวงศ์หมิงคือ ไซอิ๋ว 《西游记》 ระบุว่าราชาปีศาจเขาเดียว (独角鬼王 ต๊อกกั๊กกุ๊ยอ๋อง) สองตนนำชุดผาวสีดินเหลืองมาเป็นของกำนัลแด่ซุนหงอคง (孫悟空) แล้วแนะนำให้ซุนหงอคงสถาปนาตนเองเป็น ฉีเทียนต้าเซิ่ง (齊天大聖) หรือ ผู้ยิ่งใหญ่เสมอฟ้า นอกจากนี้กษัตริย์หลายเมืองในเรื่องไซอิ๋วก็สวมชุดสีดินเหลือง

ฉลองพระองค์สมัยหมิงมีการประดับลวดลายมากกว่าสมัยถังและซ่ง โดยในสมัยราชวงศ์หมิงตอนต้นพบว่ามีเพียงการปักดิ้นทองเป็นลายมังกรวงกลมสำหรับชุดผาวที่ใช้เป็นฉลองพระองค์ฉางฝู ภายหลังตั้งแต่รัชกาลหมิงอิงจง (明英宗) เป็นต้นมา พบการปักสัญลักษณ์มงคลสิบสองประการเพิ่มเติมบนชุดผาวสีดินเหลือง เรียกฉลองพระองค์ชนิดนี้ว่า กุ่นฝู (衮服) เป็นฉลองพระองค์ทางการในสมัยหมิง

จักรพรรดิเซวียนเต๋อ (宣德) หรือ หมิงเซวียนจง (明宣宗) ทรงฉลองพระองค์ฉางฝูสีดินเหลืองปักลายมังกร


จักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖) หรือ หมิงซื่อจง (明世宗) ทรงฉลองพระองค์กุ่นฝูสีดินเหลือง ปักสัญลักษณ์มงคลสิบสองประการ


ราชวงศ์ชิงของชาวแมนจู ไม่ใช้สีดินเหลืองเหมือนชาวฮั่น แต่แบ่งสีเหลืองใหม่เป็นสามระดับ เฉพาะพระราชวงศ์ฝ่ายชายมีดังต่อไปนี้

- หมิงหวง (明黃) คือสีเหลืองสว่าง เป็นสีประจำฉลองพระองค์ฮ่องเต้ ถือเป็นสีเหลืองระดับสูงสุด ภาษาอังกฤษเรียกว่า bright yellow

- ซิ่งหวง (杏黄) คือสีเหลืองอ่อน เป็นสีดอกกล้วยไม้ซิ่งหวง (杏黃兜蘭) เป็นสีฉลองพระองค์ หวงไท่จื่อ (皇太子) หรือรัชทายาท

- จินหวง (金黄) คือสีเหลืองทองออกส้ม เป็นสีฉลององค์ หวงจื่อ (皇子) หรือโอรสของฮ่องเต้

จักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆) หรือ ชิงเกาจง (清高宗) ทรงฉลองพระองค์เฉาฝูสีเหลืองสว่าง 


หนังจีนหลายเรื่อง มักเอาสีเหลืองสว่างแบบราชวงศ์ชิงไปใช้เป็นสีฉลองพระองค์ฮ่องเต้ในราชวงศ์อื่นๆ ด้วย แต่ความจริงแล้วสีฉลองพระองค์ในราชวงศ์อื่นเป็นจะสีดินเหลืองที่มีสีเข้มกว่าครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่