[บันทึกเดินทางของชาวสองล้อ ep.3] คนล่าฝัน...เยือนแดนดินถิ่นอีสาน

มาถึง EP.3 แล้วนะคะ   ทริปครั้งนี้จะไปที่ถิ่นอีสานกันค่ะ 

การเดินทางไปอีสานในยุคนั้น ถนนหนทางค่อนข้างดีค่ะ ไม่ต้องลากรถขึ้นเขาเหมือนในทริปใน EP ก่อน
ความท้าทายในการวางแผนเดินทางช่วงเวลานั้นจึงอยู่ที่  "ระยะทางไกล แต่ปั๊มน้อย" จึงทำให้ต้องวางแผนให้ดีและเผื่อหลงด้วย
ซึ่งปัจจุบันเราใช้ GPS ในการนำทางและแสดงพิกัดจุดสำคัญต่างๆ อาจจะมีคลาดเคลื่อนบ้างแต่ก็ช่วยได้มากทีเดียว

ในยุคก่อนไอเทมสำคัญที่ต้องมีคือ "แผนที่ทางหลวงประเทศไทย"
และความยากของมันอยู่ที่การกำหนดพิกัดปัจจุบันของตัวเองนี่ล่ะ
ใครที่เคยได้หยุดรถ  มองป้ายบอกเลขถนน และกางแผนที่ขนาดใหญ่เท่าผืนเสื่อ
คงต้องเคยมีคำถามผุดขึ้นในใจคำหนึ่งว่า "ที่นี่ที่ไหน (วะ)" 
หากใครผ่านประสบการณ์เหล่านี้มา ก็บอกเล่ากันได้นะคะว่า 
ไปหลงอยู่ที่ไหนมา และทำยังไงถึงกลับมาได้ค่ะ

ส่วนใครนึกภาพแผนที่ยุคก่อนไม่ออก  ลองแวะดูกระทู้ของคุณ Puriphanr ได้ค่ะ 
https://ppantip.com/topic/35635987

แอบกระซิบนิดนึงว่า  ฉบับที่พ่อแม่ใช้ ทันสมัยขึ้นมาหน่อย  มีแสดงพิกัดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และ ปั๊มน้ำมันนะคะ
แต่ก็ยังไม่ละเอียดขนาดถึงกับแสดงชื่อร้านอาหาร หรือ โรงแรมที่พักค่ะ ..... แต่ทุกวันนี้ google map ล่ะค่ะ

.
.
.
ครั้งนี้เป็นทริปเล็กๆ ของคู่รัก ที่มีใจรักในการผจญภัยสองล้อมารวมตัวกันค่ะ  ตั้งต้นจากกรุงเทพอนุสาวรีย์ชัยเช่นเคย
ใช้เส้นทางสายเอเซีย ผ่านจังหวัดสำคัญต่างๆในภาคกลาง ทั้ง ปทุมธานี อยุธยา สระบุรี ผ่านเรื่อยไปถึงนครราชสีมา
ก่อนจะมุ่งเข้าสู่ถิ่นอีสาน โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี  รวมระยะทางกว่า 700 กม. 
วิ่งยาวๆค่ะ วิ่งวนไปค่ะ  วิ่งทั้งวันทั้งคืน  พักรถบ้าง พักคนบ้าง ไหวก็วิ่งต่อค่ะ  


ในที่สุดก็วาร์ปมาถึงจังหวัดอุบลราชธานีค่ะ  มาถึงก็มองหาจุดเที่ยวกันก่อนเลย

ยุคนั้นอิทธิพลแฟชั่นเจ้าพ่อเชียงไฮ้มาแรงค่ะ 
แล้วก็คำว่า  "มะ"  กับ "จ๊าบ"  นี่ได้ยินจากพ่อแม่บ่อยมาก
ส่วนหนุ่มๆ ก็จะแต่งตัวแนวๆนี้กันค่ะ 


ขอเปิดที่ไฮไลท์ของ จ.อุบลฯ  ปักหมุดไว้เลยค่ะว่า หากมาอุบลอย่าลืมมาเยือน "ผาแต้ม" นะคะ
ตั้งอยู่ที่อำเภอ โขงเขียม  มีภาพเขียนพันปีอยู่มานานกว่ายุคประวัติศาสตร์ 
ในจุดนี้จะได้เห็นทิวทัศน์ริมโขงด้วย 

ผาแต้มถูกค้นพบโดยอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรค่ะ
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2524 ได้มีการเสนอให้จัดตั้งผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ 
ดังนั้นจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเมื่อไม่กี่สิบปีนี้เองนะคะ และภาพนี้เป็นช่วงปีแรกๆที่เปิดให้เข้าชม
.
.
.

และอีกธรรมชาติสรรสร้าง  บนทางหลวงแผ่นดินสาย 2368 ทางเข้าผาแต้ม ที่หากมีเวลาอยากให้ลองไปสัมผัส
คือ " เสาเฉลียง"  จะทำให้รู้สึกได้ถึงการไหลผ่านของกาลเวลา และความยิ่งใหญ่ของพลังลมและน้ำ
เกิดเป็นหินรูปร่างประหลาดและทรงความสมดุลไว้ได้อย่างน่าแปลกใจ  Unseen Thailand ค่ะ

 
และหากต้องการข้ามแดนไปยังฝั่งลาว ก็ทำได้ที่ จ.อุบลฯ  ผ่านทางด่านช่องเม็กเลยจ้า
ดินแดนปากเซ  รออยู่อีกฝากฝั่ง  การข้ามแดนไทย - ลาว ทำได้ไม่ยากด้วยน่ะ 


สำหรับคนชอบเล่นน้ำ  ต้องไม่พลาดที่   "แก่งสะพือ"  อยู่ในอำเภอ พิบูลมังสาหาร
จุดเด่นคือ  เป็นแก่งที่มีโขดหินเล็กน้อยใหญ่  เดือนเมษายน - พฤษภาคม เป็นช่วงที่เหมาะกับการเที่ยวแก่งนี้มาก
มีจัดงานสงกรานต์แก่งสะพือในทุกๆปี สืบสานยาวนานต่อเนื่องกันมานานเลย


หากชอบแบบเงียบสงบและอัพเลเวลการผจญภัยขึ้นมาอีกนิด  แนะนำที่ "แก่งตะนะ"  
พื้นที่อุทยานแห่งชาติ  ล้อมรอบด้วยป่า  และในหน้าฝนน้ำค่อนข้างเชี่ยวกราก


สำหรับคนขาดสติ  ก็มี "ที่พักคนเก่ง" ให้นะจ๊ะ

หลังจากเก็บความทรงจำที่จังหวัดอุบลฯ กันจนชุ่มปอด  ก็ได้เวลาเดินทางต่อไปสู่จังหวัดศรีสะเกษ
โดยไฮไลท์ของศรีสะเกษ คือ " เขาพระวิหาร "  มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่อำเภอกันทรลักษ์
บนเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 สาย ศรีสะเกษ - เชิงบันไดเขาพระวิหาร

แต่เดิมบริเวณใกล้ๆ จุดสิ้นสุดสาย 221 เดินไปไม่ไกลมากนัก 
จะมีการล้อมรั้วลวดหนามเอาไว้  เพื่อบอกว่า  สุดเขตแดนไทยที่ตรงนี้
หลังรั้วลวดหนาม เป็นบังเกอร์ทหารของกัมพูชา  สามารถตะโกนคุยกันได้เลย  แต่เขาไม่พูดไทยนะ
ตอนที่ถ่ายภาพนี้  ไทยกับกัมพูชายังไม่พิพาทเรื่องเขาพระวิหารหนักหน่วงถึงขนาดปิดตายชายแดนกัน

ส่วนในปัจจุบันจุดสิ้นสุดสาย 221  มีการพัฒนาเป็นสถานที่ชมวิวชายแดน  ตามรอยกันไปได้นะคะ
มีข่าวบอกว่า  ทะเลหมอก ณ ผามออีแดง  สวยงามไม่แพ้ที่ไหนเลยจ้า


ห่างจากเส้น 221 มาไม่ไกลนัก เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร หรือ  ผามออีแดง
ภาพแผ่นที่เขาพระวิหารตั้งตระหง่านในแดนไทย  


ธงชาติไทยโบกไสว  แจ้งให้รู้ว่านี่คือ อาณาเขตแดนสยาม
พ้นจากจุดนี้ไปก็มีแต่ดงระเบิดแล้ว  


ในปัจจุบันการขึ้นเขาพระวิหาร  สามารถขึ้นได้โดยการเดินทางเข้าไปทางฝั่งกัมพูชา ผ่านทางแดนช่องสะงำ

หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับกรุงเทพ  และสำหรับคนที่ไม่ได้ข้ามแดนไปยังฝั่งกัมพูชา ก็ไม่ต้องเสียใจนะคะ
สามารถแวะเก็บภาพความงามของ "ปราสาทหินเมืองต่ำ" และ "ปราสาทพนมรุ้ง" ได้ที่  จังหวัดบุรีรัมย์ 
เป็นเทวสถานที่ได้อิทธิพลจากศิลปะขอมหลอมรวมเข้ากับศาสนาฮินดู  สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษประมาณที่ 15 - 18



แดนดินถิ่นอีสานก็ถือเป็นอีกภาคที่ครบเครื่องในเรื่องการท่องเที่ยวค่ะ
ไม่ว่าจะชอบเที่ยวธรรมชาติ หรือ เชิงวัฒนธรรม  ชอบช๊อปปิ้ง หรือ ตีพุงนอนกลิ้ง lazy day เบาๆ 
ถิ่นนี้ก็ตอบสนองความต้องการได้  การเดินทางก็ไม่ลำบากเหมาะสำหรับพาลูกหลานไปพักผ่อนทั้งครอบครัวค่ะ
.
.
.
.
ใน EP. ต่อไป จะพาไปดู บ้านริมชายแดนที่ถูกระเบิดข้ามฝั่งมาลงค่ะ

ส่วนสำหรับ EP. ก่อนๆ  ติดตามอ่านได้ที่ 

[บันทึกเดินทางของชาวสองล้อ] ครั้งหนึ่งที่ "กอทูเล"
https://ppantip.com/topic/38772641

[บันทึกเดินทางของชาวสองล้อ ep.2] จากทีลอซูมุ่งสู่ที่สุดในแดนเหนือ
https://ppantip.com/topic/38774393

ขอบคุณค่ะ

พาพันขอบคุณ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่