[CR] 1 day trip Phuket : พาเหวนหนนหลาง (เที่ยวถนนถลาง และรอบๆ)

เมื่อเอ่ยถึง "ภูเก็ต" ใคร ๆ ก็ล้วนอยากเข้ามาทำความรู้จัก เพราะเปรียบเสมือนดินแดนสวรรค์ที่ไม่เคยเงียบเหงา อีกทั้งยังเต็มไปวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม อาหารการกินที่หลากหลาย รวมถึงไปสถานที่ท่องเที่ยวที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเก่าที่น่าประทับใจมากมาย

กระทู้นี้เราจะพาไปเหวนหนนหลาง (เที่ยวถนนถลาง และรอบๆ) กัน ยิ้ม
“เหวน ภาษาภูเก็ต แปลว่า เที่ยว”
มาคนเดียวเปลี่ยวๆ แต่ไม่โดดเดี่ยวมั้งน่ะ -*-
ตรอกตรงนี้เป็นที่ที่ ขายขนมอาโป้ง โอเอ๋ว ขนมพื้นเมืองภูเก็ต รวมทั้งมีหมี่หุ้นเจ้าโปรดของเรา 
มาเย็นมากแล้ว ร้านปิดหมดแล้วจร้าาาา
 ตึกเก่าแบบชิโน-โปรตุกีสถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2446 เนื่องจากการทำเหมือง แร่ที่เติบโตทำให้ชาวจีน และชาวตะวันตก ต่างหลั่งไหลเข้ามาที่เมืองภูเก็ตเป็นจำนวนมาก
เมื่อเข้าสู่เขตเทศบาลเมือง ภูเก็ตสิ่งแรกที่ผู้ไปเยือนจะรู้สึกสะดุดตาก็คือตึกเก่า ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในย่านการ ค้าเก่าเเก่ของเมือง เป็นอาคารสไตล์ ชิโนโปรตุกีสที่ผสมผสานเอาความเป็นศิลปะตะวันตกและตะวันออก เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
สี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ :
อาคารธนาคารชาร์เตอร์ และ อาคารสถานีตำรวจตำบลตลาดใหญ่ บริเวณถนนภูเก็ต ซึ่งเป็นอาคารสองชั้น ทรงชิโนโปรตุกิสที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี 
สำหรับอาคารเก่าทั้งสองนับเป็นอาคารประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นธนาคารแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในภูมิภาคนี้ประมาณปี พ.ศ.2450 สมัยรัชกาลที่5 โดยดำริของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดีฯ เจ้าเมืองภูเก็ตที่มองการณ์ไกล พัฒนาระบบเศรษฐกิจ การเงินการธนาคารของเมืองภูเก็ตสู่ระบบสากล ในการค้าขายแร่ดีบุก ยางพาราและสินค้าต่างๆไปยังต่างประเทศ ยังความเจริญรุ่งเรืองเกิดแก่ภูเก็ตในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง
ภาพวาด พระบรมสาทิสลักษณ์
 
ส่วนตัวเราชอบภาพนี้มาก เพราะว่า ได้ผสมผสานทุกอย่างไว้ในภาพเดียว 
ทั้งเรื่องอาหารพื้นเมืองของคนภูเก็ต วิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีน นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิม 
ภาพนี้บ่งบอกถึงความเป็นภูเก็ตไว้อย่างแท้จริง 
การอยู่ร่วมกันทั้งไทยจีน ไทย และ ไทยมุสลิม
ภาพวาด วิถีชีวิต (โอวต้าว คืออาหารคาวพื้นเมืองภูเก็ต) 
ความเป็นมาของโอวต้าว : 
โอต้าว หรือ โอวต้าว เป็นอาหารพื้นเมืองประจำจังหวัดภูเก็ต อาหารของชาวจีนฮกเกี้ยนที่ถูกนำเข้ามาที่จังหวัดภูเก็ต สิงคโปร์ และปีนังซึ่งโอวต้าวของแต่ละเมืองก็จะมีความแตกต่างกันไป ที่เรียกว่า โอต้าว เพราะ โอ(蚝) เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่าหอย
ความรู้เพิ่มเติม :
โอต้าว มีลักษณะคล้ายหอยทอดของภาคกลาง แต่เนื้อแป้งเหนียวนุ่มกว่า(แป้งสาลีผสมแป้งมันสำปะหลัง) เพราะผ่านการปรุงพิเศษ รสชาติจัดจ้าน มีส่วนผสมของหอยนางรมตัวเล็กๆ (ชาวภูเก็ตเรียก หอยติบ) ผสมกับเผือกนึ่ง ไข่ไก่ ไม่ใส่ถั่วงอก
น้อง Mardi เต่าแดงของชาวภูเก็ต 
ภูเก็ตถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความผูกพันและมีเรื่องราวกับเต่ามาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของขนมในเซ่นไหว้ "ประเพณีพ้อต่อ" ซึ่งถือว่ามีแห่งเดียวในประเทศไทย
ความรู้เพิ่มเติม : 
“พ้อต่อ” เป็นคำในภาษาจีนแปลว่าอนุเคราะห์ให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ยาก ประเพณีนี้จึงเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้กับบรรพบุรุษ ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ไม่จำเป็นต้องเป็นเครือญาติกัน แต่หมายถึงใครก็ได้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนบริเวณนั้น
ไฮไลต์หลักของงานคือ การอัญเชิญองค์พ้อต่อก๊งและขบวนแห่ขนมเต่าสีแดง ที่ทำจากแป้งข้าวสาลี ผสมกับน้ำตาล ปั้นเป็นตัวหรือเข้าพิมพ์อัดเป็นรูปเต่าแล้วทาสีแดง ด้วยความเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่แข็งแรงและอายุยืน บ้างก็ว่าเป็นการรำลึกถึงเต่ายักษ์ตัวหนึ่งที่ว่ายน้ำฝ่าคลื่นลมโหมกระหน่ำเพื่อไปช่วยพระถังซัมจั๋งให้รอดพ้นจากพายุในระหว่างอัญเชิญพระไตรปิฎก บนหลังเต่าจะมีการเขียนถ้อยคำอวยพรที่เป็นมงคล เช่น ขอให้ร่ำรวย แข็งแรง มีโชคลาภ อายุยืน
ชาวภูเก็ตเชื่อว่าการเซ่นไหว้ด้วยขนมเต่าสีแดง จึงเป็นการต่ออายุให้ตนเองและยังถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่อีกด้วย
น้อง Mardi ใส่ชุดบะบ๋า ชุดพื้นเมืองคนภูเก็ต ตรงตลาดดาวทาวน์ 
ความรู้เพิ่มเติม : 
บาบ๋า หมายถึงกลุ่มชนและเรียกทั้งชายและหญิงว่า “บาบ๋า” คือลูกผสมที่เกิดจากพ่อเป็นชาวจีนกับแม่ที่เป็นคนท้องถิ่น ซึ่งชาวบาบ๋าที่ภูเก็ตมีการรวมกลุ่มกันเป็นอย่างดี แล้วก็มีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของกลุ่มคนบาบ๋าไว้มากมาย
ตลาดดาวทาวน์ ตรงนี่มีร้านเปาะเปี๊ยะสดเจ้าโปรดของเราอยู่ด้วย
 
ตรอกตรงตลาดดาวทาวน์
แสงไฟส่องทาง
จบแล้ว 1 day trip Phuket : พาเหวนหนนหลาง (เที่ยวถนนถลาง และรอบๆ)
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับกระทู้ของเรานะจ๊ะ ยิ้ม
ชื่อสินค้า:   เที่ยวถนนถลาง จังหวัดภูเก็ต และรอบๆ
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่