ย้อนอดีตนอเทรอดาม เฉียดพินาศหลายครั้ง

วันที่ 16 เม.ย. 2562 เวลา 12:11 น.


ก่อนที่จะถูกเผาผลาญจากอัคคีภัย อาสนวิหารแห่งนี้เคยผ่านวิกฤตการณ์และการทำลายล้างมาหลายครั้ง 

อาสนวิหารแห่งนี้เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1160 โดยบิชอป โมอริซ เดอ ซุลยี แล้วเสร็จปี 1260 และได้รับการแก้ไขบ่อยครั้งในศตวรรษต่อๆ มา สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่จัดพิธี ทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่หลายครั้ง รวมถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส...

ในช่วงทศวรรษที่ 1790 อาสนวิหารถูกทำลายในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส โดยเฉพาะรูปเคารพทางศาสนาส่วนใหญ่เสียหายหรือถูกทำลาย แต่หลังจากนั้นได้มีการรื้อฟื้นความสำคัญ โดยในปี 1804 เป็นที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของนโปเลียนที่ 1  และใช้เป็นที่จัดงานศพของประธานาธิบดีฝรั่งเศสหลายท่าน ยุคสาธารณรัฐที่สาม ระหว่างปี 1870–1940 .... 

อาสวิหารแห่งนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ของปารีสแห่งฝรั่งเศส ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายครั้ง บางครั้งเกือบจะถูกคทำลายลงให้สิ้นซากเพราะถือเป็นสัญลักษณ์ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ก็รอดมาได้ สุดท้ายมาถูกเพลิงไหม้ในวันที่ 15 เมษายน 2019 

ค.ศ. 1160
เดิมที่นี่มีหอล้างบาป สร้างมาตั้งแต่ค.ศ. 452 และปรับสภาพเป็นโบสถ์พร้อมกับขยับขยายเรื่อยมา จนกระทั่งบิชอปแห่งปารีส มีดำริให้สร้างอาสนวิหารที่ใหม่ขึ้น จึงสั่งให้ทำลายโบสถ์ยุคโรมาเนสก์ และนำวัสดุมาสร้างศาสนสถานแห่งใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมแบบโกธิก ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เริ่มแพร่หลายในฝรั่งเศส....

.ค.ศ. 1163
วางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างนอเทรอดาม เดอ ปารีส์ (Notre-Dame de Paris) หรืออาสนวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (นอเทรอดาม แปลว่าพระแม่มารีย์)   

 
นอเทรอดามแห่งปารีส เมื่อปี 1912 หลังบูรณะเสร็จ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาพจาก Bibliothèque nationale de France.... 

  ค.ศ. 1345
อาสนวิหารสร้างแล้วเสร็จ มีความยาว 128 เมตร กว้าง 48 เมตร หอระฆังคู่ที่ด้านหน้าสูง 69 เมตร รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบกอทิกฝรั่งเศส (French Gothic architecture) ในยุคต้น เอกลักษณ์สำคัญคือ ถาปนิกสร้างผนังให้สูงขึ้นโดยการแบ่งออกเป็นสี่ระดับชั้น ส่วนการรับน้ำหนักของผนังและกำแพงก็ใช้การคค้ำยันแบบใหม่ที่เรียกว่าครีบยันแบบปีกนก หรือ flying buttress ตั้งอยู่ด้านข้างของอาคาร อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอานสวิหารแห่งนี้

ค.ศ. 1548 
ฝรั่งเศสเกิดความแตกแยกทางศาสนาระหว่างกลุ่มนิกายคาทอลิกกับนิกายโปรเตสแตนต์ โดยกลุ่มอูว์เกอโน (Huguenots) ซึ่งเป็นชาวคริสเตียนนิกาย โปรเตสแตนต์ ได้บุกเข้ามาทำลายประติมากรรมที่อาสนวิหาร เพราะถือว่าเป็นการบูชารูปเคารพ ขัดต่อหลักการตีความพระคัมภีร์ของนิกายโปรเตสแตนต์

 
โครงสร้างของอาสนวิหารด้านข้าง มีส่วนค้ำยันเพื่อรับน้ำหนักจากหลังคาโค้งตรงกลาง ภาพจาก Dictionnaire raisonné de l’architecture française du XIe au XVIe siècle

ค.ศ. 1786 
ทำลายรูปบูชาขนาดยักษ์ของนักบุญคริสโตเฟอร์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1413 ตั้งอยู่ข้างเสาตรงทางเข้าทิศตะวันตก

ค.ศ. 1793
หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการต่อต้านศาสนจักร ฝูงชนบุกเข้ามาทำลายอาสนวิหาร เช่นตัดเศียรรูปสลักของกษัตริย์ชาวอิสราเอลโบราณในพระคัมภีร์ไบเบิล เพราะเข้าใจว่าเป็นเศียรกษัตริย์ฝรั่งเศส มีการเปลี่ยนอาสนวิหารเป็นโกดัง และใช้เป็นที่เฉลิมฉลองเทพีแห่งเสรีภาพและลัทธิบูชาเหตุผล 

การฉลองเทศกาลแห่งเหตุผล หรือ Fête de la Raison ที่อาสนวิหารนอเทรอดาม ปี 1793

 
ค.ศ. 1801
นโปเลียน โบนาปาร์ต ที่ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลโดยควบคุมความสงบของประเทศหลังการปฏิวัติเอาไว้ได้ ยินยอมให้มีการบูรณะอาสนวิหาร ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของสถานที่แห่งนี้ หลังผ่านเรื่องเลวร้ายยุคปฏิวัติ

ค.ศ. 1804
นโปเลียน โบนาปาร์ต ปราบดาภิเษกเป็นจักรรรดิแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่อาสนวิหารแห่งนี้ และทรงเข้าพิธีเสกสมรสกับอาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์แห่งออสเตรีย ในปี 1810 
พระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียน ที่ 1 ที่อาสนวิหารนอเทรอดาม วาดโดย Jacques-Louis David

ค.ศ. 1831
วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักประพันธ์ และรัฐบุรุษชาวฝรั่งเศส เขียนเรื่อง "คนค่อมแห่งนอเทรอดาม" (The Hunchback of Notre Dame) โดยใช้อาสนวิหารเป็นฉากสำคัญ และทำให้คนทั่วโลกรู้จักสถานที่แห่งนี้มากขึ้น

ค.ศ. 1871
ขบวนการคอมมูนแห่งปารีส กลุ่มสังคมนิยมหัวรุนแรง ปิดล้อมเมืองหลวงและปลุกระดมให้เผาอาสนวิหารทิ้ง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่โดยศาสนจักร และโจมตีว่าคริสตจักรคาทอลิกสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมของสถาบันกษัตริย์ แต่การทำลายล้างไม่สำเร็จ
กระสอบทรายมาเรียงบังไว้เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับประตูใหญ่ด้านหน้าของนอเทรอดาม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาพจาก Bibliothèque nationale de France

ค.ศ. 1844
พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งฝรั่งเศส (ยกเว้นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3) ทรงสั่งให้บูรณะอาสนวิหารครั้งใหญ่ กินเวลา 25 ปี.

ค.ศ. 1944
กรุงปารีสที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของนาซี ได้รับการปลดปล่อยจากกองทัพสัมพันธมิตร อาสนวิหารได้รับความเสียหายเล็กน้อยที่กระจกสีสมัยกลาง
ประติมากรรมที่ประตูทางเข้าด้านหน้า ได้รับการบูรณะหลังถูกทำลายในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ภาพถ่ายเมื่อปี 1920 จาก Bibliothèque nationale de France

ค.ศ. 1963
ฉลอง 800 ปี มีการทำความสะอาดหน้าบันที่ขมุกขมัว จนเป็นสีขาวสะอาดตาเหมือนเดิม

15 เมษายน 2019
เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เครื่องบน หรือส่วนหลังคาที่เป็นไม้ สร้างความเสียหายอย่างหนักต่ออาสนวิหาร


มีอะไรเสียหายบ้าง?

ทางการฝรั่งเศสระบุว่าแม้เจ้าหน้าที่จะเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายใดๆได้ โดยเผยเพียงว่า โครงสร้างหลังคาของวิหารซึ่งถูกสร้างด้วยไม้โอ๊คจากศตวรรษที่ 13 ได้พังเสียหายทั้งหมด

หอคอยสูงกลางซึ่งตั้งตระหง่านกลางวิหาร ถูกไฟผลาญเสียหายจนพังถล่มลงมาด้านล่าง ขณะที่ภายในตัววิหารซึ่งประดับด้วยกระจกสีเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเยซูและคริสต์ประวัติ รูปปั้น รูปแกะสลักได้รับความเสียหาย งานแกะสลักไม้และภาพวาดเก่าแก่ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน แต่ในเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้อย่างชัดเจน
ขณะที่ทางการระบุว่าตัวโครงสร้างของวิหาร ร่วมถึงรูปปั้นรูปแกะสลักภายนอกวิหารนั้นจากการประเมินยังคงสมบูรณ์ดี

เจ้าของแบรนด์ Gucci มอบเงินบูรณะกว่า 3,500 ล้านบาท
นาย ฟรองซัวส์ อ็องรี-ปิโนต์ ประธานกลุ่มบริษัท Kering S.A. ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการสินค้าแบรนด์หรูหลายแบรนด์อย่าง Gucci, Yves Saint Laurent, Balenciaga และ Alexander McQueen ได้มอบเงินช่วยเหลือในการบูรณะทันทีมากถึง 100 ล้านยูโร หรือกว่า 3,500 ล้านบาท เพื่อการบูรณะอาสนวิหารนอเทรอดามที่ถูกไฟเผาทำลายจนเสียหายหนัก

เครดิตโพสต์ทูเดย์
(อ่านข่าวเต็มได้ที่โพสต์ทูเดย์)
 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่