เพลงดังในหนังมาร์เวล: ทำไมซาวด์แทร็คจึงสำคัญในหนังแต่ละเรื่อง

Bioscope Magazine  


เพลงหรือซาวด์แทร็คในหนังคือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ใช้สร้างบรรยากาศหรือแม้แต่ระบุช่วงเวลา ห้วงอารมณ์ของตัวละคร มากไปกว่านั้น มันยังช่วยกำหนดธีมหลักของหนังทั้งเรื่องได้อย่างชัดเจนไม่แพ้องค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเอง (ส่วนใหญ่พบได้จากภาพยนตร์ที่ว่าด้วยนักดนตรี) หรือเพลงเก่าที่เราล้วนเคยได้ยินมาแล้ว

ซาวด์แทร็คที่ดีนั้นมันช่วยทำให้หนังมีความ ‘เฉพาะตัว’ มากขึ้น และเป็นเหตุให้เราได้ยินเพลงบางเพลงแล้วมักหวนนึกถึงตัวหนังโดยไม่ได้ตั้งใจ และด้วยกลวิธีนี้ ค่ายหนังใหญ่อย่างมาร์เวลเองก็มักจะใช้เพลงประกอบเพื่อสร้างให้หนังแต่ละเรื่องมีกลิ่นอายของตัวเองอย่างชัดเจน ในจักรวาลที่เหล่าตัวละครข้อเกี่ยวกันมากมาย แต่เรากลับสามารถแยกแยะบรรยากาศของหนังแต่ละเรื่องออกจากกันได้จากโทนและดนตรี


วัดกันจากเรื่องล่าสุดของค่ายอย่าง Captain Marvel (2019, แอนนา โบเด็น กับ ไรอัน เฟล็ค) หนังซูเปอร์ฮีโร่สาวที่อุบัติขึ้นก่อนหน้าการสร้างทีม Avengers มันเต็มไปด้วยบทเพลงยุค 90 ที่พาเราย้อนกลับไปหายุครุ่งเรืองของดนตรีกรันจ์และบริตป๊อปในปี 1995 (แถมตัวละครยังสวมเสื้อยืดกรีนลาย Nine Inch Nails อีกแน่ะ!) และเต็มไปด้วยวงสำคัญๆ อย่าง Elastica, Republica และ Nirvana “ตอนหนังเริ่มสร้าง เราทำเพลย์ลิสต์เพลงออกมาเยอะมากๆ แล้วแบ่งให้ทีมงานกับนักแสดงบางคนได้ลองฟัง แล้วในเวลาต่อมา บางเพลงจากลิสต์นี้ก็ไปอยู่ในหนัง” เฟล็คสาธยาย “แล้วในกระบวนการโพสต์โปรดักชั่น เราก็ใส่บางเพลงลงในบางฉาก ดูว่ามันเข้ากันไหม

“เราต้องทำงานร่วมกับเควิน (ไฟกี -ประธานสตูดิโอมาร์เวล) กับทีมงานมาร์เวลทั้งหมดเลย เพื่อจะดูว่าเพลงไหนเหมาะสมกับหนังมากที่สุด”


Guardians of the Galaxy (2014, เจมส์ กันน์) คือหนังซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวลที่โดดเด่นที่สุดในแง่ของการเลือกใช้เพลง เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งในการระบุตัวตนของ ปีเตอร์ ควิลล์ หรือ สตาร์ลอร์ด (คริส แพร็ตต์) ชายผู้มิกซ์เพลงที่ได้มาจากแม่ชาวมนุษย์ของเขา และเพลงเหล่านั้นล้วนเป็นเพลงจากยุค 70-80 ที่สะท้อนชีวิตภาพรวมของเธอ บทเพลงเหล่านี้จึงกำหนดธีมและบรรยากาศหนังโดยรวมทั้งหมดได้อย่างลงตัว ทั้งหนังยังเลือกเปิดด้วยเพลง I’m Not In Love โดยวง 10cc. วงจากอังกฤษที่ประสบความสำเร็จสุดขีดกลางยุค 70 เช่นเดียวกับเพลงเด่นสุดๆ ของหนังอย่าง Hooked on a Feeling โดยวงร็อคสัญชาติสวีเดน Blue Swede ที่อธิบายความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างแม่กับพ่อของควิลล์ (จากมุมมองของผู้เป็นแม่เพียงฝ่ายเดียว)

ตัวกันน์ซึ่งเป็นผู้กำกับออกตัวว่าเขาไม่ได้ฟังเพลงจากยุค 70 นัก แต่ด้วยเนื้อเรื่องที่งอกเงยขึ้นมาจากคอมิกและบรรยากาศที่หนังควรจะเป็น เขาจึงตัดสินใจว่าบทเพลงที่ปรากฏในหนังควรมาจากยุคนั้น ซึ่งเพลงป๊อปกำลังเฟื่องฟู “ผมตัดสินใจว่าเทปคาสเซ็ตคือสิ่งเดียวที่เขา(ควิลล์)ใช้เชื่อมโยงกับแม่ที่ดาวเคราะห์โลกของตัวเอง และมันจำเป็นอย่างมากที่จะชูประเด็นนี้ในหนัง” กันน์เล่า

“ผมชอบไอเดียที่ว่าเพลงป๊อปจากยุค 70 มันสวนทางกับกันบรรยากาศความแปลกแยกของสังคมในยุคนั้น ผมเลยนั่งดาวน์โหลดเพลงป๊อปยุค 70 มาสักห้าร้อยแทร็คได้ พวกเพลงดังๆ ที่ติดท็อปชาร์ต 40 ขึ้นไป แล้วเอามานั่งฟังทั้งหมด เลือกมาให้เหลือสักร้อยเพลง จนเหลือแค่ยี่สิบ แล้วเอามานั่งฟังตลอดเวลาเลย บางครั้งก็ได้แรงบันดาลใจจากเพลงเหล่านี้ในการสร้างฉากแต่ละฉากด้วย หรือบางทีได้ฉากแล้วแต่ต้องมีเพลงประกอบใส่เข้าไปด้วย”

เช่นเดียวกันกับหนังเทพเจ้าสายฟ้าภาคสาม Thor: Ragnarok (2017, ไทกา ไวตีติ) ที่นำเพลง Immigrant Song ของวงร็อคยุค 70 จากอังกฤษอย่าง Led Zeppelin มาใช้เป็นซาวด์แทร็คหลักของเรื่อง ซึ่งเราจะได้ฟังตั้งแต่ฉากเปิดตัวเมื่อ ธอร์ (คริส เฮมสเวิร์ธ) ปะทะกับเซอร์เธอร์ไปพร้อมๆ กับเสียงกรีดกีตาร์เร่าร้อนของ จิมมี เพจ และมันยังเป็นเพลงเดียวกันกับที่ธอร์ระเบิดพลังที่แท้จริงของเขาขณะต่อสู้ในแอสการ์ด


“ปราศจากเพลงนี้ หนังทั้งเรื่องคงแหลกเป็นผุยผง” ไวตีติเล่าอย่างอารมณ์ดี “ผมว่ามันเป็นเพลงที่เหมาะกับตัวละครสุดๆ แล้วครับ!” นั่นเพราะ Immigrant Song เขียนขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเทพเจ้าแห่งนอร์เวย์ กับเนื้อเพลง ‘เรามาจากแผ่นดินที่มีน้ำแข็งและหิมะ / จากที่มีดวงอาทิตย์ยามเที่ยงคืนซึ่งน้ำพุร้อนไหลผ่าน / ค้อนเหล็กจากเทพเจ้านำทางเรือเราสู่ดินแดนแห่งใหม่ / วัลฮัลลา, เรากำลังมาแล้ว’

น่าจับตาว่าใน Avengers: Endgame (2019, พี่น้องรัสโซ) จะมีบทเพลงเด่นใดๆ ที่เหมาะกันกับเนื้อเรื่องอันว่าด้วยการกอบกู้โลกและต่อกรกับวายร้ายอย่างธานอสหรือไม่ หากแต่วัดจากผลงานก่อนๆ ของผู้กำกับและจากค่ายแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าเราจะได้ฟังเพลงเจ๋งๆ ขณะเฝ้ามองการต่อสู้ของซูเปอร์ฮีโร่เหล่านี้

MTHAI
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่