บทความนี้ จะขอเล่าเรื่องของสัตว์สายพันธุ์หนึ่งที่เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่กินเวลานานนับล้านปี แต่สายพันธุ์นี้กลับดำรงเผ่าพันธุ์ของมันมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ หากเปรียบเทียบการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เหมือนวันสิ้นโลก ในประวัติศาสตร์โลกอันยาวนาน 4.5 พันล้านปีของเรา ก็เคยเกิดวันสิ้นโลกมาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง และครั้งที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อน ในช่วงรอยต่อยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (Permian–Triassic) มันคือการสูญพันธุ์ครั้งที่ 3 และถูกเรียกว่า การล้มตายครั้งใหญ่ (The Great Dying) ที่กวาดล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกไปกว่า 95% ในขณะที่สัตว์ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เห็นรุ่งอรุณของยุคใหม่ มีสัตว์ชนิดหนึ่งได้กัดฟันสู้ในโลกที่ทุกสิ่งกำลังจะตายลง แต่ยังยืนหยัดผ่านพ้นมาได้ และได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
สี่ขาตัวน้อยผู้รอดชีวิตจากวันสิ้นโลก
"รูปลักษณ์ของมหาทวีปแพนเจียเมื่อครั้งอดีตกาลในช่วงยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก"
ยุคเพอร์เมียน เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 298 ล้านปีก่อน และสิ้นสุดลงเมื่อ 250 ล้านปีก่อน ทวีปในตอนนี้ยังไม่ได้แยกตัวออกจากกัน แต่รวมตัวเป็นมหาทวีปขนาดใหญ่หนึ่งเดียว เรียกว่า แพนเจีย (Pangaea) โดยสัตว์ที่โดดเด่นในยุคนี้ ได้แก่ เหล่า Therapsid หรือสัตว์เลื้อยคลานกึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในช่วงกึ่งกลางการวิวัฒนาการจากสัตว์เลื้อยคลานไปเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตัวอย่างสัตว์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ กอร์โกนอปส์ (Gorgonops) สัตว์นักล่าคล้ายหมาป่า ที่มีเขี้ยวใหญ่ 1 คู่เป็นเอกลักษณ์ คล้ายคลึงกับเสื้อเขี้ยวดาบที่หลายคนรู้จักกันดี และสัตว์ที่เป็นตัวเอกในบทความนี้ คือ ลีสโทรซอรัส (Lystrosaurus) ซึ่งเป็นสัตว์กินพืชตัวอ้วนหน้าตาคล้ายหมูผสมกิ้งก่า มีเขี้ยวเล็กๆ 1 คู่ที่บริเวณปาก เชื่อว่า ช่วยในการขุดหาพืชที่อยู่ใต้ดินกินเป็นอาหาร สายพันธุ์ของพวกมันมีตั้งแต่ขนาดเท่าลูกสุนัข ไปจนถึงตัวขนาดเท่าหมู
"ลีสโทรซอรัส สัตว์กินพืชที่พบได้ทั่วไปในช่วงยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก พวกมันมีขาที่แข็งแรง ช่วยในการขุดดินเพื่อสร้างรัง และเขี้ยวสำหรับกวาดหาต้นพืชที่ซ่อนอยู่ใต้ดิน ความสามารถเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกมันรอดพ้นการสูญพันธุ์มาได้"
เช้าอันสงบสุขวันหนึ่งทางตอนเหนือของทวีปแพนเจียที่ปัจจุบัน คือ ไซบีเรีย ฝูงลีสโทรซอรัสกำลังเล็มต้นเฟิร์นอยู่ในป่าอันเขียวขจี โดยมีกอร์โกนอปส์คอยเฝ้ามองดูพวกมันอยู่ นานมาแล้วที่สัตว์กินเนื้อตัวนี้คอยล่าเหล่าลีสโทรซอรัสเป็นอาหาร เนื่องจากลีสโทรซอรัสนั้นทั้งอุ้ยอ้าย เชื่องช้า และแทบไม่มีอาวุธป้องกันตัวใดๆเลย ทำให้พวกมันตกเป็นเหยื่อของเหล่ากอร์โกนอปส์ได้อย่างง่ายดาย แต่วันนี้จะมีเหตุการณ์สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกมันไปตลอดกาล
"ในภาพ คือ สัตว์ในกลุ่มกอร์โกนอปซิดส์(Gorgonopsid) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ชื่อว่า อินโนสเตรนเซเวีย (Inostrancevia) กำลังออกล่าสคูโตซอรัส (Scutosaurus) พวกมันเป็นนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในช่วงปลายยุคเพอร์เมียน และมีเขี้ยวดาบขนาดยาวกว่า 15 เซนติเมตร เพื่อใช้สังหารสัตว์กินพืชขนาดใหญ่โดยเฉพาะ"
พื้นดินที่พวกมันยืนอยู่ คือ ส่วนหนึ่งของภูเขาไฟยักษ์ หรือที่เรียกกันว่า ซูเปอร์วัลคาโน่ (Supervolcano) และลึกลงไปใต้ดิน หินหลอมเหลวพร้อมแรงดันมหาศาลที่สะสมมานานนับล้านปี กำลังจะปลดปล่อยพลังของมันในอีกไม่ช้า
ในวันนั้น เหล่าสิ่งมีชีวิตรอบภูเขาไฟต่างตื่นตกใจกับเสียงระเบิดกัมปนาทที่ไม่มีใครเคยพบเจอมาก่อน โลกได้กรีดร้องออกมาพร้อมพื้นดินที่ปริแตกออกเป็นทางยาวหลายไมล์ กำแพงสีแดงฉานไหลทะลักออกมาจากรอยแยกราวกับอสูรร้ายที่ถูกปลดปล่อยจากนรก ธารลาวาที่ร้อนกว่าหนึ่งพันองศาถาโถมเข้าใส่ทุกชีวิตที่ขวางหน้า กลุ่มควันพิษสีแดงดำที่ประกอบไปด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปลดปล่อยออกมาพร้อมกับลูกไฟยักษ์ร่วงหล่นจากท้องฟ้า สิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟต่างพากันวิ่งหนีตาย แต่ส่วนใหญ่ล้วนไม่รอดชีวิต ถ้าไม่ตายจากควันพิษ ธารลาวาอันระอุ ก็ตายจากแรงระเบิด
มหาภูเขาไฟแห่งไซบีเรียได้ตื่นขึ้นมาแล้ว พร้อมกับพรากชีวิตนับหมื่นหรือแสนแทบจะในทันที แต่ทั้งหมดนี้ เป็นแค่การเริ่มต้น หายนะของจริงกำลังจะตามมาในอีกไม่ช้า และคราวนี้ทุกชีวิตบนโลกทั้งบนบก และในทะเล จะต้องเผชิญบททดสอบอันแสนสาหัสที่ไม่มีใครหนีรอดไปได้
"ร่องรอยของภูเขาไฟยักษ์ในไซบีเรียที่เคยปะทุขึ้นในช่วงปลายยุคเพอร์เมียน ขนาดของมันกินพื้นที่กว่า 2.7 ล้านตารางไมล์ แสดงให้เห็นถึงความใหญ่โตของภูเขาไฟลูกนี้ได้เป็นอย่างดี"
หลังการปะทุ ภูเขาไฟยักษ์ได้ปลดปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเหล่านี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ก๊าซเรือนกระจก เมื่อก๊าซเหล่านี้ปกคลุมชั้นบรรยากาศ มันจะดูดซับคลื่นรังสีจากดวงอาทิตย์ ทำให้แสงอาทิตย์ไม่อาจสาดส่องลงไปพื้นโลกได้ อีกทั้งซัลเฟอร์ไดออกไซด์เมื่อจับตัวกับโมเลกุลของน้ำในอากาศ จะทำให้ฝนที่ตกลงมามีสภาพเป็นกรด ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตอย่างรุนแรง
เมื่อโลกเกิดสภาวะเรือนกระจก ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก หน้าหนาวนั้นหนาวสุดขั้ว ส่วนหน้าร้อนก็ร้อนตับแตก แต่ก็ยังไม่เลวร้ายเท่าม่านอนุภาคที่บดบังแสงอาทิตย์ ทำให้พืชไม่อาจสังเคราะห์อาหารได้ และทยอยตายจนหมดสิ้น เหล่าสัตว์กินพืชที่ไม่มีอาหารกินก็ล้มตายตามเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เหลือรอดต้องต่อสู้กันเองเพื่อแย่งชิงแหล่งอาหารที่เหลืออยู่น้อยนิด ชะตากรรมนี้หลีกหนีไม่พ้น แม้แต่กับจ้าวป่าในยุคนั้นอย่างกอร์โกนอปส์ เมื่อฝูงสัตว์กินพืชที่เคยร่อนเร่อยู่ทั่วไปให้พวกมันเลือกจับกินได้อย่างง่ายดาย กลับลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย เมื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆไม่มีอาหารกิน ชะตากรรมของเผ่าพันธุ์บนโลกก็นับถอยหลังสู่หายนะ
"ภูเขาไฟไม่เพียงต่อพ่นของเหลวร้อนออกมาเท่านั้น แต่ยังปล่อยก๊าซพิษออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นซัลเฟอร์ไดออกไซด์, มีเทน, คาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ ซึ่งก๊าซเหล่านี้ ล้วนเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และทำลายระบบทางเดินหายใจ"
สำหรับในทะเล สิ่งมีชีวิตเผชิญหายนะที่เลวร้ายยิ่งกว่า เมื่อผลกระทบจากสภาวะเรือนกระจก ทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรหยุดนิ่ง เมื่อกระแสน้ำหยุดนิ่งส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในทะเลลดลง ส่งผลให้แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล ที่เลวร้ายกว่านั้น แบคทีเรียตัวจ้อยเหล่านี้ผลิตก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่าที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตสู่ทะเล ก่อนจะแพร่สู่ชั้นบรรยากาศ และเข้าสู่ตัวทวีปแพนเจีย เหมือนเคราะห์กรรมซ้ำเติมสิ่งมีชีวิตบนบกที่แย่แสนสาหัสอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก สำหรับสิ่งมีชีวิตในทะเลส่วนใหญ่ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่นี้ได้ ก็ล้มตายกันเกือบหมดทะเล
"ไทรโลไบต์ (Trilobite) เป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่เฟื่องฟูในยุคเพอร์เมียน และเคยรอดจากการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งก่อน กลับต้องมาจบสิ้นเผ่าพันธุ์ในปลายยุคเพอร์เมียน"
สำหรับลีสโทรซอรัส ชะตากรรมของพวกมันก็ไม่ต่างจากสัตว์ส่วนใหญ่บนทวีป จำนวนของพวกมันลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่ดูเหมือนว่า สัตว์เหล่านี้ยังมีข้อได้เปรียบอยู่บ้าง จากการศึกษาฟอสซิล เชื่อว่า พวกมันอาศัยอยู่ในรังที่ขุดลึกลงไปใต้ดิน ทำให้ลดผลกระทบจากสภาพอากาศเป็นพิษได้บ้าง เขี้ยวขนาดใหญ่ของมัน ช่วยในการขุดหาพืชใต้ดินที่พอหลงเหลืออยู่ และที่สำคัญจากการศึกษาการกระจายตัวของฟอสซิลที่พบเกือบทั่วทุกมุมโลก แสดงให้เห็นว่า พวกมันยังเป็นนักเดินทางมือหนึ่งที่ใช้สี่ขาของมันคลานต้วมเตี้ยมไปทั่วมหาทวีปแพนเจีย เพื่อหาแหล่งอาหารอย่างไม่ย่อท้อ
[บทความสารคดี]สี่ขาตัวน้อยผู้รอดชีวิตจากวันสิ้นโลก
เมื่อโลกเกิดสภาวะเรือนกระจก ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก หน้าหนาวนั้นหนาวสุดขั้ว ส่วนหน้าร้อนก็ร้อนตับแตก แต่ก็ยังไม่เลวร้ายเท่าม่านอนุภาคที่บดบังแสงอาทิตย์ ทำให้พืชไม่อาจสังเคราะห์อาหารได้ และทยอยตายจนหมดสิ้น เหล่าสัตว์กินพืชที่ไม่มีอาหารกินก็ล้มตายตามเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เหลือรอดต้องต่อสู้กันเองเพื่อแย่งชิงแหล่งอาหารที่เหลืออยู่น้อยนิด ชะตากรรมนี้หลีกหนีไม่พ้น แม้แต่กับจ้าวป่าในยุคนั้นอย่างกอร์โกนอปส์ เมื่อฝูงสัตว์กินพืชที่เคยร่อนเร่อยู่ทั่วไปให้พวกมันเลือกจับกินได้อย่างง่ายดาย กลับลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย เมื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆไม่มีอาหารกิน ชะตากรรมของเผ่าพันธุ์บนโลกก็นับถอยหลังสู่หายนะ