เรากำลังอยู่ในโลกเสมือนจริง!!? ทฤษฎีโลกจำลอง.

เคยเล่นเกม Sim City กันมั้ยครับ เกมนี้เปิดให้ผู้เล่นออกแบบสร้างเมืองเสมือนจริงที่มีผู้อยู่อาศัยอยู่ข้างใน ลองสมมตินะครับ ว่าในอนาคตมีคนอยากทำให้เกมภาคต่อไปสมจริงมากขึ้น จึงใช้สมองกลหรือเทคโนโลยีอะไรก็ตามแต่ สร้างให้คนจำลองเป็นแสนเป็นล้านคนในเมืองที่สามารถตอบโต้ตอบ ตัดสินใจ รวมถึงสามารถสร้างครอบครัวได้
 
ทีนี้สมมตินะครับ ว่าด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เกมภาคต่อๆ ไปสามารถจำลองสภาพแวดล้อมเหมือนโลกจริงขึ้นมาได้ รวมถึงรองรับผู้คนและเมืองเสมือนจริงได้เป็นหลักหมื่นล้านหน่วย
สมมติต่ออีกนิดครับ ว่าด้วยศักยภาพของคอมพิวเตอร์ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เกมสามารถเปิดให้คนจำลองในเมืองจำลองสร้างระบอบการปกครอง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ รู้จักทดลองวิทยาศาสตร์ สำรวจวิจัยความรู้ต่างๆ และเมื่ออารยธรรมในเกมพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง คนในโลกเสมือนก็พัฒนาคอมพิวเตอร์ สร้างเกม Sim City รวมถึงเทคโนโลยีที่จะเอามาปรับแต่งให้เกมสมจริงขึ้นเหมือนกับที่เราทำอยู่ตอนนี้

รับชมคิดภาพและการบรรยาย ร่วมพูดคุยกันได้ที่ช่องของผมเลยครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
 
สมมติสุดท้ายครับ สมมติว่าคนและโลกเสมือนจริงในเกมที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือเราและโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน!

 
แนวคิดที่ว่าเรามีชีวิตอยู่ในโลกเสมือนที่จำลองโดยคอมพิวเตอร์ กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อ Elon Musk เจ้าพ่อเทคโนโลยีอัจฉริยะผู้ได้ฉายาว่า Tony Stark ตัวจริง ออกมาพูดว่ามีโอกาสหนึ่งต่อหนึ่งพันล้าน ที่พวกเราและจักรวาลรอบตัวทั้งหมดของเราจะเป็นเพียงโลกเสมือนเท่านั้น คุณ Musk บอกว่าเขาจะลงทุนวิจัยในเรื่องดังกล่าวหลังจากนี้ ภายหลังการประกาศ มีผู้ออกมาเปิดเผยว่ามีเศรษฐีนักเทคโนโลยีระดับโลกอย่างน้อยสองรายที่แอบทุ่มเงินวิจัยเรื่องนี้อย่างลับๆ ไปก่อนหน้าแล้ว

 
ทฤษฎีโลกเสมือนจริงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในชุมชน Silicon Valley และเป็นข้อถกเถียงเก่าแก่หลักร้อยปีในวงวิชาปรัชญาเลยทีเดียว ตัวคุณ Elon Musk เองก็ได้รับอิทธิพลเรื่องนี้มาจาก Nick Bostrom นักปรัชญาชาวสวีเดนแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดอีกทีหนึ่ง
คุณ Bostrom เสนออะไร? แกเสนออย่างนี้ครับ ว่าถ้าในอนาคต มนุษย์เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีไปถึงขั้นที่สามารถจำลองชีวิตและโลกเสมือนจริงขึ้นมาได้ แล้วตัดสินใจสร้างโลกดังกล่าวขึ้นมา ถึงตอนนั้นก็ขอให้พวกเราฟันธงเลย ว่าโลกที่เราอยู่เองก็เป็นเพียงโลกเสมือนที่ถูกจำลองขึ้นมาเช่นกัน
 
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? คุณ Bostrom อธิบายผ่านหลักตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก แต่สรุปออกมาเป็นภาษาคนคร่าวๆ ประมาณนี้นะครับ
แกเริ่มขั้นแรกด้วยการอธิบายว่าถ้าเราสามารถสร้างโลกเสมือนและตัดสินใจลงมือสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมา โลกเสมือนที่เกิดขึ้นซึ่งมีเราเป็นแม่แบบ ก็จะพัฒนาไปจนถึงจุดที่คนในโลกเสมือนนั้น สามารถสร้างโลกเสมือนจริงและตัดสินใจสร้างเช่นเดียวกับเรา สุดท้ายก็จะเกิดการผลิตโลกเสมือนจริงในโลกเสมือนจริงในโลกเสมือนจริงวนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงรู้ได้ว่าโลกจริงที่เป็นแม่แบบตั้นต้นจะมีเพียงหนึ่งหรือน้อยมาก เมื่อเทียบกับโลกเสมือนจริงที่ถูกผลิตซ้ำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พูดง่ายๆ ก็คือจำนวนโลกจริงตั้งต้นนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับโลกจำลองที่มีจำนวนเป็นอนันต์ จนแทบตีเป็นศูนย์ได้เลย ดังนั้นหากให้เลือก เราจึงควรเดิมพันว่าโอกาสที่โลกเราเป็นเพียงโลกเสมือนจริงนั้น เท่ากับร้อยเปอร์เซ็นต์ทางคณิตศาสตร์!
ย้ำอีกนะครับ ทฤษฎีนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อเราบรรลุเงื่อนไขสองข้อ ข้อแรกคือ ต้องเป็นจริงก่อนว่ามนุษย์มีความสามารถสร้างโลกเสมือนจริงด้วยคอมพิวเตอร์ได้ เงื่อนไขที่สองก็คือ เมื่อถึงเวลานั้นเราต้องตัดสินใจสร้างมันขึ้นมาจริงๆ เงื่อนไขเหล่านี้บรรลุเมื่อไหร่ วังวนการผลิตซ้ำโลกเสมือนจริงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดถึงจะเริ่มขึ้น และโอกาสที่เราจะอยู่ในโลกเสมือนถึงจะขึ้นเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราทำไม่ได้หรือไม่ทำ ทฤษฎีนี้ก็จบ

 
แล้วตอนนี้เราใกล้สร้างโลกเสมือนจริงได้หรือยัง? คุณ Bostrom แกบอกว่ามีแนวโน้มจะทำได้ครับ แกแยกแยะให้เราว่าการจำลองที่ว่าจะแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือการจำลองสมองมนุษย์กับการจำลองโลก
ในเรื่องการจำลองสมองมนุษย์ แกบอกว่าปัจจุบันนักปรัชญาจิตได้ข้อสรุปกันแล้วว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความคิดและความรู้สึกในหัวมนุษย์เรา คือระบบประมวลผล หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้เกิดจากวิญญาณหรือโมเลกุลที่ฝังอยู่ในอวัยวะส่วนไหน ถ้าเราสามารถจำลองเครือข่ายและระบบการประมวลผลแบบในหัวมนุษย์ขึ้นมาได้ เครือข่ายนั้นก็จะสามารถประมวลการคิด ตอบโต้ แสดงความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์ หากดูจากอัตราการพัฒนาศักยภาพการประมวลผลและส่งข้อมูลของคอมพิวเตอร์ การสร้างสมองกลดังกล่าวก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ในอนาคต
คนที่ทำงานด้านสมองกลปัจจุบันอาจจะบอกว่าจริงๆ แล้วง่ายกว่านั้นด้วยซ้ำ ขอเพียงสร้างเครือข่ายที่มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ในระดับหนึ่งก็พอ ที่เหลือก็ปล่อยให้สมองจำลองนั้นลองผิดลองถูกพัฒนาตัวเองและสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ
 
โจทย์ที่ยากกว่าการจำลองสมองมนุษย์คือการจำลองโลกและเอกภพเสมือนจริง เพราะเราต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพระดับมหาศาลเกินกว่าจะจินตนาการได้  นอกจากนี้ ถึงปัจจุบันเราก็ยังไม่มี Theory of everything ที่อธิบายระบบกลไกทั้งหมดของเอกภพ สรุปก็คือเราจำลองไม่ไหว และยังไม่รู้ต้องจำลองอย่างไร
แต่คุณ Bostrom ชี้ว่าเอาเข้าจริงเราไม่จำเป็นต้องจำลองทั้งจักรวาลก็ได้ครับ เอาแค่ ‘จักรวาลเท่าที่มนุษย์เห็น’ ก็พอ พูดง่ายๆ ก็คือเอาแค่โลกหนึ่งใบและท้องฟ้ากลางวันกลางคืนเท่าที่สายตาของมนุษย์จะสอดส่องไปถึง เวลาที่มนุษย์ส่งยานอวกาศออกไปหรือส่องกล้องจุลทรรศน์ไปสำรวจสิ่งที่ปกติดูด้วยตาไม่เห็น ระบบก็แค่จำลองภาพชั่วคราวขึ้นมาเฉพาะตอนนั้น พอเลิกสำรวจภาพก็หาย ถ้าเอาแค่นี้ แกบอกว่าไม่ยากไปกว่าการจำลองสมองมนุษย์ครับ
 
ทั้งหมดนี้คุณ Bostrom คำนวณและเสนอไว้เมื่อปี 2003 นะครับ ในปัจจุบันศักยภาพคอมพิวเตอร์ของเรามันล้ำไปกว่านั้นเยอะแล้ว คุณ Elon Musk ก็ยืนยัน ว่าหากดูจากอัตราความก้าวทางเทคโนโลยี การจำลองทั้งหมดที่ว่าคงทำได้ในอีกไม่กี่สิบปีด้วยซ้ำ

 
ถ้าที่พูดมานั้นเกิดจริงขึ้นมาก็จะมีเรื่องให้คิดสนุกๆ เยอะเลยครับ เช่นคุณ Bostrom บอกว่าถ้าทฤษฎีนี้จริง พระเจ้าก็จะมีจริง โดยพระเจ้าที่ว่าก็คือสิ่งมีชีวิตที่เป็นแม่แบบและสร้างโลกเสมือนจริงของเราขึ้นมา คุณพระเจ้าเหล่านี้สามารถแก้ไข ดัดแปลง หรือถอดปลั๊กตัดจบโลกของเราเมื่อไหร่ก็ได้
 
สมมติฐานที่น่าสนุกกว่านี้ก็คือคุณพระเจ้ามีแนวโน้มจะดับเครื่องที่จำลองโลกของเราทิ้ง เมื่อเราเริ่มมีความสามารถที่จะจำลองโลกเสมือนจริงขึ้นมา เหตุผลก็เพราะหากปล่อยให้โลกเสมือนจริงของเราสร้างโลกเสมือนและเกิดกระบวนการผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ คอมพิวเตอร์ของคุณพระเจ้าก็จะรองรับการประมวลผลไม่ไหว คล้ายเวลาที่เราต้องดับเครื่องทิ้งเวลาคอมมันเด้งผลิตซ้ำคำสั่งผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ จนเครื่องรวนยังไงยังงั้น
 
แต่แกก็วิเคราะห์ว่าสมมติฐานนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะว่ามีโอกาสสูงเช่นกัน (ร้อยเปอร์เซ็นต์) ที่คุณพระเจ้าเองก็อยู่ในโลกเสมือนจริงที่ถูกคุณพระเจ้าของคุณพระเจ้าจำลองขึ้นมาอีกที ดังนั้นถ้าเป็นความจริงที่ว่าสิ่งมีชีวิตแม่แบบจะตัดสินใจดับเครื่องเมื่อคนในโลกเสมือนจริงสามารถสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมาได้ โลกของคุณพระเจ้าของเราก็น่าจะโดนดับไปตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะสร้างโลกของเราขึ้นมาแล้ว ถ้าโลกของเราอยู่ ก็แสดงว่าคุณพระเจ้าของคุณพระเจ้าไม่ได้มีวิธีคิดเรื่องดับเครื่องทิ้งเมื่อคนในโลกเสมือนเริ่มสร้างโลกเสมือนได้ และคุณพระเจ้าซึ่งถูกถอดแบบมาจากคุณพระเจ้าของคุณพระเจ้าก็น่าจะตัดสินใจในทำนองเดียวกัน รวมถึงตัวเราซึ่งจะเป็นพระเจ้าในอนาคตก็เช่นกัน ข้อเท็จจริงนี้อาจสะท้อนบุคลิกทางศีลธรรมของเราหรือความสามารถทางเทคโนโลยีบางอย่างในอนาคต
 
ย้ำอีกทีนะครับ คุณ Bostrom ไม่ได้บ้าบอยืนยันว่าทฤษฎีนี้เป็นจริงนะครับ แกแค่สรุปแบบมีเงื่อนไขว่า ถ้าในอนาคตเราสามารถสร้างโลกจำลองเสมือนจริงได้และตัดสินใจทำ ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตรรกศาสตร์ก็บังคับให้เราฟันธงว่าเราอยู่ในโลกเสมือนในคอมพิวเตอร์เช่นนั้นจริงๆ แต่เราจะไปถึงจุดนั้นหรือเปล่าก็ต้องมาลุ้นกันดูครับ
 

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่