สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดงานเสวนาในหัวข้อ “โฉมหน้าใหม่นักเขียนไทย ในสิทธิประโยชน์ที่มีมากกว่าตัวอักษร”
สำหรับงานเสวนานี้มีนักเขียนและบุคคลต่างๆ ให้ความสนใจอย่างล้นหลามจนต้องย้ายห้องเสวนาเพื่อรองรับจำนวนคน ทั้งจากแวดวงนักเขียน นักแปล นักวาด นักเขียนบทละครโทรทัศน์ และสำนักพิมพ์ ที่เข้าร่วมฟังการเสวนาในหัวข้อ "โฉมหน้าใหม่นักเขียนไทย ในสิทธิประโยชน์ที่มีมากกว่าตัวอักษร" ที่หอศิลป์ กทม. (BACC) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562 เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยย้ายสถานที่ไปที่ชั้น 6 ห้องประชุมกระจกแทน
สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ นำทีมโดย คุณกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนฯ และมีวิทยากรร่วมเสวนาดังนี้ อาจารย์สกุล บุณยทัต เลขาธิการสมาคมนักเขียนฯ ร่วมด้วยอีก 4 ท่าน คือ คุณปฐม อินทโรดม ผู้เชียวชาญด้านไอที , คุณณภัทร พรหมพฤกษ์ ผู้เชียวชาญด้านคาแรคเตอร์ , คุณศักดา แซ่เอียว (เซีย ไทยรัฐ) จากสมาคมการ์ตูนไทย และคุณปรัชญา ไพโรจน์กุลมณี ผู้แทนกรมสินทรัพย์ทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
ในยุคนี้ เนื้อหาวรรณกรรมควรจะมีการคิดค้น CONTENT ใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้วรรณกรรม ทำให้งานเขียน 1 ชิ้น มีโอกาสมากกว่าการพิมพ์เป็นรูปเล่ม ( แต่เบื้องต้นในการเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ นักเขียนใหม่บางท่านอาจยังไม่ทราบว่า สิทธิ์ที่พึงได้ของตนที่จะต่อยอดไปสู่ อีบุ๊ก งานแปล ละคร ภาพยนตร์ หรือ ละครเวที นั้น สามารถจำแนกได้เป็นกรณีไป ไม่จำเป็นที่เราต้องมอบสิทธิ์ต่าง ๆ ให้อีกฝ่ายภายใต้สัญญาเพียงฉบับเดียว ) หากสร้างงานให้โดดเด่น มีคาแรคเตอร์ตัวละครที่ชัดเจน ตัวละครของเราก็มีโอกาสแปรเป็นมูลค่าทางภาพลักษณ์ได้ เช่น การนำไปต่อยอดเป็นเกมออนไลน์ และตัวละครที่สร้างออกมาเป็นตัวการ์ตูนก็ยังเพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงานได้อีกทางหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สัญญาฉบับเดียวอีกเช่นกัน อาจขายลิขสิทธิ์การพิมพ์ตัวการ์ตูนลงบนแก้วน้ำกับบริษัทหนึ่ง และขายลิขสิทธิ์การพิมพ์ลงบนเสื้อกับอีกบริษัทหนึ่ง แยกกันออกมาเป็นกรณีแล้วแต่ข้อตกลง การเรียนรู้เรื่องลิขสิทธิ์จะช่วยให้นักเขียนไม่เสียสิทธิ์บางอย่างที่พึงมีพึงได้ในระยะยาว
หมายเหตุ .... ภายในงานมีการพูดคุยในหลายประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ รอติดตามชมเทปบันทึกภาพได้ทางเว็บไซต์และเพจของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่จะนำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป
โฉมหน้าใหม่นักเขียนไทย ในสิทธิประโยชน์ที่มีมากกว่าตัวอักษร