พบหลักฐานพายุสุริยะเก่าแก่ ในน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ เชื่อแรงกว่าที่เคยพบตลอด 70 ปีที่ผ่านมา

By เหมียวศรัทธา -
12/03/2019

เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์พายุสุริยะหรือ “Solar Storm” กันไหม นี่เป็นปรากฏการณ์อนุภาคประจุไฟฟ้าพุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ และทำให้สนามแม่เหล็กโลกแปรปรวน จนบางครั้งก็ทำให้ระบบการสื่อสารบางอย่างของมนุษย์ไม่สามารถใช้การได้

จริงอยู่ที่เหตุการณ์พายุสุริยะอย่างพายุสุริยะนั้นย่อมต้องเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วตลอดชีวิตอันยาวนานของโลก แต่จากรายงานล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ดูเหมือนว่าเมื่อราวๆ 2,500-2,600 ปีก่อน โลกเราจะเคยพบกับพายุสุริยะที่น่าสนใจมากๆ ครั้งหนึ่ง

นั่นเพราะเจ้าพายุที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น มันรุนแรงมากพอที่จะทิ้งร่องรอยของมันไว้ในแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ ในสภาพของคาร์บอน เบริลเลียม และคลอรีน แถมยังติดอยู่อย่างนั้นมาจนถึงในปัจจุบันเลยด้วย

และเจ้าแผ่นน้ำแข็งที่ว่านี้เองก็กลายเป็นสิ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์นำมาศึกษาจนพบหลักฐานของพายุสุริยะครั้งใหญ่นี้

อ้างอิงจากการคำนวณอนุภาค พายุสุริยะในครั้งนั้นมีความรุนแรงสูงกว่าที่เราเคยมีการบันทึกตลอดช่วง 70 ปีที่ผ่านมาถึง 10 เท่า และมีความรุนแรงในระดับที่ใกล้เคียงกับพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุด ที่มนุษย์เคยเจอมาเมื่อปี ค.ศ. 775 เลย

ความรุนแรงขนาดนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกรบกวนเท่านั้น แต่ยังมากพอที่จะลดระดับโอโซนของโลกลง จนสิ่งมีชีวิตต้องพบกับรังสีอัลตราไวโอเลตที่รุนแรงขึ้นด้วย

แถมการค้นพบพายุสุริยะที่รุนแรงมากหลายครั้งเช่นนี้ ยังทำให้เราทราบว่าสภาพภูมิอากาศในอวกาศอาจจะเลวร้ายกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้ และไม่แน่ว่าโลกอาจจะต้องพบกับพายุสุริยะที่รุนแรงอีกครั้งเร็วกว่าที่คิดด้วย

ซึ่งหากเวลานั้นมาถึง และเราไม่มีการเตรียมการรับมือที่ดี พายุสุริยะนี้ก็อาจจะทำให้เราต้องเสียอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดาวเทียมหลายๆ ดวง และสุขภาพร่างกายของมนุษย์หลายๆ คนไปเลยก็เป็นได้

การค้นพบในครั้งนี้ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เตรียมการค้นหาร่องรอยอื่นๆ ของคลื่นสุริยะในอดีตบนโลกทันที เพราะจากคำบอกเล่าของ Raimund Muscheler หนึ่งในทีมวิจัยเอง ไม่แน่ว่าที่ผ่านๆ มาโลกของเราอาจจะพบกับ พายุสุริยะแบบรุนแรง ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนอีกหลายครั้งเลย

งานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2019 ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences

ที่มา livescience, pnas และ theguardian
CatDumb
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่