บวชให้ได้อานิสงส์

       
บวชแล้วได้อานิสงส์จากการบวชเต็มที่ก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติของพระก็มีหลายอย่างหลายประการแต่ว่าที่ๆ รู้กันที่นิยมทำกันตั้งแต่โบราณมา ก็คือ ทำวัตร – สวดมนต์  ท่องบ่นภาวนา ศึกษาเล่าเรียน แล้วหมั่นเพียรปฏิบัติ พระที่บวชนั้นก็จะมีกิจวัตรประจำก็คือทำวัตร – สวดมนต์  อย่างในประเทศไทยเราก็มีทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นนี่ถือว่าเป็นการทำวัตรโดยปกติการทำวัตรก็คือการที่พระภิกษุสามเณรเข้าไปในอุโบสถ หรือศาลาหรือที่ใดที่กำหนดกันไปรวมกันเข้าเท่ากับว่าได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้ทำวัตรได้นึกถึงธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วก็มีสวดมนต์ต่อก็ถือว่าเป็นกิจวัตรเป็นข้อปฏิบัติถ้าหากว่าบวชแล้วได้สวดมนต์ ก็ถือว่าได้กำไร


ประการต่อก็คือการท่องบ่นภาวนาส่วนใหญ่ก็จะต้องท่องบท พระสูตร พุทธพจน์ ที่ท่านกำหนดไว้ให้ขึ้นปากขึ้นใจ ไม่ต้องเปิดหนังสือ จำได้แม่นยำแล้วก็สวดพร้อมๆ กันนอกจากเป็นบุญเป็นกุศลแล้วยังเป็นหน้าที่ของพระแล้วยังเป็นการรักษาพุทธพจน์แล้วยังเป็นการท่องการจำ การท่องพุทธพจน์เป็นเหตุไม่คลาดเคลื่อนเหมือนกันจะอยู่เมืองไหนประเทศเทศไหนก็สามารถนำมาสวด แม้ไม่เคยสวดก็สามารถสวดไปด้วยกันได้เพราะว่าตัวหนังสือตัวคำสอนหรือว่าตัวพุทธพจน์แม้จะเขียนต่างกันแต่พอออกเสียงแล้วก็จะคล้ายกันหรือไปด้วยกันได้นี่คือสวดมนต์ภาวนา การสวดมนต์ภาวนาเป็นการนำเอามนต์นำเอาพุทธพจน์เข้ามาเป็นเลือดเป็นเนื้ออยู่ในตัวถ้าจำไม่ได้ ทำวัตรเช้าก็ดี ทำวัตรเย็นก็ดี สวดมนต์ก็ดี เปิดตำรา เปิดหนังสือ มันก็อยู่แต่ภายนอก มันก็อยู่ที่ตา อยู่ที่ปาก แต่ว่าไม่ซึมเข้าไปในเลือดในเนื้อต้องท่องเมื่อท่องจำได้แล้วก็ภาวนานี่คือหน้าที่ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นกำไร

พระธรรมเทศนา เรื่อง การบวชในพระพุทธศาสนา
โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่