SPACEX / จรวดฟอลคอน 9 และแคปซูลดรากอน จะถูกปล่อยขึ้นจากฐานซึ่งเคยใช้ปล่อยยานอะพอลโลมาแล้ว แต่ตอนนี้ตัวฐานได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงขนานใหญ่
องค์การนาซาและบริษัทสเปซเอ็กซ์ กำลังจะทดสอบใช้งานระบบขนส่งมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศรุ่นใหม่เป็นครั้งแรกในวันนี้ (2 มี.ค.) โดยจะปล่อยจรวดฟอลคอน 9 ที่ติดตั้งแคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศ "ดรากอน" ให้ออกเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในเวลา 2.49 น.ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (EST) หรือตรงกับเวลา 14.49 น.ตามเวลาในประเทศไทย
การทดสอบครั้งนี้มีขึ้น เพื่อเตรียมการให้นาซาสามารถส่งคนไปปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศได้ด้วยตนเองเป็นครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษ หลังจากสหรัฐฯยุติการใช้งานยานขนส่งอวกาศแอตแลนติสไปเมื่อปี 2011 และต้องใช้ยานโซยุซของรัสเซียในการขนส่งนักบินอวกาศแทน
แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศ "ดรากอน" (Dragon crew capsule) เป็นผลงานการออกแบบและสร้างขึ้นโดยสเปซเอ็กซ์ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่นาซามอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่ช่วยให้นาซาประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบุกเบิกธุรกิจด้านอวกาศได้มากขึ้น
ตัวแคปซูลนั้นออกแบบโดยดัดแปลงมาจากต้นแบบของยานบรรทุกสัมภาระเพื่อนำส่งยังสถานีอวกาศนานาชาติในอดีต แต่มีการติดตั้งระบบปรับสภาพแวดล้อมเพื่อสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้น และติดตั้งเครื่องยนต์ขับดันพลังสูงเพื่อดีดตัวออกหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับจรวดนำส่ง
สำหรับขั้นตอนในการทดสอบนั้น จรวดนำส่งฟอลคอน 9 ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้วหลายครั้ง จะทะยานขึ้นจากแท่นปล่อย 39A ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา ซึ่งแท่นปล่อยแห่งนี้เคยเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของยานอะพอลโลไปยังดวงจันทร์ และเคยเป็นแท่นปล่อยยานแอตแลนติสในการเดินทางเที่ยวสุดท้ายมาแล้ว
NASA / ภาพจากฝีมือศิลปินแสดงให้เห็นตัวแคปซูลดรากอนเข้าจอดเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติทางด้านหน้า
การทดสอบครั้งนี้จะยังไม่มีนักบินอวกาศตัวจริงเดินทางไปด้วย แต่จะใช้หุ่นสวมชุดนักบินอวกาศให้นั่งอยู่ในแคปซูล "ดรากอน" แทน โดยมีเซนเซอร์ตรวจจับแรงกระแทกและข้อมูลความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อมภายในแคปซูลอยู่ตลอดเวลา ทีมงานยังตั้งชื่อให้หุ่นนักบินอวกาศตัวนี้ว่า "ริปลีย์" ตามชื่อของตัวละครในภาพยนตร์ดัง "เอเลี่ยน" ซึ่งนำแสดงโดยซิกัวร์นีย์ วีเวอร์
หลังจรวดฟอลคอน 9 ทะยานขึ้นไปไม่กี่นาที ส่วนของจรวดท่อนล่างที่ใช้ในการนำส่งระยะแรกจะแยกตัวออก และตกกลับลงมาจอดบนทุ่นซึ่งเป็นโดรนลอยน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก จรวดระยะที่สองจะยังคงนำส่งแคปซูลต่อไป จนในนาทีที่ 11 หลังจรวดทะยานออกจากฐานปล่อย แคปซูลจะแยกตัวออกในห้วงอวกาศและเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วยตนเอง
ในอดีตนั้นยานบรรทุกสัมภาระที่เข้าจอดเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติจะเข้ามาทางด้านล่าง โดยแขนกลของสถานีอวกาศจะยื่นออกไปดึงยานให้เข้ามาประกบกับท่าจอด แต่ในครั้งนี้แคปซูลดรากอนจะเข้าจอดเชื่อมต่อทางด้านหน้าของสถานีอวกาศแบบอัตโนมัติ โดยใช้วงแหวนเชื่อมต่อรุ่นใหม่ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ และมีนักบินอวกาศที่ประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติจับตาดูอย่างใกล้ชิด
คาดว่าแคปซูลดรากอนจะเดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ตามเวลาในประเทศไทย และจะเดินทางกลับสู่พื้นโลกในคืนวันศุกร์ที่ 8 มี.ค. โดยแคปซูลจะจุดเครื่องยนต์ขับดันเพื่อบังคับทิศทางให้ตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณใกล้กับศูนย์อวกาศเคนเนดีซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นออกเดินทางBBC/NEWS/ไทย
นาซา-สเปซเอ็กซ์เตรียมทดสอบ “ดรากอน” แคปซูลขนส่งนักบินอวกาศรุ่นใหม่
การทดสอบครั้งนี้มีขึ้น เพื่อเตรียมการให้นาซาสามารถส่งคนไปปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศได้ด้วยตนเองเป็นครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษ หลังจากสหรัฐฯยุติการใช้งานยานขนส่งอวกาศแอตแลนติสไปเมื่อปี 2011 และต้องใช้ยานโซยุซของรัสเซียในการขนส่งนักบินอวกาศแทน
แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศ "ดรากอน" (Dragon crew capsule) เป็นผลงานการออกแบบและสร้างขึ้นโดยสเปซเอ็กซ์ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่นาซามอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่ช่วยให้นาซาประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบุกเบิกธุรกิจด้านอวกาศได้มากขึ้น
ตัวแคปซูลนั้นออกแบบโดยดัดแปลงมาจากต้นแบบของยานบรรทุกสัมภาระเพื่อนำส่งยังสถานีอวกาศนานาชาติในอดีต แต่มีการติดตั้งระบบปรับสภาพแวดล้อมเพื่อสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้น และติดตั้งเครื่องยนต์ขับดันพลังสูงเพื่อดีดตัวออกหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับจรวดนำส่ง
สำหรับขั้นตอนในการทดสอบนั้น จรวดนำส่งฟอลคอน 9 ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้วหลายครั้ง จะทะยานขึ้นจากแท่นปล่อย 39A ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา ซึ่งแท่นปล่อยแห่งนี้เคยเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของยานอะพอลโลไปยังดวงจันทร์ และเคยเป็นแท่นปล่อยยานแอตแลนติสในการเดินทางเที่ยวสุดท้ายมาแล้ว
หลังจรวดฟอลคอน 9 ทะยานขึ้นไปไม่กี่นาที ส่วนของจรวดท่อนล่างที่ใช้ในการนำส่งระยะแรกจะแยกตัวออก และตกกลับลงมาจอดบนทุ่นซึ่งเป็นโดรนลอยน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก จรวดระยะที่สองจะยังคงนำส่งแคปซูลต่อไป จนในนาทีที่ 11 หลังจรวดทะยานออกจากฐานปล่อย แคปซูลจะแยกตัวออกในห้วงอวกาศและเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วยตนเอง
ในอดีตนั้นยานบรรทุกสัมภาระที่เข้าจอดเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติจะเข้ามาทางด้านล่าง โดยแขนกลของสถานีอวกาศจะยื่นออกไปดึงยานให้เข้ามาประกบกับท่าจอด แต่ในครั้งนี้แคปซูลดรากอนจะเข้าจอดเชื่อมต่อทางด้านหน้าของสถานีอวกาศแบบอัตโนมัติ โดยใช้วงแหวนเชื่อมต่อรุ่นใหม่ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ และมีนักบินอวกาศที่ประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติจับตาดูอย่างใกล้ชิด