เอาเรื่องค่าเสื่อมราคามาฝากเพื่อนๆฮะ

กระทู้คำถาม
“หุ้นที่ตัดค่าเสื่อมหมด”

.
สำหรับนักลงทุนที่ขยันแกะงบการเงินจะรู้ดีว่า หากหุ้นตัวไหนมีสินทรัพย์ที่ต้องบันทึกค่าเสื่อมราคา และเมื่อค่าเสื่อมราคาถูกตัดจนหมด แต่กิจการนั้นยังคงใช้สินทรัพย์ที่ถูกตัดค่าเสื่อมหมดแล้ว แบบนี้นักลงทุนย่อมจับตามองเป็นพิเศษ

.

ว่าแต่ทำไมเหล่านักลงทุนจึงสนใจหุ้นประเภทนี้กันนัก นั่นเป็นเพราะหากค่าเสื่อมราคาถูกตัดจนหมดแล้ว สมมติว่าเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงาน เท่ากับว่าเครื่องจักรชิ้นนั้นถูกใช้ต่อโดยต้นทุนแทบจะไม่มี มีแต่ค่าซ่อมบำรุงรักษา แต่ทว่ากิจการเหล่านั้นก็ต้องเตรียมเงินสดไว้ซื้อเครื่องใหม่อยู่ดี

.

อย่างไรก็ตาม หุ้นที่ตัดค่าเสื่อมหมด และเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ทำมาหากินนั้นยังคงใช้งานต่อไปได้อีกระยะ ก็ยังคงน่าสนใจติดตามตรวจสอบ เราจะมาดูกันดีกว่าว่าเริ่มต้นมองหากันอย่างไร ไปติดตามกันเลยครับ

.

                ประการแรก “หาหุ้นที่ใช้สินทรัพย์ในการดำเนินงาน”

.

กิจการบางกิจการไม่ได้ใช้สินทรัพย์ในการดำเนินงานเป็นหลัก เช่น ธุรกิจบริการ แบบนี้สินทรัพย์เยอะ ๆ อาจไม่จำเป็นมากมายอะไร แต่หลายกิจการที่ต้องใช้สินทรัพย์ในการดำเนินงาน เช่น กิจการโรงแรม โรงงานที่มีเครื่องจักร กิจการรถเช่า ที่ต้องใช้สินทรัพย์เพื่อทำมาหากิน และต้องมีการตัดค่าเสื่อมราคา

.

สำหรับค่าเสื่อมราคานั้นมีแนวทางการตัดค่าเสื่อมที่แตกต่างกัน บางที่ตัดเป็นเส้นตรง ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียด แต่จะเน้นให้หาหุ้นที่จะตัดค่าเสื่อมราคาหมด โดยส่วนใหญ่แล้วแหล่งที่ใช้มองหาก็คงหนีไม่พ้น “งบการเงิน” นั่นเอง



.



                ประการที่สอง “ตรวจสอบงบกระแสเงินสด”



ถ้าเราเข้าไปตรวจสอบที่งบกระแสเงินสดเราจะพบกับค่าเสื่อมราคาในบรรทัดแรก ๆ ที่ต้องหักออกจากกำไรเป็นตัวตั้ง หากเราสังเกตเป็นจะเห็นค่าเสื่อมราคาที่แตกต่างกันระหว่างปีนี้กับปีที่แล้วได้ไม่ยาก และส่วนต่างนั่นเองคือ ค่าเสื่อมราคาที่ถูกหักจนหมด

.

ยกตัวอย่างเช่น หุ้นตัวหนึ่งในปี 2560 มีค่าเสื่อมราคาอยู่ 100 ล้านบาทต่อปี พอมาปี 2561 ค่าเสื่อมราคาลดลงเหลือ 20 ล้านบาทต่อปี เมื่อเราเห็นตัวเลขลักษณะนี้เราต้องเข้าไปตรวจสอบดูว่าเหตุผลกลใดที่ค่าเสื่อมราคาจึงลดลงมากมาย

.

                ประการที่สาม “เข้าไปตรวจสอบในเอกสารแนบ”


.
เมื่อเราเข้าไปดูงบการเงินจะมีเอกสารแนบ ที่นักบัญชีจะบันทึกเอาไว้เพื่ออธิบายตัวเลขในงบการเงิน เนื่องจากงบการเงินนั้นจะแสดงแต่ตัวเลขเสียส่วนใหญ่ การอธิบายอะไรเพิ่มเติมก็ต้องอธิบายเพิ่มใน Note


.
หากเราเข้าไปอ่านแล้วพบว่า เอกสารอธิบายไว้ชัดเจนว่า ค่าเสื่อมราคาหมดเมื่อไหร่ นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ดีที่น่าติดตาม ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

.

“ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 และ 31 ธันวาคม 2560 บริษัทมีทรัพย์สินที่คำนวณค่าเสื่อมราคาหมดแล้วแต่ยังใช้งานอยู่ โดยมีราคาทุน 193.70 ล้านบาท และ 71.07 ล้านบาท ตามลำดับ”

.

ตัวอย่างข้างต้นเป็นคำอธิบายที่บอกไว้อย่างชัดเจนว่า ค่าเสื่อมราคาถูกตัดหมดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และมีการตัดหมดเพิ่มเติมอีกเมื่อเดือนกันยายนปีนี้นั่นเอง

.

                ข้อสรุป และข้อคิดก็คือ … กิจการใดก็ตามที่ตัดค่าเสื่อมราคาหมด ก็มีแววจะทำกำไรทางบัญชีเพิ่มได้ แต่เราต้องระวังก็คือ หากสินทรัพย์ที่ถูกตัดค่าเสื่อมราคาหมดไปแล้ว หมดอายุการใช้งานพอดี นั่นเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะค่าเสื่อมราคาก็คิดจากอายุการใช้งานของสินทรัพย์นั้น ๆ เป็นหลัก และอาจกลายเป็นการลงทุนใหม่ครั้งใหญ่ก็ได้ ถ้าเรามองง่ายเกินไปการซื้อหุ้นลักษณะนี้จะทำให้เราติดดอยได้เช่นกันครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่