นาซาเล็งทดลอง เปลี่ยนวิถีอุกกาบาต

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 - 16:18 น.


องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เตรียมการทดลองครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อหาวิธีปกป้องโลกไม่ให้ถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ด้วยการจับมือร่วมกับองค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) ดำเนินการตามโครงการ “ดับเบิล แอสเตอรอยด์ รีไดเรคท์ เทสต์” ซึ่งเรียกย่อๆ ว่า “ดาร์ท”

โครงการดาร์ทริเริ่มวางแผนกันมาตั้งแต่ปี 2018 แต่อีเอสเอเพิ่งแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือครั้งนี้หลังจากตกลงรับหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบวิจัยผลลัพธ์ที่ได้หลังการดำเนินการของนาซาแล้วเสร็จ ภายใต้โครงการต่อเนื่องที่ใช้ชื่อว่า “โปรเจ็กต์ เฮรา” นั่นเอง

เป้าหมายของโครงการความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานด้านอวกาศชั้นนำของโลกดังกล่าว คือดาวเคราะห์น้อยซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ดิดีมอส” ซึ่งมีดวงจันทร์ขนาดเล็กโคจรอยู่โดยรอบ เรียกว่า “ดิดีมูน”

ดาวเคราะห์น้อยและดาวบริวารดังกล่าว ไม่ได้เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวิถีโคจรมุ่งตรงมายังโลกแต่อย่างใด เนื่องจากวงโคจรของดิดีมอสเมื่อเข้าใกล้โลกมากที่สุดยังอยู่ห่างออกไปมากถึง 11.3 ล้านกิโลเมตร แต่ระยะห่างดังกล่าวนี่เองที่ทำให้ดิดีมอสได้รับเลือกให้เป็นเป้าหมายในการทดลองระบบเปลี่ยนวิถีโคจรดาวเคราะห์น้อยเพื่อป้องกันไม่ให้พุ่งเข้าชนโลกในครั้งนี้

วิธีการที่นาซาวางแผนเอาไว้และนำมาใช้ในโครงการทดลองเพื่อหาข้อมูลสำหรับการพัฒนาระบบป้องกันโลกไม่ให้ตกเป็นเป้าของดาวเคราะห์น้อยจำนวนมหาศาลในห้วงอวกาศนี้พุ่งเป้าไปที่ “ดิดีมูน” ดาวบริวารของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นการเฉพาะ โดยกำหนดจะส่งยานอวกาศที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ พุ่งเข้าชนดิดีมูนขณะเดินทางด้วยความเร็วสูงราว 6.44 กม./วินาที เพื่อดูว่าการชนดังกล่าวส่งผลให้ดิดีมูนเปลี่ยนวิถีโคจรหรือไม่

ดิดีมูน ดาวบริวารของดาวเคราะห์น้อย

   
ดิดีมอส มีขนาดประมาณ มหาพีระมิดแห่งกิซา ซึ่งถือเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่สุดที่เคยมียานอวกาศของมนุษย์ไปเยือน อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของอีเอสเอ หากดาวเคราะห์น้อยขนาดพอๆ กับดิดีมูน โคจรมุ่งเข้าชนโลกด้วยความเร็วของการโคจรปกติทั่วไปของดาวเคราะห์น้อย คือที่ความเร็วราว 30 กม./วินาที ก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งบนโลกทั้งภูมิภาคได้ทันที

โครงการทดลองครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองเปลี่ยนวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยด้วยวิธีการเช่นนี้ เป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการประเมินว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้วิธีการเดียวกันนี้เพื่อเปลี่ยนทิศทางโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดมหึมาซึ่งอยู่ในทิศทางคุกคามต่อโลกนั้น จำเป็นต้องใช้พลังงานมากมายเพียงใด และเป็นไปได้หรือไม่

ทั้งนี้ ตามแผนในโครงการดาร์ท นาซากำหนดส่งยานอวกาศพิเศษเพื่อเปลี่ยนวิถีดาวเคราะห์น้อยนี้ในช่วงระหว่างปี 2020 กับปี 2021 นี้ โดยคาดว่าน่าจะพุ่งชนเข้ากับดิดีมูนได้ในราวเดือนตุลาคม ปี 2022 หลังจากนั้นอีเอสเอมีกำหนดจะส่งยานสำรวจ

“เฮรา” ออกเดินทางไปยังดิดีมอสและดิดีมูน เพื่อสำรวจทั้งหลุมลึกที่เกิดจากการพุ่งชน และผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “การถ่ายเทโมเมนตัม” และประเมินประสิทธิภาพของวิธีการเปลี่ยนวิถีโคจรดังกล่าวนี้ทั้งหมด

ไมเคิล คูปเปอร์ นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการเฮรา ระบุว่า การทดลองครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจได้ดีมากขึ้นว่า เทคนิคนี้สามารถนำมาใช้งานกับดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่าได้หรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปกป้องโลกของเราในกรณีที่เกิดความจำเป็นขึ้นนั่นเอง


มติชนออนไลน์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่