[CR] สุดขอบฟ้าหิมาลัยที่สิกขิม



ปลายปีที่ผ่านมากลุ่มของพวกเราซึ่งมีอยู่ 3 คน ออกเดินทางกันอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้เดินทางด้วยกันมาปีกว่าหลังจากทริปเส้นทางสายไหมจากซีอานสู่ชายแดนจีน-ปากีสถานบนเส้นทางคาราโครัมไฮเวย์  พวกเราเคยทำงานสารคดีโทรทัศน์ในสมัยบุกเบิกมาก่อน ปัจจุบันหลายคนก็หันเหไปทำงานวิชาการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกัน เหลือเพียงแต่ฉันที่ยังโลดแล่นอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน  ซึ่งตามปกติไปเที่ยวไหนก็ไม่เคยรีวิวอะไรนอกจากโพสรูปในเฟซบุ้กส่วนตัว มีแต่เขียนเรื่องอาหารในบล็อกแก็งค์ตามความขยันและตามอารมณ์ซึ่งไม่ได้มีความสม่ำเสมอ  แต่ทริปสิกขิมคราวนี้มีเพื่อนๆ สนใจถามไถ่กันมามากก็เลยคิดว่าทำรีวิวเป็นเรื่องเป็นราวเลยดีกว่าจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย

ทำไมเราจึงไปสิกขิม พวกเรามักจะชอบไปในสถานที่ซึ่งไม่ได้อยู่ในกระแส เราชอบเรียนรู้สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และสนใจในความแตกต่าง ซึ่งมีสถานที่น่าสนใจมากมายที่อยู่ไม่ไกลและไม่แพง  เราจึงมักลงเอยด้วยประเทศในเอเชีย พวกเราวางแผนการเดินทางของเราจากวันที่ว่างตรงกันโดยไม่ได้เช็คข้อมูลอะไรมากนัก นอกจากฤดูกาลว่าช่วงนี้อากาศดีเดินทางได้  เนื่องจากทุกคนยุ่งอยู่กับภาระหน้าที่ของตัวเองที่จะต้องเคลียร์ให้เสร็จก่อนจบปีเพื่อจะได้ไปเที่ยวยาวๆ ให้สบายใจ  

การเดินทางในครั้งนี้จึงไปแบบไม่ได้ศึกษาอะไรมากรู้เพียงสถานที่ที่อยากไปคร่าวๆ  และฝากความหวังไว้กับบริษัททัวร์ให้ช่วยจัดโปรแกรมให้เรา ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ  เราเน้นการเดินทางในสิกขิมตะวันตก สิกขิมตะวันออก และสิกขิมใต้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน  ส่วนสิกขิมทางเหนือนั้นทางทัวร์บอกว่าอากาศไม่ดีเดินทางไม่ได้ และเราก็เห็นว่ามันอยู่ไกลออกไปมาก ซึ่งเวลาที่เรามีในสิกขิมเพียง 7 วันนั้นไม่เพียงพอ



---------------------
การเตรียมตัว
---------------------




TRAVEL AGENCY
การเข้าสิกขิมซึ่งเป็นรัฐชายแดนทางเหนือของอินเดียในแวดล้อมของเทือกเขาหิมาลัยอันเป็นพรมแดนรอยต่อหลายประเทศทั้งเนปาล จีน (ธิเบต) และภูฐาน จึงเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางการเมืองที่มีการควบคุมเป็นพิเศษ ต้องขออนุญาตเข้าพื้นที่และเดินทางไปกับบริษัททัวร์ท้องถิ่น  ซึ่งเราได้รับคำแนะนำจากนักเดินทางรุ่นใหญ่ในตำนานผู้บุกเบิกดินแดนสิกขิมให้คนไทยได้รู้จักเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จนถือเอาสิกขิมเป็นบ้านแห่งที่สอง ให้ใช้บริษัทซีนีโอลชู ทราเวลส์ ในสิกขิม Siniolchu Travels, Sikkim https://www.facebook.com/Siniolchu-Travels-Sikkim-296440353723034/ ซึ่งมีสุเรนดราเป็นเจ้าของและเป็นมัคคุเทศก์พาเราไปเที่ยว  เขามีความชำนาญและประสบการณ์อันยาวนาน อีกทั้งยังคุ้นเคยกับคนไทยเป็นอย่างดี ทำให้เรารู้สึกเหมือนมาเที่ยวกับเพื่อนมากกว่าไปเที่ยวกับทัวร์

ทริปสิกขิม ดาร์จีลิ่ง โกลกัตตา ของเรากำหนดวันไว้ระหว่างวันที่ 3-13 ธันวาคม 2561 ซึ่งเรามีเวลาอยู่เที่ยวในสิกขิม 7 วัน เราใช้บริการของบริษัททัวร์โดยเริ่มจากการมารับเราจากสนามบินบักโดกรา (Bagdogra) ในวันที่ 3 ธันวาคม และไปจบทริปด้วยการมาส่งเราที่เมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) ในวันที่ 9 ธันวาคม จากนั้นเราก็เที่ยวต่อกันเอง  ซึ่งที่จริงแล้วทางบริษัทสามารถให้บริการครอบคลุมการท่องเที่ยวมาถึงที่นั่น  แต่พวกเรายังสรุปกันไม่ได้ว่าอยากจะไปไหนก็เลยขอไปเที่ยวเองดีกว่าเพราะสามารถเปลี่ยนใจได้ตามอารมณ์

เราอยู่เที่ยวดาร์จีลิ่ง 2 วัน จึงกลับไปที่โกลกัตตาค้าง 1 คืน มีเวลาเที่ยว 1 วันก็บินกลับประเทศไทย ราคาทัวร์ในสิกขิมสำหรับ 3 คน อยู่ที่คนละ 400 USD รวมโรงแรม 2-3 ดาว การเดินทาง และค่าเข้าสถานที่ แต่ไม่รวมพวกค่าขึ้นรถเคเบิ้ลคาร์  ซึ่งหากมีจำนวนผู้ร่วมทางมากกว่านี้มีตัวหารมากกว่านี้ก็จะถูกลงไปอีก  ถือว่าไม่แพงเลยสำหรับทริปแบบส่วนตัว

VISA & PERMIT
ก่อนอื่นให้ขอ E-Visa ออนไลน์ https://indianvisaonline.gov.in/evisa/tvoa.html  ซึ่งสะดวกและรวดเร็วมาก เสียค่าวีซ่าไป 80 USD  สามารถเข้าประเทศอินเดียได้ 2 ครั้ง ภายใน 60 วัน นับแต่วันแรกที่เริ่มใช้  รอวีซ่าเพียงแค่วันครึ่งก็ได้วีซ่าตอบกลับมาทางอีเมลก็ให้พิมพ์เอาไว้ นอกจากนี้ให้ถ่ายเอกสารพาสปอร์ต (ห้ามใช้พาสปอร์ตราชการเด็ดขาด)
และรูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว ฉากหลังขาว ห้ามใส่แว่น เน้นให้พื้นที่หน้า 70% ของภาพ แต่เอาเข้าจริงๆ เขาก็ไม่ได้เคร่งครัดอะไรมากมาย  

เอกสารให้เตรียมเอาไว้อย่างน้อย 2 ชุด (ต่อชุดมี รูปถ่าย 4 ใบ สำเนาวีซ่าและพาสปอร์ต) เพราะเราต้องใช้ตอนขอเข้าเขตสิกขิมและขอเข้าทะเลสาบชางกู (Changu lake) ซึ่งเมื่อได้ permit แล้ว ต้องเก็บรักษาเอกสารไว้ให้ดีห้ามหายเด็ดขาด เพราะเราต้องใช้แสดงตอนออกด้วย  ขั้นตอนในการขอใบอนุญาตทางทัวร์ดำเนินการให้หมด เราเพียงแต่เตรียมเอกสารและไปปรากฏตัว

INTERNET
ซื้อ Sim2Fly ของ AIS แพ็คเกต 8 วัน ราคา 399 บาท เราไปกันเกิน 8 วัน ก็ซื้อ 2 ชุด เปิดใช้ทีละเบอร์ แล้วแชร์ Hot Spot กัน ซึ่งอย่าได้คาดหวังอะไรมาก สัญญาณมีบ้างไม่มีบ้างตามประสาพื้นที่ห่างไกล และแม้แต่ในโกลกัตตาบางวันสัญญาณก็แย่มาก

MONEY
เตรียมแลกเงิน Indian rupee ที่ Super Rich อัตราแลกเปลี่ยน 0.45 เราพบว่าการแลกไปจากเมืองไทยเรทจะดีกว่าไปแลกที่นั่น ดังนั้นจะช้อปอะไรก็คำนวณเงินกันไปให้ดี ร้านค้าดีๆ ก็สามารถใช้บัตรเครดิตได้ และข้าวของที่นั่นราคาสมเหตุผล ไม่ได้บอกผ่านเหมือนในบางเมืองของอินเดีย

ETC.
-ปลั๊กไฟของที่นั่นจะเป็นแบบ 3 รู แบบอินเดีย ให้ซื้อเตรียมไปด้วย ใครที่ต้องชาร์ตแบตหลายอย่างเช่นฉันก็จะพกปลั๊กพ่วงไปด้วยเสมอซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก

-ช่วงที่เราไปสิกขิมนั้นอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 5-15 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอากาศดีท้องฟ้าสดใสปลอดโปร่ง ก็เตรียมเสื้อกันหนาวไปให้พอเพียง เพราะอุณหภูมิเอาแน่เอานอนไม่ได้ จู่ๆ อุณหภูมิอาจลดลงฮวบฮาบและหิมะตกได้  ในช่วงที่เราไปนั้นดูพยากรณ์อากาศก็จะมีฝนตกอยู่วันหนึ่ง เราจึงเตรียมแจ็กเกตกันฝนและร่มไปด้วย แล้วฝนก็ตกในวันนั้นจริงๆ

-สำหรับผู้ที่คิดว่ามีโอกาสแพ้ความสูง (Altitude sickness) ซึ่งใครๆ ก็เป็นได้ไม่เกี่ยวว่าจะแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง จะเตรียมยาเพื่อป้องกัน เช่น Acetazolamide (Diamox) ไปเผื่อไว้ก็ได้ เห็นเขาว่าไปซื้อที่นั่นได้สะดวกกว่าซื้อเมืองไทย แต่พวกเราไม่ได้ซื้อเพราะเคยเดินทางมาแล้วมากมาย ความสูง 3,000-5,000 เมตร ก็ไม่เคยเป็นอะไร จึงชะล่าใจกัน



------------------------------
Day 1
Bangkok – Gangtok

-------------------------------


เราออกเดินทางด้วยสายการบิน Spice Jet เที่ยวบิน SG 84 น้ำหนักกระเป๋าโหลดได้ 20 กิโลกรัม ขาไปกระเป๋าพวกเราน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 15 กิโลกรัม เพราะว่าต้องเอาเสื้อผ้าเพื่อกันหนาวไปเยอะ เราจึงเหลือน้ำหนักให้เพิ่มขากลับเพียง 5 กิโลกรัม ซึ่งไม่เพียงพอเพราะพวกเราซื้อหนังสือกันมาก เราจึงซื้อน้ำหนักเพิ่มล่วงหน้ากันไว้ก่อนอีก 10 กิโลกรัม ประมาณ 2,600 บาท ส่วนค่าตั๋วเครื่องบินรวมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ ราคาคนละ 11,756 บาท

ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 05:10 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม ให้เผื่อเวลาเช็คอินของสายการบินนี้ให้มากๆ เพราะไม่มีการจัดการและไม่มีการสื่อสาร เรารอในคิวเกือบ 2 ชั่วโมงกว่าจะได้เช็คอินและผ่าน ตม.ก็ถึงเวลาบอร์ดดิ้งวิ่งเข้าเกตกันแทบไม่ทัน  และไม่มีออนไลน์เช็คอินต้องไปต่อแถวเท่านั้น  โดยเฉพาะเที่ยวกลับมั่วหนักกว่านี้อีกให้เผื่อเวลาไว้เลยอย่างน้อย 3 ชั่วโมง จึงจะรอดแบบไม่ต้องลุ้นให้หัวใจวาย

เราไปถึงสนามบินนานาชาติเนตาจี ซูบาส จันดรา โบส (Netaji Subhas Chandra Bose International Airport) ที่เมืองโกลกัตตา เวลา 06:10 น. เวลาต่างกับไทยประมาณ 01:30 ชม. เมื่อไปต่อคิว ตม.ก็ให้ไปต่อตรงช่อง E-Visa ซึ่งตอนที่เราไปนั้นไม่มีคนเลย เราได้เป็นคิวแรก แต่ตอนที่ฉันไปโกลกัตตาอีกครั้งในเดือนมกราคม พบว่าช่องนี้คิวยาวมากๆ ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ฉะนั้นหากต้องมีเที่ยวบินในประเทศต่อก็ต้องเผื่อเวลาความล่าช้าต่างๆ ที่สนามบินไว้ด้วย  

ตราประทับวีซ่านั้นเขาจะประทับลงในเอกสารตอบรับจากสถานทูตที่เราขอไป และประทับลงในพาสปอร์ต ซึ่งหากใครคิดจะไปใช้สิทธิ์วีซ่าเข้าประเทศครั้งที่สอง ให้เก็บเอกสารนี้ไว้ให้ดีเพราะการเข้าครั้งที่สองเขาจะขอดูเอกสารนี้ด้วย  ตอนแรกฉันเกือบจะไม่ได้นำติดตัวไปด้วยในการกลับไปเที่ยวโกลกัตตาอีกครั้งในเดือนต่อมาเพราะคิดว่าได้ประทับตราลงในเล่มแล้ว กระดาษแผ่นนี้คงหมดประโยชน์แต่ก็พกไปเผื่อไว้ ปรากฏว่าถูกขอตรวจทั้งขาเข้าและขาออก

เราจะต้องต่อเครื่องจากสนามบินนี้ไปยังสนามบินบักโดกรา ด้วยสายการบิน Air Asia น้ำหนักกระเป๋าโหลดได้ 15 กิโลกรัม เที่ยวบิน  I5 582 เวลา 09:00 น. เราคิดว่ามีเวลาอยู่ที่สนามบินเกือบ 3 ชั่วโมงจะได้มีเวลานั่งจิบกาแฟกินอาหารเช้ากันสบายๆ แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น  เพราะกว่ากระเป๋าจะออกมาที่สายพานก็เสียเวลารอไปหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ  จึงต้องวิ่งไปซื้อฟาสฟู้ดและกาแฟมานั่งกินกันในเกต  แล้วขึ้นเครื่องและไปถึงสนามบินบักโดกรา เวลา 10:20 น. ที่เราเลือกใช้สายการบินสองสายนี้เพราะดูเวลาแล้วดีที่สุด ไม่ต้องแกร่วรอต่อเครื่องนานหลายชั่วโมง แต่ก็มีความเสี่ยงพอสมควรจากการล่าช้าในทุกจุดที่สนามบินมากกว่าที่เราคาดคิด

จากสนามบินบักโดกรา เรานั่งรถจี๊ปของบริษัททัวร์  สุเรนดรามารับเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองกังต๊อก (Gangtok) ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐสิกขิม ที่อยู่ห่างออกไป 125 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมง เพราะรถติดมากที่เมืองสิริกุรี (Siliguri)  เราผ่านสะพานโคโรเนชั่น (Coronation Bridge) สะพานข้ามแม่น้ำทีสตา (Teesta river) ไปสู่พรมแดนประเทศภูฐาน ระหว่างทางเราแวะกินอาหารเที่ยง จิบชา และพักผ่อนเล็กน้อยที่ร้านลีลามณี




จากนั้นจึงเดินทางต่อและแวะพักจิบชาเตมิ (Temi tea) อันลือชื่อของสิกขิมที่ Oasis Café  ใบชาแรกผลิที่เรียกว่า First Flush เป็นใบชาที่ผลิใบชุดแรกของฤดูใบไม้ผลิถือเป็นชาที่ดีที่สุด เมื่อผ่านกระบวนการนวดและหมักเป็นชาดำ ชงแล้วเป็นสีทองให้รสอ่อนละมุนแต่หอมหวนด้วยอโรมาอันหนักแน่น

เราเข้าพักที่โรงแรมเฮเลีย (Hotel Helia) โรงแรมเล็กๆ  ในเมืองกังต๊อก แล้วออกมาเดินเล่นที่บาซาร์ MG Marg Gangtok ในตอนค่ำ ซึ่งมีร้านขายของพื้นเมือง สินค้าหัตถกรรม ทั้งของสิกขิม เนปาล และธิเบต มากมายที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งราคาสมเหตุสมผล ไม่ต้องเหนื่อยกับการต่อรอง

สุเรนดราพาเราไปกินอาหารที่ร้าน Taste of Tibet ซึ่งถือเป็นร้านที่อร่อยที่สุดในทริปนี้ ทำให้เราต้องมากินซ้ำอีกหลายมื้อ จานเด่นของที่นี่คือกาตุ๊ก (Gyathuk) ซึ่งเป็นบะหมี่น้ำรสเข้มข้น และโมโม่ (Momo) ซึ่งเป็นเกี๊ยวมีหลายแบบ  อาหารของร้านนี้เท่าที่สั่งมากินอร่อยทุกอย่าง โดยเฉพาะพวกเนื้อผัดพริก ข้าวผัด และหมี่ผัด ซึ่งผัดได้ดีมากหอมกระทะ อร่อยมากๆ

เรากินกันจนอิ่มก็เดินกลับโรงแรมไปพักผ่อน คืนนี้เราจะได้นอนกันแล้ว หลังจากที่อดนอนข้ามวันข้ามคืนกันมานาน

ชื่อสินค้า:   ท่องเที่ยวหิมาลัย สิกขิม
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่