บทความตามใจฉัน “Game of Consoles: NES” Part 1

Nintendo Entertainment System หรือ NES ชื่อนี้หลาย ๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู
แต่ถ้าผมบอกว่า Famicom ล่ะ

บทความคราวนี้ จะขอดักแก่ผู้อ่านหลาย ๆ คนด้วยความเป็นมาของเครื่องเกมในตำนาน
รวมถึงวีรกรรมของ Nintendo และเหล่าผู้อยู่เบื้องหลังที่ล้วนหลั่งเลือด, หยาดเหงื่อและน้ำตาเพื่อสร้างตำนานนี้ขึ้นมาครับ



Born in Japan

NES และ Famicom เป็นเครื่องเล่นเกม Console Gen ที่ 3 ประมวลผลด้วย 8bit Processor อ่านข้อมูลเกมจาก Rom ที่บรรจุอยู่ในตลับผลิตโดยบริษัท Nintendo ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 15 กรกฎาคม 1983 ในแบรน Family Computer (ถูกเรียกสั้น ๆ ว่า Famicom หรือ แฟมิค่อม ในสำเนียงไทย) โดยวางจำหน่ายพร้อมเกมนำร่องสามเกม Donkey Kong, Donkey Kong Junior, และ Popeye


เมื่อออกวางขายไปได้พักหนึ่งก็เจอปัญหา มีรายงานว่า Famicom หลายเครื่องเกิด “ ค้าง” ในขณะเล่นเกมซึ่งเกิดจากข้อผิดพลาดในแผงวงจรของเครื่อง Nintendo จึงเรียกคืนเครื่องทั้งหมดพร้อมหยุดสายการผลิตชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดโดยเปลี่ยน Mainboard เป็นแบบใหม่ที่แก้ปัญหาแล้ว

มูลค่าความเสียหายของ Nintendo ในครั้งนั้นคาดกันว่าอยู่ในหลักล้านเหรียญสหรัฐโดยไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด แต่นับว่า Nintendo ยังมีโชคอยู่เพราะปัญหาถูกตรวจพบและแก้ไขก่อนช่วง shopping season พอดี (คาดว่าเป็นช่วงคริสมาสและปีใหม่) เมื่อสิ้นปี 1984 หรือ 6 เดือนหลังจากวางจำหน่าย ยอดการซื้อของ Famicom สูงถึง 2.5 ล้านเครื่องแซงคู่แข่ง SG-1000 จาก SEGA แบบไม่เห็นฝุ่น  

และจากความสำเร็จนี้ทำให้ Nintendo เริ่มคิดที่จะวางจำหน่ายเครื่องเกมนี้ในต่างประเทศ



Go inter

การขาย Famicom ในอเมริกานั้น Nintendo ได้เจรจาความร่วมมือกับ Atari ในการขายเครื่องเกมในชื่อ "Nintendo Enhanced Video System"
โดย Nintendo จะผลิตเครื่องเกมและตลับเกมส่วน Atari เป็นตัวแทนจำหน่าย
การเจรจาเป็นไปด้วยดีและจะมีการลงนามในสัญญาที่งาน Consumer Electronics Show (CES) ในฤดูร้อนปี 1983

แต่การลงนามนั้น ไม่เคยเกิดขึ้น


Atari ปฏิเสธการลงนามในนาทีสุดท้ายเพราะความเข้าใจผิดที่กว่าจะเคลียร์กันได้ Atari ก็ได้รับผลกระทบจากยุค Video game crash พอดี
ทำให้ Atari ขาดทุนหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐในปีนั้นจนทำให้ไม่สามารถทำสัญญากับ Nintendo ได้อีกต่อไป
บางแหล่งข้อมูลก็กล่าวว่าความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นนั้นสุดท้ายเคลียร์กันไม่ลงอยู่ดี

Atari ถูกบริษัทแม่ Warner แบ่งขายไปในปี 1984 และฟื้นกลับมาไม่ได้อีกเลย



Fine. I will do it myself.

    เมื่อการลงนามในสัญญาตัวแทนจำหน่ายกับ Atari ล้มเหลว Nintendo ตัดสินใจดำเนินการวางขาย Famicom ในอเมริกาต่อไปด้วยตัวเองโดยตั้ง Nintendo of America เป็นผู้จัดจำหน่ายแทน  
Nintendo ได้ออกแบบ Famicom ใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น "Nintendo Advanced Video System" หรือ AVS โดยตั้งใจให้เครื่องดูคล้าย Home computer ขายพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เช่น data recorder, keyboard, joystick, Zapper light gun, controllers.

ได้มีการโชว์ตัว AVS ในงาน CES ฤดูหนาวปี 1985(ช่วงต้นปี 1985) ผลตอบรับออกมาไม่ดี คนส่วนใหญ่เห็นว่ามันก็คือเกม Console และไม่มีร้านขายปลีกใด ๆ สนใจสั่งซื้อแม้แต่รายเดียว นักวิเคราะห์ในอเมริกามองว่า Nintendo คาดการณ์ผิด หลังจาก Video game crash ทำให้ไม่มีที่ให้ตลาดเครื่องเกม Console ในอเมริกาอีกแล้ว

Roger Buoy จาก Mindscape บริษัทผลิตเกมสัญชาติอเมริกา ได้กล่าวประโยคที่รุนแรงประโยคหนึ่งเกี่ยวกับการบุกตลาดของ Nintendo ครั้งนี้ไว้ว่า

"Hasn't anyone told them that the videogame industry is dead?"
(“ไม่มีใครบอกพวกเค้ารึไงว่าอุตสาหกรรมเกมมันตายแล้ว”)



Redesign for North America (Famicom Kai)

จากงาน CES ฤดูหนาวปี 1985 ทำให้ Nintendo รู้ว่า ผลพวงจาก Video game crash ทำให้ร้านขายปลีกหลีกเลี่ยงการรับเครื่องเกม Console มาขายเพราะเชื่อว่ามันขายไม่ได้และคนซื้อที่เคยเจ็บมาก่อนก็ไม่อยากซื้ออีก ทำให้ Nintendo ปรับปรุง Famicom ใหม่อีกครั้งและคราวนี้ต้องทำให้มันดูไม่ใช่เครื่องเกม Console โดยสิ้นเชิง โดยเริ่มจากคำที่ใช้ก่อน

- ตัวเครื่องจะเปลี่ยนคำเรียกจาก Console เป็น Control Deck

- ตลับเกม (cartridge) จะเปลี่ยนคำเรียกเป็น “Pak” (ไม่แน่ใจว่าอ่านออกเสียงว่าอะไร คิดว่าน่าจะป็น “ปั้ก”)

- รูปร่างของเครื่องเปลี่ยนไปเป็นเครื่องแบบสี่เหลี่ยมสีเทา ดูแล้วคล้ายเครื่องเล่นวิดีโอเทป

- Controller เปลี่ยนจากสายติดตายเป็น Port ที่สามารถถอดเปลี่ยน Controller เป็นแบบต่าง ๆ ได้

- การเสียบตลับเกม จากแบบเดิมที่เสียบที่ด้านบนของเครื่องซึ่งตรงนี้ทำให้ AVS ยังคงถูกมองว่าเป็นเครื่องเกม Console ถูกเปลี่ยนเป็นการใส่จากด้านหน้าของเครื่อง (เรียกว่า Front Loader) คล้ายเวลาใส่วิดีโอเทปในเครื่องเล่นเทป

- ทีเด็ดคือการติดตั้ง Antipiracy chip ที่ทำให้ “ตลับก๊อป” ไม่สามารถใช้งานบน NES ได้

และสุดท้าย "Nintendo Advanced Video System" ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น  “Nintendo Entertainment System”


NES พร้อมจอย

ตลับของ NES วิธีการใส่แบบ Front Loader

ต่อไปคือต้องทำให้ร้านค้าปลีกรับไปขายให้ได้


To be continue in Part 2

ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน” โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ
https://www.facebook.com/uptomejournal/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่