การแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

กระทู้สนทนา
การแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

    ปาฏิหาริย์ (marvel; wonder; miracle) แปลว่า ตามวิสัยทัศน์ของบุคคลว่าไม่สามารถจะเป็นไปได้ แต่มีเหตุให้ลุล่วงสำเร็จ สิ่งที่มาลุล่วงสำเร็จสัปปายะนี้ และสรณะสัปปายะนี้จนสำเร็จนี้ สิ่งอันนี้ วาระนี้ ภาวะนี้ เกินกว่าบุคคลทั่วไปจะคาดถึง เรียกว่าปาฏิหาริย์

    สิ่งที่ทำให้เกิดความพิเศษขึ้นมา แต่คนไม่ค่อยได้เห็นกัน หรือบุคคลยังไม่รู้จักสิ่งนั้นๆ เลยเกิดความอัศจรรย์ใจขึ้นมา มี ๓ อย่าง ดังนี้


    ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ (marvel of psychic power) คือ การสร้างความสำเร็จ วิชาที่ดี คนที่มีวิชาดีก็เรียกว่ามีอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น หมอคนหนึ่งเขารู้จักยาตัวหนึ่ง เขามียาดี เอายาตัวนี้ให้คนอื่นกิน เขาก็หายจากการเจ็บป่วย นี่แหละ หมอคนนี้มีอิทธิปาฏิหาริย์


    ฉะนั้น อิทธิปาฏิหาริย์นี้เป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง แต่บุคคลที่รู้แล้วสามารถทำได้ ก็กลายเป็นเขาสามารถสร้างอิทธิปาฏิหาริย์ได้ เพราะว่าเราไม่รู้วิธีการนั่นเอง


    เหมือนกับคนสมัยก่อน คนป่า เขาไม่รู้จักไฟแช็ค แล้วเรานำไฟแช็คไปจุด มีไฟโผล่ขึ้นมา คนป่าเขาที่ไม่รู้จักเขาก็จะรู้สึกปาฏิหาริย์อัศจรรย์ใจขึ้นมา นี่แหละเรากลายเป็นผู้ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์ทันทีสำหรับเขา


    พระพุทธเจ้าก็สนับสนุนอิทธิปาฏิหาริย์เช่นเดียวกัน ให้ดู ให้เรียนแบบ ให้ศึกษา แล้วให้เป็นเอง แต่ไม่ใช่ไปอาศัยเขาให้เป็น


    แล้วทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติพระวินัย ห้ามพระภิกษุสงฆ์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องบาตรปุ่มไม้จันทน์ ของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ท่านเหาะขึ้นท้องฟ้า แล้วถือบาตรเวียนรอบเมืองราชคฤห์ ๓ รอบฯ


    หมายความว่า ยกตัวอย่างพระโมคคัลลานะท่านได้รับการยกย่องว่าเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย เลิศทางอิทธิฤทธิ์


    เพราะท่านกลัวว่าคนที่ไม่เข้าใจกลัวเอาไปเลียนแบบ แล้วจะเกิดอันตราย เช่น คนที่ไม่รู้ แล้วนำมีดไปบาดมือ เฉือนแขนขา อย่างนี้อันตรายไหม? เพราะว่า พระพุทธเจ้าท่านกลัวว่าคนที่ทำไม่ถึง ถ้าไปทำเลียนแบบแล้วจะเกิดอันตราย แต่ถ้าใครทำเป็น ทำถึง ก็เป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งก็สามารถนำไปช่วยเหลือคนได้ เช่น ก็มีหลายครั้งที่พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เช่น


    ๑. ตอนปราบทิฏฐิมานะของชฎิล ๓ พี่น้อง คือ พระอุรุเวลากัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ และตอนแสดงปาฏิหาริย์


    ๒. พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ ทำลายทิฐิมานะความถือตัวของพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า โดยการเหาะขึ้นไปบนอากาศ โปรยละอองธุลีพระบาทลงเหนือศีรษะของเจ้าศากยะ


    ๓. แสดงยมกปาฏิหาริย์  เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยน้ำปานะเสร็จ รับสั่งให้นายคัณฑะนำเม็ดมะม่วงไปปลูก แล้วพระองค์ทรงล้างพระหัตถ์ลงบนปากหลุมของเม็ดมะม่วงก็เจริญเติบโตออกดอกออกผลโตเต็มต้ ต้นมะม่วงนั้นมีชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์  


    พอตกตอนบ่าย มีพุทธบริษัท ๔ มาก พระพุทธองค์ทรงเนรมิตจงกรมแก้วในอากาศเหนือต้นมะม่วง แล้วเสด็จขึ้นสู่ที่จงกรมนั้น โดยทำปาฏิหาริย์ให้บังเกิดเป็นคู่ ๆ โดยวิธีต่าง ๆ เช่น มีท่อน้ำและท่อไฟพุ่งมา จากส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายสลับกันไป ท่อไฟที่พุ่งออกมานั้นมีฉัพพรรณรังสี ทั้ง ๖ สีสลับกันไปมา เมื่อกระทบกับสายน้ำมีแสงสะท้อนสวยงามมาก ทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่ง ทรงให้พุทธเนรมิตแสดงพระอาการสลับกันกับพระพุทธองค์ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น


    แต่สำหรับพระภิกษุทั่วไป การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นี้ ไม่ควรแสดงบ่อย เพราะถ้าคนที่ไม่รู้นี้ นำไปเลียนแบบก็อาจจะเกิดอันตรายได้ ก็เปรียบเสมือน บางคนมีกำลังมาก สามารถยกน้ำหนัก ๕๐๐ กิโลกรัมได้ แต่ถ้าคนไม่เคยฝึกมา เห็นเขายกน้ำหนักได้ เราก็ยกบ้าง ร่างกายของเราก็ใหญ่เหมือนเขาเช่นเดียวกัน แต่เราไม่ได้ฝึกฝนมา เรายก ๕๐๐ กิโลกรัม เราก็เกิดบาดเจ็บได้ กล้ามเนื้อฉีกขาดได้


    แล้วทำไมพระพุทธเจ้าจึงมาเน้นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ก็เพราะว่า การสอนนี้ทำให้เขาเกิดปัญญา เขาก็นำปัญญานี้ไปแก้ไขให้ดีได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ไปเลียนแบบ หรือไปขอเขา


    สมมติว่า เวลานี้เราต้องการหุงเขา เรามีปัญญาสามารถหุงข้าวเองได้แล้ว เพียงแต่ว่าเราได้ข้าวแล้วเราก็มาหุงข้าวเอง แทนที่จะต้องไปขอข้าวเขากินอยู่เรื่อยๆ ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์นั้นเพราะว่าเขาไม่รู้จักหุงข้าว พอเราเอาหม้อหุงข้าวให้เขา เขาก็ไม่รู้จักหุงข้าว


    ๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ (marvel of mind-reading) คือ การรอบรู้กระบวนการของจิต สามารถบอกสภาพจิตของคนนั้นๆ ได้ ทายความคิดของเขาได้ ทายใจได้ รู้อุปนิสัยของเขาได้


    ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (marvel of teaching) คือ คำสอนที่เป็นอัศจรรย์ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เห็นผลจริง แก้ทุกข์ปัญหาได้จริง


    ทำไมพระพุทธเจ้าไม่สนับสนุน การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะว่า เพราะว่า กลัวคนไปเลียนแบบ บางคนเขาก็จะคิดว่า เขาทำได้ เราก็ต้องทำได้เช่นกันแล้วไปเลียนแบบ อย่างนี้ก็อันตราย


    ส่วนการทายใจ ดักใจ อันนี้ก็อันตรายเช่นเดียวกัน ถ้าเราทายใจเขาแล้วมั่ว ไม่จริง แล้วก็ไปเลียนแบบ แล้วก็ทายใจ ดักใจบ้างก็จะเกิดอันตราย ถ้าเราทายใจ ดักใจแล้ว ไม่จริงก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน เช่น ทายทักว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะต้องแก้อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วไม่เป็นจริง ก็เกิดปัญหา ทุกข์ติดตามมา ก็ปวดหัว ยิ้มได้ เพราะว่าถ้าไม่รู้จริง ก็ไม่มีใครสามารถมารับรองได้ แต่ของพระพุทธเจ้านั้นท่านรู้จริง เห็นจริง ประจักษ์จริง จึงสามารถทายใจได้ ดักใจได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี สามารถรู้จริต อุปนิสัย อ่านใจคนได้


    พระพุทธเจ้าท่านก็ใช้ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ข้อนี้


    ทั้ง ๒ ข้อนี้ ดูแล้วมันง่าย แต่ข้างในไม่ง่ายเลย มันซ่อนอันตรายไว้เยอะ


    ยกตัวอย่าง พระมหาโมคคัลลานะ ท่านมีอิทธิฤทธิ์จริงๆ แต่คนทั่วไปสามารถเป็นหรือมีได้อย่างพระมหาโมคคัลลานะได้ แต่ถ้าไปทำเลียนแบบได้ คนนั้นก็ซวยไป เกิดอันตรายได้


    ปาฏิหาริย์นี้เป็นศาสตร์ เป็นวิชาที่มีอยู่ในธรรมอยู่แล้ว


    ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามไม่ให้มี แต่เพราะ ๒ ข้อข้างต้นนี้ มันอันตราย เราไปทำแล้วคนนำไปเลียนแบบแล้วมันอันตราย


    บางทีพูดครั้งแรกจริง แต่พูดครั้งต่อไปอาจจะไม่จริงก็ได้ อาจอุปโลกน์ก็ได้ โดยเฉพาะคนทั่วไปชอบอุปโลกน์กันอยู่แล้ว เป็นจริตของมนุษย์


    แต่พระพุทธเจ้าส่งเสริมให้คำสอนเป็นอัศจรรย์ เพราะว่า คนเลียนแบบไม่ได้ เราต้องไปทำ ไปปฏิบัติ ไปพิสูจน์


    ยกตัวอย่าง คุณไปหุงข้าว ข้าวสุกแล้ว สามารถกินข้าวได้ เอาช้อนตักข้าวเข้าปาก นี่แหละมันชัดเจนอยู่แล้ว มันอุปโลกน์ไม่ได้


    แต่ถ้าเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น การทำข้าวทิพย์ นั่งเฉยๆ แล้วปากสวดคาถา ทำปากขมุบขมิบ แล้วนึกได้ทำให้อิ่มข้าวแล้ว นี่แหละ มันมีช่องทางให้อุปโลกน์ได้ ถ้าหากว่าไม่จริง


    แต่ถ้าเป็นคำสอนอัศจรรย์ มันไม่สามารถทำให้อุปโลกน์ไม่ได้ มันมีขั้นตอน ชัดเจน ตัวเขาต้องลงมือปฏิบัติเลย ถึงจะได้ เช่น ข้าวนี้กินแล้วอิ่ม  ต้องเอาข้าวนี้มาตักใส่ปากแล้วถึงจะอิ่ม แต่ถ้าไปในทางอิทธิปาฏิหาริย์ จะเน้นเรื่องอัศจรรย์ จะทำข้าวทิพย์ เขาจะอิ่มของเขา เขาสามารถกินข้าวทิพย์แล้วอิ่มได้ โดยไม่ต้องตักข้าวเข้าปาก เราก็ไม่สามารถไปล่วงรู้ได้ เราก็ไม่สามารถจะเถียงกับเขาได้ เพราะไม่มีรูปธรรมเป็นกิจลักษณะ ไม่มีขั้นตอนพิสูจน์


    พระพุทธเจ้าก็เลยถือเอาข้อที่ ๓ คำสอนเป็นอัศจรรย์ วัดกันชัวร์ๆ วัดกันได้ ทำกันได้ ถ้าเราทำเราก็ได้ผล เราไม่ทำก็ไม่ได้ผล เราทำเหตุใดก็ได้ผลเช่นนั้น


    ยกตัวอย่าง หลวงพ่อโอภาสี หลวงปู่แหวน หลวงพ่อเกษม สมเด็จพุฒาจารย์โต ฯลฯ ท่านก็สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่ท่านก็จะไม่แสดงให้เห็นทั่วไป เราลองสังเกตดูได้ว่า นอกจากมีเหตุจำเป็นจริงๆ หรือมีเหตุที่จะต้องเพิ่มศรัทธาให้กับผู้คน ท่านจึงจะแสดงอิทธิฤทธิ์


    ที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ส่งเสริม ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ นั้นคือ พระพุทธเจ้าท่านยอมรับว่ามีจริง แต่ว่ามันอันตราย ท่านก็เลยแนะนำตรงที่ไม่อันตรายดีกว่า นั่นก็คือ ให้ถือคำสอนเป็นอัศจรรย์ดีกว่า เน้นเอาสิ่งที่ปลอดภัยดีกว่า ทำจริงๆ ถึงจะได้ นึกเอาเองไม่ได้ คำสอนนี้พิสูจน์ได้ทุกขั้นตอน พระพุทธเจ้าจึงส่งเสริมทางคำสอนดีกว่า ปลอดภัย


    ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์ ๒ ข้อข้างต้นนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ดี หรือไม่มีจริง นั่นไม่ใช่ แต่ว่ามันอันตราย


    ยกตัวอย่างปัจจุบันนี้ อย่างเช่น นักแสดง ยอดนักมายากล มายากล เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ (David Copperfield) แสดงมายากลด้วยกันเอาโซ่มัดตัวเองแล้วมีแม่กุญแจล็อคไว้ แล้วนำไปแช่ไว้ในน้ำทะเล แล้วก็สะเดาะโซ่เหล็กขึ้นมาได้ บางคนทำไม่เป็น ไม่รู้ศาสตร์ด้านนี้ตายมาเยอะแล้ว ไม่สามารถสะเดาะกุญแจออกมาได้ ก็ตายในน้ำ


    ทุกเส้นทางมีศาสตร์ของเขา พอเขารู้ศาสตร์ก็กลายเป็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของเขา แต่เพราะเราไม่รู้ แต่พอเฉลยเรารู้แล้ว ก็แค่นั้นเอง


    อย่างเช่นมายากลชั้นยอด เช่น เสกเสือออกมาจริงๆ ร้องคำราม เป็นต้น


    ศาสตร์ วิชา ทุกอย่างยังมีอีกเยอะ เพียงแต่ว่าเราไม่รู้เรื่องเท่านั้นเอง เราต้องเปิดใจกว้างไว้ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราไม่รู้แล้วบอกว่าไม่มี อย่างนี้ไม่ได้


^_^  ..._/\_...  ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่