Becoming Champions : สารคดีลูกหนังอุรุกวัย ที่สะท้อนให้เห็นยุคมืดบอลไทยในอดีต(ฉบับเต็ม)


“ทีมชาติไทย เก่งตอนเด็ก แต่ไม่เก่งตอนโต” ประโยคตลกร้ายที่ไม่มีใครขำออก ยามเห็นความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าของ ทีมชาติไทย แต่ใครเล่าจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว ความอยากเอาชนะที่มากเกินไป บางครั้งก็นำมาซึ่งความพ่ายแพ้

วัฏจักรหนึ่งที่ผู้เขียนได้ค้นพบ จากการติดตามผลงานทีมชาติไทยมาตลอดชีวิต ก็คือ เก่งกาจเกรียงไกร ตอนเด็กชนิดที่แข่งกับชาติไหนก็สามารถสู้ได้ ยามเอาเด็กไทยระดับประถมฯ - มัธยมฯ ไปเตะบอลแข่งกับเด็กๆชาติอื่นในทวีป

แต่พอเข้าพ้นช่วงรั้วมัธยมฯ มาสู่ระดับการแข่งขันจริง ก็วนเข้าลูปเดิมคือ ตกรอบ แพ้ยับเยิน จนเป็นเรื่องชาชิน จากนั้นก็ผลักเปลี่ยนสู่เจเนอเรชั่นรุ่นต่อๆไป วนเวียนในลักษณะเดิมกันที่ว่า เก่งตอนเด็ก แล้วมาแพ้ตอนโต

ทั้งที่เมื่อสำรวจดูแล้ว ประเทศไทย ล้วนมีปัจจัยหลายอย่างเอื้อหนุนสู่การเป็น ชนชาติฟุตบอลชั้นนำของทวีป ได้ไม่ยากนัก

ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ด้านฟุตบอลที่มีอย่างมายาวนาน มีฮีโร่นักฟุตบอลและเรื่องเล่าขานมากมายถึงความสามารถในกีฬาลูกหนังของไทย การเป็นชาติที่ผูกขาดความสำเร็จในระดับอาเซียนช่วงเวลาหนึ่ง สภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของฟุตบอล จนแทรกซึมอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศนี้

ตลอดจนแนวคิดแบบชาตินิยมของประเทศ ที่ไม่เคยเสียเอกราช ที่ต้องการเห็น “ชัยชนะ” ในทุกๆสนามแข่งขัน ยามที่มี ตัวแทนจากไทย ออกไปแข่งขันในระดับนานาชาติ ก็น่าจะเป็นแรงขับที่ดีของ นักกีฬาไทยเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จากสิ่งที่ถูกปลูกฝังเรื่องความอยากเอาชนะ ยามลงแข่งขันกับต่างชาติ มาตั้งแต่เด็ก

กลับกันปัจจัยที่ว่ากันมาทั้งหมด ไม่สามารถช่วยให้ ทีมชาติไทยชุดใหญ่ แข็งแกร่งในระดับสากลเสียที โดยเฉพาะในเมเจอร์สำคัญอย่าง โอลิมปิก เกมส์ ที่ร้างรามานานถึง 50 ปี, ฟุตบอลโลก ที่ยังไม่เคยไปสัมผัสรอบสุดท้ายสักหนเดียว,  รวมถึงศึกชิงแชมป์เอเชีย ที่มีผลงานดีสุดเพียงแค่อันดับ 3 เท่านั้น จากทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 6 ชาติ เมื่อ 46 ปีที่แล้ว

เรื่องนี้ทำให้นึกถึง ช่วงเวลาแห่งยุคมืดของ อุรุกวัย เจ้าของแชมป์โลก 2 สมัยที่เคยยิ่งใหญ่ ในการแข่งขันฟุตบอลระดับโลก ตลอดช่วงทศวรรษ 1920-1950 ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ แรงขับอยากเอาชนะ ฝังตัวอยู่ใน DNA ของเด็กทุกคนในชาติ  

ทว่าความสำเร็จเหล่านั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ตามมาหลอกหลอนนักเตะรุ่นหลัง จนพวกเขาไม่สามารถยืนระยะความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง และถูกหลายๆชาติแซงหน้าไป โดยเฉพาะรายการใหญ่อย่าง ฟุตบอลโลก จากขาประจำแชมป์โลก สู่ที่ทีมตกรอบสม่ำเสมอ และกลายเป็นชาติที่ไม่ได้ไปรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ถึง 5 ครั้ง ในช่วงทศวรรษ 1970-2000

ปัจจัยความล้มเหลวของ อุรุกวัย เกิดขึ้นจากอะไร แล้วทำไมชาติที่มีประชากรเพียง 3 ล้านกว่าคน ถึงสามารถกลับมายืนอยู่แถวหน้าของโลกฟุตบอลในปัจจุบันได้ Main Stand จะมาถอดบทเรียนจากทีมแชมป์โลก 2 สมัย เพื่อหาคำตอบว่า “ถ้าทีมชาติไทยไม่อยากเก่งแค่ตอนเด็กอย่างเดียว ควรต้องเรียนรู้อะไรบ้าง จากช่วงยุดตกต่ำของฟุตบอลอุรุกวัย”

เล่นเพื่อชัยชนะ
“อองตวน มักพูดอยู่เสมอว่า เขามีครึ่งหนึ่งเป็น อุรุกวัย แต่ในความเป็นจริง เขาเป็นคนฝรั่งเศส และเขาไม่มีทางรู้เลยว่า คนอุรุกวัย รู้สึกอย่างไร”

“เขาไม่มีทางเข้าใจจิตวิญญาณ ความทุ่มเท ความพยายามของเรา เพื่อให้ชาติประสบความสำเร็จในฟุตบอล เขาอาจจะแค่ชอบวัฒนธรรมเรา พูดภาษาเดียวกับเราได้ แต่มันไม่ใช่กับเรื่องของความรู้สึกแน่นอน”

หลุยส์ ซัวเรซ กองหน้าทีมชาติอุรุกวัย พูดถึง อองตวน กรีซมันน์ สตาร์ทีมชาติฝรั่งเศส ที่ไม่แสดงอาการดีใจภายหลังยิงประตูส่งทีมชาติอุรุกวัย กลับบ้านในฟุตบอลโลก 2018 เพราะตนเองมีความรู้สึกรักในประเทศนี้ ราวกับมีเลือดครึ่งกายเป็นคนอุรุกวัย

คำโต้ตอบของ ซัวเรซ อาจจะดูเกินจริงและดูเหมือนขี้แพ้ชวนตีไปสักนิด แต่หากลองพิจารณาให้ดี บางที ซัวเรซ อาจจะพูดบนพื้นฐานเป็นจริงก็ได้ว่า  ถ้าไม่ใช่คนอุรุกวัยก็คงไม่มีทางเข้าใจถึงความรู้สึกของคนในชาติได้ดีเท่า โดยเฉพาะความรู้สึกของชาติเล็กๆ ที่ต้องการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกฟุตบอลอยู่เสมอ

สำหรับประเทศที่มีพลเมืองเพียงหลัก 3 ล้านคน ฟุตบอลเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในประเทศ ทุกพื้นที่ของประเทศนี้ ถูกปกครองไปด้วยลูกฟุตบอล และสนามฟุตบอล

ไม่ว่าจะเป็นริมถนนหนทาง ชายหาด แม้กระทั่งในผับบาร์ ไม่มีพื้นที่ไหนที่คนอุรุกวัยจะไม่พูดถึงฟุตบอล ซึ่งมันเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ อังกฤษ ยกพลมาควบคุมกิจการ และนำเอาวัฒนธรรมฟุตบอลมาเผยแพร่ให้คนในพื้นที่ได้รู้จักกับมัน

ฆวน คาร์ลอส ลูซูเรียก้า นักประวัติศาสตร์เผยผ่านสารคดี Becoming Champions ทาง Netflix (มีแบบบรรยายไทยแล้วนะครับ) ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟุตบอลที่อุรุกวัยได้เติบโตไปอย่างเร็วมาก เพราะนี่ไม่ใช่กีฬาของคนชนชั้นสูง แต่ทุกคนในแผ่นดินนี้ ไม่ว่าจะคนรวย คนจน คนอพยพ ก็สามารถเล่นได้ เป็นกีฬาที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ขอเพียงแค่คุณเล่นดีเท่านั้นก็พอ

อุรุกวัยก่อตั้งสมาคมฟุตบอลฯ สำเร็จในปี  ค.ศ. 1900 จากนั้นก็ประกาศศักดาคว้าเหรียญทองฟุตบอลชาย ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ฟีฟ่าเข้ามามีส่วนจัดการด้วย 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1924 และ 1928

ความสำเร็จของ ทีมชาติอุรุกวัย ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งหลังสุด  ทำให้ ฟีฟ่า เลือกชาติเล็กๆจากแผ่นดินอเมริกาใต้ เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกครั้งแรก ในปี 1930

ความจริง ทีมชาติไทย มีโอกาสดีที่สุดที่จะไปฟุตบอลโลก ตั้งแต่สมัยแรกแล้ว เมื่อได้รับเชิญให้เข้าร่วมแข่งขันด้วย แต่เนื่องจากการเดินทางไปยังประเทศอุรุกวัย ต้องอาศัยการเดินเรือเท่านั้น ที่กินเวลานานแรมเดือน ประกอบมีค่าใช้จ่ายสูง

ทำให้คราวนั้น ขุนพลนักเตะแดนสยาม จึงไม่ได้ไปหวดแข้งในฟุตบอลโลกฉบับปฐมฤกษ์ รวมถึงชาติจากยุโรป ที่หลายประเทศรวมหัวกันบอยคอตการแข่งขันครั้งนั้น มีเพียง ยูโกสลาเวีย, โรมาเนีย, ฝรั่งเศส, เบลเยียม จากยุโรปเท่านั้นที่ไปแข่ง

ผลจบลงด้วยการจารึกชื่อ อุรุกวัย เป็นชาติแรกที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ในปี 1930 แม้ว่าอีก 8 ปีต่อมา ที่เวิลด์คัพ ถูกเวียนไปจัดในยุโรปช่วงปี 1934-1938 อุรุกวัย จะเอาคืนบ้าง ด้วยการไม่ส่งทีมไปแข่งฟุตบอลโลก

แต่ช่างประไร เมื่อพวกเขาหวนกลับมาแข่งขันบอลโลกอีกหนในปี 1950 บนแผ่นดินบราซิล อุรุกวัย ก็ตอกย้ำความเป็นมหาอำนาจลูกหนังเบอร์ 1 ของโลก ด้วยการเอาชนะเจ้าภาพ ในสนามมาราคานา ท่ามกลางกองเชียร์เจ้าถิ่น 170,000 กว่าชีวิต

บราซิลเป็นต่ออุรุกวัยทุกด้าน พวกเขามีขนาดประเทศใหญ่กว่า พลเมืองมากกว่า สภาพเศรษฐกิจดีกว่า แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาไม่มีทางเอาชนะ 11 คนในสนามของ อุรุกวัย ได้คือจิตวิญญาณของความอยากเอาชนะ

มีเรื่องเล่าว่า ช่วงหนึ่งในสนามมาราคานา เงียบสงัด จนได้ยินเสียงกัปตันทีมอุรุกวัย ออบดูลิโอ วาเรลา ตะโกนถามหาเลือดของนักฟุตบอลบราซิล  แม้แต่ อเดมีร์ แข้งแซมบ้าในสนามวันนั้น ก็ได้บอกในภายหลังว่า แค่เห็นย่างก้าวที่มั่นคง สายตาที่มุ่งมั่นของนักฟุตบอลอุรุกวัย เราก็รู้ทันทีว่า ไม่มีทางเอาชนะพวกเขาได้แน่

“ถ้ารักษาอิสรภาพไว้ไม่ได้ ก็ยอมตายเสียดีกว่า” ท่อนหนึ่งในเนื้อเพลงชาติอุรุกวัย ที่น่าจะบอกได้ดีสุด ถึงระดับความมุ่งมั่นที่ต้องการเป็นผู้ชนะของ ชนชาติอุรุกวัย มีมากแค่ไหน

ความสำเร็จในครั้งนั้นกลายเป็น เบ้าหลอมและสิ่งที่เชิดหน้าชูตาให้แก่ ประเทศขนาดเล็กอย่าง อุรุกวัย พวกเขากลายเป็นทีมลูกหนังอันดับ 1 ของโลกโดยสมบูรณ์ หลังจบนัดชิงชนะเลิศที่บราซิล ด้วยสกอร์ 2-1

จากนั้นแนวคิดที่ต้องการเป็นผู้ชนะในเวทีฟุตบอลระดับโลก ก็ถูกปลูกฝังส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

“ความรู้สึกอยากเอาชนะ ไม่ยอมแพ้ มันถูกปลูกฝังมาติดตัวเรา ตั้งแต่ยังเด็ก หลายคนบอกว่าพวกเราสุดโต่งเกินไป แต่นั่นมาจากอารมณ์ร่วมในเกม  เราก็มีวัฒนธรรมที่ใครก็ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา”

“ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ ก็เท่ากับว่าพวกเราล้มเหลว” ดิโอโก ลูกาโน อดีตกัปตันทีมชาติอุรุกวัย กล่าวไว้ในหนังสารคดี Becoming Champions

ขณะที่ฟุตบอลไทย อาจจะไม่ได้ให้ความรู้สึกว่า เป็นแชมป์โลกมาก่อน เหมือนอย่าง อุรุกวัย แต่อย่างน้อยที่สุด ฟุตบอล ก็มีความผูกพันกับคนไทย มาหลายชั่วอายุคน และมีประวัติศาสตร์ลูกหนังที่จับต้องได้ยาวนานมากกว่า 100 ปีไม่แพ้กับ อุรุกวัย

ตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงนำฟุตบอลเข้าสู่ประเทศสยาม ในปี 1915  ก่อนที่ ไทย จะกลายเป็นชาติแรกในทวีปเอเชีย ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า ในปี 1925

แม้อาจจะไม่ได้มีหลักฐานความสำเร็จเป็นล่ำเป็นสัน ในระดับทวีป มากนัก แต่ฟุตบอลเพียงไม่กี่นัด เกมไม่กี่นัด ที่ไทยสามารถต่อกรหรือเอาชนะชาติชั้นนำของเอเชียก็ได้ รวมถึงการแข่งขันถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ที่เชิญทีมชาติดังๆมาเตะ ก็นำมาซึ่งเรื่องเล่าขานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เมื่อก่อนญี่ปุ่นแข่งกับไทยแพ้ตลอด สู้ไทยไม่ได้เลย, เราเคยสูสีเกาหลีนะ”

โดยธรรมชาติแล้ว คนไทยจะมีความรู้สึก “อิน” เวลาดูกีฬาแล้วเห็นคนไทย ทีมไทย ประสบความสำเร็จ เอาชนะคู่แข่งจากชาติในระดับทวีป ระดับโลกได้ ยกตัวอย่างยุคหนึ่งที่ เขาทราย กาแล็กซี่, ภราดร ศรีชาพันธุ์, ต๋อง ศิษย์ฉ่อย สร้างชื่อในระดับโลก ก็ทำให้คนไทยแห่กันมาติดตาม และปลุกกระแสให้กีฬานั้นๆ อยู่ระยะเวลาหนึ่ง

ยิ่งโดยเฉพาะฟุตบอลยิ่งจุดติดได้ง่ายสุด เพราะเป็นกีฬาที่อยู่สังคมไทยมานาน และเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดมานานแล้ว จนทำให้เกิดภาพที่ว่า ถ้าช่วงไหนฟุตบอลทีมชาติไทยประสบความสำเร็จ ชนะติดๆกัน คนดูก็จะแห่มาดูกันเต็มสนาม ล้นสนาม แต่ถ้าช่วงไหนล้มเหลว แพ้บ่อยๆ คนดูจะเริ่มหายไป

สังคมฟุตบอลของ อุรุกวัย หลังการคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 จึงกลายเป็นสังคมที่มีผู้คนคาดหวังสูงมากกับผลงานของทีมชาติ และมีการปลูกฝังสายเลือดใหม่ว่า จะต้องลงไปเล่นเพื่อเอาชนะให้ได้ ไม่ต่างกับสังคมลูกหนังของไทย ที่ปรารถนาชัยชนะ จากการแข่งขันในทุกรายการ ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นทีมชุดใหญ่ หรือแม้แต่ทีมชาติรุ่นอายุ 12 ปี  

โดยที่ทั้งสองชาติต่างไม่รู้เลยว่า ความคาดหวังที่ต้องการเป็นผู้ชนะที่มากเกินไป จะกลายเป็นแรงเหวี่ยงที่นำพาพวกเขามาสู่สถานะ ทีมผู้แพ้ ที่กินระยะเวลายาวนานหลายสิบปี
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่