ธนาคารกลางจีน อัดเม็ดเงิน2.62 ล้านล้านบาท หนุนระบบธนาคารเพื่อเสริมสภาพคล่องส่งสัญญาณเตือนถึงความตึงเครียดของเศรษฐกิจ

เมื่อวันพุธ (16 มกราคม) ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ พีบีโอซี (PBoC: The People's bank of China) อัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 5.6 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 2.62 ล้านล้านบาท เข้าสู่ระบบธนาคารของจีน นับเป็นสถิติสูงสุดในการอุดหนุนเงินเข้าระบบภายในหนึ่งวัน โดยพฤติกรรมเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงความตึงเครียดของเศรษฐกิจ

จากข้อมูลของ วิน (Wind) บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงิน ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีน 10 ปี ตกลงต่ำกว่าร้อยละ 3.1 ช่วงบ่ายวันพุธที่ผ่านมา แตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยปกติแล้ว ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะลดลงเมื่อราคาพันธบัตรสูงขึ้น และการลงลดของผลตอบแทนมักเป็นสัญญาณของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ช่วงพีคของการเก็บภาษี

สภาพคล่องหรือความสะดวกในการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้กลายเป็นเงินสดมีความสำคัญอย่างมากกับบริษัทที่ต้องจ่ายภาษีและดำเนินบริษัทไปอย่างปกติ เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักธุรกิจชาวจีนประสบปัญหาเศรษฐกิจเติบโตอย่างเชื่องช้า ส่งผลให้เกิดความลำบากและภาระในการจ่ายผลตอบแทนให้พนักงาน อีกทั้งเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นวันหยุดยาวกว่าสัปดาห์กำลังจะมาถึงในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า

"ตอนนี้คือช่วงสูงสุดของการเก็บภาษี และสภาพคล่องของระบบธนาคารกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว" ธนาคารกลางจีนแถลงบนเว็บไซต์
นายจ้าว โปเหวิน ผู้อำนวยวิจัยจาก บลู สโตน แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ ในปักกิ่ง (Beijing-based Blue Stone Asset Management) กล่าวว่าบรรดาบริษัทมีกำหนดภาษีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 4.68 ล้านล้านบาทในสัปดาห์หน้า ส่งผลให้เป็นช่วงพีคของการจ่ายภาษี นอกจากนี้ เงินคงคลังที่ต่ำเป็นประวัติกาลและการหมดอายุของการกู้ยืมระยะกลางมูลค่า 3.9 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ยิ่งทำให้สถานการณ์โดยรวมตึงเครียดขึ้นไปอีก

"ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการต่อสู้กับความกดดันด้านเศรษฐกิจและย่างก้าวแรกในไตรมาสแรกของปีให้ดี" นายจ้าว กล่าว

จำนวนเงินมูลค่า 5.6 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 2.62 ล้านล้านบาท ที่ธนาคารกลางอัดฉีดเข้าระบบธนาคารมาจาก "ข้อตกลงซื้อคืนย้อนกลับ" (reverse repurchase agreements)หรือการซื้อพันธบัตรระยะสั้นจากผู้ให้กู้ทางพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารมีเงินสดอยู่ในมือ

ข้อมูลจาก บ.วิน พบว่า การอัดฉีดเงินที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับสองเกิดขึ้นเมื่อ มกราคม ปี 2559 ตอนที่ประเทศจีนเผชิญกับความลำบากในหลายมิติ ซึ่งในตอนนั้น ธนาคารกลางของจีนไม่ได้ออกมาเปิดเผยสาเหตุในการอัดฉีดเงิน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ธนาคารจีนแถลงสาเหตุการอัดฉีดเงินมูลค่าสูงนี้ว่า "เป็นการรักษาสภาพคล่องในระบบธนาคารให้อยู่ในภาวะสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพ"

อ้างอิง; CNBC
https://voicetv.co.th/read/gjUMuf_Xl
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่