โรงพยาบาลเอกชน :Wattana Stock Page

กระทู้คำถาม
โรงพยาบาลเอกชน - เพิ่มยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม เข้า ครม สัปดาห์หน้า

Wattana Stock Page : บทความนี้เขียนยากมาก เพราะกระแสสังคมแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ดังนั้น ก่อนที่จะอ่านต่อไป แนะนำให้วางใจให้เป็นกลางก่อนนะครับ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการ "หัวร้อน" ได้

ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปรับตัวลงมาเรื่อยๆก่อนหน้านี้ หลังมีความพยายามในการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ที่มีราคาแพงขึ้นทุกวัน จนประชาชนคนไทยโดยทั่วไป แทบจะไม่มีกำลังที่จะไปใช้บริการได้

กระแสสังคมแบ่งเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยน่าจะเป็นการตีกันของผู้มีรายได้ปานกลาง กับผู้มีรายได้สูง โดยกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำไม่ได้ออกมาเรียกร้อง เพราะเอาจริงๆนะ คือ กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเขาไม่มีปัญญาจะไปเข้าโรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้ว

หากเราเข้าไปดูงบการเงินของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล และดูนโยบายการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยมอย่าง BDMS BH นั้น

ค่ารักษาพยาบาลมีการ "ปรับขึ้นทุกปี" โดย "ไม่สนสี่สนแปด" (ภาษาวัยรุ่น ไปแปลกันเอาเอง) อะไรทั้งนั้น เงินเฟ้อเท่าไหร่ไม่สน ภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ไม่สน โดยส่วนใหญ่จะมีการปรับขึ้นราว 5% ต่อปี ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่

ในขณะที่การปรับขึ้นเงินเดือนไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนพนักงานบริษัทเอกชน หรือข้าราชการ หรือบริการอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า (ที่มักเป็นประเด็นกันบ่อยๆ) ส่วนใหญ่การปรับขึ้นจะอ้างอิงจาก "เงินเฟ้อ" เป็นหลัก

แต่กลุ่มโรงพยาบาลสามารถปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงการปรับขึ้นจากอะไรเลย

สาเหตุนี้ทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมันแพงขึ้นจนถึงจุดที่คนไทยเริ่มรู้สึกว่า ตกลงคุณจะเป็นโรงพยาบาลเพื่อรับเฉพาะชาวต่างชาติ กับผู้มีอันจะกินอย่างนั้นหรือ?

การมุ่งขยายเครือข่ายของกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่าง BDMS เป็นส่วนที่เร่งให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นในต่างจังหวัด ไม่ต่างกับในกรุงเทพมหานคร เพราะโรงพยาบาลที่ BDMS เข้าไปซื้อ ท้ายที่สุดก็จะมีปรับค่าบริการขึ้นให้อยู่ในเกรดเดียวกันกับโรงพยาบาลในเครือ

ปัญหาจึงเกิดขึ้น เพราะทางเลือกในการเข้ารับรักษาพยาบาลมันเหลืออยู่แค่ 2 ระดับ คือ โรงพยาบาลรัฐบาล กับ โรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาแพง

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่ารักษาปานกลางนั้น ค่อยๆหายไป เพราะถูกซื้อโดยเครือ รพ.ขนาดใหญ่ อีกทั้ง รพ. ระดับกลางก็ปรับขึ้นค่ารักษาตาม รพ. ขนาดใหญ่เช่นกัน

ความแตกต่างจึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ระหว่างการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐ กับ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเราก็รู้ๆกันอยู่ ถ้าจะรักษาโรงพยาบาลรัฐ จะได้ราคาที่ถูก ที่ไม่ได้ความสะดวกสบาย นัดหมอกันทีหลายเดือน หรือบางกรณีก็เป็นปี ต่อคิวก็นาน ต้องไปรับบัตรคิวตั้งแต่ตีสี่ หรือไปรอข้ามคืนกันเลยก็มี

แต่ถ้าเลือกที่จะเข้าโรงพยาบาลเอกชน คิวไม่ยาว สะดวกสบาย แต่ค่าบริการก็ชนิดที่เรียกได้ว่า ต้องขายบ้านขายรถหมดตัวบางทีก็ไม่พอค่ารักษา

การรวมตัวเพื่อเรียกร้องจึงเริ่มเกิดขึ้น และเพิ่งจะมาเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในวันนี้ เมื่อ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เตรียมเสนอให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการในบัญชีควบคุม ต่อ ครม. ในสัปดาห์หน้า

ซึ่งตรงนี้ เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับกลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า จะแค่ให้มีการประกาศราคายา และค่าบริการทางการแพทย์ในหน้าเวบไซต์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเปรียบเทียบราคาได้ก่อนเข้ารับการรักษา ซึ่งถ้าแค่นั้นจริงๆ ก็แทบไม่กระทบ

แต่การเสนอให้เป็นสินค้าควบคุมนั้น อาจทำให้เกิดการกำหนด % การบวกกำไรของราคายา เวชภัณฑ์ ไม่ให้เกินตามที่ได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการ "ค้ากำไรเกินควร"

ผู้มีรายได้สูงและมีอันจะกิน ก็ออกมาคัดค้านทันทีว่า ไม่ควรไปยุ่งกับโรงพยาบาลเอกชน เพราะเขาก็ประกอบธุรกิจของเขา และที่สำคัญก็คือ ผู้มีรายได้น้อย เข้ารับการรักษาไม่ไหว ก็สามารถเลือกใช้บริการโรงพยาบาลรัฐได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเลือก

คำพูดเช่นนี้ ส่วนตัวผมมองว่า ค่อนข้างจะมีความ "เห็นแก่ตัว" อย่างมาก โดยที่ผู้ที่พูดเช่นนี้อาจไม่เคยเข้าไปดูเลยว่า โรงพยาบาลบวกราคาอย่างไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะกับ "ยารักษาโรค" ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัย 4

ทำไมค่ารถไฟฟ้าจึงไม่ปล่อยเสรี ค่ารถแท็กซี่จึงไม่ปล่อยเสรี ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่างจึงไม่ปล่อยเสรี

ค่ารถไฟฟ้าที่คนว่าขึ้นเอ๊า ขึ้นเอา เขาก็ขึ้นตามที่กำหนดในสัมปทาน ไม่สามารถขึ้นเกินกว่าสูตรที่กำหนดไว้ได้ ทั้งๆที่ค่าเดินทาง ไม่ใช่ 1 ในปัจจัย 4 เสียด้วยซ้ำ

แต่ค่ายาที่โรงพยาบาลเอกชนคิดกับผู้ป่วยนั้น กลับเพิกเฉย ไม่มีการควบคุมใดๆเลย

ยาที่ผมทานอยู่ sertraline ผมขอหมอตรงๆเลยว่า ขอซื้อเอง 1 กล่อง 30 เม็ด ซื้อข้างนอกที่ร้านขายยา 270 บาท ในขณะที่ยาเดียวกัน แถมเป็นยา local made ด้วย โรงพยาบาลจ่ายผม 20 เม็ด ราคา 900 กว่าบาท

คุณลองคิดดูว่า โรงพยาบาลเอกชน บวกค่ายาไปกี่เท่าตัว??

หลายคนยังเถียงแทนโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลต้องมีค่าโสหุ้ย ค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก เขาก็ต้องเอามาบวกสิ

งั้นลองกลับไปย้อนดูใบเสร็จรับเงินให้ละเอียด เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลเอกชนคิดทุกอย่าง และแยกรายการให้คนไข้อย่างเสร็จสรรพ เดินเข้าไปค่าบุรุษพยาบาลเข็นรถมาให้นั่ง ก็คิด

ค่าอุปกรณ์ปรอทวัดไข้เครื่องวัดความดันตอนคัดกรองผู้ป่วยก่อนรักษาก็คิด

ค่าเวชภัณฑ์เช่นผ้าพันแผล ไม้กดลิ้นเวลาตรวจคอ ถุงมือ ผ้าปิดปาก ค่าพยาบาล ทุกอย่าง เขาแยกให้คุณดูเป็นรายการเลยว่า เขาคิดอะไรเท่าไหร่

ทุกอย่าง ล้วนบวกแพงกว่าข้างนอกหลายเท่าตัวทั้งนั้น ซึ่งส่วนนั้น ผู้ไปรับการรักษาอาจยินดีจ่ายเพื่อความสะดวกสบาย

แต่การบวกค่ายาจนเกินเหตุด้วยเหตุผลของ "ความสะดวกสบาย" จุดนี้กลายเป็นจุดที่ทำให้กลุ่มผู้เรียกร้องต้องการให้รัฐเข้าไปควบคุม เพราะมันเห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างการซื้อยาเองข้างนอก กับการซื้อยากับโรงพยาบาล

ซึ่งระบบการรักษาพยาบาลบ้านเรา ยังไม่ใช่แบบต่างประเทศที่โรงพยาบาลมีหน้าที่แค่เขียนใบสั่งยา แล้วให้เราไปซื้อที่ร้านขายยาข้างนอก แต่เป็นลักษณะบังคับให้ต้องซื้อยากับโรงพยาบาล

เคสที่ขอซื้อเองข้างนอก คือ ต้องขอความเห็นใจจากแพทย์ และก็ซื้อได้แค่บางตัว เพราะถ้าหมอไม่จ่ายยาของโรงพยาบาลเลย ก็จะโดนเพ่งเล็งอีก เพราะรายได้ของโรงพยาบาลมาก็มาจากค่ายา

เมื่อการเรียกร้องกำลังใกล้สัมฤทธิ์ผล และการเสนอ ครม ก็ไม่ใช่แค่ให้แสดงค่ายา แต่ให้ควบคุมค่ายา เลยทำให้คาดกันว่า ยังไงผลกระทบจะต้องเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชนอย่างแน่นอน

ถึงแม้ว่าบางฝ่ายจะบอกว่า ท้ายที่สุด เดี๋ยวโรงพยาบาลก็มีวิธีที่จะไปบวกค่าอย่างอื่นที่ไม่ถูกควบคุม หรือคิดค่าอย่างอื่นที่ไม่อยู่ในการควบคุมเพิ่มขึ้น แต่ลดค่ายาและเวชภัณฑ์ลง ก็ไม่กระทบเท่าไหร่หรอก

แต่ในแง่จิตวิทยาการลงทุนนั้น นักลงทุนคงเลือกที่จะหลีกเลี่ยงก่อน เพราะหาก ครม อนุมัติ แสดงว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จะไม่ได้เป็นเสือนอนกินที่อยากจะคิดค่ารักษา ขึ้นค่ารักษาเท่าไหร่ก็ได้เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้แพงเหมือนแต่ก่อน ไม่เหมือนช่วงที่กระแสโรงพยาบาลกำลังบูม ที่มีการเล่นกันไปถึง PE 50 - 60 เท่า ส่วน BDMS BH ก็เคยเล่นกันไปถึง PE 40 เท่า โดยเอาไปเทียบกับโรงพยาบาลที่สิงคโปร์

ก่อนที่จะหย่อนลงมา จากกระแสของตลาดที่เปลี่ยนไปเล่นกลุ่มขายครีม กับพลังงานทางเลือก

ปัญหาเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หาก รพ. เอกชน จะมีจริยธรรม และมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นบ้าง กับการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน

แม้ภาครัฐจะออกกฎเกณฑ์ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันทีในโรงพยาบาลอะไรก็ได้ เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ก่อนส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่ตัวผู้ป่วยมีสิทธิการรักษาอยู่

แต่ข่าวการปฏิเสธผู้ป่วย และปล่อยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไปตายอยู่กลางทางหลายครั้งหลายคราวในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสเรียกร้อง "จรรยาบรรณ" ในการประกอบวิชาชีพ ที่สนใจแต่เงิน โดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม

โดย รพ. เอกชนมักอ้างว่า ภาครัฐจ่ายคืนให้ไม่ครบตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และจ่ายล่าช้า ทำให้โรงพยาบาลเอกชน "ไม่อยากรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่มีเงินมากองให้เห็นตรงหน้า"

ซึ่งส่วนตรงนั้น ควรเป็นเรื่องของ รพ. เอกชน ไปเจรจาหาทางออกกับภาครัฐ มากกว่าที่จะมาปล่อยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไปมีชะตากรรมอย่างไรก็ได้ โดยไม่สนใจอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การเข้าควบคุมบริการของโรงพยาบาลเอกชนนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปควบคุมแบบเข้มงวด เพราะเอกชน ยังไงก็ต้องแสวงหากำไร

รัฐคงไม่ได้เข้าไปควบคุมถึงขนาดกดให้ค่ารักษาลงมาใกล้เคียงกับโรงพยาบาลรัฐ แต่รัฐต้องทำเพราะเกิดการเรียกร้องเข้ามามากจริงๆในระยะหลัง

การเข้าควบคุมอาจส่งผลในระยะแรก แต่ท้ายที่สุด รพ.เอกชนก็คงสามารถหาทางเลี่ยงบาลี ลดตรงนี้ไปเพิ่มตรงนั้นได้ในที่สุด

ดังนัน ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นแค่ระยะสั้น แต่เมื่อ รพ. เอกชน หาลู่ทางในการคิดค่าบริการในส่วนอื่นได้ รายได้ก็น่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

ส่วนตัวผมมองว่า ปัญหาอยู่ที่ว่า ความแตกต่างระหว่าง รพ.รัฐ กับ รพ. เอกชน มันมากเกินไป

รพ. เอกชนส่วนใหญ่ก็มีแต่พยายามจะผลักดันขึ้นเป็นระดับพรีเมี่ยม คิดค่าบริการแพง ส่วนโรงพยาบาลรัฐก็เน้นถูกแต่คนเป็นพัน มันไม่มี รพ. ระดับกลางๆที่จะรองรับผู้ที่ต้องการใช้บริการเลย

มีแต่ถูกแต่ไม่สะดวก กับโคตรแพงแต่บริการเยี่ยงราชา

เราแค่ต้องการ รพ.ที่สะดวกบ้าง ราคาสมเหตุสมผล ไม่จำเป็นต้องบริการแบบราชา แต่บริการแบบ "คนธรรมดา" นี่ล่ะ

ซึ่งตรงนี้มันเหมือนกำลังจะขาดหายไปจากระบบการรัษาพยาบาลในบ้านเรา

อย่าเรียกร้องให้ภาครัฐพัฒนาโรงพยาบาลรัฐให้ดีกว่านี้ เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐก็แทบเป็นทางเลือกเดียวสำหรับผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ซึ่งรัฐเองก็ต้องใช้เงินสนับสนุนในส่วนนี้ทุกปีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะผ่านทางประกันสังคม และโครงการบัตรทอง

ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ จนโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งต้องประสบปัญหาขาดทุน ถึงขนาดคุณตูนต้องออกมาวิ่งเพื่อนำเงินไปสนับสนุนซื้อเครื่องมือแพทย์

นอกจากนั้น ผู้มีอันจะกิน แม้จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่ส่วนใหญ่ พอถึงขั้นต้องผ่าตัดหรือรับบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูง ก็พร้อมที่จะผันตัวมาเป็นผู้ป่วยอนาถาแย่งใช้บริการ รพ.รัฐ กับผู้มีรายได้น้อยได้ในทันที

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมไม่เอางบมาลงกับกระทรวงสาธารณสุขให้มากกว่านี้

อันนี้คงต้องไปถามกระทรวงกลาโหม

สรุปว่า งานนี้ วัดกันที่การประชุม ครม. สัปดาห์หน้า ว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร

แต่อย่าลืมล่ะ ถ้าเป็นไปตามที่รัฐบาลยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นคู่ขนานไปกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจริง

ผลการประชุมควรจะออกมาเป็นเช่นไร??

ตอนนี้ไม่มีแล้วล่ะ คำว่า "ทหาร" เพราะว่า "ทหาร" กำลังผันตัวมาเป็น "นักการเมือง"

ซึ่งช่วงใกล้เลือกตั้ง อะไรๆที่คิดว่าไม่น่าจะอนุมัติ ก็สามารถจะผ่านได้ หากมันทำให้ได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมาสักนิด

หุ้นโรงพยาบาล น่าจะต้องหลีกเลี่ยงในระยะสั้นไปก่อน เพราะตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่า เรื่องจะผ่าน ครม. หรือไม่? ถ้าผ่านจริง การควบคุมราคาจะออกมาเป็นในรูปแบบใด เพราะไม่ใช่ทางคณะกรรมการจะเข้าไปควบคุมเลย

เขาบอกมาแล้วว่าจะมีคณะกรรมการจากทุกฝ่ายเข้ามาร่วมตกลงกัน ทั้งภาครัฐ ฝั่งผู้บริโภคและฝั่งโรงพยาบาลเอกชนเอกด้วย

ซึ่งข้อตกลงที่ออกมา คงไม่ได้ไปบีบโรงพยาบาลให้ตาย แต่ในแง่ของผลกระทบ น่าจะต้องเกิดขึ้นบ้างในช่วงแรกอย่างที่บอกไปแล้ว

แต่ในระยะยาว เชื่อว่า รพ. เอกชนมีวิธีที่จะดิ้นจากการควบคุมตรงนี้ได้

ถ้าการเรียกร้องตรงนี้มันจะคือ "ความสำเร็จ"

มันคงไม่ใช่ความสำเร็จของผู้บริโภคที่จะได้รับการบริการที่ "ถูกลง" เพราะท้ายที่สุดเชื่อว่ามันคงไม่ถูกลง
แต่ความสำเร็จมันอยู่ตรงที่ว่า อย่างน้อย ภาคประชาชนก็สามารถทำให้ "ภาครัฐ" หันมาให้ความสนใจและดูแลในส่วนนี้ได้ หลังจากที่ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด https://www.facebook.com/wattana.stock.page/posts/958546541006795?__tn__=K-R
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่