### จับตา และ เกาะติด ... พายุ PABUK ที่กำลังจะเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่าง ###

สวัสดีครับ อมยิ้ม17  เนื่องจากขณะนี้กำลังมีพายุโซนร้อนได้ก่อตัว และกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาที่บริเวณจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง
ดังนั้น  ผมจึงขอตั้งกระทู้นี้เพื่อเกาะติด และ รายงานความคืบหน้าที่สำคัญของพายุนี้ครับ  กระทู้นี้ ผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสมาชิก
คุณเจ้าสำนักคันฉ่องวารี ให้มาตั้งกระทู้เกาะติดสถานการณ์  ซึ่งผมก็เห็นด้วย  จึงขอเสนอข้อมูลเบื้องต้นของพายุลูกนี้ก่อนนะครับ

พายุลูกนี้  เริ่มจากการเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อน  เรียกว่า Tropical depression (TD)
และได้ทวีกำลังลมขึ้นเป็น Tropical storm (TS) เมื่อ 1 มกราคม เวลา 16:00 น. และได้ชื่อว่า PABUK
ซึ่งเป็นชื่อเสนอโดยประเทศลาว  ความหมายตรงกับของไทย คือ "ปลาบึก" แห่งแม่น้ำโขงนั่นเองครับ .... และตอนนี้
(3 มกราคม  เวลา 08:00 น.)  พายุ PABUK ก็ได้เคลื่อนตัวผ่านเข้ามาใกล้ทางมาเลเซียแล้วด้วยกำลังลมเท่าเดิม
คือ 35 Knot หรือ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง  ตามภาพนี้ครับ
ภาพถ่ายดาวเทียมเวลา 08:00 น. วันพฤหัสที่ 3  http://www.satda.tmd.go.th/


เรื่องของพายุ นี้  สิ่งที่สำคัญก็คือเราจะต้องรู้ว่ามันกำลังจะเดินทางไปที่ใหน  ทิศทางใด  จะมีการทวีกำลังหรือไม่ ?
ดังนั้น  เราก็จะต้องติดตามการพยากรณ์อากาศว่าในวันต่อ ๆ ไปพายุจะเดินทางไปใหน .... สำหรับการพยากรณ์
ทิศทางของพายุ PABUK นี้  เท่าที่ผมเลือกมา  ผมจะขอเสนอจาก 2 แหล่งครับ คือ .....

1. ระบบเฝ้าระวัง ติดตามและพยากรณ์  กรมอุตุนิยมวิทยา  ตามภาพนี้ครับ
http://www.metalarm.tmd.go.th/monitor/typhoon (Updated พฤหัสที่ 3  เวลา 08:00 น.)


2. จากเวบพยากรณ์อากาศ Windy.com ที่ใช้ Model พยากรณ์อากาศ ECMWF ที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก
https://www.windy.com/?2019-01-03-18,9.151,102.085,7


จากการพยากรณ์ตำแหน่งพายุ  ทั้ง 2 แหล่งก็ถือว่าใกล้เคียงกันครับ  และข้อมูลพยากรณ์ก็ไม่ได้บ่งชี้ ว่า
พายุ PABUK จะทวีกำลังไปเป็นระดับ "ไต้ฝุ่น" เลย  ดังนั้น จากข้อมูลขณะนี้ก็กล่าวได้ว่า  เมื่อพายุเข้าใกล้ฝั่ง
ที่แหลมตะลุมพุก - เกาะสมุย - ชุมพร .... ความเร็วลมก็จะประมาณ 70 กิโลเมตร/ชม. และฝนจะตกหนักมาก
ในพื้นที่ดังกล่าวครับ

ท่านที่อยู่ภาคใต้ใกล้บริเวณดังกล่าว  สามารถดูภาพ RADAR กลุ่มฝนได้ที่นี่ครับ
http://www.songkhla.tmd.go.th/index.php?modules=radar&radar_id=34 (สถานีเรดาร์สุราษฎร์ธานี)

ภาพถ่ายดาวเทียมทั่วประเทศไทย  http://www.satda.tmd.go.th/
หมายเหตุ : ในภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงเป็น ปื้น สีเหลือง-แดง นั้น  มิใช่ฝนตกทั้งหมดนะครับ
มันเป็นเพียงเมฆที่มีความหนาแน่นเท่านั้น  ส่วนกลุ่มฝนให้ดูจากเครื่องหมาย "กลุ่มฝน" ที่ศรชี้ในภาพครับ


ภาพถ่ายดาวเทียมแบบ Animation ย้อนหลัง 4 ชั่วโมง  ทำให้เราพอคาดเดาตำแหน่งกลุ่มฝนได้ครับ
http://www.sattmet.tmd.go.th/satmet/asian/loop/enh/anigif.gif


ผมขอเสนอข้อมูลเบื้องต้นเพียงเท่านี้ก่อนครับ  
เพื่อนสมาชิกที่อยู่ภาคใต้ช่วยกันรายงานในกระทู้นี้ได้เลย
และท่านอื่น ๆ เชิญ comment เพื่อเป็นข้อมูลได้เลยครับ
ขอบคุณครับ อมยิ้ม17
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 381
🚩กระจายข่าวค่ะ

พื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ทางจังหวัดได้เปิดหมายเลขฉุกเฉินหากพบการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงในจุดต่างๆ ให้โทรเข้าเบอร์ศูนย์ 075-356-254 , 075-356-454 ตลอด 24 ชม. *แจ้งพิกัดให้ชัดเจนนะคะ* ทางปศุสัตว์จังหวัดจะส่งทีมไปค่ะ

** ถ้าสุดวิสัยพาไปด้วยไม่ได้จริงๆ อย่าล่าม อย่าขังกรงค่ะ  ย้ำ ห้ามล่าม ห้ามขังค่ะ **

** พบสัตว์เลี้ยง เจ้าของล่ามไว้ที่บ้าน ขณะที่คนอพยพไปแล้ว.... อยากให้เมตตากับสัตว์เลี้ยงด้วยค่ะ **
ความคิดเห็นที่ 60
แจกลิ้งค์ดูสภาพการณ์ realtime จากเกาะสมุยเลยครับ  เครดิต Teleport.camera
https://youtu.be/02eBjSXUtdM
ความคิดเห็นที่ 145
พายุจะขึ้นฝั่งที่ใด ..... ตอนนี้ต้องดูจาก model พยากรณ์อากาศอย่างเดียวเลยครับ
ผมว่า  3 model ที่เชื่อถือได้ก็คือ ของกรมอุตุ ฯ เรา , เวบ Windy  และของ JTWC (US.Navy)
ผมลองเอาทั้ง 3 model มาเทียบกับ  ก็ทำนายใกล้เคียงกัน คือ พายุจะเข้าที่ใกล้แหลมตะลุมพุกครับ

เวบ Windy.com (model พยากรณ์อากาศ ECMWF)


JTWC  (US.Navy)


กรมอุตุ ฯ
ความคิดเห็นที่ 4
สำหรับ Windy.com เลือกแบบจำลองแบบ GFS22km จะได้ผลแนวการเคลื่อนที่ของพายุ ที่ใกล้เคียงกับการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา มากกว่าเลือกแบบจำลองแบบ ECMWF นะครับ
(เลือกแบบจำลอง ที่มุมล่างขวาของจอ)

แบบ ECMWF พายุจะขึ้นฝั่งที่แถวๆ แหลมตะลุมพุก จ. นครศรีธรรมราช (วันศุกร์ที่ 4 ม.ค. ประมาณ 12:00น.)
แบบ GFS พายุจะผ่านช่องระหว่างเกาะสมุย-เกาะพะงัน แล้วไปขึ้นฝั่งที่แถวๆ อ่าวสวี จ. ชุมพร (วันศุกร์ที่ 4 ม.ค. ประมาณ 22:00น.)

ดังนั้น จะอย่างไรก็ตาม พื้นที่จังหวัดชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช ควรเตรียมรับมือกับสภาพพายุให้พร้อมครับ
- เก็บสิ่งของที่เสี่ยงต่อการถูกลมพัดปลิวให้ดี
- ระหว่างที่มีลมพายุรุนแรง ควรอยู่ในอาคาร ระวังสิ่งของที่จะปลิวมา
- ระวังต้นไม้ที่อาจล้ม
- พื้นที่ริมชายฝั่ง ควรระวังคลื่นที่จะกระแทกฝั่งรุนแรง
- เรือขนาดเล็ก ควรเก็บขึ้นฝั่งและผูกยึดให้แน่น
- งดการเดินทางทางทะเล ในบริเวณชุมพร - เกาะเต่า - เกาะพะงัน - เกาะสมุย - สุราษฎร์ธานี ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. (เรือเร็วลมพระยาประกาศหยุดเดินเรือไปแล้ว)
ความคิดเห็นที่ 438
10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพายุปาบึก

1. ตั้งแต่ตั้งกรมอุตุมา ปาบึกถือเป็นพายุที่มีระดับความรุนแรงเป็นโซนร้อน/ไต้ฝุ่น ลูกที่ 4 ที่เข้ามาทางภาคใต้ของไทย

2. ก่อนหน้านี้ พายุที่ถล่มภาคใต้ของไทย ได้แก่ โซนร้อนแฮเรียต (2505), ไต้ฝุ่นเกย์ (2532), โซนร้อนลินดา (2540) และล่าสุด โซนร้อนปาบึก (2562)

3. ในบรรดาพายุที่สร้างความเสียหายต่อภาคใต้ของไทย ได้แก่ แฮเรียต (2505), เกย์ (2532) จนถึงปาบึก (2562) จะสังเกตว่า จะมีพายุรุนแรงจะเข้าสู่ภาคใต้ของไทยทุกๆ 30 ปีโดยประมาณ (ก่อนหน้านี้ก็มีบันทึกเกี่ยวกับพายุที่ถล่มภาคใต้ของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ซึ่งห่างกันประมาณ 30 ปีเช่นกัน)

4. ปกติพายุที่เข้าสู่ภาคใต้ของไทยจะเข้าในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม แต่ปาบึกเข้ามาในช่วงต้นเดือนมกราคม ซึ่งถือว่าแปลกกว่าพายุลูกอื่น อาจจะเป็นเพราะปีนี้อากาศไม่หนาวเหมือนปีก่อนๆ

5. พายุปาบึก เริ่มก่อตัวทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อนหน้านั้น ฟิลิปปินส์ก็ได้รับความเสียหายจากฝนตกหนัก และน้ำท่วมอยู่ก่อนแล้ว จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่ต่อมาถูกดูดไปก่อตัวเป็นพายุปาบึก

6. พายุปาบึกยังมีอิทธิพลต่อตอนใต้ของเวียดนาม ทำให้มีฝนตกหนักทั้งวัน

7. พยาการณ์ว่า พายุปาบึกจะเคลื่อนต่อไปยังหมู่เกาะนิโคบาร์ บังกลาเทศ และพม่า

8. ถ้าเป็นไปตามเส้นทางที่คาดไว้ ปาบึกจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศถึง 10 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ (ตอนใต้), เวียดนาม (ตอนใต้), กัมพูชา, มาเลเซีย (ซาราวัก กลันตัน และตรังกานู), บรูไน, อินโดนีเซีย (หมู่เกาะรีเยา), ไทย (ภาคใต้), พม่า (เกาะสอง มะริด และยะไข่), อินเดีย (หมู่เกาะนิโคบาร์) และบังกลาเทศ

9. ปาบึกเป็นชื่อพายุภาษาลาว เป็นท่ี่น่าสังเกตว่า พายุชื่อลาวมักสร้างความเสียหายรุนแรงต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นช้างสาร (ที่เข้ามาทางภาคอีสานของไทยในขณะที่ยังมีความเร็วลมเป็นพายุโซนร้อน เมื่อปี 49) และนกเต็น (ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54)

10. แม้ว่าพายุปาบึกจะมีความรุนแรง แต่ด้วยเทคโนโลยีการเตือนภัยที่ดีขึ้น รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ทำให้ความเสียหายจากพายุลูกนี้ถือว่าน้อยกว่าครั้งก่อนๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่