อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา งงจะล่ารายชื่อปลด ป.ป.ช. ตามกฎหมายใด เตือนคนลงชื่อเสี่ยงแจ้งความเท็จ

"ชูชาติ ศรีแสง" สงสัยปมนาฬิกาหรูประวิตร ผู้ที่จะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกจากตำแหน่งจะดำเนินการตามกฎหมายฉบับใด แนะประชาชนที่จะลงชื่อไตร่ตรอง ถ้าข้อกล่าวหาตามคำร้องเป็นความเท็จและมีการนำไปยื่นต่อประธานรัฐสภา ผู้ลงชื่อในคำร้องอาจถูกดำเนินคดีในผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานได้

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค 61 นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chuchart Srisaeng" โดยระบุว่า มีข่าวว่านักเคลื่อนไหวที่มีการร้องเรียนกล่าวหาบุคคลอื่นบ่อยๆ จะล่ารายชื่อประชาชนจำนวน ๒๐,๐๐๐ คนเพื่อถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ๕ ท่านออกจากตำแหน่ง กรณีที่มีมติว่าพยานหลักฐานจากการไต่สวนยังฟังไม่ได้ว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความผิดฐานแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ จึงให้ยุติเรื่อง

อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ อย่างละเอียดแล้วไม่พบว่ามีบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกจากตำแหน่งได้

การถอดถอนจากตำแหน่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แต่ก็ไม่ได้ให้ใช้บังคับแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับได้อีก

จึงสงสัยว่าผู้ที่จะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกจากตำแหน่งจะดำเนินการตามกฎหมายฉบับใด หรือเป็นเพียงข้ออ้างให้ประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายหลงเชื่อเท่านั้น

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา ๒๓๔ (๑) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๕ บัญญัติไว้ทำนองเดียวกันว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ คน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการ ป.ป.ช.ผู้ใดมีพฤติการณ์ ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยยื่นต่อประธานรัฐสภา พร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๐ บัญญัติว่า ให้ประธานศาลฎีกา แต่งตั้งคณะไต่สวนอิสระมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๗ คน เพื่อทำการไต่สวน

มาตรา ๕๖ เมื่อดําเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดําเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้สั่งยุติเรื่อง และให้คําสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด

(๒) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

(๓) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา และมิใช่เป็นกรณีตาม (๒) ให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการฟ้องคดีต่อศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวสรุปได้คือ

๑. ถ้ากรรมการ ป.ป.ช. ท่านใดมีพฤติการณ์ดังต่อไปนี้
๑.๑ ร่ำรวยผิดปกติ
๑.๒ ทุจริตต่อหน้าที่
๑.๓ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
๑.๔ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

๒. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ คน สามารถเข้าชื่อกันพร้อมหลักฐานที่อ้างว่า กรรมการ ป.ป.ช. ท่านใดมีพฤติการณ์ข้อใดข้อหนึ่งในข้อ ๑.๑ ถึง ๑.๔ ยื่นต่อประธานรัฐสภาได้

๓. ถ้าประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา

๔. เมื่อประธานศาลฎีกาได้รับเรื่องจากประธานรัฐสภาแล้วให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งคณะไต่สวนอิสระขึ้นมามีจำนวนไม่น้อยกว่า ๗ คน เพื่อทำการไต่สวน

๕. เมื่อดําเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดําเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้สั่งยุติเรื่อง และให้คําสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด
(๒) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

(๓) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา และมิใช่เป็นกรณีตาม (๒) ให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการฟ้องคดีต่อศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง

นี่คือกระบวนการที่จะดำเนินการแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีพฤติการณ์ตามข้อใดข้อหนึ่งในข้อ ๑ เท่านั้น ถ้าไม่มีพฤติการณ์ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากรรมการ ป.ป.ช. ท่านใดมีคำวินิจฉัยไม่เป็นไปตามที่คนบางกลุ่มคาดหวังเนื่องจากเชื่อตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวชี้นำตลอดมา ย่อมไม่อาจดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้วได้

หากมีการล่ารายชื่อประชาชนจริง ขอให้ประชาชนที่จะลงชื่อตรวจดูให้ดีว่า จะดำเนินการเรื่องอะไร ถ้าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่กล่าวข้างต้น ก็ให้ตรวจดูคำร้องที่กล่าวหากรรมการ ป.ป.ช. ว่า เป็นการกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์อย่างไรและมีพยานหลักฐานตามสมควรที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่า มีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

ถ้าไม่มีพยานหลักฐานดังกล่าว ก็คิดไตร่ตรองให้รอบคอบว่า ควรจะลงชื่อหรือไม่ เพราะถ้าข้อกล่าวหาตามคำร้องเป็นความเท็จและมีการนำไปยื่นต่อประธานรัฐสภา ผู้ลงชื่อในคำร้องอาจถูกดำเนินคดีในผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานได้.

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9610000129454
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่