ภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว : ย้อนดูกำเนิดและก่อนหน้าการปะทุครั้งล่าสุด

วันที่ 24 ธันวาคม 2561 - 23:36 น.
[/center

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดถล่มบริเวณชายฝั่งของเกาะสุมาตราและเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ อะนัก กรากาตัว ซึ่งทำให้ดินและหินเหล่านั้นถล่มลงในทะเลจนเกิดคลื่นขนาดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่าร้อยราย



ทว่าภูเขาไฟเจ้าปัญหานี้กำลังเข้าสู่ระยะอันตรายร้ายแรงครั้งใหม่ เจสส์ ฟีนิกซ์ นักภูเขาไฟวิทยา จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา บอกกับบีบีซี เมื่อเธอได้พิจารณารูปภาพของ อะนัก กรากาตัว และพยายามวิเคราะห์ลำดับเวลาของการปะทุ



Getty Images

ด้านบน คือ ภาพภูเขาไฟกรากาตัว ก่อนที่มันจะระเบิดอย่างรุนแรงในปี ค.ศ. 1883 จนมลายหายไปแล้วให้กำเนิด อะนัก กรากาตัว หรือ “บุตรแห่งกรากาตัว” ภูเขาไฟลูกใหม่ มาแทนที่

กรากาตัวรุ่นเก่านี้เองที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้นักวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ภูเขาไฟลูกนี้มีลักษณะเป็นกรวยภูเขาไฟสลับชั้น (stratovolcano) ที่เกิดจากการทับถมกันของหินหนืด ขี้เถ้า และหิน ที่ปะทุออกมาจากปล่อง จนในที่สุด รูปร่างก็ใหญ่โตและสมบูรณ์แบบ

จากภาพจะเห็นเรือประมงลอยลำอยู่ทางด้านซ้ายด้วย แม้ว่าด้านบนของปากปล่องภูเขาไฟจะมีควันคุกรุ่นลอยออกมาก็ตาม นี่ตีความได้ว่า กรากาตัวยังไม่น่าหวาดหวั่นสำหรับผู้คนแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ เป็นเรื่องปกติของภูเขาไฟที่ยังไม่ระเบิดหากว่าจะมีกลุ่มควันปะทุออกมาจากปากปล่องบ้าง เพราะน้ำที่เดือดระอุอยู่ภายในลอยขึ้นสู่ด้านบนนั่นเอง


ภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว:
Anak Krakatau volcano. Photo: July 2018 Getty Images

ภาพนี้ถ่ายขึ้นเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว ปะทุในระดับความรุนแรงเพียง 0 – 1 เท่านั้นตามดัชนีการระเบิดของภูเขาไฟ (Volcanic Explosivity Index) ซึ่งอาศัยปริมาณสารที่ปะทุออกมาจากปล่องเป็นตัวชี้วัด

ทั้งนี้ ขั้นสูงสุดที่ระดับ 8 หรือ อภิมหามหึมา (mega-colossal) นั้นเคยขึ้นมาแล้วในอดีตอันไกลโพ้นเมื่อ 630,000 ปีก่อนที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) สหรัฐอเมริกา ทว่าการระเบิดในระดับต่ำเพียง 0 และ 1 นั้นสามารถเกิดขึ้นได้เป็นประจำทุกวันและต่อเนื่องนานนับปี โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง เช่น การปะทุของภูเขาไฟบริเวณหมู่เกาะฮาวาย สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม หากหินหนืด (magma) เริ่มมีปริมาณมากขึ้น ภูเขาไฟประเภทนี้ก็มีโอกาสที่จะระเบิดอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิมได้เช่นกัน
    

Getty Images

ดังเช่นภาพถ่ายด้านบนในเดือนก.ค. ปีนี้ ปรากฏให้เห็น เถ้าปะทุอันร้อนระอุจากปล่องภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว ไหลลงมาเป็นสาย ซึ่งสารเหล่านี้สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นเศษหินหรือแม้กระทั่งก้อนลาวาขนาดใหญ่ (lava bomb) ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสามารถกระเด็นไปไกลหลายร้อยเมตรกว่าจะตกลงสู่พื้นดินอีกด้วย


Getty Images

ภาพมุมสูงจากเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว ถูกปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านและหินหนืดที่ค่อนข้างสดใหม่จากการปะทุระดับอ่อน ๆ ส่วนเกาะขนาดเล็กสามเกาะที่ล้อมรอบนั้นหลงเหลือมาจากภูเขาไฟกรากาตัวในอดีตนั่นเอง



EPA

แต่เมื่อมาดูภาพมุมสูงจากเมื่อเดือน ก.ย.ก็จะพบความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะควันสีน้ำตาลจับตัวหนาแน่นจนกระทั่งบดบังหนึ่งในเกาะขนาดเล็กจนมิด ยิ่งไปกว่านั้น ยังกระจายออกมาเป็นวงกว้างอีกด้วย ควันจากการปะทุนี้มีสะเก็ดหินขนาดจิ๋วผสมอยู่ด้วย ดังนั้นจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการคมนาคมทางอากาศและสุขภาพของผู้คน นอกจากนี้ น้ำหนักของมันยังอาจทำให้อาคารบ้านเรือพังทลายลงได้ด้วย



Reuters

ส่วนภาพนี้ถ่ายขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ภูเขาไฟอะนัก กรากาตัวได้ปะทุอย่างรุนแรงจนปกคลุมไปด้วยฝุ่นและควัน ยิ่งไปกว่านั้น ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างหินหนืดอันร้อนระอุ ก๊าซ และน้ำ ยังทำให้คลื่นซัดสาดและระเบิดอย่างบ้าคลั่งอีกด้วย



Reuters

นอกจากนี้ ภูเขาไฟยังสามารถสร้างสายฟ้าได้ดังเช่นรูปด้านบนที่ถ่ายขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. โดยการปะทะกันกลางอากาศของเศษหิน เถ้าถ่านภูเขาไฟ และน้ำ ที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าสถิตอยู่ภายในกลุ่มควันนั้นเอง

ทั้งนี้ ภัยพิบัติจากการระเบิดของภูเขาไฟเกิดขึ้นกับอินโดนีเซียบ่อยครั้ง และบทเรียนจาก “บุตรแห่งกรากาตัว” ก็ย้ำเตือนให้พึงระลึกว่า การศึกษาเพิ่มเติมและมาตรการเตือนภัยที่รัดกุมมากขึ้น ยังสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาชีวิตของผู้คนและทรัพยากรอันมีค่าของประเทศ


ข่าวสด
BBC

เจสส์ ฟีนิกซ์ นักภูเขาไฟวิทยา จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม Blueprint Earth และเป็นสมาชิกของราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่