10 หนังไซไฟเชิงปรัชญาชั้นเยี่ยม (Philosophical Sci-Fi) ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา


'ฟิโลโซฟิคอล ไซไฟ' เป็นลักษณะของหนังที่พยายามอธิบายถึงการค้นพบข้อเท็จจริงหรือสะท้อนทัศนคติความรู้บางอย่างเกี่ยวกับโลกและชีวิต โดยส่วนใหญ่ตัวหนังค่อนข้างมีความท้าทายในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงแก่นสารที่หนังต้องการนำเสนอ ซึ่งนอกเหนือจาก 10 เรื่องที่ได้นำเสนอไปก็มีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิเช่น Upstream Color, Primer, Eternal Sunshine of the Spotless Mind, The Butterfly Effect, Minority Report, Equilibrium, Melancholia...
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

10. The Fountain (2006)

ปรัชญาแห่งความตายที่ถูกอธิบายความเป็นไปได้โดยฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบของการย้อนเวลาเพื่อไขปริศนาของความตาย หรือจะเป็นแง่มุมทางศาสนาที่เปรียบได้กับการเวียนว่ายตายเกิดในภูมิภพต่างๆด้วยอำนาจแห่งกิเลส กรรม และวิบาก ซึ่งหนังเปิดปมด้วยช่วงเวลาปัจจุบันของชายที่พบว่าคนรักเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เขาจึงพยายามคิดค้นและทำทุกวิถีทางเพื่อให้เธอรอดพ้นจากความตาย ก่อนหนังจะตัดสลับระหว่างสามช่วงเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่เหตุการณ์มีความคล้ายคลึงกันก็คือ ชายที่กำลังสูญเสียคนรัก ไม่ยอมรับสัจธรรมชีวิต และพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะความตาย








9. Mr. Nobody (2009)

ปรัชญาชีวิตที่ถูกสะท้อนผ่าน 3 ทางเลือกที่ส่งผลกระทบถึงกันเสมือนทฤษฎี Butterfly Effect ที่คนๆหนึ่งสามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตได้หลายรูปขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและการกระทำในโมเมนต์หนึ่ง โดยหนังเปิดปมด้วยชีวิตของตัวเอก 'โนบอดี้' ในห้วงอนาคตที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเปลี่ยนให้มนุษย์มีชีวิตที่เป็นอมตะ ทว่าตัวเขากลายเป็นชายชราอายุ 117 ปีเพียงคนเดียวในโลกที่สามารถแก่ตายตามธรรมชาติได้ ก่อนที่หนังจะย้อนกลับไปเล่า 3 เส้นเรื่องโดยตัดสลับไปมาจนเสมือนเป็นเนื้อเดียวกัน โดยที่เส้นเรื่องทั้งหมดเป็นผลกระทบจากทางเลือกในช่วงวัยเด็กที่พ่อแม่ของเขาต้องแยกทางกัน








8. Solaris (2002)

ดัดแปลงจากนิยายชั้นเยี่ยมของ Stanislaw Lem กับผลงานไซไฟเชิงปรัชญาที่ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์และมุ่งเน้นไปยังแง่มุมของความรักซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ดูโดดเด่นกว่าฉบับของ Andrei Tarkovsky โดยหนังเปิดด้วยภาพของ 'คริส' จิตแพทย์ที่ตกอยู่ในวังวนแห่งความเศร้าโศก เสียใจกับการจากไปของหญิงคนรัก ก่อนที่เขาจะได้รับภารกิจสำคัญในการขึ้นไปไขปริศนาที่สถานีดาวโซลาริส ที่เหล่าลูกเรือและหน่วยกู้ภัยขาดการติดต่ออย่างไม่ทราบสาเหตุ และเมื่อเขาไปถึงก็พบว่าหลายคนได้ตายไปและหายสาบสูญ เหลือเพียงลูกเรือ 2 คนที่ยังมีชีวิตรอด ก่อนที่หนังจะนำไปสู่ไฮไลท์สำคัญที่ตัวเอกต้องเผชิญหน้าและเอาชนะกับรากเหง้าแห่งความทรงจำอันเจ็บปวดที่ก่อตัวเป็นรูปร่าง มีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างจากสถานะของมนุษย์ทั่วไป








7. Ghost in the Shell (1995)

แอนิเมชั่นไซไฟดีที่ได้แรงบันดาลใจจาก Blade Runner ในแง่มุมของการตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์กับหุ่นยนต์ ที่ถูกแบ่งแยกผ่านความคิด ความรู้สึก และความทรงจำ ขณะเดียวกันก็ถูกส่งต่อแรงบันดาลใจให้หนังขึ้นหิ้งอย่าง The Matrix ที่พาไปสำรวจแง่มุมความเป็นมนุษย์เชิงปรัชญาได้อย่างลึกล้ำ โดยปมเรื่องพูดถึงการก่ออาชญากรรมโลกไซเบอร์ที่นักเชิดหุ่นจักรกลทำการเจาะข้อมูลและปลูกถ่ายความทรงจำให้กับหุ่นยนต์ ซึ่งปมปริศนาดังกล่าวจะถูกสืบเสาะโดยหน่วยปฏิบัติการหมายเลข 9 ที่นำโดย 'โมโตโกะ' หุ่นไซบอร์กพิเศษ พร้อมกับลูกน้องอีกสองคนอย่าง 'บาโตะ' และ 'โทกุสะ'








6. The Man from Earth (2007)

การบอกเล่าแก่นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาทางศาสนาในลักษณะการโต้ตอบคำถาม ผ่านหนังที่ถูกเล่าแบบซิงเกิลเซ็ทในห้องๆหนึ่งที่ประกอบด้วยนักวิชาการ และตัวเอกซึ่งเป็นชายที่อ้างตนว่ามีอายุกว่า 14,000 ปี โดยหนังจะโฟกัสไปยังบทสนทนาของตัวเอกที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองในยุคสมัยต่างๆ ขณะเดียวกันกลุ่มคนในห้องก็พยายามตั้งคำถามเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของสิ่งที่ถูกเล่า และน่าสนใจของหนังคือตัวเอกก็สามารถให้คำตอบได้ในทุกคำถาม ทำให้บทสนทนาและคำถามที่เกิดขึ้นค่อยๆไต่ระดับความรู้จากสิ่งที่ถูกอ้างอิงในตำราตลอดจนแนวคิดหรือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ด้วยศาสตร์และวิชาความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน








5. Predestination (2014)

บทสนทนาในตอนต้นเรื่องที่ว่าด้วย "ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน" เป็นปรัชญาการก่อกำเนิดที่ยังไม่กระจ่างชัดว่าเหตุการณ์ใดควรเป็นเหตุหรือเหตุการณ์ใดควรเป็นผล เนื่องด้วยข้อสังเกตที่ไก่ทุกตัวฟักจากไข่ และไข่ทุกฟองก็เกิดมาจากแม่ไก่ โดยประโยคข้างต้นจะย้อนกลับมาถามตัวผู้ชมอีกครั้งภายใต้ความสับสน ความอึดอัด และความเห็นใจในชะตากรรมของตัวละคร หลังเรื่องราวดำเนินไปสู่จุดไคลแม็กซ์ที่เหตุการณ์ต่างๆได้ถูกร้อยเรียงเข้าหากัน ผ่านการเล่าด้วยลูปเวลาที่มีปมกล่าวถึงเจ้าหน้าที่องค์กรลับอาชญากรรมข้ามเวลา ที่อาสาสืบหาชายที่เป็นคู่กรณีให้กับหนุ่มนักเขียนคนหนึ่ง เพื่อที่เขาจะได้ล้างแค้นกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต








4. The Truman Show (1998)

บทถ่ายทอดแนวคิดที่สอดคล้องกับปรัชญาของ Jean-Paul Sartre เมื่อมนุษย์เกิดมาพร้อมเสรีภาพทางความคิดและการกระทำเพื่อนำไปสู่หนทางชีวิตที่ตัวเองเลือกโดยปราศจากข้อบังคับทางสังคมและการพึ่งพิงในตัวของพระเจ้า ที่สื่อผ่าน 'ทรูแมน เบอร์แบงค์' ตัวเอกที่เติบโตในโลกสมมติของเรียลลิตี้โชว์ที่ถูกเฝ้ามองจากผู้คนนับล้าน ซึ่งมันก็เป็นภาพสะท้อนที่สอดคล้องกับยุคสมัย ที่ผู้คนต่างเสพติดการบริโภคสื่อโทรทัศน์ หลงใหลในความบันเทิงจอมปลอมที่ถูกเซ็ทขึ้นมาเพื่อตอบสนองในสิ่งที่คนดูต่างคาดหวัง จึงกลายเป็นความตลกร้ายของหนังที่ผู้คนต่างเสพสุขกับเรื่องราวสมมติ ภายใต้ความไม่รู้ของตัวเอกที่ชีวิตได้ถูกบงการจากใครบางคน








3. Cloud Atlas (2012)

ปรัชญาแห่งชีวิตที่สะท้อนผ่านการเวียนว่ายในภูมิวิถีหก เมื่อมนุษย์สูญสิ้นชีวิตทำให้จิตวิญญาณที่หลุดออกจากร่างได้สิงสถิตสู่ร่างใหม่ และด้วยบ่วงแห่งกรรมที่ได้ก่อไว้ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่สภาวะนิพพาน จึงเกิดเป็นวัฎจักรของการเวียนว่ายตายเกิดในภูมิภพต่างๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คงเรียกได้ว่าเป็นแก่นปรัชญาที่เต็มไปด้วยความลึกลับและน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก โดย Wachowski brothers ก็ได้ถ่ายทอดมันผ่านเรื่องราวหกยุคสมัย ด้วยตัวละครกลุ่มเดียวกัน ภายใต้ความยาวกว่าสามชั่วโมง ที่ตัดสลับไปมาระหว่างยุคสมัย ที่คนดูต้องจับจุดและเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ของตัวละคร เพื่อนำไปสู่การตีความถึงแก่นแท้ของเนื้อหา








2. Blade Runner 2049 (2017)

ยังคงไว้ซึ่งหัวใจสำคัญของหนังภาคแรกที่ตัวบทมีความลึกซึ้ง คมคาย ในการสื่อถึงปรัชญาการมีอยู่ของชีวิตและการตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ที่ถูกแบ่งแยกในแง่มุมของจุดกำเนิดที่สะท้อนผ่านองค์ประกอบทางกายภาพ กับแง่มุมของความรู้สึกและจิตวิญญาณ อีกทั้งยังเสริมประเด็นความรักเพื่ออธิบายสถานภาพที่บ่งชี้ความเป็นมนุษย์ ขณะที่งานภาพ เทคนิควิชวลเอฟเฟค ก็ถูกพัฒนาได้ยอดเยี่ยมตามยุคสมัย โดยปมหลักของภาคนี้จะเล่าผ่านนักสืบ 'เค' ที่ต้องไขปริศนาที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำที่อาจนำไปสู่กุญแจแห่งความหายนะของเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยทาง Denis Villeneuve ก็บอกเล่าเรื่องราวในสไตล์ที่ตัวเองถนัด ด้วยจังหวะนิ่งๆ ค่อยๆคลายปม สร้างบรรยากาศบีบคั้นด้วยความไม่รู้ ก่อนจะเปิดเผยปมซ่อนเร้นได้อย่างทรงพลัง








1. The Matrix (1999)

ผลงานไซไฟเชิงปรัชญาขึ้นหิ้งของ Wachowski brothers ที่บอกเล่าสงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ ภายใต้เนื้อหาเชิงนามธรรมและการสอดแทรกสัญญะให้ผู้ชมได้ขบคิดกันตลอดทั้งเรื่อง ทั้งยังเปี่ยมด้วยความยอดเยี่ยมในฐานะของหนังมาร์เชียลอาตส์ที่ดึงศิลปะการต่อสู้แบบกังฟูผสมผสานในแอคชั่นซีนอย่างลงตัว โดยปมเรื่องพูดถึงตัวเอกที่ในโลกความเป็นจริงมีสถานะเป็น 'แอนเดอร์สัน' หนุ่มพนักงานบริษัทซอฟท์แวร์ และโลกของคอมพิวเตอร์เขาใช้โค้ดเนมว่า 'นีโอ' เป็นนักล้วงข้อมูลมือฉกาจที่กำลังถูกตามล่าจากกลุ่มคนลึกลับ และขณะเดียวกันปริศนาที่ยังคงค้างคากับความหมายของ 'เดอะแมททริกซ์' ก็นำพาเขาไปพบกับ 'มอร์เฟียส' บุคคลที่จะปลุกนีโอในการเป็นผู้นำปฏิวัติครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ
.
.
.
.
.
.
.

ทวิตเตอร์เพจ @Review_Me_ พูดคุยหนังทั่วไปเเละซีรีส์(โดยเฉพาะฝั่งเกาหลี)



ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme



เเละขออนุญาตฝากไอจีเพจด้วยนะครับ @review_me__
เป็นพื้นที่สำหรับรีวิวหนังสือนิยายต่างๆโดยเฉพาะแนวสืบสวน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่