10 เหตุผลที่วิกฤติอาจไม่เกิดในปี 2020

ที่มา https://www.finnomena.com/macroview/10-reasons-2020/

(1) เศรษฐกิจสหรัฐจะอ่อนแรง หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์หมดลงในปีหน้า อาจจะไม่เกิดขึ้นตามที่รูบินีคาด เนื่องจากมาตรการภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ แม้จะหมดอายุลง ทว่าสถานการณ์การก่อการร้ายในสหรัฐที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น จะเป็นตัวบีบให้เกิดการกระตุ้นด้านการคลังเพื่อชดเชยกับความไม่มั่นใจในการดำรงชีวิตของประชาชน ดังนั้นในช่วงที่ชาวอเมริกันระมัดระวังตัว โอกาสที่จะเกิดวิกฤติการเงินจะมีต่ำลง

(2) ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดน่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงไปถึง 3.5% ทำให้ธนาคารกลางที่อื่นต้องขึ้นตาม ส่งผลให้สภาพคล่องทั่วโลกหดหาย และดึงดอกเบี้ยทั่วโลกขึ้น ตรงนี้ ผมว่าถึงตรงนี้ น่าจะมีโอกาสน้อยลงมาก เนื่องจากสถานการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐที่อาจกล่าวได้ว่าใกล้ถึงเวลาที่จะกลับคืนสู่จุดสามัญ รวมถึงเหตุการณ์ความไม่แน่นอนของการก่อร้ายในสหรัฐเอง ซึ่งเริ่มมีการส่งสิ่งของต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุระเบิดไปยังนักการเมืองระดับแม่เหล็ก ที่น่าจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้การเพิ่มขึ้นอัตราเงินเฟ้อมีจำกัด หากเป็นเช่นนี้ เฟดน่าจะได้รับการกดดันอย่างหนักจากทรัมป์และอาจจะรวมถึงมวลชน ให้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

(3) สงครามการค้ายังรุนแรงอยู่แต่จะลดเพดานลงในปีหน้า เนื่องจากสหรัฐเองกลายเป็นเป้าก่อการร้ายของมือที่มองไม่เห็น แน่นอนว่าโฟกัสของทรัมป์หลังเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนหน้า เปลี่ยนไปจากจีนมาสู่การสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอื่นๆ เริ่มกลับเข้าสู่สมดุลอีกครั้ง ขณะที่ความนิยมการเมืองของทรัมป์ที่คาดว่าจะเสื่อมถอยกลับกระเตื้องขึ้น จากการเอาจริงเอาจังในความเป็นเอกภาพเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่ใช้ความรุนแรงกับขั้วการเมืองฝั่งตรงข้าม ซึ่งเข้าทางทรัมป์เนื่องจากเป็นสายบู๊อยู่แล้ว ทำให้ทรัมป์ดำเนินนโยบายแบบที่โดนใจทุกฝ่ายมากขึ้นแบบส้มหล่น รวมถึงเป็นไปได้ที่ท่าทีจะอ่อนลงกับอิหร่าน

(4) การคาดการณ์ของรูบินีที่ว่าสภาพคล่องทั่วโลกที่มีมากในปัจจุบันทำให้เกิดฟองสบู่สินทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดการเงิน ทั้งในหุ้นสหรัฐ พันธบัตรและหุ้นกู้ทั่วโลก โดยจะเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ และลุกลามไปทั่วโลกในปี 2020 ตรงนี้ ผมมองว่า แท้จริงแล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกทั้ง DM และ EM ในตอนนี้ ได้เริ่มเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่แล้ว โดยตลาดหุ้นที่ลดลงระหว่าง 10-45% ในปีนี้ คือจุดเริ่มต้นของการปรับฐาน

(5) สำหรับคำกล่าวที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤติครั้งใหม่ธนาคารกลางจะหมดกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ผมมองว่าการก่อตัวของฟองสบู่มีเป็นจุดๆ โดยภูมิภาคที่ไม่มีกระสุนเหลืออย่างยุโรปหรือญี่ปุ่นนั้น ไม่ค่อยมีฟองสบู่ให้เห็น

(6) ยุโรปจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “doom loop” ระหว่างสถาบันการเงินที่ถือครองหนี้ภาครัฐ กับรัฐบาล โดยมองว่าอิตาลีจะกระเด็นจากยูโร ตรงนี้ ผมมองว่าสถานการณ์สถาบันการเงินของยุโรปได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว ส่วนอิตาลีนั้น รัฐบาลของอิตาลียืนยันว่ายังจะอยู่ในยูโร ทว่าไปหันไปซบอกรัสเซียให้ช่วยเหลือด้านการเงินควบคู่กันไป

(7) แม้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีโดยเฉพาะอย่างยิ่งของตลาดเกิดใหม่ในตอนนี้ จะสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติซับไพร์ม ทว่าการที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่ค่อยๆ ขึ้นมา น่าจะยังทำให้เป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยที่ตราสารหนี้น่าจะยังคงเป็นที่สนใจอยู่ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนต่างๆ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ น่าจะทำให้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2019 ลดลงกว่าที่หลายคนคาดกันไว้ก่อนหน้า ส่งผลให้แรงกระเพื่อมของหนี้ดังกล่าวหากจะเกิดขึ้น น่าจะเกิดในปีหน้ามากกว่า

(8) การเกิดการขายแบบ Fire-sales หรือถูกบีบ Position ให้ขายสินทรัพย์ออกมาของนักลงทุนสถาบัน จากราคาสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตราสาร ETF ที่ลงมา น่าจะไม่เกิดขึ้น จากความระมัดระวังของตลาดหุ้นทั่วโลกในขณะนี้

(9) เศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดเกิดใหม่และจีน เพื่อรับมือกับ Trade War ของสหรัฐ ซึ่งตรงนี้ ผมว่าน่าจะซาลงหลังการเลือกตั้งกลางเทอมและตัวสหรัฐเอง เริ่มโดนการก่อการร้ายเล่นงานในประเทศตนเองแรงขึ้นตามลำดับ

ท้ายสุด หาก ปี 2020 เป็นช่วงเวลาที่หลายคนมองว่าจะเกิดวิกฤติ ทุกคนก็จะมีการระมัดระวังตัวมากขึ้น จนเวลาดังกล่าวผ่านพ้นไปก่อนที่วิกฤติจริงจะมาถึงในปีถัดไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่