ที่ใต้ทะเลลึก ผมของเมร่าไม่มีทางเป็นสีแดง

หลังชมภาพยนตร์ “Aquaman” จบ อีกหนึ่งตัวละครที่ถูกพูดถึงไม่น้อยไปกว่าอาเธอร์ เคอร์รี่ ลูกครึ่งมนุษย์และชาวแอตแลนติส หรือ Aquaman ตัวเอกของเรื่องก็คือ “เมร่า” พระธิดาของกษัตริย์ไรอัสแห่งดินแดนซีเบล 1 ใน 7 อาณาจักรใต้ทะเล ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาอันงดงามและเรือนผมสีแดงสดอันโดดเด่นของเธอที่ชนะใจคนดู แต่เมร่ายังมีความสามารถพิเศษในการควบคุมกระแสน้ำ ทั้งยังมีนิสัยเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งแผนการของวายร้ายในเรื่องให้ได้ ส่งผลให้ตัวละครหญิงตัวนี้กลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่แฟนภาพยนตร์เทใจให้

ทว่าปัญหาก็คือ ในความเป็นจริง “ผมแดงเพลิง” ของเธอไม่มีทางเปล่งประกายเป็นสีแดงเช่นนั้นในน้ำ ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับเส้นผมของนางเงือกนามแอเรียล ในการ์ตูน “The Little Mermaid” เช่นกัน รวมไปถึงสีแดงในโลกใต้น้ำของภาพยนตร์ฮอลลีวูดอีกหลายเรื่อง เพราะไม่ว่ามหาสมุทรใดก็ตามสีแดงจะไม่ปรากฏ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? สีผมของเมร่าคือโอกาสอันดีที่จะทำความเข้าใจถึงการสะท้อนของแสงกันให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
เมื่ออยู่บนบก สีผมของเมร่าจะเป็นสีแดงเพลิงดังที่เห็น ทว่าใต้น้ำสีที่เห็นจะต่างออกไป
ขอบคุณภาพจาก DCComics


เรามองเห็นสีได้อย่างไร?

ไอแซก นิวตันเคยกล่าวไว้ว่า สีสันต่างๆ ที่เรามองเห็น ไม่ใช่สีของวัตถุนั้นจริงๆ หากเป็นสีที่พื้นผิวของวัตถุนั้นๆ สะท้อนแสงกลับเข้ามาที่ตาเราต่างหาก

ปกติแล้วคลื่นแสงที่ดวงตามนุษย์มองเห็นจะอยู่ที่ช่วงประมาณ 400 – 800 nm (อ่านว่า นานอมิเตอร์ (Nanometre)) หากคลื่นแสงทั้งหมดสะท้อนเข้าดวงตาเราทั้งความยาวคลื่น สีที่เห็นก็จะปรากฏเป็นสีขาว แต่หากคลื่นแสงถูกดูดกลืนไปบางส่วนระหว่างกระทบกับวัตถุ แสงที่ตามองเห็นก็จะเกิดเป็นสีขึ้น เช่น พื้นผิวของแอปเปิลที่ดูดกลืนคลื่นแสงบางส่วนไว้ และสะท้อนกลับแต่คลื่นแสงช่วงที่เป็นสีแดง เราจึงเห็นว่าลูกแอปเปิลเป็นสีแดง หรือหากเราจ้องมองไปที่ใบไม้ คลอโรฟิลด์ในใบดูดกลืนคลื่นแสงช่วงสีฟ้าและช่วงสีแดงไว้ สะท้อนกลับออกมาแต่คลื่นแสงช่วงสีเขียว เราจึงเห็นใบไม้เป็นสีเขียว และหากพื้นผิวนั้นๆ ดูดกลืนคลื่นแสงทุกช่วงไว้ สีที่เราเห็นก็จะปรากฏเป็นสีดำ


“เรามองเห็นวัตถุนั้นๆ เป็นสีเหลือง ก็เพราะวัตถุนั้นสะท้อนคลื่นแสงช่วงสีเหลืองออกมาได้มากกว่าคลื่นแสงช่วงอื่นๆ แต่เพราะในดวงตาไม่มีเซลล์รับแสงสีเหลือง เซลล์รับแสงสีแดง และเขียวจึงทำหน้าที่แปลผลแทน เนื่องจากสีเหลืองอยู่ระหว่างคลื่นแสงสองช่วงนี้”

แล้วทำไมใครบางคนถึงไม่สามารถมองเห็นสีบางสีได้? หรือที่เรียกกันว่าโรคตาบอดสี ในดวงตาของเรามีเซลล์รับแสงรูปกรวยที่ทำหน้าที่บอกสมองว่าคลื่นแสงต่างๆ ที่สะท้อนเข้ามานั้นคือสีอะไร แบ่งเป็นเซลล์รับแสงสีแดง, เซลล์รับแสงสีน้ำเงิน และเซลล์รับแสงสีเขียว ในรายที่มีอาการตาบอดสีเกิดจากการทำงานผิดปกติของเซลล์ประสาทรับแสงสีบางชนิด ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถมองเห็นสีบางสีได้ ภาวะดังกล่าวนี้พบได้บ่อยกว่าในผู้ชาย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 8% ของประชากรทั้งหมด และพบในผู้หญิงเพียงแค่ประมาณ 0.4% เท่านั้น


สีใต้ทะเล

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใต้ทะเลนั้นต่างออกไป เมื่อแสงส่องลงมายังผืนน้ำ คลื่นแสงของสีบางช่วงจะถูกน้ำดูดกลืนหายไป โดยไล่เรียงจากคลื่นแสงที่มีพลังงานน้อยที่สุด หรือที่เรียกกันว่าความถี่  ซึ่งคือสีแดงนั่นเอง
เปรียบเทียบความยาวคลื่นแสงสีต่างๆ สีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุด พลังงานน้อยสุด ส่วนสีม่วงมีความยาวคลื่นสั้นที่สุด และมีพลังงานมากที่สุด
ขอบคุณภาพจาก https://www.sciencelearn.org.nz/resources/47-colours-of-light
เมื่อเราดำน้ำลึกลงไปเรื่อยๆ สีแดงบนพื้นผิวของวัตถุจะค่อยๆ จางหายไป และหายไปมากกว่า 90% ในระดับความลึก 5 เมตร ตามมาด้วยสีส้มที่ระดับความลึก 10 เมตร สีเหลืองที่ความลึก 20 เมตร สีเขียวอยู่ที่ 30 เมตร และสีสุดท้ายคือสีฟ้าที่ระดับ 60 เมตร เนื่องจากคลื่นแสงช่วงสีฟ้ามีพลังงานมากที่สุด และน้ำเองก็มีคุณสมบัติดูดกลืนคลื่นแสงสีฟ้าได้น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน

ลึกกว่านี้ลงไปทุกอย่างจะเป็นสีดำ เมื่อคลื่นแสงทุกช่วงถูกดูดกลืนหายไป แต่ทั้งนี้บางสียังอาจมองเห็นได้มากกว่าหรือน้อยกว่าระดับความลึกที่ระบุ อันเนื่องมาจากปัจจัยอื่นประกอบเช่น ระยะห่างระหว่างตากับวัตยิ้มิ่งห่างมาก แม้จะไม่ลึกแต่สีที่เห็นก็จะซีดจางลงเช่นกัน เนื่องจากแสงต้องเดินทางไกลขึ้นกว่าจะมาสะท้อนเข้าดวงตาเรา และอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือสมองของเราเอง สมองจะชดเชยสีที่หายไป นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบางครั้งนักดำน้ำยังคงรู้สึกว่าตนยังคงเห็นวัตถุนั้นๆ เป็นสีแดงอยู่ แม้จะซีดจางลงมากก็ตาม แต่หากใช้กล้องถ่ายภาพบันทึกไว้จะเห็นว่าสีจริงๆ ของวัตถุเปลี่ยนไปแล้ว และไม่เหมือนกับที่ดวงตาเราเห็น

ฉะนั้นแล้วหากฮอลลีวูดสร้างภาพยนตร์ตามหลักวิทยาศาสตร์จริงๆ เมื่อเมร่าดำน้ำสีผมของเธอจะเริ่มซีดลงๆ จากสีแดงสดกลายเป็นสีส้ม ต่อมาเรือนผมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และกลายเป็นสีดำในที่สุด แน่นอนว่าผู้ชมคงหมดความสนุกระหว่างการชมภาพยนตร์เป็นแน่แท้ และโลกใต้น้ำของชาวแอตแลนติสคงไม่เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันอลังการดังที่ปรากฏในภาพยนตร์
ความงดงามของอาณาจักรแอตแลนติสใต้มหาสมุทร ในภาพยนตร์ Aquaman



ถ้าเป็นเช่นนั้นทำไมสัตว์ใต้ทะเลลึกจึงมีสีแดง? ในเมื่อสีแดงไม่อาจปรากฏขึ้นได้ที่ระดับความลึกนั้น สมมุติว่าปลาสีแดงจากใต้ทะเลลึกว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำ แน่นอนคุณย่อมเห็นว่ามันมีผิวสีแดง แต่ตามที่บอกข้างต้นสีแดงจะค่อยๆ จางหายไปเมื่อระดับความลึกเพิ่มขึ้น ฉะนั้นปลาใต้ทะเลลึกสีแดงที่เราเห็นผ่านภาพถ่ายที่นักวิจัยจับขึ้นมาได้ หรือถูกถ่ายจากใต้ทะเลด้วยแสงไฟประดิษฐ์ส่อง พวกมันจึงมีสถานะเป็นปลาสีดำตามธรรมชาติ แม้ว่าจะมีผิวที่สะท้อนคลื่นแสงช่วงสีแดงก็ตาม และอย่าลืมว่าที่ใต้ทะเลลึกนั้นแทบไม่มีแสงอาทิตย์ส่องถึง ฉะนั้นการพรางตัวกลมกลืนไปกับความมืดจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่จะทำตัวโดดเด่น หากคุณต้องการอยู่รอด เพื่อสืบเผ่าพันธุ์

ส่วนในทะเลระดับความลึกไม่มาก สัตว์น้ำส่วนใหญ่จะมีผิวที่สะท้อนแสงสีฟ้า เพื่อช่วยในการพรางตัวและกลมกลืนไปกับน้ำทะเล เหล่านี้คือวิวัฒนาการที่บรรดาสิ่งมีชีวิตวิวัฒน์ขึ้นเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่
แมงกะพรุนที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Atolla wyvillei อาศัยอยู่ที่ระดับความลึก 1,000 – 4,000 เมตร จากภาพสีแดงของมันปรากฏเมื่อนักดำน้ำฉายไฟใส่เพื่อถ่ายภาพ
ขอบคุณภาพจาก Edith A. Widder, Operation Deep Scope 2005 Exploration, NOAA-OE

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความลึกและการสะท้อนของแสงใต้ทะเลส่งผลต่อสีสันของสรรพสัตว์อย่างไร
ขอบคุณภาพจาก https://oceanexplorer.noaa.gov/facts/animal-color.html






แหล่งข้อมูล

MERA’S HAIR IS A LIE IN AQUAMAN – KINDA. COLOR + WATER = SCIENCE!

การมองเห็นสีของวัตถุ

Underwater Lighting Fundamentals
Colors Underwater

Red light does not reach ocean depths, so deep-sea animals that are red actually appear black and thus are less visible to predators and prey
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 9
บทความเขาก็ไม่ได้ดิสเครดิตหนังสักหน่อย

เขาแค่เกริ่นด้วยสื่อบันเทิงใกล้ตัว แล้วขมวดเข้ากับวิทยาศาสตร์
ใจความสำคัญของบทความ คือ สีกับการมองเห็น เท่านั้นเอง
ความคิดเห็นที่ 17
เราคิดว่าที่จขกท.ตั้งกระทู้เรื่องสีแดงให้เกี่ยวกับสีผมของเมร่าเพราะแค่อยากให้คนสนใจเข้ามาอ่าน คงไม่ตั้งใจดิสเครดิตหนังหรอกค่ะ อย่างน้องก็เราคนนึงล่ะที่คลิกเข้ามาอ่านเพราะเป็นกระทู้เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้

ได้ความรู้มากๆ ขอบคุณค่ะ
ความคิดเห็นที่ 21
จขกท ไม่ได้ให้เครดิตว่า บทความมาจากเวป National Geographic Thai

https://ngthai.com/science/16116/under-deep-sea-nothing-red-colour/?fbclid=IwAR0fiXpfbtQEH5bw6b3gNHL-ravFWDuezVyW8D8TOoUdfCIRLrfP5NMATxI

อันนี้เป็น video ตัวอย่างจากบทความ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ความคิดเห็นที่ 7
ชอบนะ ที่ จขกท มีความพยายามใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการมองเห็นสี ด้วยตาของมนุษย์

ตามความจริง ทางวิทยาศาสตร์ (scientific fact/ natural fact) คงจะไม่มีอะไรไปเถียงกับ ท่านผู้รู้ทางวิทยาศาสตร์ได้

ทว่า ความ -จริง- ทางวรรณกรรม หรือการสมมติ (fictional fact) สร้างขึ้นจากขนบวรรณกรรม ที่สามารถแหวกความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้

โดยทั้งนี้ทั้งนั้น เจตนาของผู้รังสรรค์ สีแดงเพลิง ของผมนางเอก มีนัยยะทางวรรณกรรม (connotation) อยู่หลายอย่าง เช่น

- สร้างเอกลักษณ์ให้แก่ตัวละคร ให้เป็นที่จดจำว่า  นาง มิใช่มนุษย์บนบน (land creature) แต่เป็น สิ่งมีชีวิตจากทะเล หรือใต้น้ำ (sea creature)

- สีแดง เป็นสีที่เห็นได้เด่นชัด ตัดกับสีของน้ำ เขียว-ฟ้า ได้อย่างดี  สร้างความโดดเด่น ให้กับ ผู้ที่เป็นราชนิกูล หรือ เจ้าหญิง แห่งท้องทะเล เหมือน เงือกน้อย แอเรียล ในการ์ตูน ดิสนีย์

- สีแดง เป็นสีที่แสดง พลังอำนาจ  ความร้อน ความดุดัน  การกำเนิด (เลือด)  และ ชีวิต หรือ การขบถ การให้นัยยะด้วยสีนี้ ทำให้เราอ่านลักษณะนิสัย ของตัวละคร ผ่านสีผม ของนางได้

ต้องเข้าใจว่า วรรณกรรม เป็นโลกสมมุติ  แม้ว่าจะอิง หรือ ได้แรงบันดาลใจจากความจริงทางโลกที่เราเห็นกันอยู่ชินตาทุกวันก็เหอะ แต่เพื่อความบันเทิง  ผู้สร้างวรรณกรรม จึงจำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง ความแปลกใหม่ ให้กับตัวละคร  โดยเฉพาะในวรรณกรรมแนวแฟนตาซี หรือเพ้อฟัน เช่นนิทาน นิยาย ต่างๆ ที่สัตว์พูดได้  เป็นต้น
ความคิดเห็นที่ 12
ห๊ะ ทำไมแค่เค้าบอกว่าผมเมร่าจะไม่เห็นเป็นสีแดงตอนอยู่ใต้ทะเล ทำให้หนังมันหมดสนุกขนาดนั้นเลยหรอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่