6 สายนักลงทุนกองทุนรวม คุณเป็นสายไหน มาดูกัน ?



นักลงทุนกองทุนรวม ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือมือเก๋า แต่ละคนต่างก็มีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกันไป บางคนเข้าใจลักษณะการลงทุนของตัวเองเป็นอย่างดี และเลือกกองทุนได้อย่างเหมาะสม บางคนแม้จะลงทุนมาซักพัก แต่ก็ยังไม่สามารถค้นหาสไตล์การลงทุนของตัวเองได้ ทำให้เมื่อลงทุนไปแล้ว บางครั้งก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ

วันนี้ K-Expert จึงอยากจะมาแนะนำ 6 พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนแต่ละสาย และกองทุนที่แนะนำ เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมในครั้งต่อไป

1. นักลงทุนสายตั้งรับ – นิ่ง สงบ สยบทุกความเคลื่อนไหว

นักลงทุนสายนี้จะเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ กลัวเงินต้นหาย ลักษณะการลงทุนมักจะเป็นเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน การลงทุนมักไม่ค่อยผันผวน พอร์ตจะนิ่งๆ แต่อัตราผลตอบแทนมักจะน้อย บางครั้งถึงขั้นนดอกเบี้ยน้อยกว่าเงินเฟ้อต่อปีก็ยอม

คำแนะนำคือ อาจจะเริ่มลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว หรือกองทุนผสมที่ลงทุนในตราสารหนี้และหุ้น

อัศวินเหงื่อตก


2. นักลงทุนสายนักเทรด – จังหวะตลาดคืองานของเรา

สายนักเทรด เป็นสายที่ชอบจับจังหวะตลาด หาจุดซื้อ จุดขาย จากกราฟ และใช้ข้อมูลทางเทคนิคคอลประกอบการตัดสินใจ อาจจะเป็นสายเข้าไวออกไว หรือสาย run trend ไปยาวๆ ไม่ว่า SET Index จะขึ้น หรือจะลง ก็สามารถหาโอกาสทำเงินได้จากตลาดหุ้นเสมอ

คำแนะนำคือ ลงทุนในกองทุนดัชนี เช่น กองทุน SET 50 เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมการซื้อและขายที่ต่ำมาก เหมาะกับการซื้อๆ ขายๆ บ่อย นอกจากนี้ มีกองทุนดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศมี่มีค่าธรรมเนียมการซื้อถูกและไม่ยุ่งยากในการเปิดบัญชีให้ผู้ที่เทรดอย่างชำนาญแล้วได้ลองฝีมือกันอีกด้วย

เจ้าเริงร่า


3. นักลงทุนสายถือลืม – เงินเย็น ถือเรื่อยๆ ไม่สะทกสะท้าน

สายถือลืม เป็นอีกสายหนึ่งของสไตล์การลงทุนที่ไม่สะทกสะท้านกับสภาวะตลาด ไม่ว่าตลาดขึ้นหรือลง สายถือลืมก็จะถือไป นักลงทุนสายถือลืมมักมีความเข้าใจในสภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจ มีเงินเย็น ไม่มีความจำเป็นต้องรีบใช้เงินที่ลงทุนมาก สามารถถือได้ยาวๆ ได้มากกว่า 7 ปีหรือ 1 วงจรเศรษฐกิจ

คำแนะนำของนักลงทุนสายนี้คือ ต้องเข้ามาดูผลตอบแทนบ้างอย่างน้อยทุกๆ ครึ่งปี ไม่ควรถือจนลืม เพราะจะทำให้พลาดโอกาสในบางช่วง และมีการปรับพอร์ต เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนเท่าเดิม (rebalancing)

ลูกเต่าน้อย


4. นักลงทุนสายหาตัวช่วย – ให้คนช่วยสร้างผลตอบแทน

เป็นอีกสายที่มีค่อนข้างเยอะ นักลงทุนที่ศึกษาการลงทุนมาพอสมควร แต่ยังไม่มั่นใจในการบริหารจัดพอร์ตการลงทุนเอง หรือเคยลงทุนในหุ้นแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อยากให้มีคนมาช่วยดูแลตัดสินใจการลงทุนแทน กองทุนที่บริหารเชิงรุกหรือ Active Fund ปัจจุบันก็มีให้เลือกจำนวนมาก

คำแนะนำของนักลงทุนสายหาตัวช่วยคือ กองทุนที่เราเลือกมีผลตอบแทนย้อนหลังดีหรือไม่เมื่อเทียบกับดัชนีตลาด ฝีมือของผู้บริหารกองทุนเป็นอย่างไร เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกกองทุน

เม่าออกรถ


5.    นักลงทุนสายชิว – ถือยาวๆ รอรับเงินปันผล

สายนี้ต้องการกระแสเงินสดในรูปแบบของเงินปันผล นักลงทุนสายชิวไม่ชอบอะไรที่ผันผวนมากนัก ถือได้นานพอสมควร รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ผันผวนกว่าตราสารหนี้ แต่ก็ไม่ผันผวนเท่าหุ้น มักจะลงทุนในกองทุนที่มีปันผล กองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือรายตัว ที่ตรงกับความสนใจ

คำแนะนำคือ การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่มีผู้จัดการกองทุนเป็นคนเลือกกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือREIT โดยกองทุนสามารถลงทุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนอีกด้วย

เม่าหอยทาก


6.    นักลงทุนสายประหยัดภาษี – ลงทุนเพื่อประหยัดภาษีเท่านั้น

นักลงทุนสาย SAVE เป็นกลุ่มที่ใช้กองทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ กองทุน LTF และ RMF โดยลงทุนแค่ 2 ประเภทนี้ โดยไม่ลงทุนกองทุนรวมอื่นๆ เพราะอยากได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเท่านั้น โดยส่วนใหญ่นักลงทุนประเภทนี้มักจะลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้ความเสี่ยงโดยรวมเยอะเกินไป

คำแนะนำสำหรับสายนี้คือ การจัดพอร์ตการลงทุนในส่วนของกองทุนลดหย่อนภาษีให้มีการกระจายความเสี่ยง เช่น อาจจะสับเปลี่ยน RMF ที่เคยลงทุนในหุ้นไปลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อให้พอร์ตมีความเสี่ยงลดลง และทำการลงทุนแบบ DCA หรือลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน ก็สามารถช่วยเฉลี่ยต้นทุนการซื้อในปีนั้นๆ ได้

เม่าออม


เพื่อนๆ คงพอจะเริ่มรู้แล้วนะครับว่า ตัวเองตรงกับสายไหน เหมาะกับการลงทุนแบบไหน อย่าลืมคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับแต่ละสายที่ K-Expert แนะนำด้วยนะครับ เพื่อที่จะทำให้เพื่อนๆ ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขในการลงทุนครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่