♥️♥️♥️~มาลาริน~อาการไม่ค่อยดี ...กลยุทธ์แตกแบงก์พัน เพื่อไทยเสี่ยงอ่อนแอสูง


กลยุทธ์แตกแบงก์พัน เพื่อไทยเสี่ยงอ่อนแอสูง





กลยุทธ์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" รอบนี้ ถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรที่จะเป็นตัวชี้วัดถึงอนาคตทางการเมืองและโอกาสการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งยังไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาจะตรงตามเป้าหมายที่วางไว้มากน้อยเพียงใด

แต่อย่างน้อยก็ถือเป็น "ทางเลือก" ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับกฎกติกาการเมืองในระบบการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งทุกคะแนนมีผลต่อการนำมาคำนวณทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ

โดยเฉพาะเมื่อวิเคราะห์ระบบเลือกตั้งแล้ว จะพบว่าพรรคการเมือง ซึ่งได้ สส.เขตจำนวนมาก ย่อมจะไป ลดทอนโอกาสการได้ สส.ในระบบบัญชีรายชื่อ จนยากจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ในฐานะที่เคยชนะการเลือกตั้งได้จำนวน สส.แบบถล่มทลายก่อนหน้านี้ ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยต้องคิดหนักว่าจะยอมเสียที่นั่งที่จะหายไปตามระบบใหม่ หรือจะยอมเสี่ยงปรับแผนลดขนาดกระจายแกนนำไปอยู่พรรคอื่นเพื่อให้ได้เก้าอี้ สส.มากขึ้นแต่ก็ต้องยอมแลกกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมา

เริ่มตั้งแต่พลังความเข้มแข็งที่จะลดลงไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเข้มแข็งของพรรคเพื่อไทยในอดีตนั้นส่วนสำคัญมาจากการผนึกกำลังของบรรดาแกนนำ อดีต สส.จากทั่วประเทศเข้ามาทำงานร่วมกันจนมีจำนวนมากถึงขั้นเป็น แกนนำจัดตั้งรัฐบาลและมีเสียงใน สภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะผลักดันนโยบายสำคัญได้สำเร็จ

แต่หากรอบนี้จำเป็นต้องแบ่งแกนนำออกไปเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้กับพรรคพันธมิตรอื่นๆ ย่อมทำให้ความเข้มแข็งที่เคยมีต้องถูกลดทอนลงไป ตามจำนวนแกนนำและอดีต สส.ที่ออกไป ยิ่งออกไปมากเท่าไร หรือยิ่งแตกไปตั้งหลายพรรคเท่าไรพลังความเข้มแข็งย่อมต้องถูกลดทอนไปเท่านั้น

พรรคที่จะเป็นแบงก์ร้อยพรรคสำคัญในเวลานี้หนีไม่พ้น " พรรคไทยรักษาชาติ" ที่มีตัวย่อ ทษช. อันถูกตีความเชื่อมโยงไปถึง  ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ  โดยมีหัวหน้าพรรคคือ  ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ลูกชาย เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีต รมช.ศึกษา และมหาดไทย

ดังจะเห็นแกนนำจากพรรค เพื่อไทยหลายคนตัดสินใจลาออกมาสังกัดพรรค ทษช.อย่างล้นหลาม ไล่มาตั้งแต่ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถูกวางตัวมานั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคที่จะเป็นคนถือธงนำ  ทษช.ลงสนามเลือกตั้งรอบนี้ด้วยตัวเอง

ส่วนบรรดา "บิ๊กเนม" คนอื่นๆ เช่น สุชาติ ธาดาธำรงเวช  เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สุธรรม แสงประทุม ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เกรียง กัลป์ตินันท์ พิชัย นริพทะพันธุ์ และขัตติยา สวัสดิผล ก็ล้วนแต่เป็นอดีตบุคลากรที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย เมื่อต้องเสียคนเหล่านี้ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยต้องอ่อนแอลง

รวมทั้งในทางปฏิบัติแล้วคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถแบ่งพื้นที่กันได้ชัดเจนว่า พื้นที่นี้พรรคไหนจะคว้าชัยชนะได้ สส.เขต หรือพรรคไหน แพ้แต่จะได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อลงสนามเลือกตั้งกันจริงๆ ทุกฝ่ายต่างต้องการหวังชัยชนะเป็น สส.ด้วยกันทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อฐานเสียงที่เคยเหนียวแน่นกับพรรคเพื่อไทยมาเลือกตั้งรอบนี้ย่อมต้องคิดหนักว่าจะเลือกลงคะแนนให้ใคร หรือจะยึดปัจจัยใดมาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคแบงก์พันหรือพรรคแบงก์ร้อย ที่เวลานี้ต้องมาเป็นคู่แข่งกันเอง

ยิ่งหากพิจารณาต่อไปถึงเรื่องการนำเสนอนโยบายของแต่ละพรรคแล้ว การที่พรรคเพื่อไทยจะต้องชูนโยบายหาเสียงของตัวเอง ขณะที่พรรคพันธมิตรจะมีนโยบายเป็นของ ตัวเองที่แตกต่างออกไปย่อมทำให้ เกิดความสับสนในพื้นที่

ในขณะที่ประชาชนท่ามกลางความสับสนว่าพรรคไหนควรจะเป็นตัวจริงเสียงจริง ที่ประชาชนจะตัดสินใจเลือกเพื่อไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงในสภาผู้แทนราษฎร หรือเลือกไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผลักดันนโยบายที่จะได้ออกแคมเปญหาเสียงกับชาวบ้านต่อไป

อันอาจกลายเป็นจุดอ่อนเมื่อคนกันเองต้องมาลงสนามช่วงชิงเก้าอี้ โอกาสที่ฐานเสียงเดิมจะถูกแบ่งคะแนนกลายเป็นจุดอ่อนเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามอาศัยจังหวะนี้เข้ามาเป็น "ตาอยู่" คว้าชัยชนะไปแบบเหนือความ คาดหมายก็ย่อมมีความเป็นไปได้

ดังจะเห็นว่าสุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ต้องปรับกลยุทธ์กลับมาสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองเพื่อลบภาพความอ่อนแอ จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ประสบปัญหา "เลือดไหลออก" รุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกับอดีตสมาชิกจำนวนไม่น้อยที่ไหลไปอยู่กับพรรค พลังประชารัฐ

สภาพภายในพรรค หลังคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งถูกวางตัวเข้ามาเป็นคนถือธงนำในฐานะประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งเองก็เริ่มปรากฏให้เห็นความขัดแย้งจากกลุ่มก๊วนต่างๆ จนสั่นคลอนปัญหาเอกภาพอยู่หลายระลอก

แม้แต่พรรคแบงก์ร้อยอีกพรรคอย่างพรรคเพื่อชาติ ซึ่งได้ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา มาเป็น กองเชียร์คนสำคัญ ซึ่งเวลานี้เริ่มเห็นการขัดแข้งขัดขากันเองระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก

จน จตุพร ต้องออกมา เฟซบุ๊กไลฟ์หัวข้อ "ถึงวัฒนา เมืองสุข อย่าผลักมิตรเป็นศัตรู" แม้จะเคลียร์กัน ได้แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางที่น่าเป็นห่วงในช่วงการหาเสียงซึ่งจะต้องมีการกระทบกระทั่งรุนแรง

กลยุทธ์แตกแบงก์พันที่เพื่อไทยเลือกเดินจึงล้วนเต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงซึ่งต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกมาอย่างไรต้องรอลุ้นกันวันเลือกตั้ง

https://www.posttoday.com/politic/analysis/572405


แบงค์ใหญ่ๆแตกเป็นเบี้ยน้อยหอยน้อย เป็นลางร้ายว่า...
จะเสื่อมลงๆ

รัฐธรรมนูญเขียนไว้เพื่อไม่ให้พรรคใดมีเสียงมากกว่ากัน
เพื่อไม่ให้พรรคใดครอบงำเป็นเผด็จการรัฐสภา
แต่เล่ห์เหลี่ยมคนโกง  ทำให้คิดเพทุบายจะเอาชนะ

แต่ยิ่งแตกพรรคยิ่งกระจัดกระจาย...จนบ้านแตกสาแหรกขาด
อาการไม่ค่อยดี  เพราะคิดเอาชนะเกินกำลังตัวเอง

เพี้ยนเบลอเพี้ยนไม่สบายเพี้ยนไม่อยากจะเล่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่