รากเหง้า

รากของเรา ดินและน้ำ

    โพสต์ต่อไปนี้ดูเผินๆไม่เกี่ยวกับงานแปลและล่าม ไม่ค่อยอยากจะเขียนหรอกนะ แต่ดูลึกๆแล้วเกี่ยวกันเป็นเส้นยาแดงแทรกเลยล่ะ เลยเขียนดีกว่า “อะไรที่ไม่อยากทำ ไม่อยากเขียนนี่ พอทำแล้วมันมักจะออกมาดีเสมอ” รู้สึกบางอย่างในใจ จึงเขียนออกมา ...

    เฮียไม่ได้เรียนมาทางศิลป์ภาษาเป็นพ่อเนียนแม่เนียนคัดสรรขัดเกลาถ้อยคำเวลาแปลงานหรอกนะ เฮียมีพื้นฐานมาทางช่าง การบริหารโรงงาน จับพลัดจับพลูเริ่มจากทำล่ามคอบบร้าโกลด์ขำๆ ได้เที่ยวฟรีๆ (นั่งรถทัวร์ตะลอนๆไป 4 วัน 6 จังหวัด ให้ตายเถอะ เข็ดจนตาย) แล้วก็รับงานล่ามมันทุกประเภทนั่นแหละ ดีบ้าง แย่บ้าง ลุยไปโดดๆ อาศัยแค่พูดฟังเขียนอ่านอังกฤษออก จนมีโอกาสรับงานล่ามอุตสาหกรรมโรงงาน แล้วพบว่าตัวเองทำได้ดีเป็นพิเศษ เข้าใจหน้างานเรื่องราวได้อย่างรวดเร็ว แปลได้ดีกว่าลึกกว่าคนที่ไม่มีพื้นความรู้เดิม ที่สำคัญค่าแรงแพงกว่าล่ามทั่วไปเยอะเลย ทั้งนี้ต้องขอบคุณ อาจารย์จ้อย สุรพันธ์ ที่เปิดโอกาสให้เฮียได้ค้นพบจุดแข็งตัวเองด้วยนะครับ นี่ไงคนโบราณถึงว่า “หากมีครูเธอจะเป็นดั่งลูกธนู” คำพูดถูกที่ถูกเวลาเพียงไม่กี่คำ โอกาสเล็กน้อยที่ครูให้ มันเปลี่ยนชีวิตคนเลยนะ

    คนเราถ้ารู้จุดอ่อน จุดแข็งตัวเอง วางตนจุดที่ใช่ แค่นี้ก็อยู่ได้มั่นคงระดับหนึ่งแล้ว ในหลวงภูมิพลท่านตรัสอยู่เสมอว่า พอเพียงมั่นคงก่อน เดี๋ยวมั่งคั่งตามมาเอง หรือพูดง่ายๆตามคำอาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์  ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรธรรมชาติแห่งประเทศไทย ก็คือ พอแล้วรวยนั่นแหละ สงสัยไม๊ ทำไมพอแล้วจึงรวย ทั้งๆที่สมัยนี้มีแต่ต้องไขว่คว้าตะกายดาว ตามมาสิ ลงทุนแมน เอ้ย เฮียกระทิงจะค่อยๆเล่าให้ฟัง ...

      ครูอวบ ครูสอนเผาถ่านที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง ชลบุรี เคยเล่าให้เฮียฟังว่า จากโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ แต่ลึกๆจริงแล้วในหลวงภูมิพลท่านทรงทำอยู่แค่ 2 เรื่อง คือ ดินและน้ำ ทรงรู้ลึก รู้กว้าง สภาพดินประเภทต่างๆ ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินพลุ ดินแดง ดินดาน วิธีคืนชีวิตให้แผนดิน ปักแฝก แกล้งดิน คลุมดิน ห่มดิน เพาะจุลินทรีย์ “เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช” ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลง วัฏจักรชีวิตของน้ำ แก้น้ำเสียด้วยอธรรมปราบอธรรม EM ball กังหันน้ำชัยพัฒนา ความรักของน้ำและดิน ฝายเก็บน้ำ ป่าพื้นที่ชุ่มน้ำรอบฝาย โมเดลโคกคลองหนองบึง เขื่อนดิน เขื่อนชลประทานส่งน้ำ เขื่อนผลิตไฟฟ้า ระบบบริหารลุ่มน้ำน้อยใหญ่ทั่วประเทศ ไปจนถึงแก้มลิงป้องกันน้ำท่วม และการทำฝนเทียม

    ทรงนำความรู้เบื้องต้นเรื่องดินน้ำมาสร้างความพอเพียง มั่นคง ด้วยองค์ความรู้ มีคุณธรรม ตามเหตุตามผล พอประมาณ และป้องกันความเสี่ยง จากพื้นที่ 100% แบ่งเป็น 30% ขุดบ่อ, 30% ทำนา, 30% ปลูกป่าหรือทำไร่ทำสวน และ 10% เลี้ยงสัตว์ อัตราส่วนมากน้อยปรับตามพื้นที่ ที่ไหนน้ำท่าบริบูรณ์อาจไม่ต้องขุดบ่อถึง 30% ถามว่า แล้วทำไมไม่ทำสวนทำไร่ไปเลย 100% เล่า ปีไหนผลผลิตการเกษตรราคาดี ยิ่งขายได้เงินเยอะ มาขุดบ่อ ทำนา ปลูกป่าทำไม ตอบง่ายๆ ถ้าปีไหนราคาผลผลิตเกษตรไม่ดี สินค้าล้นตลาด ขายไม่ออกล่ะ คนเรากินข้าวนะ ไม่ได้กินยาง กินปาล์ม กินอ้อย แล้วถ้าหน้าแล้งไม่มีน้ำ ต้องแย่งน้ำจากคลองส่งน้ำล่ะ นี่ไงถึงต้องขุดบ่อเก็บน้ำเผื่อไว้ “แล้วป่าล่ะปลูกทำไม” ก็นอกจากข้าวแล้ว พืชผักผลไม้ สมุนไพรรักษาโรค สบู่ยาสีฟัน ผงซักฟอก หรือแม้กระทั่งไม้สร้างบ้าน มันก็มาจากพืชจากดินใช่ไม๊เล่า บางคนยังถามอีก “ซื้อเอาก็ได้ปลูกเองทำไม” แน่ใจหรือว่าซื้อได้ทุกอย่าง จำได้ไม๊ตอนน้ำมันโลกขึ้นราคา ของทุกอย่างแพงหมด ห้ามเติมน้ำมันหลังสี่ทุ่ม แล้วปี 54 ที่น้ำท่วมจนการเดินทางขนส่งสะดุดหยุดหมดล่ะ shelf ในร้าน 7-11 โล่งไปหมด ออกไปซื้ออะไรได้ไม๊ นี่ไงการป้องกันความเสี่ยงตามทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ความรู้ คุณธรรม ทำตัวเองให้อยู่รอด ทำกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ เกษตรพอเพียง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น แบ่งปัน แปรรูป ค้าขาย สร้างเครือข่ายแบ่งบุญ ทำให้เพื่อนบ้านรอบๆดีขึ้น มีความสุขเหมือนเรา สังเกตไม๊การค้าขายนี่ขั้นท้ายๆเลย คือเมื่อแบ่งปัน แล้วยังเหลือผลผลิต ก็นำมาแปรรูปเก็บไว้ใช้ต่อ หรือจะขายออกก็ได้ ถ้าราคาไม่ดี ขายไม่ออกก็ไม่เดือดร้อน เพราะมั่นคง พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็นอยู่แล้ว คนเรากินข้าวนะ ไม่ได้กินยาง กินปาล์ม "แล้วเครือข่ายแบ่งบุญล่ะ สร้างทำไม่" ก็ต้องถามกลับนะว่าทำไมถึงไม่สร้างล่ะ ในเมื่อการแบ่งปันมันเป็นธรรมชาติลึกๆของมนุษย์อยู่แล้ว ยิ่งเรามีพอเพียงมีเหลือพอแล้ว ทำไมจะแบ่งไม่ได้ ยิ่งมีเยอะเหลือแยะ ยิ่งแบ่งได้เยอะ ทั้งเงินทอง เวลา ความรู้ และที่สำคัญ น้ำใจ เรามีอะไรๆพอเพียง เหลือเฟือ แบ่งให้ได้เยอะไปหมด ตลอด 70 ปีที่ครองราชย์ในหลวงภูมิพลเองท่านก็ทรงทำเป็นแบบอย่างให้เห็นแล้ว ตรัสอยู่บ่อยๆ "ขาดทุนคือกำไร" "Our loss is our gain." ชาติไทยจะไปรอดก็เพราะคนไทยช่วยเหลือมีน้ำใจให้กัน

     ครูอวบพูดจบ เฮียนิ่ง คิดอะไรในใจ ... แล้วก็ถามตัวเองว่า แล้ว “ดินและน้ำ” ในงานล่ามที่ทำอยู่ มันคืออะไร ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ล่ามคือการเล่า ถ้าไม่เข้าใจแล้วจะเล่าได้อย่างไร เข้าใจเนื้อหาแล้วเล่าออกไป การจะเข้าใจเนื้อหาที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง ก็มีรากฐานจากทักษะทางภาษา อ่าน ฟัง พูด เขียน ทำมากเข้า ฝึกบ่อยๆเข้า สะสมทักษะให้ชำนาญยิ่งๆขึ้น ฟัง อ่าน และเข้าใจได้รวดเร็ว เล่าออกมาได้ง่ายๆ ไม่ยากเลยใช่ไม๊ ยิ่งสมัยนี้มีสื่อให้เรียนด้วยตัวเองเต็มไปหมด หรือเรียนคอร์สล่ามการแปลทั้งหลายก็ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา หมั่นฝึกปรือทบทวน ทำให้เข้าเนื้อเข้าตัวเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ออกได้ง่ายคล่องดังใจจง ทักษะพื้นฐานดีจะต่อยอดไปทำอย่างอื่นก็ง่ายแล้ว เหมือนดินดีน้ำมีปลูกอะไรก็ขึ้น

       ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลย นอกจากการรู้จักตัวเอง สิ่งที่มีที่เป็นอยู่แล้ว จุดแข็ง จุดอ่อน เอามาใช้ประยุกต์ รู้จักวางตัวเองอย่างไรให้อยู่รอด มั่นคง ป้องกันความเสี่ยงเสียก่อน ส่วนจะต่อยอดไปทำงานอื่นๆก็แล้วแต่ ขอเพียงทำในสิ่งที่ชอบ ใช่ ทำสิ่งที่ชอบนั่นแหละ เพราะทุกสิ่งอาศัยเวลา ไม่ได้สำเร็จวันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า อาจใช้เวลาหลายเดือนหลายปี แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมันอยู่รอด มั่นคงระดับหนึ่งมาก่อนแล้ว ทำเหมือนไอ้เบื๊อกก้มหน้างุดๆ ทำอะไรของมันไปน่ะ มีแต่มันที่รู้ว่าทำอะไร มันชอบ มันตั้งใจทำ ทำด้วยความพอใจ ทำไปแม้ไม่เห็นผล ทำมากๆเข้าชำนาญเข้า เกิดความขำนาญเกิดคุณค่าขึ้นแล้ว คนมันไม่อยู่เฉยๆหรอก มันคันโน่นคันนี่ เห็นอะไรก็จับแพะชนแกะ รู้จักเอามาต่อยอด สร้างมูลค่า ความมั่งคั่งก็มาเอง

รากเหง้า

       โลกที่แคบลงเพราะการเดินทางสื่อสาร รับองค์ความรู้ต่างๆง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัสคีย์บอร์ด ความรู้เข้าถึงได้ง่ายและกว้างไกลกว่าเดิม รับสื่อวัฒนธรรมต่างประเทศมากขึ้น ถ้าไมรับไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่รู้จักรากเหง้าของเรา มันจะปลิวไปใหลตามกระแสกู่ไม่กลับ อย่างที่เห็นกระแสลมตะวันตก เห็นสิ่งดีๆจากที่อื่น ก็อยากให้บ้านเรามี จะพัฒนาอะไรก็จ้องแต่จะทุบ รื้อทิ้งของเก่า มองว่าโบราณล้าสมัย จะยกเลิกประเพณี วัฒนธรรม สถาบัน อะไรต่อมิอะไร ตะวันตกเลิศเลอ พวกตัวเองรู้เยอะเรียนมาฉลาดกว่าคนอื่น แต่ดันพูดอย่างทำอย่าง กดขี่ข่มเหงผู้หญิง รังแกทำร้ายสัตว์ หลายต่อหลายอย่างน่าปวดหัว พูดอย่างหยาบๆก็เรียกว่าพวกชังชาติน่ารังเกียจ แต่ถ้าคนเหล่านี้ เป็นเพื่อน ญาติพี่น้อง ลูกหลาน หรือคนในครอบครัวเราล่ะ เราจะเกลียดเค้าไม๊ มองลึกๆหลายสิ่งที่พูดแสดงออกมา ก็เป็นเรื่องจริง

      จริงอยู่ของบางอย่างอาจไม่เหมาะกับยุคสมัย แต่ถามจริงๆเถอะ ของเก่าที่ไม่ดีน่ะ ไม่ดีจริงหรือ ถ้าไม่ดีจริงจะอยู่มาได้อย่างไร ที่ควรถามคือ “เหมาะกับยุคสมัยหรือไม่” มีส่วนไหนไม่ดีไม่เหมาะบ้าง แล้วส่วนดีที่เหมาะล่ะ เอามาปรับจัดเรียงให้เหมาะให้ดีขึ้นได้หรือไม่ นี่ต่างหาก คือการรู้ลึก รู้ราก แคบกว้าง ทั้งเก่าใหม่ เราถึงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมั่นคงภูมิใจ มีรากยึด ไม่หลงลืมรากฐาน ใหลไปตามกระแส

   หลายครั้งเวลาอ่านข่าว “รุ่นพี่รับน้องโหดถึงตาย” “รุ่นพี่แกล้งรุ่นน้องสะใจ” “กิจกรรมโบราณถ่อยเถื่อน เลิกไปได้แล้ว” เฮียรู้สึกปวดใจ นึกในใจ “ไอ้รุ่นพี่ ทำอะไรของงงงงง” แต่นั่นแหละในดำมีขาว ในชาวมีดำ ในสิ่งเลว สิ่งดีงามยังมีอยู่ แต่เอามาปรับใช้ให้ถูกวิธี เหมาะกับยุคสมัย ไม่ได้ทุบทิ้งทำลายไปเสียหมด เท่านี้เราก็อยู่กันไปได้ ทั้งรู้จักปรับตัวตามยุคสมัย และภูมิใจมีรากเหง้ายึดโยง รากบางเส้นมันยึดลงลึกเสียด้วยสิ ห่างมาหลายสิบปีก็ยังไม่ไปไหน กลายเป็นศักดิ์ศรีสันดานเก่าเกาะในใจลึกๆไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ เฮียขอมอบข้อเขียนเรื่องการรับน้องวิศวะเกษตร https://goo.gl/rt3a7r ให้กับสังคมไทยด้วยพิจารณาด้วย เรื่องนี้เป็นบทแทรกที่ 2 จาก เรื่องชุด “ล่ามวิศวะ ... Mission Impossible”

อหังการ์หมาป่าโดดเดี่ยว

อ่านโพสต์เก่าๆ ได้ที่เพจล่ามวิศวะเฮียครับ https://goo.gl/Lrpydu

#EnglishThaiInterpreter #EnglishThaiTranslator #EngineeringInterpreter #EngineeringTranlator #IndustrialInterpreter #IndustrialTranslator #ล่ามวิศวกรรม #ล่ามอุตสาหกรรม #ล่ามไทยอังกฤษ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่