วิกฤติหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็ก / โดย ลงทุนแมน

ณ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากของนักลงทุนในตลาดหุ้นของไทย นับจากต้นปี 2561 ที่ผ่านมา SET Index ลดลงไปแล้วกว่า 130 จุดหรือประมาณ 7.5% อย่างไรก็ตามนั่นคือ ค่าเฉลี่ยของหุ้นทั้งตลาด ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ราคาลดลงมากเสียจนทำให้หลายคนตกใจและคนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ น่าจะเจ็บตัวไปไม่น้อย

เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟังก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่าหุ้นขนาดใหญ่, ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ก่อนว่าคืออะไร
วิธีที่ง่ายที่สุดในการวัดว่า หุ้นแต่ละตัวเป็นหุ้นประเภทไหนก็คือ การใช้มูลค่าบริษัท ณ ราคาตลาด (Market cap.)
ถ้าเป็นหุ้นขนาดใหญ่ (Large cap.) ปกติแล้วมักจะมี Market cap มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ตัวอย่างของบริษัทประเภทนี้ก็คงจะเป็นธนาคาร, โรงกลั่น หรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

ถ้าเป็นหุ้นขนาดกลาง (Middle cap.) ปกติแล้วมักจะมี Market cap ระหว่าง 2 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาท ตัวอย่างของบริษัทประเภทนี้คือ เชนร้านอาหาร, สื่อทีวีดิจิทัล หรือโรงงานขนาดกลาง
ถ้าเป็นหุ้นขนาดเล็ก (Small cap.) ปกติแล้วมักจะมี Market cap ไม่เกิน 2 พันล้านบาท ตัวอย่างของบริษัทประเภทนี้คือ บริษัทที่มีบริการเฉพาะกลุ่ม, บริษัทจัดจำหน่ายขนาดเล็ก, โรงงานขนาดเล็ก ซึ่งส่วนมากจะมียอดขายไม่เกิน 1 พันล้านบาท

ปัจจุบัน ตลาดหุ้นของไทยมีดัชนีหลายตัวที่สามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มต่างๆ เช่น SET50, SET100 ที่เป็นตัวแทนของหุ้นขนาดใหญ่ได้ค่อนข้างดี
แต่สำหรับหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น ดัชนีที่เรามักใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มนี้ก็คือดัชนี sSET และ ดัชนี MAI
ลองมาดูความเคลื่อนไหวของดัชนีทั้ง 4 ตัว ในช่วงที่ผ่านมาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ดัชนี SET50 ณ 30 ธ.ค. 2560 ปิดที่ 1,135.14 จุด ณ วันที่ 23 พ.ย. 2561 ปิดที่ 1,077.93 จุด ลดลง 5.0%
ดัชนี SET100 ณ 30 ธ.ค. 2560 ปิดที่ 2,543.08 จุด ณ วันที่ 23 พ.ย. 2561 ปิดที่ 2,376.49 จุด ลดลง 6.6%
ดัชนี sSET ณ 30 ธ.ค. 2560 ปิดที่ 1,073.76 จุด ณ วันที่ 23 พ.ย. 2561 ปิดที่ 796.26 จุด ลดลง 25.8%
ดัชนี MAI ณ 30 ธ.ค. 2560 ปิดที่ 540.37 จุด ณ วันที่ 23 พ.ย. 2561 ปิดที่ 399.19 จุด ลดลง 26.1%

หมายความว่า ในช่วงที่ผ่านมา คนที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจะขาดทุนไปประมาณ 26% เลยทีเดียว ขณะที่คนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่เฉลี่ยแล้วจะขาดทุนประมาณ 5 - 7%
แต่หลายคนคงอยากรู้ว่าแล้วทำไม คนจำนวนไม่น้อยถึงอยากลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กแทนที่จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่
ที่เป็นแบบนั้นเพราะ บริษัทขนาดเล็กหรือขนาดกลางมีฐานที่ต่ำอยู่ ทำให้สามารถกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่ได้ง่ายกว่า บริษัทใหญ่ที่อิ่มตัวแล้ว
เช่น บริษัทขนาดเล็กที่มี Market cap 2,000 ล้านบาท การที่จะโตไปเป็น 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการโตถึงเท่าตัวนั้น เราจะได้พบเห็นกันอยู่เป็นประจำ ซึ่งถ้าบริษัทนั้นสามารถเติบโตได้จริง คนที่ถือหุ้นไว้ก็จะได้ผลตอบแทนสูง ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ถ้าปัจจุบัน มี Market cap อยู่ที่ 500,000 ล้านบาท การที่จะโตถึงเท่าตัวหรือไปให้ถึง 1 ล้านล้านบาท คงต้องใช้เวลานานพอสมควร

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
นอกจากนี้ ในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นหุ้นส่วนใหญ่มักจะอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำให้หุ้นที่เหลือหมุนเวียนซื้อขายอยู่ในตลาด (Free Float Shares) จะมีจำนวนน้อย
จึงไม่แปลกที่เวลาที่นักลงทุนเพียงไม่กี่คนเข้ามาซื้อขายหุ้นเหล่านั้น จะมีราคาปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งสร้างความคึกคักและความน่าสนใจให้แก่หุ้นลักษณะนี้เข้าไปอีก
ปลายปี 2560 ค่า Price to Earnings (P/E) ของดัชนี MAI เคยขึ้นไปมากกว่า 127 เท่า หมายความว่า นักลงทุนยอมจ่ายเงินซื้อหุ้นใน MAI เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 127 บาท ต่อผลกำไรบริษัทที่ 1 บาทหรืออีกด้านหนึ่ง ถ้าสมมติว่า การเติบโตของบริษัทและกำไรคงที่ในอนาคต เราจะต้องใช้เวลาถึง 127 ปี กว่าจะเท่าทุน ซึ่งแน่นอนคงไม่มีใครรอจนถึง 127 ปี ทุกคนที่ซื้อคาดหวังว่าบริษัทเหล่านี้จะมีกำไรที่เติบโต

ดังนั้น ถ้ากำไรของบริษัทเหล่านั้น เริ่มลดลงหรือไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดไว้แต่แรก หุ้นที่ P/E สูงนั้น ราคามักจะลดลงอย่างรวดเร็วและเรื่องนี้สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา P/E ของดัชนี MAI ลดลงเหลือเพียง 49 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ซื้อหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กไป จะขาดทุนหนักในช่วงนี้...
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่