เส้นทางสู่การเป็น Investment Banker (IB)

เอาบชพันทิปน้องสาวมาเขียน มีเพื่อนที่สนิทข้างบ้านบอกให้ผมลองเขียนชีวิตของผมที่เคยผ่านการเป็น IB เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับบางคนที่กำลังมองหาอาชีพที่มีทางเลือกมากกว่าหมอหรือวิศวะ สำหรับคนที่เรียนเก่งพอใช้ได้ในแผนวิทย์หรือคำนวนเลขเก่ง ต้องได้ภาษาอังกฤษ/ฝรั่งเศส/เยอรมัน/สเปนด้วยอย่างน้อย1-2ภาษา ได้ด้วยยิ่งดี ผมไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่ม.2 อยู่รรประจำใกล้Oxford สมัยนั้นมีนรไทยเรียนทั้งเกาะอังกฤษประมาณ200คน คุณพ่อผมจบจาก University of Cambridge เลยอยากให้ผมเดินตามรอยเท้าท่าน ไม่ค่อยคบคนไทยเพราะอยากได้ภาษา เรียนภาษาสเปนควบคู่ไปด้วย เพราะมีเพื่อนสนิทมาจากสเปนและมีคนฝึกภาษาให้ผม ผมก็เรียนแผนวิทย์จนจบ GCSE ถึง A Level หรือมปลาย และคะแนนสอบเข้าได้ U ที่เป็นtop 5  ปตรีเรียน3ปีตามหลักสูตรในอังกฤษ คณะBusiness Finance ตอนนั้นไม่ได้วางแผนว่าอยากจะเป็นอะไร ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ เลยเรียนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับธุรกิจแบบยากไปก่อน รู้แต่ว่าถ้าเรียนยากขึ้นไปโอกาสก็จะเปิดให้เรามากขึ้น ยอมรับว่าเรียนหนักมากแต่ได้เพื่อนดี ช่วยกันติวแบบไม่หวงวิชา เวลาว่างก็ไปดื่มกันตามpubตามประสาวันรุ่น เพื่อนฝรั่งดื่มกันจัดมากแต่ผมไม่ค่อยดื่ม กลัวติดเหล้าเหมือนฝรั่งบางคน ปิดเทอมทีถ้าไม่กลับเมืองไทยก็จะอยู่ที่บ้านใน London ดูแลความสะอาดและเตรียมตัวสำหรับเทอมต่อไปหรือพ่อแม่ก็จะบินตามมาอยู่เป็นเพื่อน ปกติแล้วผมจะกลับเมืองไทยปีละ2-3ครั้ง หลังจากจบตรีออกมาก็ออกไปฝึกงานที่บริษัทของพ่อเพื่อนเขามีธุรกิจประกันทำอยู่1ปี พร้อมกับเรียนโทMBAควบคู่ไปด้วยเพื่อให้วีซ่านักเรียนต่อเนื่อง แต่เรียนไม่จบ เวลาเรียนไม่พอและตามไม่ทันเพราะต้องทำงานไปด้วย รู้สึกผิดหวังกับตัวเอง แต่ได้เอาใบผ่านงานที่บริษัทประกันไปสมัครต่อปโทที่ London School of Economics (LSE) คณะเศรษฐศาสตร์การเงิน Financial Economicsเพราะใจเริ่มชอบมาทางนี้แล้ว พ่อเพื่อนที่เป็นเจ้านายแนะให้ผมมาทางนี้เพราะเห็นว่าน่าจะไปได้ ต้องขอบคุณเขามากๆ เป็นการเปลี่ยนชีวิตของผมเลยจริงๆผมเรียนโทใช้เวลา11เดือนแล้วจบ ไวกว่าจบจากไทยหรืออเมริกา2เท่า

ในอังกฤษสำหรับคนที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ค่อนข้างดีเขาจะส่งลูกเรียนที่ Eton College ฝ่ายมัธยมเพื่อปูทางไป Top 3 Universityต่อไป
Eton ผลิตนายกของอังกฤษมา14คนและเข้ายากมากต้องเป็นพวกลูกผู้ดีเก่า (old money) ถึงจะเข้าได้ ค่าเทอม5แสนบาทต่อเทอมโดยประมาณ ส่วนผมอดไปตามระเบียบแต่ก็จบมปลายจากที่ดีแห่งหนึง  พอจบแล้วอายุที่อยู่ที่อังกฤษครบ10ปี ก็ได้วีซ่าถาวร Long Residence สมัครเล่นๆดูแล้วก็ได้วีซ่าอยู่อย่างถาวร หลังจากนั้นเลยขออนุญาตที่บ้านเที่ยวในยุโรป3เดือนเป็นของขวัญที่เรียนจบกับเพื่อนๆสมัยมัธยม นั่งรถไฟไปจากอิตาลี่ไปนอร์เวย์ แบบค่ำไหนนอนนั่น เที่ยวเพื่อให้เห็นโลกที่กว้างขึ้น จากยุโรปก็ไปอเมริกาต่อ เริ่มต้นจากNYCไปจบที่ LA อีก3เดือนแล้วกลับเมืองไทยอยู่เกือบ4เดือนแล้วกลับอังกฤษหางานทำทันที ต้องยอมรับว่าการที่ได้ท่องเที่ยว มันดีกับตัวเองในการมองโลกเข้าใจตัวเองและความแตกต่างในแต่ละสังคม ผมมีทัศนคติที่ดีขึ้นในการดำรงชีวิตและการอ่านคน กลับมาที่อังกฤษคราวนี้เพื่อนๆที่ได้ทำงานในธนาคารต่างๆก็แนะนำงานมาให้ ส่วนตัวผมนั้นอยากสมัครเองมากกว่า จนได้งานที่ธนาคารอังกฤษแห่งนึงใน Canary Wharf ฝ่ายการลงทุนเป็นsale คือขายผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า เช่น ตราสารอนุพันธ์ต่างๆ และสอบCFAควบคู่ไปด้วย ทำได้อยู่2ปีรู้สึกว่าไม่ชอบ ก็ย้ายไปอยู่แบงค์ของอเมริกาใน The City of London

The City of London คืออยู่ในLondonนั่นแหละแต่มีเขตการปกครองเป็นของตนเอง เหมือนเขตสีลมที่มีผู้ว่าเขตปกครองเองเป็นเอกเทศ เรียกสั้นๆว่า"The City" คือเขตเศรษฐกิจที่มีพวกธนาคารต่างๆ สำนักทนายความและธุรกิจการเงินต่างๆ ประกันภัย หรือพวก white collars ทำงานกัน กลับมาที่ทำงานใหม่ของผม ผมได้ทำงานให้กับธนาคารสายIB ตำแหน่งเป็น Associate ต่ำแหน่งของIB ไล่มาจากต่ำไปสูงสุดจะเป็น
1.Analyst (grunt)หรือนักวิเคราะห์บ้านเรา
2.Associate (glorified grunt) หรือSenior Analyst  
3.VP (account manager)
4.Director (senior account manage)
5.Managing Director
(ไปหาความหมายและหน้าที่แต่ละอันเอาเองครับ)

ตอนแรกนึกว่างานจะสบายแต่ผมคิดผิดมาก ทำงานหนักมาก ปกติคนทำงานทั่วไปในอังกฤษเริ่มเวลา 9-5 แต่มันไม่ใช่ IB จะเป็น 8-งานจบถึงกลับ อาจจะเป็นเที่ยงคืน ที่ต้องทำงานตั้งแต่8โมงเพราะตลาดห้นที่ยุโรปเปิดพร้อมกันทั้งทวีปตอน9โมงเช้า แต่อังกฤษเวลาช้ากว่า1ชม เลยต้องมาให้ทันตลาดเปิด และก็จะมีบางกลุ่มที่มาตั้งแต่7โมงเช้าด้วยคือพวก Analyst มาเตรียมบทวิเคราะห์ ที่ทำงานก็จะแยกเป็น3กลุ่ม คือตลาดอังกฤษ ยุโรปและอเมริกา หน้าที่หลัก90%ของพวก IB ก็คือ Market Maker มันคืออะไร หุ้นแต่ละตัวจะมี Investment Bank เป็นคนดูแลเรื่อง liquidity หรือสภาพคล่องในการซื้อหรือขายหุ้น เช่นหุ้น HSBC ธนาคารHSBC เป็นunderwriterเอง ผ่ายIB ของHSBCจะเป็นคนทำสภาพคล่องให้หุ้นHSBC นั้นราคามันมีสภาพคล่องเข้าออกได้ทุกเมื่อเวลาซื้อและขาย คือต้องอยู่กับ comp ตลอดเวลาดูแลระบบให้เสถียรและคำนวนตัวเลข โทรหาลูกค้าหรือลูกค้าโทรมาสั่งซื้อหุ้นกับเรา ชีวิตมันไม่ได้สวยหรูอย่างในหนัง ถ้าคนมีฝีมือ10%ที่เหลือก็จะได้ไปอยู่แผนก prop trader มีวงเงินให้เทรดขึ้นอยู่กับฝีมือ บางครั้งเราแข่งกับลูกค้าเราเองเพราะบางครั้งเราอาจจะเสียค่าcommจากลูกค้า เราเลยต้องเอากำไรส่วนนี้มาชดเชย ตลาดยุโรปไม่มีพักเที่ยงเปิดยาว8-3pm/9-4pmในฝรั่งเศส และตลาดNYSEเปิดต่อตอนเที่ยงในยุโรป NYSEเวลาเปิดคือของจริง ว่าตลาดจะไปทิศทางไหน ช่วงเวลานี้แหละที่ฝ่ายรับผิดชอบหุ้นในอเมริกาจะเข้ามาเทรด บนfloorจะวุ่นวายมากแต่ไม่เสียงดังเหมือนในหนังเพราะใช้compกันหมดแล้ว ทางเราก็จะมีหุ้นที่วางแผนว่าจะซื้อหรือขายที่ประชุมกันมาก่อนหน้านี้ บทวิเคราะห์พวกนี้ที่นักลงทุนรายย่อย (Retail Investors)อยากได้ บางคนยอมจ่ายใต้โต๊ะเป็นล้านเพื่อให้ได้มา ในธนาคารที่ผมอยู่ก็จะมี HFT หรือ High Frequency Trading ให้คอมพ์เป็นตัวซื้อขายหุ้นแบบเร็ว โดยเราจะป้อนข้อมูลการซื้อหรือขายเข้าไป จะมีการซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 40,000 ครั้งต่อวันเป็นอย่างต่ำ ถ้าแต่ละครั้งได้กำไร $3 x 40,000=$120,000ต่อวัน ไม่มีค่าcomm HFTไม่สามารถใช้ในเมืองไทยได้เพราะ liquidity ไม่เพียงพอ ราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงทุกๆ2-3นาที ราคาเปลี่ยนช้าเกินไป มูลค่าตลาดยังไม่ใหญ่พอและไม่คุ้มกับการใช้HFT เพราะราคาแพงมาก สามารถให้คนทำแทนได้และคุ้มค่ากว่า

มีคนหลายคนที่คิดว่าเป็นนักวิเคราะห์ถ้าเก่งแล้วทำไมไม่ลาออกมาเล่นหุ้นเอง อันนี้เป็นความคิดที่โลกแคบไปนิดนึง คำตอบคือคุณไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ทุกครั้ง มันต้องมีวันที่คุณพลาด  สังเกตุว่าทำไมเวลากำไรจะได้ไม่มากเมื่อเทียบเวลาที่คุณเสียแต่ละทีแทบจะหมดตัว การที่ทำงานในสายIBทำให้คุณเข้าถึงข้อมูลได้ไวและเชิงลึกได้ มีมืออาชีพมาช่วยคุณคิดและมีคนคิดต่างที่มาให้เหตุผลมาแย้งกับคุณ ต่างกับการเล่นหุ้นคนเดียวที่บ้านแล้วนั่งคุยกับหมาและแมวเป็นเพื่อน อย่างไหนจะดีกว่ากัน ถ้าคุณอยู่ในIBคุณไม่สามารถมีบชซื้อขายหุ้นได้

เวลาทำงานจะยาวนานมาก พักเที่ยงตอนบ่ายโมงตรงมีเวลาพัก30นาที แล้วต้องขึ้นมาทำงานต่อ บางวันทั้งวันได้กินแค่appleลูกเดียวบนโต๊ะทำงาน บางวันอาจจะต้องออกไปพบลูกค้าเรียกว่า business lunch/meeting แล้วก็ต้องกลับที่ทำงานมาประชุม บางวันมี 12 ประชุมแทบไม่ต้องทำงานต่อ งานใหม่มาอยู่เรื่อยๆ งานเก่าก็ยังไม่เสร็จ ต้องแบ่งเวลาให้เป็น ถึงต้องกลับบ้านเที่ยงคืนหรือนอนที่ทำงานกันก็มีแต่ไม่บ่อย บางครั้งกลับบ้านแล้วก็กลับมาที่ทำงานใหม่ตอนเที่ยงคืนถ้าทีมคุณยังทำงานไม่เสร็จช่วงปิดงบ ที่โต๊ะทำงานของผมจะมีแปรงสีฟัน เสื้อเชิ๊ตและกางเกงใหม่และถุงเท้าที่ซื้อทิ้งเอาไว้ 3 ชุด  หนังสือเดินทางเก็บไว้ที่ทำงานพร้อมที่จะเดินทางเสมอ ทุกๆ3-4เดือนก็ต้องไปสำนักงานใหญ่ที่ NYC เวลาจะออกไปหาลูกค้าชั้นดีหมายถึงมหาเศรษฐี เราต้องใส่เสื้อใหม่รีดให้ดูดีเพราะเราคือหน้าตาของธนาคาร เจ้านายจะไม่อนุญาตให้ใส่เสื้อยับมาแล้วทั้งวันไปหาลูกค้า ผมทำที่นี่ได้4ปีก็ถูกส่งไป NYC สำนักงานใหญ่2ปี แล้วลาออกกลับมาที่London คนอาชีพนี้จะรู้จักกันเกือบหมด ย้ายงานกันเป็นเรื่องปกติเพราะมีการแนะนำกัน เราทำงานเหมือนคนขายตัว ใครให้เงินดีกว่าเราพร้อมจะย้าย จนในที่สุดผมได้มาอยู่ที่เป็น hedge funds (asset management) ของบริษัทอเมริกันใน London  ตอนสัมภาษณ์งานเป็น business lunch ที่ร้านอาหาร 3คนของเขาต่อ1 คนที่เป็นผมเอง ผมต้องสัมภาษณ์เขาเพราะเขาอยากได้เรามากกว่าเราอยากได้เขา ผมคุยเรื่องสวัสดิการ เงินเดือน โบนัส วันหยุดประจำปีที่ขอไป 40วันต่อปี และผมมีทนายช่วยดูสัญญาให้ เพียงแค่เราตอบรับก็จะได้งานทันที ต่างกับตอนเข้ามาทำงานตอนที่เพิ่งเรียนจบ อันนั้นเป็น job interview แต่คราวนี้ผมเป็นคน interview เขา

Hedge funds ต่างกับ งานIB บ้างเล็กหน่อยตรงที่มีอิสระในการทำงานหรือทำกำไรให้กับบริษัทได้ทุกอย่าง นอกจากลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว เรายังสามารถซื้องานศิลปะหรือที่ดินเพื่อทำกำไรได้ด้วย หรือเปิดบริษัททำธุกิจ แต่เราไม่สามารถหาลูกค้าได้หรือทำการตลาดได้เพราะ hedge funds นั้นมีความเสี่ยงสูงในการทำธุรกิจ เพราะเรามีอิสระในการลงทุนได้ทุกอย่าง บางIBก็จะมีhedge fundsเป็นของตัวเอง มันก็เลยมีความเสี่ยงสูงตามมาด้วย กมยังเลยบังคับให้เราทำการตลาดไม่ได้ ส่วนมากถ้าเรามีชื่อเสียงลูกค้าจะมาหาเราเอง ลูกค้าทั้งหมดจะเป็น sophisticated clients หรือมหาเศรษฐี ตอนเช้าผมจะออกไปดูการประมูลสินค้าภาพวาดต่างๆที่ตลาดประมูล Christie’s แถว Bond Street ไปกับผู้เชี่ยวชาญสอนวิธีการดูว่าอันไหนของจริงตรงกับป้ายที่ประมูลหรือไม่ ตอนบ่ายกลับไปประชุมกับลูกทีมว่าจะลงทุนหุ้นตัวไหนใน NYSE พร้อมก่อนที่ตลาดอเมริกาจะเปิด ยอมรับว่าทุกคนทำงานหนักและหัวกระทิเพราะถ้าใครล้าหลังหรือขี้เกียจมีสิทธิ์ถูกบีบให้ออกจากงาน คนในอาชีพนี้ก็จะเป็นคนหน้าเดิมๆจากมัธยมหรือมหาลัย คนอังกฤษที่มีฐานะก็จะให้ลูกหลานทำงานเป็น IB หรือทนายความตามบริษัทใหญ่ๆหรือเป็นนักการเมือง เหมือนกับไทยที่ว่าถ้าเรียนเก่งมาจากครอบครัวดีๆก็จะให้เป็นหมอ กัปตันเครื่องบิน วิศวะ หรือทำงานตามกระทรวงการต่างประเทศ การคลังหรือพาณิชน์ ขึ้นอยู่กับค่านิยมของแต่ละประเทศ

ด้านมืดของอาชีพนี้ก็มีนอกจากทำงานหนัก คือ ติดเหล้าและยาเพราะต้องพาลูกค้าไปสังสรรค์ตลอดเวลา พาครั้งก็เลยเถิดพากันไปถึงบาร์เปลื้องผ้า มีบัตรเครดิตของบริษัทเป็นคนออกให้ทั้งหมด ทั้งหมดทำเพื่อให้ลูกค้าพอใจและจะได้ทำธุกิจกับเรา ไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว ในบางครั้งเวลาคุณนอนหลับ คุณอาจจะตกใจตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วทำงานต่อเพราะต้องแข่งกับเวลาและเพื่อโบนัส บางวันเสาร์อาจจะต้องเข้าที่ทำงานเพื่อสะสางงานที่ค้างเพราะวันจันทร์คุณจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ

50%ของคนในอาชีพนี้จะไม่ได้อยู่ในสายนี้ไปจนตาย แต่จะเข้ามากอบโกยหาความรู้ประสบการณ์และเส้นสาย connections ตลอดจนถึงรายได้ เงินเดือนคือน้ำจิ้ม ของจริงคือโบนัส พวกที่เป็น VP ขึ้นไปมีสิทธิ์จะได้โบนัสถึง3ล้านปอนด์ต่อปี

สังคมของคนอาชีพนี้คือเงินต่อเงิน คือเขาจะคบกันเองที่มาจากครอบครัวคล้ายๆกัน ผมมองแล้วก็มีในทุกสังคมในทุกประเทศจริงๆ  ตอนนี้ผมลาออกมาแล้วหลังจากทำอยู่เกือบ12ปี เพราะเริ่มเบื่อและอยากทำอะไรอย่างอื่นบ้างเพื่อความสุขของตัวเอง ถ้าคุณอยากจะเข้าทำงานในสายนี้ในเมืองไทยก็มี บริษัทภัทระ หรือธนาคารต่างชาติในเมืองไทย ได้ยินว่าภัทระเป็นIBที่ดีที่สุดของไทยแต่เข้ายาก สำหรับการศึกษาก็อย่างที่ผมบอกข้างต้น ถ้าคุณชอบเรื่องการลงทุนแบบที่ท้าทาย เพราะทุกวันจะมีปัญหาให้แก้ไม่ซ้ำกันแต่ละวันและจะได้สังคมด้วย สุดท้ายไม่ว่าคุณจะเรียนที่เมืองไทยหรือไม่ใช่แต่ถ้าคุณเรียนมาตามสายธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ บัญชีหรือใกล้เคียง แม้แต่จบตรีวิศวะ คุณสามารถต่อโทเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสมัครงานเป็นIB ได้เสมอครับ ผมมีเพื่อนจบวิศวะเคมีแล้วมาเป็นIBกันไม่น้อย ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่