[เข้าใจ LTF/ RMF ก่อนลงทุน]: ก่อนจะใช้ลดหย่อนภาษี ต้องรู้อะไรบ้าง

สวัสดีครับเพื่อน ๆ ช่วงนี้ก็เป็นช่วงปลายปีกันละ ส่วนใหญ่ก็น่าจะกำลังโฟกัส เร่งรีบซื้อ LTF/RMF  กันอยู่แน่ๆ เลย อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเลย เรามาทบทวนกันดูสักหน่อยครับว่า อะไรที่เป็นสิ่งสำคัญของกองทุน LTF/RMF ที่เราควรรู้  เพราะสิ่งนี้แหละ ที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเรา ทั้งนี้ สิ่งที่เราควรรู้ ก่อนซื้อสามารถสรุปได้ย่อๆ คือ

1.    LTF/RMF ให้ประโยชน์ทางภาษี หรือ ใช้ลดหย่อนภาษีได้
2.    ใช้ตอบโจทย์เป้าหมายการเงินระยะยาว อีกทั้งยังช่วยต่อยอดเงินลงทุนให้งอกเงยมากขึ้น
3.    มีเงื่อนไขเฉพาะที่เพื่อนๆ ต้องปฎิบัติตามอยู่

เชื่อเลยครับว่าเพื่อนๆ ส่วนใหญ่อาจจะทราบกันดีอยู่แล้วสำหรับ ข้อ 1 และ ข้อ 2 แต่สิ่งที่น่าจะทำให้เราปวดหัวกันอยู่บ้าง ก็น่าจะเป็น ข้อ 3 หรือ “เงื่อนไข” นี่แหละที่ยากต่อการเข้าใจ ดังนั้น ในวันนี้ K-Expert จะมาช่วยอธิบายเงื่อนไขในแบบง่ายๆ กันนะครับ


อมยิ้ม01อมยิ้ม01อมยิ้ม01อมยิ้ม01อมยิ้ม01


เงื่อนไขของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF)

1. ซื้ออย่างไร: สำหรับเงินลงทุนใน LTF นั้น จะไม่มีการกำหนดขั้นต่ำครับ แต่อย่าเผลอซื้อเกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 5 แสนบาทด้วยครับ โดยถ้าเพื่อนๆ ซื้อ LTF ปีไหน ก็จะใช้ลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆ ได้นะครับ สมมตินะครับสมมติ ถ้ามีรายได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน 1 ล้านบาท เราจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ 150,000 บาท เท่านั้น (15% x 1,000,000) ครับ

2. การถือ LTF: ในเรื่องของระยะเวลาการลงทุน LTF นั้น เราจะต้อง “ถือ” ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน (หรือขั้นต่ำ 5 ปีเต็มเท่านั้นเอง) คิดแบบง่ายๆ ถ้าเราซื้อภายในปี 61 จะถือจนครบเงื่อนไขก็ต่อเมื่อ ถือจนครบถึงปี 67 นั่นเอง หรือ หากเพื่อนๆ อยากให้เงินเติบโตไปเรื่อยๆ ก็แนะนำให้ถือลงทุนไปยาวๆ เลยครับ

3. การขาย LTF : สำหรับก้อน LTF ที่ถือครบกำหนดแล้ว เราสามารถขายออกมาได้เลยครับ แต่หากกรณีที่เพื่อนๆ ถือมาหลายๆ ก้อน ก่อนหน้านี้ ตามหลักเลย เราจะขายก้อนที่ซื้อมาก่อนก้อนแรกๆ หรือที่ตามภาษาการเงินทางการเรียกว่า “เข้าก่อน ออกก่อน (FIFO)” นั่นเอง ดังนั้น ก่อนที่เราจะขาย แนะนำให้เช็กดูดีๆ ก่อนครับ เพราะว่าอาจจะพลาดพลั้งขายก้อนที่ยังไม่ครบเงื่อนไขไปก่อนก็เป็นได้ แนะนำให้เพื่อนๆ จดไว้เป็นรายปีเลยครับ ว่าปีไหนซื้ออะไร กับที่ไหน ครบกำหนดหรือยัง จะครบเมื่อไหร่ แนะนำว่าอย่าจดรวมยอดนะครับ เพื่อกันการสับสน


เงื่อนไขของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF)

1. ซื้ออย่างไร: อันนี้คล้ายกับ LTF เลยครับ โดยหากเพื่อนๆ ซื้อกอง RMF ปีไหนก็จะใช้ลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆ ทั้งนี้ เงื่อนไขการ “ซื้อ” กองประเภทนี้จะซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้นนิดหน่อย โดยเพื่อนๆ ต้องเช็กว่า
        a. ต้องซื้อ RMF ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี หรือ ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท
        b. ห้ามซื้อเกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี
        c. ที่สำคัญ  !!! เมื่อรวมกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. เบี้ยประกันบำนาญ และกองทุนการออมแห่งชาติ แล้วต้องไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท

โดยวิธีการคำนวณง่ายๆ นั่นก็คือ ถ้าเพื่อนๆ มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน 1 ล้านบาท จะสามารถซื้อกองทุน ได้ไม่เกิน 150,000 บาทเท่านั้น (15% x 1,000,000 บาท) ซึ่งเมื่อรวมกับยอดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. เบี้ยประกันบำนาญ และ กองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ต่อปีด้วยนะครับ

2. ระหว่างทางของการถือ RMF : กองทุนประเภทนี้เกิดมาเพื่อให้เราถือยาวๆ เพิ่มโอกาสให้เงินงอกเงย และ สะสมเงินเพิ่มไปเรื่อยๆ  เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณอย่างแฮปปี้นั่นเอง โดยเงื่อนไขการถือมีอยู่ว่า เมื่อเริ่มซื้อแล้ว เพื่อนๆ จะต้อง ”ลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี ไปจนถึงอายุ 55 ปี” และ จะต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน    

3. การขาย RMF: อย่างไรก็ตาม เมื่อเราถือกองทุน RMF จนเข้าสู่วัย “ใกล้เกษียณแล้ว” การถือ RMF ของเราก็จะสามารถเก็บเกี่ยวมาได้แล้ว โดยเราจะขาย RMF ได้เมื่อเราอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์  ย้ำนะครับว่า “บริบูรณ์” และ ที่สำคัญอีกข้อก็คือ !!!! จะต้องถือกองทุน RMF ไม่ต่ำกว่า 5 ปีเต็มนับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรกนะครับ  ซึ่งหลักการจำนั้นก็ง่ายแสนง่ายครับ ให้เพื่อนๆ จำว่า หลักการ “555“ นั่นเอง  


**** เป็นอย่างไรบ้างครับเพื่อนๆ สำหรับเงื่อนไขการลงทุน LTF/RMF ทาง K-Expert หวังว่า จะช่วยให้เพื่อนๆ นำไปใช้ในการลงทุนได้อย่างถูกต้องนะครับ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงทุน LTF/RMF เพื่อนๆ อาจจะต้องศึกษาลงรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปนะครับ เพื่อให้ถูกเงื่อนไข และ ได้กองทุนที่เหมาะสมตามสไตล์ของแต่ละคน นะครับ ****

ปล. หากเพื่อน ๆ สนใจเพิ่มเติมสามารถหาความรู้เพิ่มได้ในนี้เลย
VVVVVV
VVVVV
VVV
VV
V
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่