ทางหลวง 100 - มอเตอร์เวย์ 120 ทล.ชงตำรวจ แก้ก.ม.คุมความเร็ว ผลวิจัยเคาะตัวเลขนี้'ปลอดภัย'

ทางหลวง 100 - มอเตอร์เวย์ 120 ทล.ชงตำรวจ แก้ก.ม.คุมความเร็ว ผลวิจัยเคาะตัวเลขนี้'ปลอดภัย'

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
          นายสุจิณ มั่งนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย  กรมทางหลวง(ทล.)  เปิดเผยว่า  ทล.ได้นำเสนอข้อมูลความเร็วที่เหมาะสมบนทางหลวงและทางพิเศษหรือมอเตอร์เวย์รวมทั้งดอนเมืองโทลล์เวย์ เสนอ พล.ต.ต.เอกรักษ์  ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่มีหนังสือสอบถามความเห็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายควบคุมความเร็ว ที่กำหนดไว้ในเขตเมืองไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. ส่วนนอกเขตเมืองไม่เกิน 90 กม.ต่อชม.
          โดยทล.เห็นว่าความเร็วทั่วไปที่เหมาะสมกับทางหลวงและดอนเมืองโทลล์เวย์คือ 100 กม.ต่อชม. ส่วนมอเตอร์เวย์ 120 กม.ต่อชม.  สำหรับความเร็วเฉพาะจุดเช่น ทางโค้งคือ 45-55 กม.ต่อชม. ขึ้นอยู่กับพิกัดความโค้ง  ส่วนทางหลวงในเขตชุมชนควรกำหนดว่า เขตชุมชนให้ลดความเร็ว จะเหมาะสมกว่ากำหนดตัวเลขความเร็วที่ชัดเจน เพราะรถส่วนใหญ่ใช้ความเร็วที่ 60-70 กม.ต่อชม.อยู่แล้ว หากกำหนดตัวเลขที่แตกต่างจากตัวเลขที่รถส่วนใหญ่ใช้มากจะยิ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุ
          นายสุจิณ กล่าวต่อว่า นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์  อธิบดีทล.ได้มอบหมายสำนักอำนวยความปลอดภัยพิจารณาเรื่องดังกล่าวเนื่องจากทล.มีโครงข่ายทางหลวงในความรับผิดชอบทั่วประเทศประมาณ 70,595 กม. จึงได้ศึกษาการกำหนดอัตราความเร็วบนทางหลวงและทางพิเศษ และจัดทำรายงานนำเสนอ ซึ่งกรณีของทางหลวงทั่วไปการกำหนดความเร็วจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยคือ  1.ความเร็วออกแบบ ที่ผู้ออกแบบใช้ในการออกแบบและจัดการด้านความปลอดภัยที่เพียงพอเป็นตัวกำหนดรูปแบบทางเรขาคณิตของถนน เช่น การกำหนดรัศมีทางโค้ง  การยกโค้ง การกันระยะมองเห็นที่ปลอดภัยบริเวณทางแยกการควบคุมการเข้า-ออกของทางเชื่อมทางหลวง โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 90-110 กม.ต่อชม. ขึ้นกับความกว้างของเขตทางหลวง ส่วนมอเตอร์เวย์จะอยู่ที่ 130-140 กม.ต่อชม.
          2. ความปลอดภัยจากอันตรายข้างทาง (Roadside Hazards) ต้องอยู่ห่างในระยะที่ปลอดภัยหากรถเกิดเสียหลักตกข้างทาง หรืออาจต้องติดตั้งราวป้องกันการชนไว้ในกรณีที่มีวัตถุหรือหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ตกในพื้นที่ดังกล่าว เช่น กรณีมีต้นไม้ใหญ่ห่างจากขอบผิวจราจร 4.50 เมตร หากไม่มีราวป้องกันการชนควรจำกัดความเร็วที่ 50 กม.ต่อชม. และ 3.ลักษณะการใช้พื้นที่สองข้างทาง เช่น บริเวณย่านชุมชน ตลาด โรงเรียน สถานพยาบาล ความเร็วควรอยู่ระหว่าง 40-50 กม.ต่อชม. แต่มีผลการศึกษาว่า อัตราความเร็วบนถนนควรกำหนดไว้ที่อัตราความเร็วที่รถส่วนใหญ่ใช้ ซึ่งหมายถึงอัตราความเร็วที่รถร้อยละ 85 ใช้ความเร็วไม่เกินความเร็วนี้ หรือเรียกว่าความเร็วที่ 85 เปอร์เซ็นไทล์ ไม่ควรแตกต่างเกิน 20 กม.ต่อชม.เพราะความเร็วที่แตกต่างจากความเร็วของรถส่วนใหญ่ยิ่งมากจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการเฉี่ยวชน (Crash Risk) เพิ่มขึ้นตามลำดับ  จึงไม่แนะนำให้นำป้ายจำกัดความเร็วมาใช้โดยตรงควรใช้มาตรการทางวิศวกรรมมาเป็นเครื่องมือควบคุมความเร็ว เช่น การลดความกว้างช่องจราจร
          นอกจากนี้ผลการศึกษาความเร็วบนถนนของกรมทางหลวง ความเร็วรถส่วนใหญ่ที่วิ่งอยู่บนทางหลวงจะอยู่ที่ 88-97 กม.ต่อชม. และความเร็วรถส่วนใหญ่ที่วิ่งอยู่บนมอเตอร์เวย์จะอยู่ที่ 98-117 กม.ต่อชม. ดังนั้น ความเร็วที่เหมาะสมบนทางหลวงทั่วไปคือ 100 กม.ต่อชม. มอเตอร์เวย์ 120 กม.ต่อชม. ส่วนกรณีเป็นทางยกระดับ ขึ้นกับมาตรฐานของราวกำแพงของทางยกระดับ จะออกแบบไว้ตามมาตรฐานระดับการชนที่  TL-3 ตามมาตรฐานสหรัฐอเมริการถจะไม่พลิกข้ามกำแพง คือ 100 กม.ต่อชม. ดังนั้นกรณีเป็นทางยกระดับเชื่อมดอนเมืองโทลล์เวย์หรือสะพานบก  ความเร็วที่ควบคุมควรไม่เกิน 100 กม.ต่อชม.
          นายสุจิณ กล่าวด้วยว่า สำหรับการกำหนดความเร็วของทางพิเศษ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จากการศึกษาพบว่า มีรูปแบบของทางเป็น 2 ลักษณะคือ เป็นทางระดับพื้นราบ และทางยกระดับ กรณีทางยกระดับข้อจำกัดของการใช้ความเร็วจะขึ้นกับมาตรฐานของราวกำแพงของทางยกระดับ ที่ออกแบบไว้ตามมาตรฐานระดับการชนที่ TL-3 ตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ในการทดสอบว่าปลอดภัยในการชนราวกำแพงของทางยกระดับและรถจะไม่พลิกข้ามกำแพงคือ 100 กม.ต่อชม. ดังนั้นทางพิเศษยกระดับจึงควรกำหนดความเร็วไม่เกิน 100 กม.ต่อชม. ส่วนในทางราบเนื่องจากเขตทางของทางพิเศษจะไม่กว้าง  และระยะปลอดภัยข้างทางแคบกว่ามอเตอร์เวย์ ความเร็วในทางระดับพื้นราบจึงไม่ควรเกิน 110 กม.ต่อชม.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่