จับตาการมาเทคโนฯ 5จี ในไทย 'ผลดี-ผลเสีย' ต้องพร้อมรับมือ


จับตาการมาเทคโนฯ 5จี ในไทย 'ผลดี-ผลเสีย' ต้องพร้อมรับมือ

          เทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนา อีกไม่นานการมาของเทคโนโลยี5 จี จะมาถึงเมืองไทย โดย 5 จี สามารถให้ความเร็วในการส่งข้อมูลที่สูงขึ้นเวลาที่ใช้ ในการตอบสนองที่ต่ำลงเท่านั้น แต่ 5 จี จะสร้างผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นอาจจะทำคนตกงาน กระทบกลุ่มผลิต-การเงิน-การแพทย์ ได้ในอนาคตหากไม่มีการวางแผนรับมือให้ดี

          ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการดำเนินงานแก่คณะผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมเชิญผู้ประกอบการมือถือ 3 ค่ายได้แก่เอไอเอส ดีแทค และทรู ร่วมรับฟังทิศทางนโยบายที่รัฐบาลต้องการเร่งรัดและบางส่วนต้องขอความร่วมมือกับเอกชนโดยเฉพาะโครงการสำคัญที่เป็นพื้นฐานด้านดิจิทัล ต้องการให้กระทรวงดีอีและหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทกสท ทีโอที และไปรษณีย์ไทย เร่งดำเนินการคือการผลักดันไทยเป็นฮับดิจิทัลในภูมิภาค ดึงไปรษณีย์ไทยเข้ามาร่วมในยุทธศาสตร์ พร้อมวางเป้าหมายพัฒนาระบบ 5จี ในปี 2563

          พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า นโยบาย 5 จีจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้และสำเร็จนั้น กสทช.ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศโดยภาครัฐได้ประโยชน์จากเงินประมูลประชาชนต้องได้รับบริการที่ดี และผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีกำไร เพื่อให้มีเงินนำมาพัฒนาธุรกิจต่อยอดการให้บริการดังนั้น กสทช.ต้องทบทวนการกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลบริการ5 จี หากราคาแพงเกินไปจะไม่มีเอกชนมาประมูลและไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชนก็ไม่ได้ใช้บริการฉะนั้น กสทช.ต้องเร่งศึกษาประเมินราคาคลื่น 5 จีโดยเร็ว เพื่อให้เปิดบริการได้ปี 64

          โดยขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดที่ให้บริการ 5 จี มีแต่อยู่ในขั้นทดลอง ผู้ผลิตอุปกรณ์รายใหญ่ของโลกเริ่มทดลองเช่นกัน ฉะนั้นหากไทยจะทดลองอุปกรณ์ หรือจะทดสอบ 5 จี ต้องไม่ยึดติดค่ายใดค่ายหนึ่ง เพื่อให้เกิดความหลากหลาย รวมถึงการใช้คลื่นความถี่ก็ควรใช้คลื่นเดียวกันทั่วโลก เพื่อให้ต้นทุนค่าอุปกรณ์ถูกลงหากไทยใช้คลื่นที่ทั่วโลกไม่ใช้ การผลิตอุปกรณ์ก็ต้องผลิตให้ไทยรายเดียว ราคาก็จะแพง ต้นทุนการให้บริการก็ต้องสูง.

          ส่วนมุมมองของอดีตรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์มะลิสุวรรณ กล่าวว่า เทคโนโลยี 5จี จะเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างชัดเจน เช่นโรงงานผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมจะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วภายใน 5 ปีจากนี้ทำให้กลายเป็นโรงงานอัตโนมัติ ด้วยการที่5จี จะไปควบคุมหุ่นยนต์ และเซนเซอร์ในโรงงาน และจะเกิดขึ้นในทุกๆ อุตสาหกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้แรงงานที่เราผลิตออกมาทำงานในรูปแบบดั้งเดิม ไม่สามารถทำงานในตำแหน่ง งานรูปแบบใหม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องเร่งให้มีการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานอย่างมาก

          อย่างไรก็ตามการสร้างระบบ 5จีจำเป็นจะต้องลงทุนในการสร้างสถานีฐานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนับ100 เท่าจากที่มีอยู่ใน 4จี เดิม จึงเป็นไปไม่ได้ที่5จี จะเกิดขึ้นได้ด้วยราคาประมูลของคลื่นความถี่ที่สูงมากที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยิ่งกว่านั้นระบบ 5จี ควรจะเกิดขึ้นในย่านนิคมอุตสาหกรรมและในเมืองใหญ่ๆก่อนเป็นลำดับแรกจึงจะคุ้มค่าในการสร้างและลงทุนเช่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกาหลีใต้ เป็นประเทศแรกของโลกที่มีการประมูล คลื่นความถี่ 5จี ในเชิงพาณิชย์แล้ว

          ทั้งนี้คาดว่าจะมีการเปิดตัว 5จีในช่วง 3 ปีข้างหน้าในอเมริกาเหนือและในตลาดหลักทั่วทวีปเอเชียและยุโรปซึ่งประเทศจีน,สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะเป็นประเทศผู้นำในการเชื่อมต่อ 5จี ภายในปี 2568 ในขณะที่ในทวีปยุโรปโดยรวมจะยังคงมีการใช้งาน 5จี เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีจำนวนการเชื่อมต่อประมาณ 70% ของการเชื่อมต่อ 5จีทั่วโลก ประมาณ 1.2 พันล้านเลขหมายหรือจากยอดรวมกว่า 6 พันล้านราย

          ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ในฐานะคณะทำงานเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G กล่าวว่า การประชุม International Work shop on the Fifth Generation Mo bile Communications Systems(5G)2018 เป็นการรายงานความคืบหน้าในการเตรียมการพัฒนา 5 G และการทดสอบภาคสนาม รวมถึงการนำเสนอผลการประยุกต์ใช้งานที่เกี่ยวข้องก่อนการเปิดตัวเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น ส่วนตัวมองว่าการเตรียมการที่สำคัญคือการทำให้ประชาชนเข้าใจว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการมาของ 5G เพราะ 5G ไม่เหมือนกับ 4G ที่มีความเร็วในการสื่อสารมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้คือแอพพลิเคชั่นหรือบริการใหม่คลื่นความถี่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศมีเหมือนกันต่างกันตรงการนำไปใช้จะมีบริการแบบไหนจึงจะเหมาะกับประเทศไทยและประชาชนได้รับประโยชน์
          สำหรับการพัฒนา 5G ในประเทศไทยเป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) และ กสทช.การเตรียมการในช่วงนี้คือการต้องได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยจะใช้ความถี่ย่านใดให้บริการ 5G จะต้องมีการจัดสรรหรือการประมูลคลื่นความถี่อย่างไรเพื่อให้ผู้ให้บริการให้บริการได้การทำให้เอกชนมีคลื่นความถี่ในมือเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมามีการประมูลคลื่นด้วยเม็ดเงินมหาศาล และมีภาระทางการเงิน หากตั้งเป้าให้ประเทศไทยเข้าสู่ 5G ในปี 2563 ต้องพิจารณาจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลทั้งประโยชน์ที่รัฐบาลจะได้จากการประมูลคลื่นขณะที่ผู้ประกอบการยังสามารถลงทุนต่อไปได้ และผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมากเกินไป

          อย่างไรก็ตามต้องศึกษาดูว่าคลื่นไหนจะเหมาะสม ราคาเท่าไหร่ คลื่นอะไรประมูลเมื่อไหร่ ประเทศอิตาลีประมูลคลื่นสำหรับ 5G ในปีที่ผ่านมา โดยนำคลื่นย่านต่ำกับย่านสูงมาจับคู่ประมูลประเทศไทยจะทำแบบไหน ต้องคิดต่อไปด้วยว่าก่อนการให้บริการต้องมีการทดลองใช้บริการ 5G มีแอพพลิเคชั่นที่หลากหลายกว่า 4G จึงต้องมีการทดลองให้คุ้มค่า การปรับแนวทางในการจัดสรรคลื่นที่เหมาะสมจะสามารถทำได้เมื่อสหภาพโทรคมนาคม (ไอทียู) ได้ข้อสรุปว่าจะใช้คลื่นย่านใดให้บริการ 5G การกำหนดแนวทางพัฒนา 5G กสทช.จะประสานกับกระทรวงดีอี เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะนำคลื่นย่านไหนมาทดสอบ ผู้ผลิตอุปกรณ์รายใดจะเข้ามามีส่วนร่วมทดสอบบ้าง การทดสองมีต้นทุนอุปกรณ์เท่าไหร่ผู้กำกับดูแลจะสนับสนุนอย่างไรการทดสอบไม่จำเป็นต้องทดสอบในที่เดียวแต่สามารถทดสอบไปด้วยกันทั้งกสทช.และดีอี คลื่นที่ควรนำมาทดสอบต้องเป็นคลื่นแบนด์วิธสูง ซึ่งการลงทุนก็สูงตาม

          "ความร่วมมือนี้เป็นการสร้างกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแนวทางในการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นครอบคลุมการแลกเปลี่ยนรูปแบบการประยุกต์ใช้งานรูปแบบใหม่ การวิจัยและพัฒนา รวมถึงประสบการณ์ในการทดสอบภาคสนามเพื่อวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคก่อนการลงโครงข่ายเชิงพาณิชย์ซึ่งจะสามารถนำมาพิจารณาปรับใช้กับประเทศไทยได้ การที่รัฐบาลมีเป้าหมายให้ประเทศใช้เทคโนโลยี 5G ในปี 2563
          ทำให้เราต้องเร่งในการเตรียมการเพราะเหลือเวลาไม่มาก ประเด็นที่ต้องเร่งให้ได้ข้อสรุปคือการเลือกย่านความถี่ที่เหมาะสมในการนำมาใช้ นอกจากการเลือกคลื่นความถี่แล้วยังต้องคำนึงถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ด้วยว่าจะมีอุปกรณ์หรือแอพพลิเคชั่นเพียงพอที่จะมารองรับหรือไม่รูปแบบอย่างไรที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนไทย"

          เสน่ห์ สายวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและเทคโนโลยี กสทช. กล่าวว่า ประเทศ ไทยได้เตรียมการที่จะทดสอบการนำ 5G โดยจะทดสอบ 3 ส่วนคือการนำ 5G มาใช้ใช้จะเกิดปัญหาอุปหรืออุปสรรคกับบริการหรือผู้ให้บริการเดิมที่มีอยู่หรือไม่ การให้บริการจะเกิดการรบกวนคลื่นความถี่หรือไม่ และศึกษาว่าบริการประเภทใดจะเหมาะกับประเทศไทย

          ส่วนคลื่นความถี่ที่ กสทช. คาดว่าจะนำมาทดลองคือ คลื่นย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ 4800-4900 เมกะเฮิรตซ์คลื่นมืลิมิตเตอร์เวฟ หรือคลื่นความถี่สูงมาก ย่าน 24.25 -29.5 กิกะเฮิรตซ์ เบื้องต้นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายเสนอขอใช้คลื่นย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อการทดสอบจำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์และคลื่นย่าน 24 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 800 เมกะเฮิรตซ์ ถึง 1 กิกะเฮิรตซ์  กสทช.คาดว่าทำการทดสอบให้บริการได้ในปี 2562

          ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เมื่อเดือนกันยายน2561 มีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี 5G จะให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2020 หรือปี 2563 การเกิดขึ้นของ 5G จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่งด้วยอินเตอร์เน็ต และการมาของปัญญาประดิษฐ์ซึ่งจะมีผลกระทบให้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่เข้ามาแทนที่การทำงานโดยมนุษย์ และอาจส่งผลกระทบให้มีกลุ่มอาชีพที่ตกงาน เรื่องนี้ถือเป็นข้อห่วงใยของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) เพราะหากเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ต้องมีผลกระทบให้กลุ่มบุคคลที่ต้องประสบกับปัญหาการตกงานจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องหาทางรับมือ

          โดยเมื่อ 5G เข้ามาในเมืองไทยจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตใน 3 กลุ่มประกอบด้วย 1.ภาคการผลิตที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมจะลดการใช้แรงงานในส่วนของภาคการผลิตลงร้อยละ 30-40 2.ภาคการเงินการธนาคาร โดยธนาคารจะต้องมีการทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง3.ภาคการแพทย์ สาธารณสุขที่ต้องปิดตัวลงเช่นกัน ทั้งนี้ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน ภาคส่วนที่สำคัญในการผลักดันให้เกิด 5G ได้ คือ รัฐบาลไม่ใช่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่(โอเปอเรเตอร์)เพราะโอเปอเรเตอร์ต้องใช้เงินลงทุนสูงซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพ และ 5G จะเข้ามาสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

          สำหรับคณะทำงานของ กสทช.ได้เตรียมแผนที่จะทำการทดลองใช้งานเทคโนโลยีระบบ 5 จี ในปี 2562 คลื่นความถี่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดที่ กสทช.จะนำมาทดสอบระบบ 5 จี คือ คลื่นความถี่ระบบ C-Band ในช่วงย่านความถี่3500 เมกะเฮิรตซ์ที่จำนวนความจุ(แบนด์วิดท์)100 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่24000 เมกะเฮิรตซ์ ที่จำนวนความจุ1000 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่การประมูลคาดว่าจะจัดในปี 2564

          ก่อกิจ ด่านชัยวิจิต รองเลขาธิการกสทช.กล่าวว่า กสทช.จะร่วมขับเคลื่อนการเข้าสู่ 5G โดยการสนับสนุนคลื่นความถี่ให้มีราคาเริ่มต้นที่ถูกลง และเปิดประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่ำ ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนี เกาหลี อิตาลีที่เปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ที่มีราคาถูกลง ขณะที่ทั่วโลกใช้วิธีเดียวกัน คือประเมินราคาจากทั่วโลก ในการประมูลคลื่นความถี่ โดยรูปแบบการประมูลจะเอาหลายคลื่นมาประมูลพร้อมกันโดยกสทช.ยังมีเวลาคิดอีก 2 ปี

          โดยการส่งเสริมและพัฒนา 5G กสทช.จะไม่ออกกฎเยอะ ไม่แทรกแซงมาก จะดูแลเท่าที่จำเป็น โดยปี 2562 ประเทศไทยจะเริ่มนำคลื่นความถี่ที่คาดว่าจะนำมาใช้กับ 5Gกลับมาจัดสรรใหม่จากนั้นจะนำไปทดสอบในสนามทดสอบให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2562 โดย กสทช.จะทดสอบการนำคลื่นความถี่มาใช้กับ 5G แล้วมีการรบกวนสัญญาณหรือไม่ และมีแอพพลิเคชั่นอะไรบ้างที่จะนำไปใช้งานในแต่ละอุตสาหกรรม สำหรับศูนย์ทดสอบ 5G สำนักงานเสนอให้ปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตรที่สำนักงานใหญ่พหลโยธินซอย 8 ทำโครงการ NBTC FIRST โดยขณะนี้ผู้ผลิตอุปกรณ์ยินดีที่จะนำอุปกรณ์เข้ามาทดสอบ โดยจะนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ และ 28 กิกะเฮิรตซ์มาทดสอบ




มีต่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่