" ปฏิปทา สบาย แก่ การ บรรลุ นิพพาน "

ปฏิปทาสบายแก่การบรรลุนิพพาน นัยที่ 1

ภิกษุทั้งหลาย !
เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน แก่พวกเธอ
พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.

ภิกษุทั้งหลาย !
ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
ย่อมเห็นซึ่ง จักษุ ว่า ไม่เที่ยง ;
ย่อมเห็นซึ่ง รูปทั้งหลาย ว่า ไม่เที่ยง ;
ย่อมเห็นซึ่ง จักขุวิญญาณ ว่า ไม่เที่ยง ;
ย่อมเห็นซึ่ง จักขุสัมผัส ว่า ไม่เที่ยง ;
ย่อมเห็นซึ่ง เวทนา อันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข (ไม่ทุกข์ไม่สุข)
ที่เกิดขึ้นเพราะ จักขุสัมผัส เป็นปัจจัย ว่า ไม่เที่ยง.

( ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมนะ
ก็ได้ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกัน ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น
รวมการเห็นว่าไม่เที่ยงทั้งหมด 30 แง่มุม คือ 5 กรณี ต่อ 1 อายตนะ )

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.

(- สฬา.สํ. 18/167/232)





ปฏิปทาสบายแก่การบรรลุนิพพาน นัยที่ 2

ภิกษุทั้งหลาย !
เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน แก่พวกเธอ
พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว

ภิกษุทั้งหลาย !
ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
ย่อมเห็นซึ่ง จักษุ ว่า เป็นทุกข์ ;
ย่อมเห็นซึ่ง รูปทั้งหลาย ว่า เป็นทุกข์ ;
ย่อมเห็นซึ่ง จักขุวิญญาณ ว่า เป็นทุกข์ ;
ย่อมเห็นซึ่ง จักขุสัมผัส ว่า เป็นทุกข์ ;
ย่อมเห็นซึ่ง เวทนาอันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข (ไม่ทุกข์ไม่สุข)
ที่เกิดขึ้นเพราะ จักขุสัมผัส เป็นปัจจัย ว่า เป็นทุกข์.

(ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมนะ
ก็ได้ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกันทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น
รวมเห็นว่าเป็นทุกข์ทั้งหมด 30 แง่มุม คือ 5 กรณีต่อ 1 อายตนะ)

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.

(-สฬา.สํ. 18 / 168 / 233.)





ปฏิปทาสบายแก่การบรรลุนิพพาน นัยที่ 3

ภิกษุทั้งหลาย !
เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานแก่พวกเธอ
พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.

ภิกษุทั้งหลาย !
ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
ย่อมเห็นซึ่ง จักษุ ว่า เป็นอนัตตา ;
ย่อมเห็นซึ่ง รูปทั้งหลาย ว่า เป็นอนัตตา ;
ย่อมเห็นซึ่ง จักษขุวิญญาณ ว่า เป็นอนัตตา ; ย่อมเห็นซึ่ง จักขุสัมผัส ว่า เป็นอนัตตา ;
ย่อมเห็นซึ่ง เวทนาอันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข (ไม่ทุกข์ไม่สุข)
ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ว่า เป็นอนัตตา.

( ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมนะ
ก็ได้ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกัน ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น
รวมเห็นว่าเป็นอนัตตาทั้งหมด 30 แง่มุม คือ 5 กรณีต่อ 1 อายตนะ )

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.

สฬา.สํ. 18 / 168 / 234.





ปฏิปทาสบายแก่การบรรลุนิพพาน นัยที่ 4

ภิกษุทั้งหลาย !
เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน แก่พวกเธอ
พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.

ภิกษุทั้งหลาย !
ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร

จักษุ เที่ยงหรือ ไม่เที่ยง ?
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”

สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า ?
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”

สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
“นั่นของเรา (เอตํ มม),
นั่นเป็นเรา (เอโสหมสฺมิ),
นั่นเป็นอัตตาของเรา (เอโส เม อตฺตา)” ดังนี้ ?
“ไม่ควรตามเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”

( กรณีแห่งรูป…จักษุวิญญาณ…จักษุสัมผัส… เวทนาจากผัสสะกรณีจักษุ
รวมถึง หมวดโสตะ หมวดฆานะ หมวดชิวหา หมวดกายะ และหมวดมนะ ก็เช่นกันด้วย
รวมสิ่งที่ ไม่ควรเห็นว่า เป็นของเรา เป็นเรา เป็นอัตตาของเรา ทั้งหมด 30 กรณี )

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน จักษุ ;
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน รูป ;
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน จักขุวิญญาณ ;
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน จักขุสัมผัส ;
ย่อมเบื่อหน่ายใน เวทนา อันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข ( ไม่ทุกข์ไม่สุข )
ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ;

( กรณีแห่งอายตนิกธรรมหมวดโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มนะ ก็เช่นเดียวกัน)

เมื่อเบื่อหน่ายย่อม คลายกำหนัด ;
เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ;
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว.

อริยสาวกนั้น ย่อม รู้ชัดว่า
“ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก”.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คือ ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.

(-สฬา.สํ. 18/169/235.)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่