[SR] “คนในนิทาน” ผู้อาจหาญหักด่านซีไรต์



เบื้องหลังนิทานซึ่งทำหน้าที่สร้างความบันเทิงให้แก่คนในสังคมบ่อยครั้งมักมาจากชีวิตจริงของบุคคลที่มีเลือดเนื้อ  เช่นเดียวกับ “คนในทาน” ของ กร ศิริวัฒโณ   เรื่องนี้เป็นนวนิยายย้อนยุคสังคมเกษตรแบบจารีตประเพณี (peasant Society) ที่ผู้เขียนจงใจแตะต้องและตั้งคำถามต่อประเด็นเรื่องเพศอันล่อแหลม

ดำกฤษณาคือแรงขับเคลื่อนของสรรพสัตว์  หากแต่การตอบสนองต่อความปรารถนาดังกล่าวในสังคมมนุษย์มักอยู่ภายใต้กรอบของกฎกติกา  การเบี่ยงเบนจาก “รีตรอย” นำไปสู่การประณามหยามหยันตีตราว่าวิปริตวิตถาร

ปมความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพ่อตากับลูกเขยในเรื่องเล่าขำขันนี้  เบื้องหลังของเรื่องราวขมขื่นของผู้เพลี่ยงพล้ำต่อการสนองตัณหาซ่อนเร้นในหนทางที่สังคมไม่ยอมรับ  ทางออกและการคลี่คลายดำเนินผ่านฉากชีวิตในชนบทที่สอดแทรกเรื่องการทำมาหากิน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกลวิธีในการประสานตำนานและเกร็ดเรื่องเล่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งอย่างแยบยล  นอกเหนือจากคุณค่าเชิงนวนิยายแล้ว “คนในนิทาน” ยังทำหน้าที่เป็นบทบันทึกทางสังคมที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และมนุษยวิทยาอีกส่วนหนึ่งด้วย

(บางส่วนจากคำนิยมที่ประกาศเผยแพร่ โดยรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด)




ข้อความที่ผมตัดมาข้างบนนี้พอจะทำให้ท่านทราบได้คร่าวๆ แล้วว่า นวนิยาย “คนในนิทาน” เรื่องนี้คือนวนิยายแนวไหน  ผมขอบอกก่อนเลยว่า  สำหรับนวนิยายเรื่องนี้คนที่โลกสวยหรือคนที่ยึดติดในศีลธรรมอย่างเหนียวแน่นไม่ควรอ่านเด็ดขาด  เพราะว่าเนื้อหาในบางส่วนบางตอนอาจจะไปขัดกับความรู้สึกนึกคิดของท่านก็เป็นได้

นวนิยายเรื่อง “คนในนิทาน” นี้  นอกจากจะเข้ารอบ 8 เรื่องสุดท้ายในการเข้าชิงรางวัลซีไรต์ในปีนี้แล้ว  นวนิยายเรื่องนี้ยังได้ตำแหน่ง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในประเภทนวนิยาย  ของการประกวดรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2561  ซึ่งน่าจะพอการันตรีได้ว่านวนิยายเรื่องนี้ต้องมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง  ถึงได้คว้ารางวัลมาประเดิมก่อนเพื่อท้าทายเล่มอื่นอีก 7 เรื่อง(ที่เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ประจำปี 2561)ได้อย่างมั่นใจ

อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ซึ่งความน่าสนใจที่ผมพบในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ  “คนในนิทาน” มีความเป็นนวนิยายอย่างสมบูรณ์แบบ คือครบองค์ประกอบที่สำคัญของการเป็นนวนิยายที่ดี เป็นนวนิยายที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่า  คือการเอามุขปาฐะมาขยายให้เป็นงานวรรณกรรม เอานิทานมาทำเป็นนวนิยาย  โดยองค์ประกอบที่ดี 3 ประการคือมีเรื่องราวซึ่งเป็นปมขัดแย้งรุนแรง , มีตัวละครที่บุคคลิกชัดเจน และมีฉากของเรื่องที่น่าสนใจ รวมทั้งมีวิธีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจมาก มีทั้งการ ขยำ , ขยัก , ขย้อน , ขยี้ และ ขยาย  ซึ่งผมจะขออธิบายไล่เรียงย้อนลำดับในท่านทราบดังนี้




เรื่องนี้มีฉากที่น่าสนใจ  

เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมแบบเกษตรกรรมในลุ่มน้ำจืดโดยรอบทะเลสาบสงขลา  โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องราวย้อนยุค  ที่ย้อนกลับไปเล่าเรื่องถึงสภาพสังคมในยุคเก่าสัก 80 ปีที่แล้ว  ในเรื่องบอกว่าเป็นยุคที่มีทหารญี่ปุ่นคืบคลานเข้ามาในจังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว   เป็นยุคก่อนที่จะเริ่มต้นสงครามมหาเอเชียบูรพา(สงครามโลกครั้งที่ 2 บนแผ่นดินเอเชีย) แต่ว่าพูดเขียนกลับพูดถึงเรื่องราวของการรุกรานน้อยมาก  เหมือนจะพูดถึงก็เพื่อเป็นการเทียบเคียงยุคสมัยให้คนอ่านทราบเท่านั้น  ส่วนการบรรยายฉากและสภาพความเป็นอยู่ในสังคมท้องทุ่งแห่งนี้ ผู้เขียนให้รายละเอียดที่เยอะมาก เรียกว่า “ขยาย” จนทำให้คนอ่านเห็นภาพเกือบทุกตารางนิ้วทั้งต้นไม้ใบหญ้า สิงสาราสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย เสียงนกเสียงกา จนกระทั่งบรรยายไปถึงรายละเอียดต่างๆ  เช่น มียุงบินมากัด , จิ้งจกที่ออกมาร้องทักในเรื่องประมาณ 4-5 รอบเห็นจะได้ ฯลฯ โดยเฉพาะสถานที่ที่ผู้เขียนใช้คำว่า “มาบ”  (คำนาม) ที่หมายถึงบริเวณที่ลุ่มกว้างใหญ่ซึ่งอาจจะมีน้ำขังหรือไม่มีก็ได้  ในเรื่องมาบน้ำนี้คือลุ่มน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา เป็นลักษณะพื้นที่ที่เราไม่อาจจะพบเห็นได้ทั่วไป  เพราะเป็นรอยต่ออันกว้างใหญ่ที่น้ำจืดรอคอยน้ำเค็มมาปะทะ  ในเรื่องนี้มีการบรรยายฉากเยอะมากนั้น  ผมคิดว่านักอ่านบางท่านอาจจะไม่ชอบก็ได้เพราะว่ามันเยอะเกินไป  แต่สำหรับนักอ่านบางท่านน่าจะชอบก็ได้  เพราะจะได้เห็นภาพฉากที่ละเอียดชัดเจนมากๆ  ผมอ่านเรื่องนี้แล้วก็ได้ทราบว่าคนทางภาคใต้ก็กินไข่มดแดงเหมือนกัน มีการไปยอนไข่มดแดงเหมือนคนทางภาคอีสาน  ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ใหม่ของผมเลย



ตัวละครในเรื่องที่มีบุคคลิกชัดเจน

สำหรับในเรื่องนี้มีตัวละครแค่ 6 ตัว  โดยมีตัวละครหลัก 2 ตัวคือเทิ้มทดผู้เป็นพ่อตา และกริชผู้เป็นเขยใหญ่  และมีตัวละครประกอบอีก 4 ตัวที่ทำหน้าที่เดินเรื่องไปพร้อมกับตัวละครหลักคือ  นิ่มน้อยแม่ยาย  ดอกบวบและดอกแตงลูกสาว และสินชัยเขยเล็ก   โดยต้องถือว่าเป็นความโชคดีหรือความตั้งใจของผู้เขียนก็ได้  ที่เจาะจงให้มีตัวละครไม่มากนัก  จนสามารถสร้างเรื่องให้คนอ่านเห็นภาพของตัวละครที่ชัดเจนได้  รวมทั้งการจับตัวละครเป็นคู่เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน  อาทิเช่น  ตัวละครเทิ้มทดจับคู่กับนิ่มน้อย  , ดอกบวบจับคู่กับดอกแตง และ กริชเขยใหญ่จับคู่กับสินชัยเขยเล็ก  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบในความเหมือน(สถานะที่เหมือนกัน)แล้วจะพบความแตกต่างของตัวละครที่ชัดเจน   ผู้เขียนสามารถบรรยายภาพของตัวละครจนผู้อ่านสามารถเห็นลักษณะนิสัยของตัวละครได้ เรียกได้ว่าเป็นการ “ขยำ” จนเห็นภาพที่ชัดเจน เนียนมาก ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งน่าชื่นชมในนวนิยายเรื่องนี้



มีเรื่องราวซึ่งเป็นปมขัดแย้ง

สำหรับนวนิยายเรื่องนี้ต้องขอบอกก่อนว่าเป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องซ้อนเรื่อง  โดยเล่าซ้อนถึง 2 ชั้น  คือเมื่อเริ่มต้นเรื่องมีตัวละครทั่วไปที่ไม่ระบุชื่อได้เล่าถึง “คนในนิทาน” ซึ่งก็คือเรื่องเล่าที่ซ้อนอยู่  ซึ่งในตัวเรื่องเล่าที่ซ้อนอยู่นี้เป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างเทิ้มทดและกริช  และก็มีการเล่าเรื่องซ้อนลงไปอีกชั้นหนึ่ง  โดยเรื่องที่เล่าซ้อนอีกชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของตำนานและความเชื่อต่างๆ  มีการเล่าเรื่องแบบเป็นการพรรณาและเล่าเรื่องผ่านบทสนทนาของตัวละคร  ซึ่งมีการ “ขยัก” ทำให้ผู้อ่านอยากรู้ , มีการ “ขย้อน” เผยออกมาให้ผู้อ่านรู้ทีละน้อยไม่ปล่อยออกมารวดเดียวทั้งหมด และเมื่อเรื่องราวที่ซ่อนไว้ได้เผยออกมาทั้งหมดแล้วจะมีการ “ขยี้” สร้างอารมณ์ให้ผู้อ่านรู้สึกได้มากขึ้นไปอีก  และที่สำคัญที่สุดคือการ “ขยำ” เอาทั้งเรื่องเล่าเรื่องตำนานต่างๆ และเรื่องเล่าที่ซ้อนอยู่  เอามาขยำรวมเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างเนียนมาก  โดยเนียนในที่นี้คือผู้อ่านไม่รู้สึกว่ามันโดดไปมาแต่ผู้อ่านรู้ได้ว่าเรื่องไหนคือเรื่องไหน  เหมือนเอาเรื่องเล่าที่ซ้อนกันอยู่นั้นมาอธิบายเรื่องเล่าในภาพใหญ่ได้  แล้วก็ “ขยาย” เรื่องเล่าทั้งหมดโดยให้ความสำคัญกับฉากและตัวละครเป็นหลัก  ต้องถือว่าเป็นชั้นเชิงการเขียนระดับครูจริงๆ



แล้วก็อย่างที่ทราบกันว่า  คุณกร ศิริวัฒโณ   เป็นครูจริงๆ  เป็นคุณครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนทางภาคใต้  ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะสอนอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี   ด้วยความเป็นครูนี่เองที่อดไม่ได้ที่จะต้องสอนอยู่ตลอด  ซึ่งในเรื่อง “คนในนิทาน” นี้  อ่านแล้วก็รู้ได้ว่ามีการสอนอยู่ในหลายๆ ตอนมาก  โดยเฉพาะเรื่องหลักที่สอนคือเรื่องของวิชาชีพและการทำมาหากิน  เรื่องการทำนา, การจับปลา , การปลูกพืชผล , การทำอาหาร ฯลฯ   ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกได้ว่ามันเป็นการสอน  ผู้เขียนสอนโดยบทบรรยายเพื่อให้ความรู้  ในเล่มนี้ถ้าหยิบหนังสือขึ้นมาแล้วลองเขย่าดู  จะเห็นว่าสิ่งที่ตกหล่นลงมามากมายคือบทบรรยายอันหลากหลายที่ใช้เป็นแหล่งความรู้ได้เป็นอย่างดี  เล่มนี้มีบทบรรยายมากกว่าบทสทนา  ถ้าใครเคยอ่านนวนิยายที่ดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาเป็นหลักมาก่อน  เมื่อมาอ่านเรื่องนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่าเรื่องมันเดินช้าเกิดจนไปก็ได้  แต่การดำเนินเรื่องอย่างช้าเนิบๆ นี่เอง เป็นการให้รายละเอียดและให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดตามไปได้ตลอดทั้งเรื่อง เพราะถึงแม้จะสอนแต่ก็เป็นการสอนในเรื่องราวที่ดีๆ ทั้งหมด

โดยเรื่องที่สอนเป็นหลักใหญ่ของเรื่องนี้ก็คือ  เรื่องของการยับยั่งชั่งใจในความรู้สึกด้านกามราคะของมนุษย์  ที่เป็นธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้แต่ควรจะต้องห้ามจิตห้ามใจตัวเองเอาไว้ให้ได้ เรียกเป็นภาษาบ้านๆ ว่า  “สอนให้คนอ่านไม่หื่นกาม”  ในเรื่องผู้เขียนใช้คำว่า “ดำกฤษณา” ที่พูดถึงแรงขับเคลื่อนของความกำหนัด  โดยใช้สัญลักษณ์แทนเป็น “นางสองแขน” ซึ่งตอนที่ผมอ่านผมไม่รู้ว่านางสองแขนหมายถึงอะไร?  ผมจึงต้องไปลองเสิร์ชกูเกิ้ลดูก็ได้ความประมาณว่า “เป็นนางร้ายประจำเมืองที่นายหนังตะลุงอุปโลกน์ขึ้นมา   โดยใช้ชื่อว่านางเบียดหรือนางสองแขน” นั้นเอง  สำหรับประเด็นเรื่อง “นางสองแขน” นี้ต้องเป็นคนที่เข้าใจหรือเคยดูหนังตะลุงมาก่อนถึงจะอ่านแล้วเข้าใจได้ในทันที

และอีกนิดนึงที่ผมอยากจะพูดถึงในประเด็นเรื่อง “ดำกฤษณา” หรือเรื่องฉาวคาวราคะนี้ เอาเป็นว่าผมขออนุญาตสปอยล์  เพื่อเปิดเผยสาระสำคัญของเรื่องว่า  ในเรื่องตัวพ่อตาคือเทิ้มทดนั้นมีเพศสัมพันธ์กับสุนัข  และตัวลูกเขยใหญ่คือกริชมาแอบไปเห็นเข้า   กริชจึงเอาเรื่องกามวิตถารกับสุนัขนี้ถือไว้เป็นอาวุธลับที่ใช้ดัดหลังพ่อตา  ดังนั้นเรื่องราวของนวนิยายเรื่อง “คนในนิทาน” นี้  พล็อตหลักคือเรื่องราวความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อตากับลูกเขย  เป็นปมความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันมากจนอาจถึงขั้นฆ่าฟันกันตายได้เลย  ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึกได้ว่าเวลาที่ผู้เขียนพูดถึงเรื่องกามวิตถารที่เทิ้มทดมีอะไรกับสุนัขนี้ หรือในฉากที่มีเพศสัมพันธ์อื่นๆ นั้น ผู้เขียนพยายามใช้เลือกใช้ถ้อยคำที่ระมัดระวังเป็นอย่างมาก  ผมเชื่อว่าความที่เป็นครูผู้เขียนจึงไม่อาจทำลายผู้อ่านด้วยเรื่องราวอันผิดศีลธรรมได้แน่  แต่เชื่อว่าผู้เขียนจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องความกำหนัดพุ่งพล่านที่ไม่อาจข่มใจนี้ได้  ก็เพื่อเป็นการสอนโดยการยกตัวอย่างให้ผู้อ่านได้รับทราบ  จะได้ไม่หลงผิดพลาดพลั้งไปกับอารมณ์อันชั่ววูบเหมือนที่เทิ้มทดกระทำลงไปได้ และไม่ทำเรื่องอันไม่ดีเหมือนการกระทำของกริชที่มีต่อพ่อตาด้วย


กร ศิริวัฒโณ


ดั้งนั้นอย่างที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า  นวนิยายเรื่องนี้ “คนที่โลกสวยหรือคนที่ยึดติดในศีลธรรมอย่างเหนียวแน่นไม่ควรอ่านเด็ดขาด” นั้น  ผมก็เขียนขึ้นมาเพื่อกระทบกระเทียบและยกเป็นประเด็นไม่ให้คนอ่านทั่วไปตีความอะไรอย่างผิวเผิน  อย่าตีความเมื่ออ่านเจอเพียงข้อความว่า “เทิ้มทดเสพสมกับหมา”  แต่ขอให้ท่านตีความเมื่อได้อ่านเรื่องนี้จบลงแล้ว โดยให้ตีความถึงเหตุผลของการกระทำและผลที่ตามมา และตีความเหตุการณ์ทั้งหมดที่ผู้เขียนยกมาสร้างเป็นเรื่องราวนี้ดีกว่า

ถ้าถามผมว่า “คนในนิทาน” นี้ดีกว่าเรื่องอื่นอีก 7 เล่มที่เข้ารอบสุดท้ายในปีนี้หรือไม่?  ผมไม่อาจจะตอบคำถามนี้ได้  เพราะว่าผมไม่ได้อ่านนวนิยายครบทั้ง 8 เรื่อง  ผมได้อ่านและลองวิเคราะห์เพื่อรีวิวเพียงแค่เรื่อง  “คนในนิทาน” เล่มนี้เอง  แต่อย่างไรก็ตามผมก็ขออวยพรให้ “คนในนิทาน” หักด่านซีไรต์ในปีนี้ให้สำเร็จ  เพราะภายใต้เรื่องราวของกามวิปริตนี้มันยังรายละเอียดต่างๆ ซ่อนอยู่อีกหลากหลาย เพื่อให้นักวิจารณ์วรรณกรรมพูดถึงอีกมากมายหลายประเด็นแน่  หรือถึงแม้ว่า “คนในนิทาน” จะหักด่านซีไรต์ไม่สำเร็จก็ตาม  แต่ก็ต้องถือว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นสุดยอด 1 ใน 8 เล่มประจำปี 2561 นี้เลย  เพราะนวนิยายที่เขียนขยายมาจากนิทานประจำถิ่นนั้นหาอ่านได้น้อยมากในบ้านเรา
ชื่อสินค้า:   คนในนิทาน
คะแนน:     

SR - Sponsored Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ SR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - ได้รับสินค้าหรือบริการมาใช้รีวิวฟรี โดยไม่ต้องคืนสินค้าหรือบริการนั้น
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่