ปริศนาธรรมกระบี่ของต๊กโกวคิ้วป้าย

ปริศนาธรรมกระบี่ของต๊กโกวคิ้วป้าย

    ในสุดยอดภาพยนตร์จีนกำลังภายใน เรื่องมังกรหยก (射鵰英雄傳) และกระบี่เย้ยยุทธ "เฉี่ยเหงากังโอ๊ว"  (笑傲江湖) เป็นนิยายกำลังภายในชื่อดังและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่งโดยกิมย้ง ซึ่งช่วงหนึ่งที่พระเอกจะต้องไปค้นพบเค็ดสุดยอดวิชากระบี่ของต๊กโกวคิ้วป้าย ผู้เดียวดายแสวงหาความพ่ายแพ้ กระบี่ของเขานี้มีปริศนาธรรมเป็นปรัชญาชีวิต ดังนี้

    กระบี่เล่มแรก ใต้กระบี่แรกได้สลักอักษรไว้ว่า เกรี้ยวกราดรุนแรง ทำลายล้างทุกสิ่ง เมื่อวัยหนุ่มฉกรรจ์ ใช้ชิงชัยกับเหล่าผู้กล้าแคว้นฮ่อซวก ลักษณะกระบี่มีความยาวประมาณสี่เชียะ เปล่งประกายสีเขียว นับเป็นศัสตราวุธคมกล้า

    ปริศนาธรรมที่แฝงไว้ในกระบี่ คือ เป็นกระบี่โหด เกรี้ยวกราดรุนแรง แสวงหาชื่อเสียง ฝึกฝนมุ่งมั่นเพื่อความเป็นหนึ่ง คือ ช่วงวัยหนุ่ม

    กระบี่เล่มที่สอง ถัดมาเป็นแท่งหิน เมื่อยกขึ้นมีข้อความจารึกไว้ว่า กระบี่อ่อนกุหลาบม่วง ใช้ก่อนอายุสามสิบ พลั้งมือทำร้ายผู้กล้าฝ่ายธรรมมะ ถือเป็นสิ่งอัปมงคล โยนทิ้งลงสู่ก้นหุบเหว

    ปริศนาธรรมที่แฝงไว้ในกระบี่ คือ ผดุงคุณธรรม ฆ่าคนเพื่อไต่เต้าสู่ความเป็นใหญ่ พลั้งมือทำร้ายคนดี จึงทิ้งกระบี่คือ วัยสร้างชื่อ

    กระบี่เล่มที่สาม เป็นกระบี่สีดำมีน้ำหนักมาก ปลายโค้งมนไม่มีคม กระบี่แบบนี้ไหนเลยใช้ได้คล่องแคล่วถนัดมือ แต่ใต้กระบี่กลับจารึกไว้ว่า กระบี่หนักไร้คม ใช้ได้คล่องแคล่ว ฝีมือการสร้างไม่ประณีต ก่อนอายุสี่สิบใช้พิชิตทั่วแผ่นดิน

    ปริศนาธรรมที่แฝงไว้ในกระบี่ คือ วางกระบี่ สามารถใช้ไม้ หิน สิ่งต่างๆ แทนกระบี่ได้ ช่วงนี้จะเริ่มเข้าใจโลก หันมาใช้กระบี่หนัก แม้เคลื่อนไหวช้าลงแต่มีเวลาคิดมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่พลั้งมือทำร้ายคนดีอีก คือ วัยตอนไร้ผู้เปรียบติดแล้ว

    กระบี่เล่มสุดท้าย เอี้ยก้วยคิดว่าต้องหนักยิ่งกว่ากระบี่เหล็กนิล จึงเกร็งลมปราณสู่แขนซ้าย แต่พอยกมากลับเบาหวิว ที่แท้เป็นเพียงกระบี่ไม้เปื่อยผุ จารึกไว้ว่า "หลังอายุสี่สิบปี ไม่ยึดติดกับวัตถุ แม้นจะไผ่หรือหินล้วนคือกระบี่ นับแต่บัดนี้ ข้าไร้กระบี่อยู่เหนือกระบี่"

    ปริศนาธรรมที่แฝงไว้ในกระบี่ คือ ไร้กระบี่ เหตุที่ไร้กระบี่คือเข้าสู่อนัตตา กระบี่ที่ ๔ นี้เป็นปัญญาฟันฝ่าเข้าสู่นิพพาน หรือเข้าสู่เต๋า ในทางธิเบตพระจะมีกระบี่ เป็นปริศนาธรรมที่จะตัดตัณหา ตัดกิเลส

    กระบี่ที่ ๔ เพื่อปล่อยวางเข้าสู่นิพพาน คือ เข้าสู่พระไตรลักษณ์ หรือเข้าสู่ความเป็นเต๋า คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่