มหกรรมลดราคา “หุ้นเทคโนโลยีจีน” เริ่มแล้ว ตอนที่ 1

คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
มหกรรมลดราคา “หุ้นเทคโนโลยีจีน” เริ่มแล้ว ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.CsiSociety.com
Add Line: @CsiSociety

คุณผู้อ่านหลายท่านคงกำลังติดตามอ่านข่าว “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนกันอยู่ ซึ่งงานนี้คงจะไม่จบง่ายๆเพราะ ยกแรก...ต่างฝ่ายต่างใช้กำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากฝ่ายตรงข้ามมูลค่าสูงถึง 34,000 ล้านดอลลาร์ ยกที่สอง...เพิ่งเริ่มขึ้นได้ไม่กี่วันนี้ โดยการตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นอีก 16,000 ล้านดอลลาร์ รวมแล้วเบ็ดเสร็จจนถึงตอนนี้สินค้าส่งออกจากฝ่ายตรงข้ามมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์จะต้องเผชิญกับการถูกเก็บภาษีนำเข้าจากอีกฝ่ายหนึ่งอย่างหนักหน่วง เรียกง่ายๆว่า เป็นการแก้เผ็ดกันแบบ “ฟันต่อฟัน ตาต่อตา” ยกต่อไป...ใหญ่หลวงนัก เพราะประธานาธิบดีทรัมป์กะจะตั้งกำแพงภาษีต้อนรับสินค้านำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าเกิดขึ้นจริง...ทางจีนก็คงจะเลือกใช้วิธี “หนามยอก...เอาหนามบ่ง” แก้เผ็ดตอบโต้กันอย่างรุนแรงเป็นแน่ แล้วสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดก็คือ การค้าขายของโลกใบนี้คงต้องกระทบกระเทือนกันไปทุกหย่อมหญ้า...ก็จะตามมาอย่างแน่นอน

ในขณะที่สงครามการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินอยู่นั้น บรรดาหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาก็พากันทำสถิติราคาสูงสุดใหม่กันเกือบถ้วนหน้า โดยหนึ่งในสาเหตุนั้นมาจากนักลงทุนทั่วโลกพากันหวาดวิตกถึงความเสี่ยงจากสงครามการค้า จึงลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แล้วพากันเทขายหุ้นที่มาจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ซึ่งรวมทั้งจีนด้วย เมื่อขายแล้ว...ก็ได้เม็ดเงินเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งจึงนำไปลงทุนในบรรดาหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา และทำให้ราคาหุ้นพากันขึ้นไปแตะจุดสูงสุดดังกล่าว ส่วนบรรดาหุ้นเทคโนโลยีของจีนก็กลับถูกเทขายออกมาอย่างไม่ยั้ง และทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมามากกว่า 10% กันเกือบทุกตัว เหตุดังกล่าวจึงกลายเป็น “มหกรรมลดราคา” ของหุ้นเทคโนโลยีของจีน วันนี้...ผมจึงอยากนำเรื่องดังกล่าวมาคุยให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ครับ

หนึ่ง เมื่อ “หุ้นเทคโนโลยีของอเมริกา” ...ผงาด
เริ่มจาก ดัชนี S&P 500 จากช่วงต้นปีที่อยู่ประมาณ 2,700 จุด ได้ไต่ระดับเพิ่มขึ้นไปแล้วเกือบถึง 2,900 จุด และดูเหมือนว่ายังมีพลังที่จะพุ่งทะยานไปข้างหน้าต่อไป สำนักวิเคราะห์หลายแห่งได้คาดการณ์ดัชนี S&P 500 ในปีนี้ว่า ดัชนี S&P 500 น่าจะมีพลังขับเคลื่อนเพียงพอที่จะดันให้ตัวของมันเองทะลุ 3,000 จุดขึ้นไปได้ โดยสำนักวิเคราะห์ UBS และ Canaccord Genuity ได้คาดการณ์ว่าปลายปีนี้ดัชนี S&P 500 น่าจะไปถึง 3,150 และ 3,200 จุดตามลำดับ ซึ่งแน่นอนว่า...หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นตัวที่มีอิทธิพลและผลักดันให้ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 9 ปีแล้ว ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ก็ยังคงเชื่อมั่นว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงเป็นตัวผลักดันขนาดใหญ่ที่จะนำพาดัชนี S&P 500 ให้พุ่งทะยานทำจุดสูงสุดใหม่ๆต่อไปอีกยาวนาน
หากเราลองไปพิจารณาดูในรายละเอียดว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีน้ำหนักมากน้อยขนาดไหนในดัชนี S&P 500 ก็จะพบว่า ในดัชนี S&P 500 มีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสูงถึง 26% และ 5 บริษัทเทคโนโลยีแรกมีน้ำหนักในดัชนีตัวนี้สูงถึง 15.16% และหากดูหุ้น 10 ตัวแรกที่มีน้ำหนักในดัชนีนี้มากที่สุด จะพบว่าเป็นหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีสูงถึง 8 บริษัท สรุปง่ายๆก็คือ ในปีนี้...บรรดาหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ยจะยังคงสร้างผลงานได้อย่างเข้มแข็งให้แก่ดัชนี S&P 500 และผู้ถือหุ้น ทั้งทางด้านราคาหุ้นและผลประกอบการ

สอง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนประสบกับ...วิบากกรรม
จากสงครามการค้าไปสู่ความกังวลของนักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด ก่อให้เกิดการเทขายในตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม BRIC (Brazil, Russia, India & China) เกือบทุกประเทศในเอเชีย หลายๆประเทศในทวีปอเมริกาใต้ และหลายๆประเทศในทวีปอาฟริกา หนึ่งในตลาดหุ้นที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างรุนแรงก็คือ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ โดยดัชนี Shanghai Composite Index ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ตกลงไปแล้วกว่า 17.3% ในช่วงระหว่างที่เกิดสงครามดังกล่าว
จากหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาไปสู่หุ้นเทคโนโลยีของจีน ขณะที่ราคาหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกากำลังไปได้สวยนั้น หุ้นเทคโนโลยีของจีนก็เริ่มผจญกับวิบากกรรม ในปีที่แล้ว (2560) เป็นปีที่ราคาของบรรดาหุ้นเทคโนโลยีของจีนพุ่งกระฉูด โดยหุ้นตัวนำ 3 ตัวในกลุ่มนี้ที่เรียกว่า “BAT” ซึ่งมาจาก Baidu, Alibaba และ Tencent (เจ้าของแอป WeChat ที่โด่งดังของจีน) ได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า ราคาหุ้นของ Tencent ในปีที่แล้วปีเดียวพุ่งกว่า 114% ในขณะที่ปีนี้หุ้นตัวนี้กลับมีราคาตกลงไปแล้วประมาณ 30% ส่วนหุ้น Alibaba ก็มีอาการใกล้เคียงกัน โดยหลังจากราคาหุ้น Alibaba พุ่งทำจุดสูงสุดใหม่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตอนนี้ราคาหุ้นตัวนี้ก็ตกลงไปแล้วประมาณ 20%

สาม ราคาของกองทุน ETF หุ้นอเมริกา...รุ่ง หุ้นจีน...ร่วง
ในแง่ของกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือกองทุนที่จะลงทุนล้อไปตามดัชนีของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนั้น กองทุนที่มีชื่อว่า Invesco PowerShares NASDAQ ETF มีชื่อย่อว่า QQQ ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีและให้ผลตอบแทนล้อไปตามดัชนี Nasdaq-100 โดยมีหุ้นเด่นในกองทุนกองนี้คือ Apple, Amazon, Microsoft, Alphabet (Google) และ Facebook พบว่ากองทุน QQQ ปีนี้ให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงมากที่ 14.2%
ในขณะที่กองทุนอีกตัวหนึ่งในบริษัทเดียวกันที่มีชื่อว่า Invesco China Technology ETF (CQQQ) ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนล้อไปตามดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีน ซึ่งแน่นอนว่ากองทุน CQQQ ต้องถือหุ้นบรรดาหุ้นเทคโนโลยีของจีนซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่ม BAT (Baidu, Alibaba, Tencent) ด้วย กลับพบว่าปีนี้ให้ผลตอบแทนในอัตราที่ตกต่ำลงไปโดยมีราคาลงไปแล้วกว่า 20% ทีเดียว
ฤา หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาจะเป็น... “ผู้ชนะ” แล้วหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนจะเป็น... “ผู้แพ้” หรือเหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นภาพลวงตาที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้น

วันพรุ่งนี้ ผมจะพาคุณผู้อ่านบินไปดูหุ้นเทคโนโลยีของจีนเป็นรายตัวกันไปเลย ไปดูกันว่า “มหกรรมลดราคาของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีน” จะให้ส่วนลดมากน้อยขนาดไหน? ทำไม...มันถึงลดราคาลงมามากขนาดนี้ และบรรดาหุ้นเหล่านี้...มันจะมีวันหวนกลับไปผงาดอีกหรือไม่? แล้วพบกัน...วันพรุ่งนี้นะครับ
หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่