กองทุนฟรีค่าฟี (Fees)

Morningstar Thailand

เมื่อ Fidelity ออกกองดัชนีฟรีค่าธรรมเนียม ใครได้ประโยชน์อะไรบ้าง ลองมาศึกษากันดูค่ะ

มื่อต้นเดือนที่ผ่านมา Fidelity ได้ประกาศข่าวที่ค่อนข้างสะเทือนวงการว่าจะเปิดขายกองทุนรวมดัชนี (Index fund) 2 กองทุนโดยเป็นกองที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมได้แก่ 1) Fidelity Zero Total Market Index : FZROX (ลงทุนตาม Fidelity U.S. Total Investable Market Index) และ 2) Fidelity Zero International Index : FZILX (ลงทุนตาม Fidelity Global ex U.S. Index)

สาเหตุที่ Fidelity สามารถทำเช่นนี้ได้เพราะ 1) Index fund มีลักษณะการบริหารแบบ Passive strategy หรือลงทุนตามดัชนีชี้วัดของกองทุน (Benchmark) ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่ากองทุนแบบ Active strategy 2) บริษัทมีรายได้จากธุรกิจและบริการอื่นๆ ที่เสนอให้กับลูกค้า ซึ่งบริษัทเองก็อยู่ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ทั้งกองแบบ Active และ Passive ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Vanguard และ BlackRock ซึ่งมีกองทุนรวมดัชนีเป็นธุรกิจหลัก จึงอาจจะทำให้แข่งยากสักหน่อย แต่แน่นอนว่าถือเป็นแรงกดดันให้ลดค่าธรรมเนียมลงเช่นกัน

แล้วใครได้ประโยชน์บ้าง?

-       ผู้ลงทุนที่ถือกองทุนรวมดัชนีของ Fidelity อยู่แล้ว ซึ่งบริษัทลดต้นทุนได้ราว 35% (คำนวณจากน้ำหนักสินทรัพย์) โดยทาง Fidelity กล่าวว่าการลดค่าธรรมเนียมมีผลแล้วโดยที่ผู้ลงทุนไม่ต้องดำเนินการใดๆ

-       ผู้ลงทุนที่มีบัญชีกับ Fidelity และต้องการลดต้นทุนโดยรวม ถ้าหากผู้ลงทุนมีบัญชีกับ Fidelity แต่ไม่ได้ถือกองดัชนีก็สามารถซื้อกองดังกล่าวเพื่อลดต้นทุนของพอร์ต แต่หากเป็นการขายกองเก่าเพื่อมาซื้อกองใหม่อาจจะต้องคำนึงถึงภาษีที่ต้องเสียเมื่อขายหน่วยลงทุนด้วย

-       ผู้ลงทุนมือใหม่ สำหรับนักลงทุนที่กำลังสร้างพอร์ตตัวเองก็ถือว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มลงทุนโดยเริ่มจากกองทุนรวมดัชนีที่ไม่มีต้นทุนหรือต้นทุนต่ำ ยิ่งไปกว่านั้นทาง Fidelity เองก็ไม่กำหนดมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำอีกด้วย

สำหรับการแข่งขันด้านค่าธรรมเนียมในต่างประเทศนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง โดย บลจ. จะใช้กองทุนค่าธรรมเนียมต่ำมากๆ หรือไม่เก็บค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นแรงจูงใจนักลงทุน (หรือที่เรียกว่า Loss leader strategy) และขายผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นๆ ที่เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมแทน ซึ่งจะเป็นลักษณะเดียวกันกับการโอนเงินฟรีค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

ลองมาดูค่าธรรมเนียมของกองทุนในประเทศไทยกันบ้าง  พบว่าค่า Net expense ratio ของกองทุนรวมดัชนี 14 กอง จาก 6 บลจ. (SET50 Index fund ตาม AIMC Category) มีแนวโน้มลดลงใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2012 มีค่าเฉลี่ยที่ 0.91% และลดลงมาที่ 0.80% เมื่อปี 2017 และเป็นไปได้ว่าจะลดลงต่อเนื่อง


จะเห็นได้ว่าสำหรับกองประเภท Index Fund ค่าธรรมเนียมเป็นจุดขายที่ บลจ. ให้ความสำคัญและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นักลงทุนควรพิจารณาในการเลือกกองทุน เพราะกองทุนที่ลงทุนในทรัพย์สินที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหากเก็บค่าธรรมเนียมต่างกันก็มีผลกระทบโดยตรงกับผลตอบแทน ทั้งนี้ท่านนักลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าธรรมเนียมได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวมที่แสดงรายละเอียดค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ เพื่อให้ท่านนักลงทุนใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่