นมวัว ทำให้เกิดมะเร็ง ภูมแพ้ ท่านคิดเห็นอย่างไรบ้าง

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 17
"ดื่มนมวัว แล้วเป็นโรค ... จริงเหรอ ?" (ยาวมากๆ)

เรื่องนี้คนถามกันมาเยอะมาก ที่คุณหมอท่านหนึ่งทำวิดีโอคลิป สรุปความได้ว่า นมวัวนั้นไม่ดี มีคนป่วยเป็นโรคแพ้นมวัวมาหาคุณหมอกันมา และเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่อายุน้อยๆ ด้วย จึงควรจะหลักเลี่ยงการกินนมไปเลย ... คนก็สงสัยกันเยอะมากว่าจริงเหรอ เพราะเราก็ส่งเสริมให้กินนมกันมาตั้งแต่เด็กๆ นี่น่า โดยเฉพาะของการเป็นแหล่งโปรตีน ไขมัน และแคลเซี่ยมต่อร่างกายด้วย แล้วความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไรกันแน่  ... สำหรับผมนั้น ผมว่าคุณหมอเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่นะครับ และนมยังเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับคนไทย โดยเฉพาะเด็กครับ โดยขอแย้งแบบวิชาการ ดังต่อไปนี้นะ

1. เหมือนคุณหมอจะสับสนระหว่าง "ภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส (ในนม)" กับ "การแพ้โปรตีนนมวัว"

ในคลิปบรรยายนั้น คุณหมอระบุผลเสียของการดื่มนมวัวมาเยอะมาก โดยเฉพาะในเรื่องของอาการร้ายแรงหลายอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากดื่มนมวัว แล้วอธิบายว่าเป็นเพราะคนไทยนั้นย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่ได้ จึงมีอาการเช่นนั้น ... ประเด็นปัญหาคือ อาการร้ายแรงที่คุณยิ้มกมานั้น ส่วนมากจะเป็นอาการของคนที่ "แพ้โปรตีนนมวัว  (cow's milk protein allergy)" ไม่ใช่อาการของ "ภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส (lactose intolerance)"

การแพ้นมวัว ป็นการแพ้สารโปรตีนบางอย่างในนมวัว (ไม่ใช่ต่อน้ำตาลแล็กโทส) ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดไปจากปกติ ระบบภูมิคุ้มกันสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนนั้นขึ้นอย่างมาก เกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นในร่างกาย โดยคนที่แพ้นมวัวแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่แพ้เล็กน้อยไปถึงขั้นแพ้รุนแรง เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ คัดจมูก หอบหืด ท้องอืด เรอ ท้องเสีย ไปจนถึงหายใจขัด ซึ่งบางรายอาจแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ส่วนคนที่มีภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส หรือเรียกอีกอย่างว่า มีภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทส นั้น จะเกิดจากการที่ร่างกายขาดเอนไซม์ที่มีชื่อว่า "แล็กเทส (lactase)" ที่สร้างโดยเยื่อบุลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ในการย่อยน้ำตาลแล็กโทส ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของน้ำนมทั้งนมแม่ นมวัว และนมแพะ (สังเกตว่า นมแม่ ก็มีน้ำตาลแล็กโทสนะ) ดังนั้น คนที่มีภาวะไม่ทนต่อแล็กโทสนี้ จึงไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงอะไรถ้าได้ดื่มนมเข้าไป (จะนมวัวหรือนมคนก็เถอะ) หากรู้จักหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง อาการต่างๆ ก็มักจะหายได้ และบางคนก็อาจหันมาดื่มนมได้อีก โดยอาการส่วนใหญ่นั้นจะเป็นอาการที่ตอบสนองของระบบทางเดินอาหารหลังจากดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนมได้ไม่นาน เช่น ท้องอืด เรอ ผายลม ท้องเสีย เพราะน้ำตาลแล็กโทสที่ไม่ถูกย่อยนั้นจะเกิดการหมักขึ้นจากแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้มีแก๊สต่างๆ เกิดขึ้นในท้อง (ความรุนแรงขึ้นกับปริมาณของนมที่ดื่มเข้าไป และขึ้นกับระดับของภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทส) แต่ไม่ได้จะมีอาการผื่นคัน ลมพิษ คัดจมูก หอบหืด หรือหายใจขัด ซึ่งเป็นอาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

2. ภาวะไม่ทนต่อแล็กโทสนั้น คนไทยส่วนใหญ่เป็นกันมาตั้งแต่กำเนิด จริงเหรอ

ภาวะไม่ทนต่อแล็กโทสนั้น มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากภาวะพร่องเอนไซม์โดยกำเนิด และทำให้เกิดปัญหาในการดื่มนมแม่ นมวัว ตั้งแต่ยังเป็นทารก แต่คนส่วนใหญ่นั้น ภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสจะเกิดขึ้นตอนอายุมากขึ้นอันเนื่องจากการที่เราเลิกดื่มนม (แม่) โดยร่างกายเริ่มผลิตเอนไซม์แล็กเทสลดลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  เพราะว่าไม่ค่อยได้กินผลิตภัณฑ์ที่มาจากนม พอมากินอีกทีจึงมีภาวะท้องอืด ปวดท้อง หรือท้องเสีย

การพร่องเอนไซม์ย่อยนมนั้น เป็นสภาวะปกติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่สรีระของลูกอ่อนนั้นจะผลิตเอนไซม์แล็กเทสลดลงในช่วงปลายของระยะหย่านม ตามธรรมชาติ สำหรับมนุษย์นั้น อัตราการผลิตเอนไซม์แล็กเทสจะขึ้นกับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่แต่ละสังคมด้วย เช่น ในยุโรปเหนือ ความถี่ของการลดการผลิตเอนไซม์แล็กเทสจะมีเพียง 5%  ขณะที่ในซิซิลี (อิตาลี) จะมีถึง 71% และมากกว่า 90% ในช่วงสี่ปีแรกของชีวิตในบางประเทศทวีปแอฟริกาและเอเชียที่ไม่บริโภคนม  ... ในประเทศที่บริโภคนมมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น พบว่าภาวะไม่ทนต่อแล็กโทสนั้น มีความชุกลดลง ... ในยุโรปเหนือและแอฟริกาตะวันออก ซึ่งเคยมีวิถีชีวิตด้วยการเลี้ยงปศุสัตว์ ยังพบว่ามีกลุ่มคนที่มีการกลายพันธุ์บนโครโมโซม 2 ทำให้สามารถบริโภคนมได้ตลอดชีวิตอีกด้วย

3. คุณหมอบอกว่าคนไทย 99% แพ้นม ย่อยแล็กโทสไม่ได้ จริงเหรอ

คุณหมอบอกในคลิปว่า จากผลการศึกษาของคุณหมอเองด้วยการตรวจเลือดคนไข้กว่าพันคน คนไทย 99% มีภาวะแพ้นม ย่อยแล็กโทสไม่ได้ ... ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ดูคลิปตกใจกันมากๆ เพราะก็แปลว่าคนไทยแทบทุกคนนั้นไม่ควรกินนม เดี๋ยวจะมีอาการร้ายแรงมากมายตามมา (แต่แย้งให้ฟังข้างบนแล้ว ว่ามันคนละเรื่องกันระหว่างการแพ้โปรตีนในนมวัวกับภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส) ปัญหาคือ งานวิจัยที่คุณหมอทำเองนั้น ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ใด ที่จะทำให้เราเชื่อถือคำกล่าวอ้างนั้นได้ และการที่จะบอกว่าใครมีภาวะไม่ทนต่อแล็กโทสนั้น ยังต้องพิจารณาอย่างละเอียดอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาผู้ใหญ่ชาวซิซิลี 323 คน Carroccio et al. (1998) พบว่ามีเพียง 4% ซึ่งมีทั้งภาวะไม่ทนต่อแล็กโทสและการย่อยแล็กโทสผิดปกติ ในขณะที่ 32.2% เป็นผู้ที่มีการย่อยแล็กโทสผิดปกติ แต่ไม่ได้มีผลสรุปออกมาว่าไม่ทนต่อแล็กโทส

แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเอนไซม์ย่อยนมจริงหรือ? จากผลการศึกษาของ Densupsoontorn และคณะ เรื่อง Lactose intolerance in Thai adults. ตีพิมพ์ใน J Med Association Thai. 2004 Dec;87(12):1501-5. พบว่า เพียงแค่ประมาณ 50% ของคนไทยอายุระหว่าง 21-31 ปี ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แล็กโทสย่อยนม โดยพบว่า 47% ของอาสาสมัครนั้นมีปัญหาในการดูดซึมและไม่ทนต่อน้ำตาลแล็กโทส ขณะที่ 4% นั้นมีปัญหาในการดูดซึมแต่สามารถทนต่อน้ำตาลแล็กโทสได้ และ 49% นั้นทั้งดูดซึมและทนต่อแล็กโทส

4. จริงเหรอที่คนที่ย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่ได้ ดื่มนมเข้าไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะร่างกายจะไม่ได้แคลเซี่ยม

คำตอบคือ ไม่จริงนะ เพราะแคลเซี่ยมในนมไม่ได้จะต้องผ่านการย่อยด้วยเอนไซม์แล็กเทส (ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแล็กโทส) แต่อย่างไร จึงไม่น่าจะเกี่ยวกันเลย

และถ้าดูจากงานวิจัยของ Tremaine WJ, Newcomer AD, Riggs BL, McGill DB. เรื่อง Calcium absorption from milk in lactase-deficient and lactase-sufficient adults. ตีพิมพ์ใน Dig Dis Sci. 1986 Apr;31(4):376-8. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/3754202) ซึ่งศึกษาว่าคนที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทส จะดูดซึมแคลเซี่ยมจากนมได้น้อยกว่าคนปรกติหรือไม่ พบว่าอาการมีปัญหาในการดูดซึมแล็กโทสของคนที่พร่องเอนไซม์แล็กเทสนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดูดซึมแคลเซี่ยมเข้าสู่ร่างกาย

ดังนั้น คนที่มีภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับแคลเซี่ยมเมื่อดื่มนมเข้าไป  เพียงแต่ว่าการที่เค้ามีอาการท้องไส้ปั่นป่วนหลังจากดื่มนมนั้นทำให้พวกเขาไม่ค่อยนิยมดื่มนม และทำให้เหมือนกับว่ากลุ่มคนที่มีอาการนี้กลายเป็นพวกที่ได้รับแคลเซี่ยมน้อยกว่าคนปรกติ

5. ประเด็นใหญ่เลย "การดื่มนมทำให้เป็นโรคมะเร็ง" จริงเหรอ .. หรือมันช่วยป้องกันมะเร็ง

นับเป็นประเด็นที่คนสับสนกันมากเวลาอ่านข่าวทางด้านการแพทย์ เพราะจะมีข่าวทำนองว่า มีงานวิจัยใหม่บอกว่าการดื่มนมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง ขณะที่ก็มีข่าวเช่นกันว่า พบว่าการดื่มนมช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ เอาไงกันแน่

เรื่องนึงที่เราควรจะเรียนรู้กันก่อน คือว่า งานวิจัยเกี่ยวกับ "ความเชื่อมโยงระหว่างอาหารกับโรค" ทำนองนี้มันมีข้อจำกัดอยู่นะ เพราะมันเป็นการวิจัยเชิง "สำรวจ" โดยเอาสถิติไปประเมินว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นมีความสัมพันธ์ทางสถิติกับ "ความเสี่ยงที่จะเกิดโรค" แค่ไหน แต่ไม่ได้จะเป็นการพิสูจน์ใดๆ เลยว่าอาหารนั้นเป็น "สาเหตุ" ก่อให้เกิดโรค ... บ่อยครั้ง ที่งานวิจัยเชิงสำรวจแบบนั้น พบว่าผิดพลาด เมื่อนำไปทำการทดลองจริงทางการแพทย์

พวกงานวิจัยเกี่ยวกับนมและมะเร็งนั้น พบว่าแทบทั้งนั้นที่เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ มันจึงไม่ได้เป็นตัวพิสูจน์แต่อย่างไรว่า นมหรือผลิตภัณฑ์นมจะก่อให้เกิดโรค เพียงแค่บอกว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน (ซึ่งสาเหตุของโรค อาจจะเป็นอย่างอื่น ที่บังเอิญไปเชื่อมโยงกับนิสัยการนิยมดื่มนม ก็เป็นได้)

เรามาลองดูงานวิจัยกันไปทีละชนิดของโรคมะเร็งแล้วกัน (ข้อมูลจาก https://www.healthline.com/nutrition/dairy-and-cancer#section2)

5.1 มะเร็งลำไส้ Colorectal Cancer
ผลการศึกษาวิจัยนั้น พบว่าส่วนใหญ่แล้ว จะเอียงไปในทางที่ว่าผลิตภัณฑ์จากนมนั้นช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21617020  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19116875  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19116875 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15240785 ) โดยองค์ประกอบบางอย่างในนมนั้น ที่น่าจะมีส่วนช่วยในการป้องกันมะเร็ง ได้แก่ แคลเซี่ยม วิตามินดี และแบคทีเรียที่ให้กรดแล็กติก ถ้าเป็นพวกนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต

5.2 มะเร็งต่อมลูกหมาก Prostate Cancer
งานวิจัยส่วนใหญ่ ระบุว่าการดื่มนมเป็นปริมาณมากๆ ในแต่ละวันนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ( https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25527754 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16333032 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15203374 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22190107) ที่เป็นเช่นนั้น อาจจะเป็นเพราะว่านมมีสารประกอบทางชีวภาพอยู่มากมายหลายชนิด บางชนิดช่วยป้องกันมะเร็ง แต่บางชนิดก็อาจให้ผลตรงกันข้าม เช่น สาร Insulin-like growth factor 1 (IGF-1) ฮอร์โมน Estrogen

5.3 มะเร็งกระเพาะอาหาร Stomach Cancer
งานวิจัยส่วนใหญ่ ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน ระหว่างนมที่ดื่มเข้าไปกับการเกิดมะเร็งกระเพาะ (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25006674 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25923921 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25400475 ) ในน้ำนม มีทั้งสารที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะได้ เช่น สาร conjugated linoleic acid (CLA) และเชื้อแบคทีเรียโปรไบโอติก ในนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต  แต่ก็มีสาร IGF-1 ที่อาจกระตุ้นให้เกิดมะเร็งกระเพาะได้

5.4 มะเร็งเต้านม Breast Cancer
โดยรวมแล้ว งานวิจัยบอกว่าผลิตภัณฑ์นมไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับการเกิดโรคมะเร็งเต้านม (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15213021 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11914299  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24330083 ) และงานวิจัยบางงานก็บอกว่า ผลิตภัณฑ์จากนมนั้นช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมอีกด้วย ( https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21442197 )

แล้วอย่างนี้เราควรจะดื่มนมได้มากแค่ไหนถึงจะปลอดภัย ... คำแนะนำคือ ควรจะดื่มทุกวัน แต่ไม่ควรจะเกินวันละ 2 แก้ว (ซึ่งถ้าเกินกว่านี้ จะเป็นระดับที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก)

6. แล้วจริงๆ แล้ว นม (วัว) เป็นอาหารที่มีประโยชน์แค่ไหน

นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ (แคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งมีมากในนม) และวิตามิน (วิตามินเอ บี1 บี2 ซี และดี) นมวัวเพียงหนึ่งถ้วยตวง ก็มีแคลเซียมสูงถึง 280 มิลลิกรัม  จึงได้รับการส่งเสริมให้ดื่ม โดยเฉพาะในวัยเด็กเพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์  รวมถึงหญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร และในวัยหมดระดู เพื่อช่วยป้องกันโรคกระดูกผุได้

การที่คนไทยมีปัญหาภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแลคโตสที่อยู่ในนมนั้น ทำให้ไม่ค่อยจะดื่มนมกัน เลยไม่ค่อยจะได้ประโยชน์จากนมเต็มที่ สถิติการดื่มนมของประชากรไทยอยู่ที่ 12 ลิตร/คน/ปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณการดื่มนมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ 120 ลิตร/คน/ปี สหภาพยุโรป 70 ลิตร/คน/ปี หรือแม้แต่มาเลเซีย 50 ลิตร/คน/ปี ทั้งที่การผลิตน้ำนมวัวในประเทศไทยมีแนวโน้มในการผลิตเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ปัญหาการดื่มนมวัวไม่ได้ของประชากรผู้ใหญ่ในประเทศไทย สามารถแก้ไขได้ด้วยการค่อยๆ ดื่มนมทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายเริ่มสร้างน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลในนมใหม่ หรือหันไปดื่มนมพร่องแล็กโทส หรือดื่มนมเปรี้ยวแทน เชื้อจุลิน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่