ธรรมะเพื่อความเจริญงอกงามของปัญญา

จิตตภาวนา
พุทธศาสนาต้องการจะดับทุกข์ด้วยการอบรมจิต ให้เป็นจิตชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้และความทุกข์เกิดไม่ได้ มีใจความสำคัญอย่างนี้
จิตตภาวนา หมายความว่าความประพฤติ กรทำที่ทำให้จิตเจริญ สูงขึ้นมาในลักษณะที่ความทุกข์เกิดไม่ได้ เรียกว่าดับทุกข์ทางจิตให้ เป็นการทำจิตที่ทำให้ความทุกข์เกิดไม่ได้ ปฏิเสธเรื่องความสงสัยอื่นใดหรือ ปัจจัยภายนอกใดๆ เรื่องผีสาง เทวดา พิธีรีตองต่างๆ ไม่รวมอยู่ในจิตตภาวนาหรือวิธีดับทุกข์ของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ความเชื่อที่มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านเห็นว่าดับทุกข์ไม่ได้จริง เป็นสิ่งหลอกๆ
อาตมาจึงสรุปความว่า ไสยศาสตร์ เหล่านั้นเก็บไว้เพียงเพื่อประโยชน์ของคนปัญญาอ่อน มีคนปัญญาอ่อนในโลกมากเท่าใด ก็เก็บไสยศาสตร์เหล่านั้นให้เขาฟังก่อน จนกว่าเขาจะมีปัญญาแก่กล้า จึงจะสามารถรับเอาวิธีปฏิบัติตามพุทธศาสนาได้โดยถูกต้อง
ไสยศาสตร์ชื่อก็บอกว่าไสยะ แปลว่าหลับ เป็นศาสตร์ของคนที่ยังหลับอยู่ พุทธศาสตร์ พุทธแปลว่าตื่นนอน ตื่นจากหลับ เป็นศาสตร์สำหรับคนตื่นแล้ว ไสยศาสตร์คือศาสตร์ของคนหลับ หลับก็ไม่มีสติปัญญาเหมือนเช่นตื่น ผู้ที่ถือไสยศาสตร์ยังมีมากกว่าผู้ที่ถือพุทธศาสตร์เป็นธรรมดา เพราะพวกที่ไม่มีความรู้เพียงพอไม่มีสติปัญญา จะมีมากกว่าผู้ที่ลืมหูลืมตาตื่นขึ้นมาเป็นพุทธบุคคล คนที่ตื่นแล้ว
ดังนั้นจึงมีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับคนที่ตื่นแล้ว มิใช่สำหรับคนที่ยังหลับอยู่ การอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ การทำ พิธีรีตอง เพื่อกำจัดความทุกข์หรือเพื่อให้หมดบาปหมดกรรม ให้หมดทุกข์เป็นเรื่องของคนหลับอยู่ ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่าความทุกข์เกิดจากอะไร ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่ากรรมคืออะไร จะสิ้นไปด้วยวิธีใด
สำหรับจิตตภาวนา เป็นการทำจิตให้เจริญ มีพระพุทธภาษิตกล่าวไว้ชัดว่า จิตนี้ตามธรรมชาติเป็นประภัสสร ไม่เศร้าหมองไม่มีความทุกข์ แต่เมื่อมีอุปกิเลสเกิดขึ้นมาในจิตก็จะทำให้เศร้าหมองไปจนกว่าอุปกิเลสจะดับไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อหมดอุปกิเลสไม่เข้ามาจิตใจก็จะประภัสสรและผ่องแผ้ว ผู้ใดรู้ความจริงในข้อนี้จิตตภาวนาจะมีแก่ผู้นั้น ผู้ใดไม่รู้ความจริงข้อนี้ จิตตภาวนาจะไม่มีแก่ผู้นั้น
การทำจิตตภาวนา เป็นการอบรมจิตเสียใหม่ จนกระทั่งว่าจิตเศร้าหมองไม่ได้ คือไม่มีกิเลสได้ ก็ไม่มีความทุกข์ การกระทำจิตให้อยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดไม่ได้คือจิตตภาวนา เมื่อทำเสร็จแล้วจิตนั้นจะเป็นจิตที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป เป็นจิตทีได้รับการฝึกฝนอบรมดีแล้วเป็นจิตอยู่ในสภาพที่เต็มไปได้สติ สัมปชัญญะและปัญญา
จิตเต็มไปด้วยสติเมื่อมีอะไรมากระทบ ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ก็มีสติที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีสัมปชัญญะ รู้ตัวอยู่เสมอ มีปัญญารู้แจ้งตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นอย่างไร ก็สามารถดำรงจิตไว้ในลักษณะไม่ปรุงแต่งให้เกิดความยินดียินร้าย คือกิเลส ให้มีสติสัมปะชัญญะ มีปัญญาอยู่อย่างเพียงพอ ก็สามารถควบคุมจิตไม่ให้มีการปรุงจิตเป็นความยินดียินร้ายที่เรียกว่ากิเลส คือ
จะไม่อยากได้ ในส่วนที่น่ายินดี
ไม่อยากทำลายเสีย ในส่วนที่ไม่น่ายินดี
เมื่อไม่เกิดกิเลส อย่างนี้ก็จะไม่มีกิเลสใดๆ จะเกิดได้ต่อไป จะหยุดที่ผัสสะหรือเวทนา ว่าเป็นอย่างนี้เองตามธรรมชาติ คือพวกนี้มีลักษณะน่ารักน่าพอใจยั่วยวนเป็นที่ตั้งแห่งกาม มันก็แค่นี้เองไม่เอากะ และในลักษณะยินร้ายคือ ไม่โกรธ เคืองขัดใจ ลักษณะเป็นอย่างนี้เอง และไม่เอากับมัน มันก็ไม่มียินดียินร้าย เรียกว่า ไม่มีอวิชชาในส่วนที่น่ารักและไม่มีโทมนัส ในส่วนที่น่าเกลียด ก็จะไม่เกิดกิเลสใดๆ ไม่เกิดความทุกข์
พุทธทาสภิกขุ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่