การทำบุญ หลักการและวิธีการ

การทำบุญ

    บุญเหมือนกับน้ำ เราต้องสะสมน้ำไว้ เมื่อไฟไหม้เมื่อไหร่เราก็เอาน้ำนี้รดไฟ เราต้องกักเก็บน้ำไว้คับขันเมื่อไหร่ก็สามารถมีน้ำใช้เมื่อนั่น เช่นเดียวกับบุญ เราสามารถทำให้เกิดบุญด้วยวิธีการต่างๆ ๑๐ อย่าง ดังนี้

๑.ทานมัย
    ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการให้ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ

สิ่งวัดบุญ
    เราทำบุญจะรู้ว่าได้บุญมากหรือบุญน้อย วัดได้ ๓ อย่างนี้คือ
    ๑. ตัวผู้ให้ มีเจตนาอย่างไร ผู้ให้ต้องมีฐานจิต เจตนาจริงใจต่อกันทั้งผู้ให้และผู้รับ
    ๒. ผู้รับ มีคุณความดีแค่ไหน
    ๓. วัตถุ หรือสิ่งของที่ให้ บริสุทธิ์ สมควร มีประโยชน์เพียงใด


ประเภทการทำบุญ

    การให้นั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือ

    ๑. ปุคคลิกทาน คือ ให้โดยเจาะจง หมายถึง เมื่อเราทำบุญเราเจาะจงถวายกับพระรูปนั่นรูปนี้ หรือเจาะจงให้นายคนนั้น นางคนนี้ เป็นต้น เรียกว่า การให้โดยเจาะจง

    ๒. สังฆทาน คือ ให้โดยไม่เจาะจง หมายถึง เราทำบุญเมื่อเข้าไปในวัด หรือข้างริมถนนเพื่อใส่บาตร เราใส่โดยไม่เจาะจง เป็นรูปไหนก็ได้ โดยมีฐานจิตว่า พระที่มานั่งอยู่นี้เป็นตัวแทนของพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาเป็นลักษณะรับรู้ ที่ช่วยดำรงพระพุทธศาสนาไว้ และช่วยกันสั่งสอนธรรมะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ถ้าทำอย่างนี้จิตใจก็จะกว้างขวาง ทำให้เกิดความอิ่มใจ มีปิติและความสุข การได้ถวายทานนี้ก็เป็นการได้ถวายทานแก่พระศาสนาทั้งหมด ช่วยให้เกิดโอกาสแก่ทุกคนได้รับสิ่งดีๆ ให้พระศาสนาดำรงอยู่

    ตัวอย่างการตั้งฐานจิตเจตนาในการทำบุญ เป็นลักษณะของความดีที่ช่วยดำรงความดี เช่น

    ทำบุญถวายทาน

    "ข้าพเจ้าขอตั้งฐานจิตเจตนาว่า พระที่อยู่ต่อหน้าข้าพเจ้า เป็นตัวแทนของพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยดำรงพระศาสนาให้ยั่งยืนนาน และสั่งสอนธรรมะ ให้โอกาสทำดี เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ชาวโลก และสัตว์โลกทุกชั้นภูมิ"

    ทำบุญห่มผ้าพระธาตุ

    "ข้าพเจ้าขอตั้งฐานจิตเจตนาว่า ขอถวายผ้าห่มพระธาตุผืนนี้ เพื่อแสดงออกถึงเจตนาที่จะทนุบำรุง สืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน และสัตว์โลกทุกชั้นภูมิ"

    ทำบุญฆราวาสทาน คือ การทำบุญกับบุคคลที่เป็นคฤหัสถ์ ไม่ได้บวช แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ

    ๑. ทำบุญกับบุคคลที่ดีพร้อมแล้ว คือ (สงฆ์ในฆราวาส) เราทำบุญกับบุคคลที่มีความพร้อมในการต่อยอดบุญ เช่น อากง  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มูลนิธิการกุศล เป็นต้น เราทำบุญให้อาหารและอื่นๆ แก่ท่าน ท่านก็มีแรง พละกำลังให้โอกาสคนทั่วไปในการทำดี มีการสั่งสอนให้ปัญญา เป็นต้น

    ในการตั้งฐานจิต คือ "เราทำบุญกับเขาเพื่อให้เขาได้ให้โอกาสแก่คนทั่วไปได้ทำดี"

    ๒. ทำบุญกับบุคคลที่ยังดีไม่พร้อม คือ เราทำบุญกับคนที่ไม่ดี เพื่อให้โอกาสแก่เขาที่จะทำดีในการณ์ข้างหน้า

    ความหมายที่แท้จริงแห่งการทำสังฆทาน เป็นบุญที่มากเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่บุคคลที่รับไม่จำเป็นต้องเป็นพระภิกษุสามเณรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงฆราวาสด้วย การที่เราจะทำบุญแล้วให้ได้รับผลบุญที่มากนั้น จะต้องทำกับบุคคลจะนำสิ่งของที่เราให้นั้นไปทำกุศลต่อเราก็จะได้รับผลบุญเหล่านั้นด้วย เพราะว่าพระภิกษุ สามเณร เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งการทำดี ฉะนั้น การทำสังฆทานก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเพียงพระภิกษุ สามเณรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงฆราวาส คฤหัสถ์ทั่วไป ถ้าเราทำบุญกับพระภิกษุ แต่พระภิกษุรับแล้วบริโภคใช้สอยกับตนเองเท่านั้น แต่ถ้าฆราวาสบริโภคใช้สอยแล้วยังเผื่อแผ่ให้กับพระรูปอื่น นำสิ่งของที่ได้รับไปทำกุศล ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากก็จะได้บุญมากกว่าพระภิกษุ สามเณร เป็นต้น

    ยกตัวอย่าง นายดำเป็นคนจิตใจคับแคบ เราไปทำบุญกับนายดำสมมติว่าเราก็จะได้บุญ ๕ คะแนน แต่นายขาวเป็นคนจิตใจกว้างขวางชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ถ้าเราไปทำบุญกับนายขาวเราก็จะได้บุญ ๑๐ คะแนน และเมื่อนายขาวได้กินอาหารที่เราให้แล้วไปทำกุศลช่วยเหลือบุคคลอื่นเราก็จะได้บุญเพิ่ม ๑ คะแนน ตามสัดส่วนของการช่วยเหลือคนอื่น

    ยกตัวอย่าง เราทำบุญให้อาหารคนยากไร้ กับเราทำบุญสร้างศาลาพักร้อนหนึ่งหลัง ความแตกต่างระหว่างบุญหลังการให้แตกต่างกัน เพราะอาหารที่กินไปนั้นมันก็เน่าสลายไป แต่ศาลาพักร้อนยังคงอยู่มากกว่าสิบปี เมื่อมีคนมานั่งศาลาพักร้อน เราก็จะได้บุญ ๑ คะแนน ถ้ามีคนมานั่งทุกวันเราก็จะได้คะแนนบุญทุกวัน

หลักตรวจสอบทาน

    ๑.๑ ก่อนให้ คือ เราต้องตั้งฐานจิต เจตนามีศรัทธาต่อสิ่งที่เราจะให้ มีจิตชื่นชม ชื่นชอบ ยินดี มีตั้งใจจริง ที่ได้กระทำไป

    ๑.๒ ขณะให้ คือ จริงใจ จริงจัง ตั้งใจทำ ไม่มักง่าย

    ๑.๓ หลังการให้ คือ ดำรงรักษาศรัทธาตรงนี้ให้มั่นคง เราต้องมาสำนึก ระลึกถึงว่า สิ่งที่เราทำมีประโยชน์ มีคุณค่า ทั้ง ๒ ฝ่าย และไม่ควรตัดทอนบุญ เช่น ทำบุญแล้วบ่น เสียเงินเยอะแยะ เสียดายของ ตอนนั้นไม่น่าทำเลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการตัดทอนบุญ นึกเมื่อไรบาปก็เพิ่มขึ้น บุญที่เราทำก็พลอยลดลงตามไปด้วยจนบางครั้งตัดทอนบุญจนหมดติดลบไปก็มี ฉะนั้น หลังการทำบุญเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน


ตัวอย่าง วิธีคิดในการตัดทอนบุญ

    ครั้งหนึ่งผมไปทำบุญถวายไทยทานกับพระรูปหนึ่ง ระหว่างที่ถวายนั้นพระท่านสำรวม ให้พรแล้วชื่นใจ แต่ระหว่างนั้นเอง แมวได้กระโดดมาคาบปลาทูไปหนึ่งตัว พระท่านเห็น ด่าแมว ทำให้ผมจิตตก ก่อนหน้านี้ผมมีจิตใจศรัทธาเต็มร้อยเปอร์เซ็น แต่เห็นพระท่านด่าแมว ซึ่งท่านขาดการสำรวม ผมแอบตำหนิพระท่านในใจ ทำให้จิตผมเคลื่อนไปในทางอกุศล ไม่ดี พลาดไป ทำให้ผมได้บาป ๑% เมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็มาชั่งน้ำหนักบุญกับบาปดู ผมทำบุญได้ ๑๐% และได้บาป ๑% หักลบกัน เหลือ ๙% เปอร์เซ็น

    อีกหนึ่งตัวอย่าง มีขอทานคนหนึ่งเดินผ่านหน้าร้านของผม ผมเห็นแล้วสงสาร จึงให้ข้าวมันไก่ไปหนึ่งกล่อง เขาก็เดินไป ๗ ก้าว แล้วนั่งกินข้าวมันไก่ กินได้แค่ ๓ คำแล้วก็ทิ้งข้างถนน ผมก็เลยโกรธเลยด่าไปว่า "ให้ไปแล้วไม่กินให้หมด ต่อไปอย่ามาขออีก"

    แรกๆ จิตของผมเต็มไปด้วยบุญ ได้บุญ ๑๐% แต่ผมไปด่าเขา ทำให้ผมได้บาป ๒% เมื่อมาหักลบกันแล้ว ผมได้บุญแค่ ๘% เท่านั้น

    ฉะนั้น เวลาเราทำบุญ ต้องมีปัญญารู้เท่าทันว่าเป็นจริตของธรรมชาติ ของแต่ละบุคคล อย่าไปตำหนิ ให้รักษาจิตของเราให้มีจิตปรารถนาดีทุกเมื่อ

    จะเกิดตรงนี้ได้ ต้องเกิดความอภัยได้


๒. สีลมัย

    สีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล คือ ประพฤติสุจริต สำรวมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยเป็นปกติ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หมายถึง สิ่งที่ควรละ มีด้วยกัน ๓ ทาง คือ

    ๒.๑ ทางกาย คือ ละเว้นจากการเบียดเบียน ละเว้นการเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

    ๒.๒ ทางวาจา คือ ๑) งดเว้นจากการพูดเท็จ ๒) งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๓) งดเว้นจากการพูดคำหยาบ ๔) งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

    ๒.๓ ทางใจ คือ ๑) อนภิชฌา คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ๒) อพยาบาท คือ ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๓) สัมมาทิฐิ คือ เห็นชอบคลองธรรม

    วาจาที่ก่อให้เกิดบุญ คือ วาจาภาษิต วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ ๑) วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๒) เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๓) เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๔) เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๕) เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต


---------------------------

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่