☀️คำว่า "สังฆทาน" เป็นแค่ถังเหลืองๆไหม ท่านขาดเหลืออะไรถามท่านได้ไหม ? ☀️

กระทู้สนทนา


แล้วเราจะจัดเองตามที่ท่านต้องใช้จริงใส่ในภาชนะอื่น ได้ไหม  มีคำตอบครับ พระท่านมาตอบให้แล้ว (ยาวหน่อย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ)
ขอบคุณที่มา : https://www.facebook.com/JohannesburgMeditation?mibextid=ZbWKwL

☀️การถวายสังฆทานนั้น โดยทั่วไปมักคิดว่าคือการนำถังสีเหลือง ๆ มาใส่จตุปัจจัยแล้วนำไปถวายแด่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูปเท่านั้น

แต่ความจริงแล้ว “สังฆทาน” มาจากภาษาบาลีคือคำว่า "สงฺฆทาน​" มีอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นชื่อเรียกการถวายทานแด่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก ดังที่พระพุทธองค์​ตรัสไว้ใน “ทักขิณาวิภังคสูตร” ว่าการถวายสังฆทานแด่คณะภิกษุสงฆ์ โดยไม่เฉพาะเจาะจง มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแด่พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดหรือถวายแด่พระพุทธเจ้า แม้ในสมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่

ทานพิธีที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นแต่มีคุณลักษณะ​เป็น​สังฆทาน ก็จัดว่าเป็นสังฆทานได้ เช่น การตักบาตร,  การถวายผ้ากฐิน,  การถวายผ้าป่า เป็นต้น

☀️ความหมายและลักษณะของสังฆทาน☀️

การถวายสังฆทาน หมายถึง​ การถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแด่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกถวายเฉพาะเจาะจงแด่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง กล่าวคือ ถวายเข้าเป็นกองกลางแด่คณะสงฆ์ภายในวัด เพื่อคณะสงฆ์ดำเนินการจัดสรรกันแด่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ต้องการตามความเหมาะสมต่อไป

หรือถวายแด่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง โดย "ไม่เลือก" ว่าจำเพาะถวายรูปนั้นรูปนี้ เช่น เป็นพระผู้ทรงพรรษา, พระรูปที่เรารู้จัก หรือพระรูปที่ตนศรัทธา ที่เป็นตัวแทนแห่งสงฆ์ (ได้รับเผดียงสงฆ์) หรือถวายโดยมีเจตนาเพื่อบำรุงพระสงฆ์สามเณรโดยไม่เลือกผู้รับ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน เช่นการตักบาตรโดยไม่เลือกพระผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือสามเณรก็ตาม

ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า การจะเป็นสังฆทานหรือไม่นั้น มีหลักสำคัญอยู่ที่การถวายสิ่งของเพื่อบำรุงสังฆบริษัท หรือส่วนรวมของหมู่คณะ​ของสงฆ์​ โดย​ไม่เลือกปฏิบัติ​ ​เพื่อ​ความเหมาะสมด้านการบริหารปัจจัย​ 4​ ของพระสงฆ์ในการบำเพ็ญสมณธรรมนั่นเอง

มีข้อควรพิจารณาประการหนึ่งว่า ในพระวินัยถือว่า ภิกษุสงฆ์ 4 รูปขึ้นไปนับเป็นองค์สงฆ์ แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาของพระพุทธเจ้าในทักขิณาวิภังคสูตรแล้ว หากแม้จะเป็นพระภิกษุถึง 4 รูป แต่เป็นพระที่ผู้ถวายเจาะจงระบุชื่อบุคคลมา ก็หานับว่าเป็นสังฆทานไม่ คงนับเป็นปาฏิบุคลิกทาน คือทานที่ระบุพระภิกษุผู้รับถวายทาน

☀️จุดเริ่มต้นในการทำสังฆทาน☀️

เหตุที่ทำให้พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน มาจาก "ทักขิณาวิภังคสูตร" ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังฆทานว่า

สมัยที่พระสัมมา​สัม​พุทธเจ้ายังทรงพระชมน์อยู่ ขณะทรงประทับอยู่ ณ วัดนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านางของพระพุทธเจ้า มีศรัทธาแรงกล้าได้ทอผ้าจีวรด้วยพระองค์เองอย่างประณีตเพื่อนำมาถวายแด่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงได้ปฏิเสธที่จะรับถวายผ้าจีวรดังกล่าว โดยได้ตรัสให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีนำผ้าดังกล่าวไปถวายแด่กองกลางคณะสงฆ์ เพราะทรงเห็นว่าการถวายผ้าเป็นสังฆทานจะได้อานิสงส์มากกว่า เพราะ​การถวายแด่พระพุทธเจ้า หรือพระภิกษุหรือบุคคลทั่วไป ทรงจัดเป็นปาฏิบุคลิกทาน​ อีกทั้งการถวายเป็นสังฆทานนั้นย่อมถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งพระสงฆ์ทั้งปวงด้วย

☀️จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงปาฏิบุคลิกทาน (ถวายเฉพาะเจาะจง) มีการถวายทานแด่พระพุทธเจ้าเป็นต้น
การให้ทานที่​นับเป็นการทำบุญ​ปาฏิบุคลิกทานสามารถแบ่งเป็น 14 อย่าง ดังนึ้

1.ให้ทานในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
2.ให้ทานในพระปัจเจกพุทธเจ้า​
3.ให้ทานในผู้เป็นพระอรหันต์
4.ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง
5.ให้ทานแก่พระอนาคามี
6.ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง
7.ให้ทานแก่พระสกทาคามี
8.ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง
9.ให้ทานในพระโสดาบัน
10.ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง
11.ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม
12.ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล
13.ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล
14.ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน

☀️การให้ทานทั้ง 14 ประการนี้ มีอานิสงส์​แตกต่าง​กัน​ดังนี้

1.บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า
2.ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณา ได้พันเท่า
3.ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
4.ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
5.ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้
จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า​ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัม​พุทธเจ้า​

☀️พระพุทธ​องค์​ได้​ตรัสถึงทักษิณาทานที่ถวายแด่พระสงฆ์ (สังฆทาน) ว่ามี 7 ประการ คือ

1.ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย (ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

2.ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

3.ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

4.ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วเผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้ว

5.ให้ทานโดยให้คณะสงฆ์เป็นผู้เลือกพระภิกษุและพระภิกษุณีที่จะรับถวายทานเอง เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้ว

6.ให้ทานเผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้ว

7.ให้ทานโดยได้ตรัสว่า แม้ในอนาคตกาล การถวายสังฆทานแม้แก่พระสงฆ์ผู้ทุศีล ก็ยังนับว่ามีผลนับประมาณมิได้ และปาฏิปุคลิกทานทั้งปวงในบุคคลใด ๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นอาทิ ก็ไม่สามารถมีอานิสงส์​ผลบุญ​สู้สังฆทาน 1 ใน 7 ประการดังกล่าวได้เลย

จากพระพุทธดำรัสดังกล่าว ทำให้พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธานิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทานเพราะมีอานิสงส์มาก

อีกประการหนึ่งการที่สังฆทานมีอานิสงส์มากกว่าปาฏิบุคลิกทานธรรมดาเพราะการที่จัดถวายทานเป็นส่วนรวม (คณะสงฆ์) ย่อมมีประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามากกว่า เพราะการถวายสังฆทานเป็นการกระจายวัตถุทานอันจะพึงได้แด่คณะสงฆ์ทั้งปวงโดยไม่จำกัดหรือเลือกปฏิบัติแก่รูปใดรูปหนึ่ง

☀️ดังนั้น การที่พระพุทธองค์ตรัสยกย่องสังฆทานจึงนับได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการไม่เลือกปฏิบัติทางด้านบุคคล ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เพื่อเป็นประโยชน์ผาสุกโดยความเหมาะสมและความเป็นธรรมทางด้านปัจจัย 4 แก่พระสงฆ์ทั้งปวง ผู้เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

☀️ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสังฆทานในปัจจุบัน☀️

ในปัจจุบันมักเรียกกันอย่างเข้าใจผิดว่าการถวายสังฆทานคือการถวายสิ่งของโดยใส่ถังหรือบรรจุภัณฑ์สีเหลืองและผู้ทำทาน​ไม่ได้​พิจารณาถึง​ประเภทและคุณภาพของ​วัตถุ​ทานที่เหมาะสม​ต่อสมณบริโภค​และการใช้สอยเท่าที่ควร​ คิดเพียงหาสิ่งของมาถวายพระสงฆ์โดยสิ่งของนั้นจะเป็นสิ่งของชนิดใดก็ได้

ดังนั้น การทำบุญให้เป็นสังฆทานที่มีคุณภาพโดยแท้จริงควรคัดสรรนำไปถวายโดยพิจารณาจากความต้องการและประโยชน์ของพระสงฆ์ ในด้านปัจจัย​ 4,​เพื่อเกื้อหนุน​การบำเพ็ญ​สมณธรรมและการเผยแผ่ธรรม​ของคณะพระภิกษุ​สงฆ์​มากกว่าประโยชน์คือความสะดวกของผู้ถวาย ดังที่มีผู้แนะนำการถวายสังฆทานว่าควรประกอบไปด้วย

1.ปุพพเจตนา หรือ มีความตั้งใจในการทำบุญโดยการเลือกซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์แท้จริงแด่พระสงฆ์ เช่น สังฆทานมีแต่สิ่งของมีคุณภาพ หรือสิ่งของที่พระสงฆ์ต้องการ

2.มุญฺจเจตนา คืออาการที่ถวายเป็นสังฆทานถูกต้อง เช่น ถวายเข้ากองกลางของวัด หรือถวายแก่ตัวแทนของพระสงฆ์เพื่อนำสิ่งของไปแจกจ่าย หรือเผดียงสงฆ์ไม่เลือกระบุพระสงฆ์ผู้รับ โดยการถวายดังกล่าวควรทำเจตนาในการถวายให้มุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายส่วนบุคคล

3.อปราปรเจตนา เมื่อถวายแล้วก็ทำจิตใจให้ปลื้มปีติ ใจมีความสุข นึกถึงการถวายสังฆทานดังกล่าวเมื่อใดก็มีความยินดีไม่เกิดความเสียดาย

☀️พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ​อันเยี่ยม​ เป็น​ผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ไพศาล เหมือนทะเลที่ยากจะคาดคะเนที่จะคำนวณปริมาณน้ำได้ ​พระสงฆ์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์เป็นผู้นำแสงสว่างแห่งพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศแล้วมาชี้แจงแสดงธรรม​ ใครก็ตามที่ได้ถวายทานแด่หมู่สงฆ์ชื่อว่าเป็นทานที่ถวายดีแล้วและบูชาโดยชอบแล้ว ทานนั้นจัดเป็นสังฆทานที่มีผลมากมาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับหมู่คณะส่วนรวมมากกว่าส่วนบุคคล หากมองในระยะยาว ถ้าปรารถนาให้พระศาสนามั่นคงเป็นที่พึ่งของมวลมนุษยชาติในภายหน้าแล้ว ก็ต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนจากหมู่สงฆ์ทั้งหมด​ทั้งมวล​ มิใช่จากบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพราะการสืบทอดพระศาสนาเป็นภารกิจของศาสนทายาททุกรุ่นทุกคน

ด้วยข้อความที่กล่าวมาข้างต้น​นี้ จึงเป็นเหตุผล​ว่า ทำไมการถวายด้วยใจที่มุ่งไปในหมู่สงฆ์จึงได้ผลบุญมากกว่าการเลือกถวายรายบุคคล การเลือกถวายเจาะจงรายบุคคล​ แม้ว่าเป็นผู้มีคุณวิเศษมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่เทียบอานิสงส์แห่งการถวายทานที่มุ่งตรงต่อหมู่คณะสงฆ์ได้เลย

☀️ดังนั้น​ เมื่อตั้งใจ​จะถวายทานครั้งใด พึงถวายเป็นสังฆทานแด่คณะสงฆ์​  จะบังเกิด​อานิสงส์​อันประเสริฐ​ ได้ทั้งบุญบารมีเต็มที่​ ได้ทั้งประโยชน์ต่อพระพุทธ​ศาสนาและเกื้อกูล​คนรุ่นหลังที่จะมีพระธรรม​คำสั่งสอน​ของพระบรมศาสดา​สัมมาสัมพุทธเจ้า​สืบทอดต่อไปในอนาคต​กาลอีกยาวนาน.🙏

🔰ที่มา : “ทักขิณาวิภังคสูตร”
พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค🔰
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่