Unseen Fujisan ภูเขาไฟฟูจิ หยดน้ำตา ความสุข และภาพเงา

ปีนภูเขาไฟฟูจิ 4-5 สิงหาคม 2561 ฤดูร้อน
Fujisan climbing4ー5 Aug 2018 in a summer
富士山登ること8月4ー5日, 夏
....และแล้ววันนี้ก็มาถึง วันที่ได้มาเล่าประสบการณ์การปีนภูเขาไฟฟูจิ...เราอยากเขียนเอาไว้เพื่อเก็บบันทึกในความทรงจำ และนอกจากนั้น อยากจะให้ข้อมูลเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการเตรียมร่างกายให้กับเพื่อนๆที่คิดจะไปพิชิตภูเขาไฟที่สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่นแห่งนี้สักครั้ง ภาพต่างๆจะอยู่ในข้อความด้านล่างนะคะ ถ้าเพื่อนๆอ่านจบตามไปดูภาพต่อจะได้อรรถรสมากขึ้นค่ะยิ้ม

ไปปีนภูเขาไฟฟูจิครั้งนี้เราไปเพื่อร่วมวิจัยเกี่ยวกับการวัดความดันโลหิตขณะที่ร่างกายกำลังมีความตึงเครียดทางกายอย่างสูง เช่น การปีนภูเขาสูง ทำให้ผู้ร่วมวิจัยรวมทั้งตัวเราต้องปีนขึ้นรวดเดียวแบบพักเพียงเล็กน้อยเป็นระยะเวลานานมากถึง 8 ชั่วโมงติดต่อกันในขาขึ้นโดยปีนจากสถานีชั้นที่ห้าไปถึงจุดที่สูงที่สุดของภูเขาซึ่งคือศูนย์วิจัย Mt.Fuji Automated Weather Station, Japan Meteorological Agency ซึ่งสูงถึง 3776 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และจะเป็นที่ที่เราจะนอนค้างในคืนนี้ ณ ที่แห่งนี้โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถเข้าไปได้นอกจากเป็นนักวิจัยที่ต้องทำงานวิจัยเกี่ยวกับภูเขาไฟูจิและทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้านานทีเดียว ต้องขอบคุณเซนเซ หรืออาจารย์ที่ยอมให้เราไปด้วยในครั้งนี้ (ในฐานะหนูทดลอง 55) สำหรับเส้นทางการปีนภูเขาไฟฟูจินั้นมีหลายทาง ซึ่งทางที่กลุ่มของเราเลือกชื่อ Yoshida trail เป็นเส้นทางที่โหดน้อยที่สุดสำหรับมือใหม่ ระหว่างทางมี mountain hut ที่ให้บริการที่พัก ขายน้ำ อาหาร และแวะเข้าห้องน้ำได้ (ครั้งละ 200 เยน)

ผู้ร่วมวิจัยมีทั้งหมดหกคนเป็นอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปีนเขาสองคน เพื่อนหมอผู้หญิงที่ปีนเขาเก่งมากหนึ่งคน และที่เหลืออีกสามคนรวมทั้งเราถือว่าเป็นระดับเริ่มต้น เราทุกคนต้องติดเครื่องวัดความดันกับตัว ซึ่งเครื่องตั้งอัตโนมัติให้วัดความดันทุกครึ่งชั่วโมง นอกจากนั้นต้องวัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วทุกครึ่งชั่วโมงด้วย ต้องขอบคุณนะที่ได้วัดเพราะมันเป็นแค่เสี้ยวนาทีเดียวที่ได้หยุดพักระหว่างการปีนขึ้น
การปีนนี้ทั้งเหนื่อยและหนัก นอกจากนั้นเรายังต้องไปนอนที่จุดสูงสุดของภูเขาไฟฟูจิ มีเพื่อนแพทย์คนหนึ่งถึงกับป่วยเป็นโรค Mountain sickness แต่อาการยังพอทุเลาหลังจากได้ออกซิเจนเราจึงไม่ต้องรีบปีนลงในคืนนั้นและได้นอนพักถึงเช้า เราต้องเกริ่นก่อนว่า เราเองตอนอยู่เมืองไทยไม่ใช่ style outdoor อะไรมากมาย ก็มันร้อนอะะะ เป็นคนทำงานทั่วไป ฟิตเนสเล่นบ้าง แต่ก็หยุดมานาน สรุปคือผู้หญิงปกติธรรมดา พอมาอยูที่ญี่ปุ่น ช่วงฤดูหนาวมันยาวนานมาก และมันก็มืดเร็วมาก ทำให้เรารู้ว่าแสงแดดนั้นมีค่าแค่ไหน 4 เดือนฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แสงแดดจ้าๆฟ้าสีฟ้าจัดๆทำให้เราออกไปเดินป่าปีนเขา สุดท้ายกลายเป็นชอบ แต่เราเดินป่าเน้นชมธรรมชาติ ปีนเขาก็ไม่สูงมาก เขาสวยๆมักจะมีหนทางแบบ ปีนขึ้น---ปีนลง---ทางราบ----ชมความงามของป่าไม้ สายน้ำ----สลับกันไป แต่อย่าหวังว่าจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นเมื่อปีนภูเขาไฟฟูจิ มันคือการปีนขึ้นๆๆๆๆๆๆๆ และขาลงก็คือลงๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ความงดงามที่จะได้ก็คือภาพท้องฟ้าที่อยู่เบื้องหลังของตัวเรา แต่ถ้าใครชอบหินมากๆ ก็จะได้เห็นหินเต็มๆ เพราะมีแต่หินภูเขาไฟทั้งนั้นเลย ภาพด้านล่างคือปากปล่องภูเขาไฟค่ะ ยิ้ม
และนี่คือฝุ่นที่เช็ดออกมาจากหน้า ขนาดใส่แว่นใส่แมสก์จัดเต็มขนาดนี้
ขณะปีนขึ้นอย่างเหน็ดเหนื่อยเราก็อดคิดไม่ได้นะว่า ทำไมคนถึงอยากมาปีนภูเขานี้ คิดได้ข้อนึงคือผู้คนที่มาปีนภูเขาไฟฟูจิมักจะหวังที่จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นซึ่งก็น่าจะเป็นจุดแรกของประเทศที่มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น "พระอาทิตย์ขึ้นที่จุดสูงสุดของแดนอาทิตย์อุทัย"มันก็ฟังดูมี passion ดีนะเนี่ยยย เราเองถึงแม้จะมาทำงานกับครูแต่ก็มีความหวังเช่นกัน (ขอเป็นของแถมให้หนูเต๊อะ) แต่นั่นปะไร! เมื่อเดินจนเกือบถึงศูนย์วิจัยครูบอกว่าพวกเราจะไม่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นในวันพรุ่งนี้นะ เนื่องจากศูนย์วิจัยนี้ไม่ใช่จะเข้าหรือออกได้ตามใจต้องมีเจ้าหน้าที่มาพาเข้าและออก หน้าต่างมีแต่บานเล็กๆและติดฝ้า ซึ่งพวกเราไม่อยากรบกวนเจ้าหน้าที่ตอนตีสี่ให้มาพาออกไป เราเองก็ช๊อกสิคะะะ แต่ต้องทำใจ(ให้ได้)ว่ามาทำงาน(และปีนขึ้นมาเหนื่อยมากกกก ก ไก่ล้านตัว) ถึงจุดนี้ร่างกำลังจะสลาย จะปล่อยให้ใจสลายไม่ด้ายยยยย ทำงานๆๆๆๆ

หุหุหุ เมื่อจิตเป็นกุศลย่อมส่งผลบุญให้เราได้สิ่งดีดี เจ้าหน้าที่แสนจะใจดีเข้ามาถามว่าอยากดูพระอาทิตย์ตกไหม เขาจะพาเดินไปดูด้านหลังศูนย์ตอนหกโมงเย็น พวกเราเฮโลกันไปหมด ช๊อกที่ 1 ด้านหลังศูนย์คือมีชานคอนกรีตยื่นออกมาประมาณ 2 ฟุต ไม่มีที่กั้น ถ้าตกก็คือตกเขา ช่างมัน อยากไปดูอะ ชีอกที่สอง เมฆหนาตัวมากทำให้เราไม่เห็นพระอาทิตย์ตก คุณลุงคงเห็นใจ พอกลับเข้ามาก็ถามว่างั้นอยากดูพระอาทิตย์ขึ้นไหม ถ้าอยากดูพรุ่งนี้ตีสี่เค้าจะพาออกไป (กรี๊ดดดดด ดังๆในใจ) ทุกคนหันมามองเราเป็นสายตาเดียวว่านี่ไงมีคนไทยหนึ่งคนนางอยากไปดูมาก (ใช่สิอะไรอะไรๆก็อ้างกะเหรี่ยง รู้หรอกว่าทุกคนก้ออยากไปดูอะะ) เรายิ้มกว้างและบอกว่า "ไฮ้! โอเนไงชิมัสสสสส" = ไปค่ะอิชั้นอยากไปมากกกกกกก+++
เช้าวันรุ่งขึ้นเราจึงได้ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นสมใจอยาก และเมื่อเปิดศูนย์วิจัยออกมาตกใจกับสิ่งที่ได้เห็นคือนักท่องเที่ยวมากมาย ที่ปีนเขามาช่วงกลางคืนเพื่อที่จะมารุ่งเช้าที่หน้าศูนย์วิจัยนี้ มันมืดมากนะ ทุกคนต้องใส่ไฟฉายแบบ head light แต่พวกเขาก็ยอมฝ่าความชันและความมืดมาเพื่อสิ่งนี้ คือมาชมพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดจุดนี้ เราได้แต่คิดว่าเราช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้มาอยู่ที่นี่ นอนที่นี่ ที่ๆสูงที่สุดของภูเขาไฟฟูจิ จะมีสักกี่คนที่ได้มานอนตรงนี้ จริงๆก็คือน่าจะน้อยมากๆๆ (กรี๊ดในใจกับความโชคดี แต่สีหน้าคือขรึมๆค่ะ ฟอร์มไว้ก่อน 5555)
เท่านั้นยังไม่สุด เจ้าหน้าที่แสนใจดีเขาก็บอกพวกเราอีกว่าช่วงประมาณตีห้าครึ่งด้านหลังของศูนย์วิจัยซึ่งเป็นทิศตะวันตกจะมีเงาของภูเขาไฟฟูจิที่ทอดตัวลงบนเมฆ (เกิดจากพระอาทิตย์ที่ขึ้นทางตะวันออกสาดกระทบไปที่ภูเขาไฟฟูจิทำให้เกิดเงาที่ทิศตะวันตกนั่นเอง) ตอนแรกเราก็คิดภาพไม่ออกนะว่าภูเขาลูกใหญ่ๆจะเห็นเงาแบบไหน แต่เมื่อเราได้เห็นภาพนั้นถึงกับน้ำตารื้น เพราะว่านั่นคือเงาของภูเขาไฟฟูจิจริงๆและเราคิดว่าในชีวิตนี้อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว ลองคิดดูนะว่าภูเขาไฟฟูจิลูกใหญ่ๆ ถ้ามีเงาที่ทอดไปตามบ้านเมืองหรือผืนป่าเราจะมองไม่เห็นเป็นรูปภูเขาไฟฟูจิหรอก แต่เงาที่ทอดตัวลงบนเมฆนั้นเห็นเงาเป็นรูปภูเขาไฟฟูจิอย่างคมชัด ขยี้ตาแล้วก็ยังชัดเจน... ครูคะ คุณเจ้าหน้าที่คะ ทุกคนคะ ขอบคุณมากๆนะคะ และตอนนี้อยากจะเอามาให้เพื่อนๆคนไทยได้ดูด้วยกันนะคะ เพราะคิดว่าเป็น unseen Fujisan อย่างแท้จริง คือภาพนี้ค่ะ
ถึงจุดนี้ (endorphin ฮอร์โมนแห่งความสุขกำลังทำงาน) ความคิดของเราก็คือถ้ามีเพื่อนคนไหนอยากจะมาปีนภูเขาไฟฟูจิและอยากให้เราพามาเราก็ว่าน่าจะพอได้ แต่ต้องพักระหว่างปีนนานและบ่อยหน่อย ไม่ใช่ขึ้นรวดเดียวถึงยอดเขาแบบที่เราขึ้นมา และควรจะนอนที่สถานีแปดแล้วค่อยตื่นมาปีนตอนตีสองเพื่อไปที่ยอดเขาแล้วก็ดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนตีสี่...สำหรับร่างกาย ดีกว่ากันเยอะเลย
หลังจากไปดูเสร็จเรียบร้อย ก็ทานข้าวต้ม (แบบที่เติมน้ำลงไปในถุงแล้วข้าวสุกคล้ายๆโจ๊กคนอร์) 6.00น. เอาล่ะ ได้เวลาลงแล้ว ตามเคย เราต้องลงแบบทำเวลา พักน้อยมากเฉพาะเวลาเครื่องวัดความดันทำงาน ทางลงนั้นแสนจะลาดชันและถนนหนทางเต็มไปด้วยก้อนหินที่เกิดจากภูเขาไฟค่อยค่อยกร่อนออกมา มันลื่นมากและการเดินต้องใช้วิธีงอเข่าแล้วค่อยค่อยเดินเพื่อทรงตัว ใช้ poles หรือไม้คำยันช่วยพยุงตัว ประมาณว่าต้องทำท่า squat ตลอดเวลาไม่งั้นอาจจะล้มขลุกๆๆๆลงไปได้ง่ายๆ...ก่อนมาปีนเราอ่านกระทู้มาก็เยอะนะ แต่ความรู้สึกจากการอ่านมันเทียบไม่ได้กับการมาเผชิญเองจริงๆ มันหนักกว่ามาก เดินมาได้สักครึ่งทางก็เกิดความคิดใหม่ว่า ถ้าเพื่อนของเราคนไหนที่ไม่ได้อยากจะมาปีนมากจริงๆ หรือหลงไหลกับการเห็นพระอาทิตย์ขึ้นมากๆๆๆๆหรือชอบหินภูเขาไฟแบบสุด ก็อย่ามาเลยคงไม่ไหวกับทางลง....มันเอาการนะ ยังมีภูเขาสวยๆในญี่ปุ่นอีกมากมายจริงๆที่น่าปีน เช่น Japan Alps ซึ่งเราจะไปแน่นอน และจะมารีวิวนะ
สุดท้ายพวกเราก็ลงมาถึงสถานีที่5จนได้ ใช้เวลาขาลงไป 4 ชั่วโมง (น้อยกว่าขาขึ้นเพราะแรงโน้มมถ่วงของโลกช่วยทำงาน) เติมพลังด้วยราเมงและขึ้นรถบัสเพื่อไปต่อรถไฟกลับบ้าน เย็นๆก็เอกเขนกพิมพ์บันทึก เพราะเวลาส่งรูปจะได้อ่านสนุกๆยิ้ม มาลุ้นกันว่าพรุ่งนี้ร่างจะพังกี่มากน้อย!!!

และสิ่งสุดท้ายจริงๆที่อยากฝากไว้ คือการเตรียมร่างกาย ที่เราขอแนะนำเพื่อนๆนะคะ

การเตรียมความพร้อมของร่างกายเมื่อต้องขึ้นที่สูง
ภาวะป่วยจากการอยู่ที่สูง (high altitude sickness) หรือ acute mountain sickness (AMS) เกิดขึ้นเมื่ออยู่ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3000 เมตรขึ้นไปค่ะ ซึง Mt. Fuji นั้นสูงกว่าระดับน้ำทะเล 3776 เมตร ภาวะนี้อาจจะเป็นกับใครก็ได้ ไม่สำคัญว่าจะเเข็งแรงหรือฟิตแค่ไหน ดังนั้นการป้องกันคือทานยา Diamox 125-250 mg/day ก่อนไปอย่างน้อย 2-3 วัน (ให้คุณหมอสั่งให้นะคะ ยานี้ร้านยาขายให้ไม่ได้เป็นยาควบคุม จริงๆแล้วมันเป็นยาลดความดันในลูกตาค่ะ แต่ส่งผลดีในการป้องกัน AMS) และก็ต้องทานยาทุกวันตลอดเวลาที่อยู่ที่สูงค่ะ ทานยานี้แล้วบางคนอาจจะปวดฉี่บ่อยนิดนึง ต้องดื่มน้ำให้พอด้วย แต่ตอนเราทานก็ไม่มีอาการใดๆ
และเมื่อไปถึงที่สูงในวันแรกต้องให้ร่างกายปรับตัวก่อน อย่าเพิ่งออกแรงทำอะไรมาก ควรอยู่ที่พัก 3-4 ชม แรก แบบอยู่เฉยๆพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายปรับตัว ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าขาดน้ำ ระหว่างการเดินทางค่อยๆจิบไปเรื่อยๆ
อาการที่น่าสงสัยว่าตัวเองจะเป็น AMS คือ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะหายใจไม่อิ่มมากๆเนี่ย ถ้าเริ่มมีอาการแบบนี้อย่าฝืนให้รีบลงไปที่ๆต่ำกว่า
**สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนขึ้นที่สูงคือ alcohol**
ประกัน สมัครอันที่ครอบคลุม helicopter เผื่อเจ็บป่วย เค้าจะได้เอามารับเราได้
สุดท้าย พกออกซิเจนกระป๋องติดตัวไปด้วยก็ดีค่ะ แถวนั้นก็ะมีขายแต่แพง เมื่อมีอาการของ AMS ต้องลงจากที่สูงโดยด่วน และเอา ออกซิเจนมาดมก่อนระหว่างทางที่ลง ซื้อเวลาก่อนถึงที่ต่ำๆ

สัมภาระอย่าแบกไปหนักมาก เอาไปให้น้อยที่สุดเลย ควรมีเสื้อและกางเกงที่กันฝนได้ มีเสื้อ fleece กันหนาว ติดไปพอ ชุดใส่ขึ้นและลงใส่ชุดเดิมไปเลย (เหม็นช่างมัน 555) ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ไม่ต้องนะ ผ้าขนหนูพอ น้ำไม่ได้อาบอยู่แล้ว พก wet tissue เช็ดตัวไปก็พอ
กล้องใหญ่เลิกคิดเลย หนักไป เอามือถือถ่ายพอ แต่เชื่อเถอะค่ะว่ามันเหนื่อย เราจะถ่ายเฉพาะแถวจุดพักนะแหละ อ้อ ห้ามลืมเเลกเหรียญร้อยเยนไปเยอะๆ เพราะตอนเเวะเข้าห้องน้ำมีค่าธรรมเนียม 200 เยน จ่ายให้พอดีเพราะหยอดเอง ไม่มีทอนค่ะ

สิ่งที่สำคัญกว่าคืออุปกรณ์ปีนเขาต่างหากที่ควรมีให้ครบ สำหรับเพื่อนๆที่ไม่มี การซื้อใหม่แพงมาก แนะนำให้เช่าแบบครบชุดสนนราคาประมาณ 9000 เยนหรือ 3000 บาท มีร้านในโตเกียวค้น google หาเอาได้เลย เขาจะเอาของมาส่งให้ที่สถานีที่ 5 ตามวันนัดหมายค่ะ อย่างกกับอุปกรณ์ แต่ควรงกน้ำหนักกับของเวิ่นเว้อ ด้วยความปรารถนาดี๊ดี เด้อออ
ขอให้เที่ยวให้สนุกและปลอดภัยค่ะทุกคน

ส่วนทริปนี้ได้พาคุณพ่อกับคุณแม่มาด้วยค่ะ สงสัยละซี๊ว่าท่านจะไหวเหรอ ไหวสิคะ มาเที่ยวแบบไม่ต้องออกเเรง อิอิ ตามภาพเลยค่า
แพรว
บันทึกเมื่อ
5-6 สค.2561
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่