เชียงใหม่-วัดปราสาท นำชมจิตรกรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม

วิหารวัดปราสาท
ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่


ภาพด้านหน้า-ลายเส้น

ประวัติการก่อสร้างวัดและวิหาร
..........วัดปราสาทเป็นวัดเก่าแก่ที่มีการก่อสร้างอยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่
ชื่อของวัดปราสาทคงสืบเนื่องมาจากลักษณะของงานสถาปัตยกรรมภายในวัดคือ
ตัวโขงปราสาทที่เป็นสิ่งสำคัญของวัดในภาษาพื้นเมืองอาจเรียกว่า "ผาสาท"
ซึ่งหมายถึง เรือนยอดเป็นชั้น ๆ สำหรับเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์์สิทธิ์
(อุดม รุ่งเรืองศรี, พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง, หน้า 806)
วัดแห่งนี้มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกสมัยโบราณคือ ศิลาจารึกการสร้างวัดตโปธาราม (ร่ำเปิง)
โดยพระนางอตปาเทวีพระอัครมเหสีของพระเจ้ายอดเชียงราย ในปี จ.ศ.854 หรือ พ.ศ.2035
ซึ่งได้กล่าวถึงรายนามของพระภิกษุสงฆ์ที่ได้ทรงอาราธนาเพื่อประกอบพิธี ซึ่งมีนามของพระภิกษุจากวัดปราสาทด้วย ดังข้อความ
"...พระมหาสวามีญาณโพธิ วัดป่าแดง พระมหาเถรสุรศรี วัดมหาโพธิ พระมหาเถรธรรมเสนาบดี มหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาท และพระมหาเถรญาณสาคร อารามิสระ ทั้ง 5 รูปเป็นประธาน..."
(สมหมาย เปรมจิตต์ และคณะ, พระเจดีย์ในลานนาไทย, เชียงใหม่ : ม.ป.ท., 2524, โครงการวิจัยสถาปัตยกรรมลานนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 151)
..........ดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานได้ว่า วัดนี้น่าจะมีมาก่อน พ.ศ.2035 และน่าจะมีการให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้แต่คราวที่เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าก็ยังได้มีการซ่อมแซมเรื่อยมา ดังปรากฏที่คำจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยที่ประดิษฐานในวิหารว่า มีการสร้างเมื่อ จ.ศ.952 หรือ พ.ศ.2133
..........นอกจากนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะวิหารนั้นน่าจะมีการสร้างในช่วงสมัยของพระยาธรรมลังกา (พ.ศ.2384-2386) ซึ่งมีพระยาหลวงสามล้าน (หนานขัติยะ) เป็นประธานในการสร้างวิหาร เจดีย์อุโบสถ ซุ้มปราสาท ในปี พ.ศ.2366 ดังปรากฏในบันทึกว่า
"... วัดปราสาท ข้าก็สร้างพระวิหาร ข้าทานปราสาทโขง พระเจ้าก้นตูวิหารก็ได้ทานแล้ว ..."
(พระครูชินวงศานุวัตร์ (สิงห์โต ชินวังโส), วัดปราสาท และบันทึกพระยาหลวงสามล้าน, เชียงใหม่ : พระสิงห์การพิมพ์, 2528, หน้า 13)
..........ซึ่งสัมพันธ์กับจารึกที่เขียนไว้ที่ฝาผนังด้านทิศใต้ อ่านได้ว่าจุลศักราช 1185 ตัว ปีฉลูสนำกัมโภชทีไกร ไทยภาษาว่าปีก่าเม็ด อันน่าจะเป็นการเขียนเพื่อแสดงให้เห็นถึงปีที่มีการสร้างวิหาร ซึ่งเป็นปี พ.ศ.2366 นั่นเอง
..........ต่อมาวิหารได้มีการซ่อมแซมในปี พ.ศ.2526 โดยนายชัยยา พูนศิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานนำผ้าป่ามาทอดเพื่อบูรณะวิหาร ส่วนตัวปราสาทท้ายวิหารมีการซ่อมแซมในช่วงปี พ.ศ.2469
(พงศ์สิทธิ์ ศิลปสุวรรณชัย, การศึกษาแบบแผนทางศิลปกรรมของวิหารวัดปราสาท ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, (รายงานประกอบการศึกษาเฉพาะเรื่อง 1 ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2539), หน้า 45)
โดยมีครูบาศรีวิชัยเป็นประธาน

ตำแหน่งที่ตั้ง
..........วัดปราสาทตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประตูสวนดอก โดยตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร โดยมีถนนอินทวโรรสเป็นตัวแบ่งเขต ทิศตะวันออกจรดกับบริเวณของวัดผาบ่อง ทิศตะวันตกและทิศใต้จรดกับที่ดินของประชาชน
..........พื้นที่ภายในของวัดเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าวัดทั้ง 4 ด้าน มีการกำหนดขอบเขตวัดด้วยกำแพงวัด ปัจจุบันไม่มีการแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน แนวแกนหลักของสถาปัตยกรรมหลักอยู่ในแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก โดยทางหน้าวัดทิศตะวันออกมีอุโบสถเชื่อมต่อด้วยเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม เรียงต่อด้วยวิหาร ต่อท้ายด้วยปราสาท และตำแหน่งของกุฎีสงฆ์จะเรียงอยู่ทางด้านข้าง ค่อนมาทางด้านท้ายของวิหาร

แผนผังและลักษณะของวิหาร
..........วิหารของวัดปราสาทเป็นวิหารเครื่องก่ออิฐผสมกับเครื่องไม้ทรงปิดทึบขนาดใหญ่ มีผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 3 ห้อง ยาว 6 ห้อง มีการยกเก็จด้านหน้าวิหาร 2 ช่วง ด้านหลัง 1 ช่วง มีการซ้อนชั้นของผืนหลังคา 2 ตับ กระเบื้องมุงหลังคาของเดิมเป็นกระเบื้องดินเผาหรือดินขอ แต่ในการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2527-2528 มานี้ได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาหางตัดเคลือบสีน้ำตาล วิหารหันหน้าออกทางด้านทิศตะวันออก ที่มีลักษณะพิเศษคือมีการสร้างปราสาทเชื่อมต่อท้ายวิหาร อันเป็นลักษณะวิหารแบบหนึ่งของล้านนา
(ภาพ-วิหารวัดปราสาทอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่)
(ภาพลายเส้นรูปแบบและแผนผังของวิหารวัดปราสาท เชียงใหม่)

..........แบบแผนของวิหารวัดปราสาทในลักษณะดังกล่าวนี้จะพบมีอยู่ในเมืองเชียงใหม่หลายแห่ง เช่น ที่วัดอุโมงค์อารยมณฑล วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดป่าแดงมหาวิหาร อุโบสถวัดปราสาท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังพบที่เมืองเชียงแสนที่วิหารวัดพระธาตุปูเข้า อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อีกแห่งหนึ่งด้วย

องค์ประกอบทางโครงสร้างและศิลปกรรมของวิหาร
โครงสร้างของวิหาร
..........โครงสร้างของวิหารเป็นแบบเสาและคานรับน้ำหนัก เสาวิหารทั้งหมดเป็นเสาไม้โดยมีเสาสี่เหลี่ยมอยู่ด้านข้าง และมีเสาไม้กลมเป็นเสาหลวงตั้งเป็นคู่อยู่ตอนกลาง โครงสร้างเครื่องบนจะเป็นระบบที่ทางล้านนาเรียกว่า "ขื่อม้าต่างไหม"

ส่วนฐาน
..........ฐานวิหาร ก่ออิฐถือปูน สร้างยกสูงมาจากพื้นประมาณ 1.25 เซนติเมตร ในช่วงยกเก็จช่วงแรกทำในลักษณะฐานหน้ากระดานเหนือฐานเป็นบัวคว่ำ ท้องไม้และบัวลูกแก้วอกไก่ขนาดใหญ่ ส่วนในช่วงห้องวิหารที่ 2-6 ทำในลักษณะฐานหน้ากระดานรับบัวคว่ำเท่านั้น

ส่วนตัววิหาร
..........ผนังวิหาร เป็นผนังปิดทึบตั้งแต่ช่วงห้องที่ 2 จนถึงตัวปราสาทท้ายวิหาร โดยด้านล่างก่อเป็นผนังก่ออิฐถือปูนสูงขึ้นมาจากฐานประมาณ 1 เมตร เหนือขึ้นมาทำเป็นฝาผนังไม้เข้าลิ้นหรือที่เรียกว่า "ฝาตาผ้า" ปัจจุบันทาสีดำ มีลักษณะคล้ายฝาปะกนของภาคกลาง โดยใช้ลูกตั้ง ลูกนอน และไม้ตาผ้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะการทำฝาผนังลักษณะหนึ่งของล้านนา


(ภาพลักษณะการทำฝาผนังแบบฝาตาผ้าแทรกด้วยหน้าต่างของวิหารวัดปราสาท)

ส่วนห้องแรกสุดและห้องสุดท้ายของวิหารจะก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาวจนจรดแปของหลังคาปีกนก ส่วนทางด้านหน้าจะจรดกับโก่งคิ้ว แบ่งห้องวิหารด้วยการใช้เสาสี่เหลี่ยมคั่นระหว่างห้องต่าง ๆ แต่จากร่องรอยที่ปรากฏพบหลักฐานว่าผนังปูนทึบเหล่านั้นได้ก่อทับไปบนลวดลายปูนปั้นประดับเสา ทำให้สันนิษฐานว่าวิหารแห่งนี้อาจจะเคยเป็นวิหารโถงมาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณเฉพาะห้องด้านหน้าของวิหารหลังนี้แต่เดิมคงจะเปิดโล่งไม่มีบานประตู แต่ต่อมาได้มีการก่อผนังปูนปิดทึบทั้งหมด และทำบานประตูปิดเปิดวิหาร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ส่วนด้านข้างวิหารตั้งแต่ช่วงเสาของห้องที่สองเป็นต้นไปจนถึงท้ายวิหารจะเป็นผนังปูนก่อทึบสูงจากพื้นขึ้นมาประมาณหนึ่งเมตร มีส่วนต่อด้านบนขึ้นไปเป็นฝาผนังไม้ มีช่องหน้าต่าง ส่วนห้องท้ายวิหารเป็นผนังปูนทึบ และมีฐานชุกชีก่อชิดผนังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ บริเวณกึ่งกลางผนังท้ายวิหารจะเจาะเป็นช่องประตูและทำเป็นซุ้มประตูโขงปูนปั้นปิดทอง ถัดจากประตูเข้าไปจะมีทางเชื่อมกับอาคารทรงปราสาทห้ายอด ซึ่งภายในจะเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นที่เป็นประธานของวิหารหลังนี้

..........การตกแต่ง สำหรับฝาผนังภายในมีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายรดน้ำปิดทอง ในห้องสุดท้ายของวิหารทั้ง 3 ด้าน โดยยกเว้นทางด้านทิศตะวันออก คือ

ฝาผนังด้านทิศเหนือ
..........มีการทำลวดลายเป็นภาพพุทธประวัติตอนตัดพระเกศา นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส ตอนมารวิชัยมีแม่พระธรณีมาบีบมวยผม พระพุทธองค์เสด็จลีลาในซุ้มปราสาท พระพุทธองค์ประทับยืนในเจดีย์ พระพุทธองค์ในปางสมาธิเหนือรัตนบัลลังก์ พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี และพระพุทธองค์เทศนา เทวดาและผู้คน เรื่องราวที่ปรากฏสามารถเรียงเรื่องราวจากฝาผนังด้านล่างทางทิศตะวันออกวนขึ้นสู่ด้านบน
(ภาพลายทองของผนังด้านทิศเหนือของวิหารวัดปราสาทเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนต่าง ๆ)

ฝาผนังด้านทิศตะวันตก
..........มีการทำลวดลายเป็นอดีตพุทธประทับนั่งเหนือโพธิบัลลังก์ บนพื้นผนังสีแดงสลับด้วยภาพที่วางบาตรบนขาตั้งยาวแถวละ 10 องค์ จำนวน 3 แถว


ภาพอดีตพุทธเจ้าบนผนังทางด้านทิศตะวันตกของวิหารวัดปราสาท)

การประดับเช่นนี้มีทั้งทางซ้ายและขวาของซุ้มโขง และยังมีภาพอดีตพุทธประทับยืนเหนือแถวอดีตพุทธประทับนั่ง ซึ่งปัจจุบันลางเลือนจนแทบจะมองไม่เห็น

ฝาผนังด้านทิศใต้
..........มีการทำลวดลายเป็นการเทศนาของพระตามศาลาต่าง ๆ และเสด็จปรินิพพาน

(ภาพตอนปรินิพพานและการเทศนาของพระบนผนังด้านทิศใต้)

ซุ้มประตูโขง
..........ลักษณะพิเศษของวิหารหลังนี้อยู่ที่มีการสร้างโขงประตูทางด้านท้ายวิหารติดกับฐานชุกชีที่มีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเว้นช่องตรงกลางเพื่อเป็นทางเดินเข้าไปในห้องปราสาทด้านหลังได้ โดยสร้างเป็นซุ้มโค้ง 2 ชั้น ซุ้มโค้งชั้นล่างทำในลักษณะคล้ายกระบังยอดแหลม ปลายซุ้มโค้งชั้นล่างเป็นรูปหงส์ยืนหันหน้ามองเข้าไปภายในกรอบซุ้ม ในตัวกรอบโค้งมีการนำฝาชามเบญจรงค์มาตกแต่งเป็นใจกลางของดอกไม้ โดยปั้นปูนเป็นกลีบดอกไม้ล้อมรอบจำนวนทั้งสิ้น 3 ฝา ซุ้มโค้งชั้นบนทำเป็นรูปลำตัวมกร 2 ตัวที่ยกหางขึ้นเกี่ยวกระหวัดกันขึ้นไปเป็นยอดซุ้ม และในส่วนช่องว่างที่หางนาคเกี่ยวกันนั้นจะตกแต่งด้วยฝาชามเบญจรงค์ ปลายซุ้มด้านบนนี้เป็นรูปเศียรนาคข้างละ 5 เศียรที่กำลังถูกมกรกลืน กรอบภายในซุ้มโขงกระจกจืน
(หมายถึง กระจกตะกั่วของล้านนาที่มีความบางมาก สามารถใช้กรรไกรตัดเป็นรูปร่างที่ต้องการได้ง่าย)
ที่ตัดเป็นรูปวงกลมและปั้นปูนเป็นกลีบโดยรอบลักษณะคล้ายดอกไม้หรือเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ โดยรอบดวงอาทิตย์นี้มีการปั้นปูนเป็นรูปตัวมอมคลานไล่กัน 6 ตัว ใต้กรอบซุ้มเป็นคานไม้ที่มีการพอกปูนปั้นไว้แล้วปั้นเป็นรูปสัตว์ เช่น สิงห์อยู่ภายในกรอบช่องกระจก 7 กรอบ



(ภาพซุ้มประตูโขงภายในวิหารวัดปราสาท และภาพลายเส้นรายละเอียดของซุ้มประตูโขง และส่วนปลายซุ้มประตูโขงทั้ง 2 ชั้น)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่