พลังแห่งการให้ของกิจกรรม CSR ยิ่งให้ยิ่งได้ ไม่ทำ ไม่ได้


จากข้อมูลของ The Academy of Business Society ศึกษาผลที่เกิดขึ้นเมื่อองค์กรธุรกิจทำกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้โครงการ ‘Impact Measurement and Performance Analysis of CSR’ (IMPACT) ในปี 2010 โดยพัฒนาเครื่องมือในการวัดผลอย่างมีประสิทธิภาพจากการเก็บข้อมูลใน 5 อุตสาหกรรมสำคัญ คือ ยานยนต์ ค้าปลีก ไอซีที ก่อสร้าง และสิ่งทอ

ผลการศึกษาพบว่า หลักคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นหัวข้อสำคัญที่ทุกองค์กรทั้ง SME และบริษัทใหญ่ให้ความสำคัญสำหรับการออกแบบกิจกรรม CSR ของตนเอง ประเด็นที่มักถูกหยิบยกมาตั้งโจทย์ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิต หรือกระทั่งคุณภาพชีวิตในการทำงาน อย่างไรก็ตาม ระดับการตระหนักรู้ต่อเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรทั้งหลายกับผลลัพธ์ที่ออกมาในเชิงรูปธรรมยังมีช่องว่างอยู่มาก บริษัทจำนวนมากทราบและให้ความสำคัญกับปัญหา แต่ก็มีโครงการ CSR ที่เกี่ยวข้องออกมาน้อยกว่าที่ควร

นอกจากนี้ประโยชน์โดยตรงทางด้านเศรษฐกิจจากการทำ CSR ยังไม่สามารถวัดผลได้ตามกระบวนการทางธุรกิจปกติ เป็นเพียงแต่การตอบคำถามเรื่องเป้าประสงค์ของแต่ละองค์กรในการทำ CSR เพื่อความยั่งยืนในแต่ละด้านเท่านั้น ซึ่งการศึกษาชิ้นนี้แนะนำว่า ควรมีการเสริมแรงผ่านนโยบายด้านการเมืองจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ McKinsey & Company แบ่งรูปแบบของการทำกิจกรรม CSR มิติที่เกิดขึ้นกับผลประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่คือโครงการที่เกิดขึ้นตามความชอบหรือความสนใจของผู้บริหารองค์กรนั้นๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับสังคมและธุรกิจที่ทำค่อนข้างน้อย เป็นการสนองตอบความต้องการเสียมากกว่า ส่วนกิจกรรมที่เน้นสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่าธุรกิจของตนเองจะเป็นลักษณะกิจกรรมเพื่อการกุศล ในทางกลับกัน ถ้าทำ CSR โดยหวังผลทางธุรกิจมากกว่าสิ่งที่สังคมจะได้รับ นั่นคือการทำโฆษณาชวนเชื่อและประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร

แนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือ การพัฒนากิจกรรม CSR ไปสู่ะดับของการเป็นหุ้นส่วนต่อกัน (Partnership) ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมในการดำเนินการของทั้งองค์กรและภาคสังคม เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายทางธุรกิจและสังคม


อ้างอิง: McKinsey & Company

องค์กรระดับโลกต่างให้ความสำคัญกับการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการส่งมอบคุณค่าผ่านกิจกรรม CSR ให้กับสังคม องค์กรเบอร์หนึ่งด้านเทคโนโลยีอย่าง Google ก็มี Google Green ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและสนับสนุนพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้ระบบ Machine Learning เพื่อใช้การคำนวณเพื่อประหยัดพลัง นอกจากนี้ยังตั้งเป้าลดการใช้พลังงานใน Data Center ลงถึง 50% นอกจากนี้เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศจีนเมื่อปี 2008 Google และพนักงานก็สามารถระดมทุนเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบภัยได้กว่า 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังให้บริการโฆษณาฟรีแก่องค์กรการกุศลที่ให้ความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้ตามหาสมาชิกครอบครัวผู้ประสบภัยที่สูญหายด้วย

ขณะที่ยักษ์ใหญ่วงการการพิมพ์อย่าง Xerox ก็ให้ความสำคัญกับกิจกรรม CSR และนำมาใช้กำหนดทิศทางขององค์กร จัดตั้งโปรแกรมการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Community Involvement Program) ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้พนักงานขององค์กรทำกิจกรรมเพื่อสังคม กว่า 40 ปีของโปรแกรมดังกล่าว มีพนักงานของ Xerox เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5 แสนคน ซึ่งองค์กรแห่งนี้ก็อุดหนุนกิจกรรม CSR ของพนักงานปีละนับล้านเหรียญสหรัฐ

จะเห็นว่าการช่วยเหลือสังคมไม่เพียงแต่จะสร้างการรับรู้และจดจำของชุมชน (Community Recognition) เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานและผู้บริหารด้วย ทุกคนต่างรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำ รวมถึงความภาคภูมิใจในการทำงานกับองค์กรที่ทำดีเพื่อคนอื่นด้วย

สำหรับภาคธุรกิจของประเทศไทย องค์กรขนาดใหญ่ต่างมีหน่วยงานเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมทั้งสิ้น ภาพจำของโครงการฝายชะลอน้ำโดย SCG โครงการปลูกป่าของ ปตท. โครงการสานรักโดย AIS หรือกระทั่งการแจกผ้าห่มคลายหนาวของแบรนด์ Chang กลายเป็นเรื่องน่าประทับใจที่ทำให้คนไทยรู้สึกดีกับแบรนด์เหล่านี้ไปด้วย

สำหรับกลุ่ม King Power นอกจากบทบาทของผู้นำด้านการบริหารจัดการร้านค้าปลอดภาษี หรือ Duty Free ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคม โดยในปี 2560 ได้ริเริ่มโครงการ ‘KING POWER THAI POWER พลังคนไทย’ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนไทยให้ได้แสดงศักยภาพบนเวทีโลก โดยแบ่งการสนับสนุนออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1. พลังด้านกีฬา (SPORT POWER)  

2. พลังด้านดนตรี (MUSIC POWER)

3. พลังของชุมชน (COMMUNITY POWER)  

4. พลังด้านการศึกษาและสาธารณสุข (EDUCATION & HEALTH POWER)


SPORT POWER

ภาพจำสำคัญของ King Power คือการบริหารจัดการสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของอังกฤษมาได้ จึงนำแรงบันดาลใจส่วนนี้ส่งต่อไปถึงเยาวชนที่ชื่นชอบฟุตบอล โดยการมอบลูกฟุตบอล 1 ล้านลูกผ่านโครงการ ‘ล้านลูก ล้านพลัง สานฝันเด็กไทย’ นอกจากนี้ยังมอบสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานสากล จำนวน 100 สนามภายใน 5 ปีนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘โครงการ Fox Hunt’ ซึ่งจะมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนและส่งไปฝึกทักษะฟุตบอลที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษอีกด้วย

MUSIC POWER

โรงละครอักษราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้โอกาสนักดนตรีไทยที่มีความสามารถระดับสากลมาร่วมแสดง และเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ Duty Free จับมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแข่งขันวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนศักยภาพคนดนตรี

สิ่งที่เกิดคุณค่าและมูลค่าทางธุรกิจอย่างชัดเจนคือ พลังของชุมชน

COMMUNITY POWER

เน้นการให้ความรู้กับชาวบ้าน ผู้ผลิตในชุมชน เพื่อพัฒนาสินค้าชุมชน หรือ OTOP สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งสินค้าหัตถกรรม อาหาร และของที่ระลึก นอกจากนี้ยังช่วยจัดจำหน่ายสินค้าโดยจัดโซนสินค้า OTOP ที่สนามบิน และที่ King Power ทุกสาขา เพื่อเผยแพร่สินค้าจากภูมิปัญญาของคนไทยให้แพร่หลาย ล่าสุดเปิดตัวคอลเล็กชัน INDIGO ซึ่งนำเสน่ห์ของผ้าสีย้อมครามมาออกแบบตัดเย็บใหม่ให้ดูทันสมัยและสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยทีมนักออกแบบของ King Power ทำงานร่วมกับกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านนาขาม จังหวัดสกลนคร ครูช่างศิลปหัตถกรรม และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งวางจำหน่ายที่ The City Fanstore at King Power Stadium เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

และสำหรับ พลังด้านการศึกษาและสาธารณสุข (EDUCATION & HEALTH POWER) นั้น มีมูลนิธิ King Power เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุขแก่เยาวชน ซึ่งกิจกรรมนี้มีมาถึง 13 ปีแล้ว โครงการช่วยเหลือต่างๆได้แก่ โครงการมอบตู้อบเด็กให้กับโรงพยาบาลในชนบท ซึ่งช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีสุขภาพที่แข็งแรงและเติบโต นอกจากนี้ยังสนุบสนุนโครงการก้าวคนละก้าวในปี 2560 เพื่อช่วยระดมทุนแก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน 11 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ King Power ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ มอบทุนการศึกษาให้กับบัณฑิตไทยเพื่อศึกษาต่อและนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ ยังไม่นับรวมการสนับสนุนสถาบันการศึกษาสำหรับการซ่อมแซมอาคารเรียนและสนับสนุนอุปกรณ์ทางการศึกษาที่ทำมาอย่างต่อเนื่องด้วย

เหล่านี้คือกิจกรรม CSR ที่สร้างประโยชน์ในหลายมิติและตีโจทย์เรื่องเยาวชนได้ดี เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า อนาคตของประเทศก็ขึ้นอยู่กับคนหนุ่มสาวที่ถูกบ่มเพาะและได้รับโอกาสอันดีนี่เอง

เว็บไซต์ชั้นนำด้านการเงินและการลงทุนอย่าง Investopedia สรุปแนวโน้มของกิจกรรมเพื่อสังคมได้อย่างน่าสนใจ จากนี้ทุกองค์กรจะให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสของกิจกรรมที่ทำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร พนักงาน กับชุมชนที่เหนียวแน่นมากขึ้น ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 4 แนวทางคือ

1. ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส เปิดเผยได้ (Demand for Deisclosure) ทราบถึงที่มาที่ไป การดำเนินการที่มีธรรมาภิบาล

2. สร้างสรรค์ทรัพยากรทางเลือกใหม่ๆ (Creation of New Resources) เช่นเทคโนโลยีสีเขียวหรือพลังงานทางเลือก เป็นต้น

3. การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น (Global Company Acting Locally) เมื่อทำธุรกิจในประเทศใด คนในพื้นที่นั้นๆ ก็ควรได้รับประโยชน์ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ถูกเบียดเบียนจนเกินไปด้วย การส่งเสริมพนักงานให้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นหัวใจสำคัญ

4. ลงทุนเพื่อยกระดับพนักงาน (Investing in Employees) ซึ่งแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมในการจ่ายผลตอบแทนให้กับพนักงานควรจะเสมอภาคโดยไม่ถูกจำกัดภายใต้ความแตกต่างของเพศ เชื้อชาติ หรือเงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานแต่อย่างใด

โลกใบนี้อยู่ได้ด้วยการแบ่งปัน พึ่งพาระหว่างกันทั้งมนุษย์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม กิจกรรม CSR จึงเป็นหลักอันสำคัญไม่เพียงแต่กระตุ้นเตือนให้บรรดาธุรกิจตระหนักถึงการคืนกลับสิ่งดีๆ สู่สังคมเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจของคนในสังคมให้เห็นคุณค่าของกันและกันอีกด้วย

ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้

บทความจาก https://thestandard.co/king-power-thai-power-csr/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่