คิงเพาเวอร์ เริ่มเปิด "ลู่ทางเด็กไทย" สู่ "ฟุตบอลอินเตอร์"

"ที่ทำโครงการมาทั้งหมด หวังว่าจะเห็นเด็กไทยสักคนได้เล่นฟุตบอลในการแข่งขันระดับพรีเมียร์ ลีก และสิ่งที่จะได้เป็นหลักคือ ได้กับฟุตบอลไทย เพราะเด็กไทยได้ประสบการณ์ และแบ่งปันกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ...”



...เป็นการระบุไว้ของ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ถึง “สปอร์ต เพาเวอร์ (Sport power)” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ด้านของ โครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” โดยสำหรับอีก 3 ด้านคือ มิวสิก เพาเวอร์ (Music power), คอมมูนิตี้ เพาเวอร์ (Community power) และฟาวน์เดชั่น (Foundation) หรือเฮลป์ เพาเวอร์ (Help power)

“พลังด้านกีฬา” ก็สามารถจะเป็น “พลังไทย”

โดยกิจกรรมในโครงการนี้มุ่งเน้นที่ “ฟุตบอล”

ทั้งนี้ กับพลังด้านกีฬา กับกิจกรรมด้านฟุตบอล ตามโครงการของกลุ่มบริษัทฯ ดังกล่าวนี้ มีการขยายความไว้ โดยสังเขปคือ... ทาง บริษัทฯ นี้สนับสนุน สโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ ซิตี อยู่ ขณะที่ในไทยนั้นได้มีกิจกรรม สร้างสนามหญ้าเทียม ขนาด 5-7 คน ให้โรงเรียนหรือชุมชน จำนวน 20 สนาม ในปี 2560 นี้ โดยจะมีการคัดสรรโรงเรียนที่มีความเหมาะสม และโรงเรียนหรือชุมชนที่ใกล้กับบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นในเมือง หรือสนามบิน ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ

“เนื่องจากประเทศไทยไม่ค่อยมีสนามหญ้าเทียม และสนามหญ้าเทียมนี้นอกเหนือจากฟุตบอลแล้ว ยังใช้เล่นกีฬาอื่น ๆ ได้หลาย ๆ ชนิด ช่วยให้เยาวชน นักเรียน ได้เล่นกีฬามากขึ้น” ...อัยยวัฒน์ ระบุ พร้อมทั้งแจกแจงต่อไปว่า... กิจกรรมที่สองคือจะ แจกลูกฟุตบอล จำนวน 1 ล้านลูก ภายใน 5 ปี เพื่อร่วมพัฒนาเยาวชนไทยด้านฟุตบอลอย่างทั่วถึง และสาม กิจกรรม คลินิกฟุตบอล (Football’s clinic) เพื่อให้นักกีฬา นักฟุตบอลเก่า ๆ ของทีมสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ฯ ที่มีชื่อเสียง มาในประเทศไทย...

ช่วยฝึกสอนเยาวชนไทยร่วมกับโค้ชคนไทยที่ไทย

กิจกรรมที่สี่ จัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชน รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี รายการ King Power’s Cup ชิงเงินรางวัล 1 ล้านบาท ซึ่งในปีที่แล้วมีทีมฟุตบอลเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมการแข่งขัน 96 ทีม ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ส่วนในปี 2560 นี้ การแข่งขันจะเริ่มในเดือน พ.ย. โดยจะมีทีมฟุตบอลเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมประมาณ 200 ทีม

“ในการแข่งขันปีที่แล้ว มีนักฟุตบอลเยาวชนไทยจำนวน 16 คน ได้ไปอยู่ที่สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี เพราะในการจัดการแข่งขันนั้น ได้มีการนำกิจกรรม Fox hunt หรือแมวมอง เข้าไปผสมด้วย” ...อัยยวัฒน์ ระบุ พร้อมทั้งแจงต่อถึงกิจกรรมที่ห้า ซึ่งก็คือกิจกรรม Fox hunt หรือกิจกรรม แมวมอง เพื่อที่จะคัดเลือกเยาวชนไทยไปอยู่ที่สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี ระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเยาวชนไทยจากกิจกรรมดังกล่าวนี้ในรุ่นแรกกลับมาแล้ว และก็ไปอยู่ตามสโมสรฟุตบอลในลีกไทย

อีกทั้งมีเยาวชนไทยบางส่วนได้ไปอยู่ในยุโรปด้วย

กิจกรรมแมวมอง หรือ Fox hunt นี้ อัยยวัฒน์ บอกว่า... ในไทยไม่ค่อยมีคนทำ เพราะค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งการที่บริษัทฯ นี้ทำ ก็ด้วยหวังว่าจะช่วยเยาวชนไทยและฟุตบอลไทย โดยเยาวชนที่ผ่านการคัดตัวจะได้ไปเก็บตัวได้ไปฝึกซ้อมในสโมสรฟุตบอลที่ต่างประเทศ ได้ไปอยู่ในบรรยากาศนักกีฬาแบบมืออาชีพ ได้ซึมซับความรู้จากโค้ชมืออาชีพที่เป็นชาวต่างชาติ รวมถึงได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต และนำประสบการณ์มาแบ่งปันเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในไทยได้

“สปอร์ต เพาเวอร์” หรือ “พลังด้านกีฬา” ตามโครงการของกลุ่มบริษัทฯ นี้ ยังมีกิจกรรมที่หก โครงการฮีโร่สานฝันปันรักเพื่อชายแดนภาคใต้ โดยกิจกรรมนี้ทำมา 3 ปีแล้ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส ที่อายุ 12-13 ปี ให้ได้เล่นฟุตบอล และได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งกับนักฟุตบอลของสโมสรฟุตบอล

และอีกกิจกรรม กิจกรรมที่เจ็ด คือการซื้อ สโมสรโอ เอช ลูเวิน (OH Leuven) ประเทศเบลเยียม ทีมในพร็อกซิมุส ลีก การแข่งขันระดับที่สองในเบลเยียม ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ บอกว่า... สโมสรโอ เอช ลูเวิน ประเทศเบลเยียมนี้ เป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะผลักดันให้เด็กและเยาวชนไทยได้เล่นฟุตบอลในยุโรปแบบของจริง กับทีมในเบลเยียม ซึ่งกับกฎระเบียบของทางเบลเยียมนั้น เด็กไทยสามารถไปเล่นได้เลย ไม่มีปัญหาเรื่องกฎหมายแรงงานเหมือนที่ประเทศอังกฤษ

“นักฟุตบอลจากกิจกรรม Fox Hunt รุ่นแรก จำนวน 16 คน มีการเลือก 4 คน คือ โบ๊ท-อนนต์ สมากร, ทรั้ง-จิรัฐติกาล วาพิลัย, โตโต้-สมประสงค์ พรมศร, แซคเกิ้น-ธาวิน มหจินดาวงษ์ ไปที่สโมสรโอ เอช ลูเวิน ซึ่งน้อง ๆ จะได้รู้ว่าฟุตบอลยุโรปมืออาชีพที่ไม่ใช่แบบอังกฤษเป็นอย่างไร จะได้ไปใช้ชีวิตจริง ๆ ที่นั่น แล้วหลังจากนั้นถ้าสามารถพาตนเองไปเล่นในลีกยุโรปประเทศอื่น ๆ อาทิ อังกฤษ เยอรมนี ก็ถือว่าประสบความสำเร็จด้านฟุตบอลอย่างเต็มตัว ซึ่งหากได้ไปเล่นแบบรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อย ๆ เชื่อว่าจะดีต่อวงการฟุตบอลไทย ผมหวังว่าในช่วงชีวิตของผม ทีมฟุตบอลไทยจะได้เข้ารอบไปแข่งขันในฟุตบอลโลก”

...อัยยวัฒน์ ระบุไว้ พร้อมทั้งบอกไว้ด้วยว่า... ความยั่งยืนของกิจกรรมนี้ คือทั้งหมดเริ่มทำที่เด็กและเยาวชน อายุ 13-15 ปี และภายในสิ้นปีนี้จะสร้างอคาเดมีในไทยด้วย ซึ่งคิดว่า ภายในระยะเวลา 10 ปีจะเห็นชัด ว่าน้อง ๆ เหล่านี้มีศักยภาพและอยู่ในวงการฟุตบอลอย่างไร? แบบใด? ช่วยให้ภาพรวมนักฟุตบอลไทยมีศักยภาพมากขึ้นขนาดไหน? แต่ตอนนี้ยังต้องรอ...

ก็นับว่าน่าสนใจ-น่าติดตามดูกันไป...

กับ ’นักฟุตบอลไทย-ฟุตบอลไทย“

ที่กำลังมีอีก ’ช่องทางสู่อินเตอร์“. ...

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่