แชร์ประสบการณ์ทำงานโปรเจคการรื้อถอนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตอน 1

สวัสดีครับ นี่เป็นกระทู้แรกที่ตั้งใจเขียนเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ที่ผมได้เคยทำงานในโปรเจครื้อถอนแท่นผลิตน้ำมัน Brent ในทะเลเหนือ (Brent Decommissioning Project) ซึ่งเป็นโปรเจคประเภทการรื้อถอนแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาถึงปัจจุบัน โดยผมทำงานเป็นหนึ่งในวิศวกรโครงการในโปรเจคนี้ (จขกท เป็นวิศวกรไทยที่อาศัยใน UK)

แหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ Brent นั้นประกอบด้วยแท่นผลิต 4 แท่น ทั้งหมดผลิตน้ำมันจากแหล่งน้ำมัน Brent เดียวกัน เริ่มทำการผลิตน้ำมันครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1976 โดยชื่อ Brent นั้นตั้งตามชื่อนกทะเล (Brent Goose - ห่านเบรนท์) เช่นเดียวกันกับแท่นอื่นหลายๆแท่นในทะเลเหนือ เช่น Gannet, Shearwater, Cormorant เป็นต้น

ผู้ที่ทำงานในวงการน้ำมันจะทราบว่าชื่อ Brent นั้นยังเป็นชื่อเดียวกันกับราคากลางน้ำมันดิบในตลาดทางยุโรป (Brent Crude) ซึ่งชื่อนี้ก็มาจากชื่อของหลุมน้ำมัน Brent นี้เอง

ที่ตั้งของกลุ่มแท่น Brent ในทะเลเหนือ


ภาพเปรียบเทียบแท่น Brent ทั้ง 4 (Alpha, Bravo, Charlie และ Delta) แท่นสูงประมาณหอไอเฟล ขนาดกว้างประมาณสนามฟุตบอล

ธุรกิจการรื้อถอนแท่นน้ำมันนั้นเป็นธุรกิจที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากมีแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่ส่วนบั้นปลายอายุมากขึ้น รวมไปถึงแท่นในอ่าวไทยด้วยเช่นกัน สำหรับบริษัทเจ้าของแท่นนั้น การวางแผนที่ดีในการรื้อถอนแท่นน้ำมันและโครงสร้างต่างๆนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากงานในการรื้อถอนแท่นนั้นมีความเสี่ยงและซับซ้อนที่สูงเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย

ในช่วงชีวิตของแท่นผลิตน้ำมันนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการผลิตนั้นจะไม่คุ้มค่าต่อรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกต่อไป เนื่องจากการผลิตน้ำมันทำได้น้อยลงเพราะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในหลุมน้ำมันลดน้อยลง และค่าใช้จ่ายในการรักษาบำรุงแท่นสูงขึ้นตามสภาพอายุของแท่น กรณีของแท่น Brent นั้น อายุของแท่นก็อยู่ในช่วงประมาณ 40 ปีเมื่อเริ่มทำการรื้อถอน

เมื่อการผลิตนั้นไม่คุ้มทุนอีกต่อไป บริษัทเจ้าของแท่นก็จะต้องตัดสินใจยุติการผลิต (cease of production) และเริ่มกระบวนการรื้อถอนแท่น (Decommissioning) ทางเลือกอื่นของบริษัทเจ้าของก็มีอย่างเช่นขายแท่นให้ผู้ผลิตอื่น ซึ่งผู้ผลิตอื่นนั้นอาจจะสามารถทำการผลิตในต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือมีโปรเจคในการขยายอายุแท่นออกไป

การรื้อถอนแท่นนั้นขุดเจาะน้ำมันนั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน แต่สามารถสรุปกระบวนการคร่าวๆดังนี้

1. ทำการอุดหลุมผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (wells plug and abandonment หรือเรียกสั้นๆว่า P&A) หลุมผลิตน้ำมันนั้นคือก็คือหลุมที่ขุดจากพื้นทะเลลงไปจนถึงแหล่งกักเก็บน้ำมัน โดยสามารถลึกเป็นหลายๆกิโลเมตรขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแหล่งน้ำมันนั้นๆ โดยหลุมน้ำมันนั้นก็จะมีท่อที่นำน้ำมันและก๊าซจากหลุมน้ำมันขึ้นมายังแท่นผลิต การ P&A หลุมน้ำมันโดยคร่าว(คร่าวมากๆ) ก็ทำโดยการอุดท่อเหล่านี้โดยใช้ซีเมนต์ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมอัดลงไปในท่อเหล่านี้ เมื่อซีเมนต์แข็งตัวก็ต้องมีการทดสอบและวัดค่าให้แน่ใจว่าไม่มีก๊าซรั่วไหลออกมา เมื่อการ P&A สิ้นสุด ณ จุดนี้แท่นก็จะอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่าปลอดจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Hydrocarbon free) แท่น Brent เองนั้นมีหลุมผลิตอยู่ถึง 154 หลุม

2. กระบวนการรื้อถอนโครงสร้างต่างๆ แท่นน้ำมันในทะเลนั้นจะแบ่งคร่าวๆได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่อยู่เหนือทะเล (topside) และอีกส่วนคือส่วนที่อยู่ใต้ทะเล (subsea) ในกรณีของโปรเจค Brent Decommissioning นั้น topside ของแท่น Brent Delta ซึ่งเป็นแท่นแรกที่ผ่านกระบวนการรื้อถอนก็หนักถึงประมาณ 24,000 ตันเลยทีเดียว!
การรื้อถอนแท่นนั้นโดยปกติก็จะเริ่มจากการรื้อถอนส่วนเหนือน้ำ (topside) ก่อน


เรือ Pioneering Spirit เตรียมทำการยก topside แท่น Brent Delta

Topside ของแท่นนั้นก็เหมือนกับบล๊อกของ Lego ซึ่งมีชิ้น Lego หลายๆชิ้นเอามาเชื่อมเข้าด้วยกันเป็น Topside ทั้งชิ้น การรื้อถอน Topside จึงสามารถทำได้อยู่หลักๆสองแบบ แบบแรกคือรื้อถอนโดยแยกเป็นส่วนๆ (reverse installation หรือ piece-small removal) ซึ่งก็คล้ายกับการแยกชิ้น Lego ชิ้นใหญ่ออกมาเป็นชิ้นเล็กๆทีละชิ้น และแบบที่สองคือทำการรื้อถอนโดยยก topside ออกไปแบบทั้งส่วนในการยกทีเดียว (single lift)

ในกรณีของแท่น Brent Delta การรื้อถอนทำโดยการยกในทีเดียว โดยเป็นการรื้อถอนแท่นโดยวิธีการยกครั้งเดียวในทะเลที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ ณ เวลาที่การยกเกิดขึ้นในปี 2017 โดยใช้เรือยกชื่อว่า Pioneering Spirit ซึ่งเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก การเตรียมการเพื่อให้แท่น Brent Delta พร้อมที่จะถูกรื้อถอนนั้นใช้เวลาหลายปีในการวางแผนและทำงานหน้างาน โดยมีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อนซึ่งขอไม่ลงรายละเอียดในกระทู้นี้ ขณะที่การยกแท่นเมื่อเรือ Pioneering Spirit เข้าประจำที่ในทะเลแล้ว ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มยกจนเสร็จเพียงแค่ประมาณ 10 วินาทีเท่านั้น!

เรือ Pioneering Spirit นั้นถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Allseas ในเวลาเดียวกันกับช่วงที่แท่น Brent Delta เข้าสู่กระบวนการเตรียมการเพื่อการรื้อถอน และการสร้างเรือลำนี้ก็เป็นโปรเจคมหึมาซึ่งมีเบื้องหลังที่น่าสนใจในตัวเอง

ส่วน topside เมื่อถูกยกไปแล้วนั้น ก็จะถูกส่งต่อไปบนบกเพื่อทำการ recycle โดยแท่น Brent Delta Topside นั้นคาดว่าจะสามารถถูก recycle ได้ถึง 98.5% ของวัสดุทั้งหมด

Brent Delta Topside ที่ท่าเรือเข้าสู่กระบวนการแยกส่วนเพื่อ Recycle

เมื่อ topside ถูกรื้อถอนไปแล้ว โครงสร้างใต้ทะเลอย่างเช่นท่อส่งก๊าซและน้ำมันก็จะเข้าสู่กระบวนการรื้อถอนต่อไป ในบางกรณีก็อาจมีการปล่อยโครงสร้างใต้ทะเลบางอย่างไว้ อย่างเช่นโครงสร้างฐานรองรับแท่นซึ่งทำจากเหล็ก (Jacket leg) ในหลายประเทศนั้นจะไม่ทำการรื้อถอน เนื่องจากในระยะเวลาหลายสิบปีที่แท่นอยู่ในทะเล โครงสร้างเหล่านี้ได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและปะการัง (rig to reef) การรื้อถอนโครงสร้างใต้ทะเลบางอย่างจึงก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าปล่อยเอาไว้

ตัวอย่างภาพสิ่งมีชีวิตที่อาศัยโครงสร้างของแท่นน้ำมันเป็นปะการังเทียม

การตัดสินใจว่าโครงสร้างอะไรต้องถูกรื้อถอน โครงสร้างอะไรควรปล่อยเอาไว้ ต้องผ่านกระบวนการประเมินดูผลกระทบในหลายๆด้าน รวมไปถึงพิจารณาข้อกฏหมายต่างๆ ซึ่งก็แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และผ่านกระบวนการปรึกษากับผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือมีความสนใจ อย่างเช่น ชาวประมง, NGOs รวมไปถึงคนทั่วไป และสุดท้ายก็ต้องผ่านการยอมรับจากรัฐบาล โดยบริษัทน้ำมันที่เป็นเจ้าของแท่นต้องทำการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้และเขียนเป็นรายงานที่เรียกว่า Decommissioning Program ส่งให้รัฐพิจารณาและอนุมัติครับ

ขอจบกระทู้นี้ไว้คร่าวๆเท่านี้นะครับ หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ และจะมาเขียนเรื่องเพิ่มเติมต่อไปนะครับ

**ตอนสองครับ
https://ppantip.com/topic/37923056
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่