เชียงใหม่...ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น

ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)
Lanna Architecture Center Khum Jao Bureeratana (Maha intra)



..........ได้รับรางวัลในฐานะที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น
จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ.2548
โดยได้รับ พระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
ซึ่งถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูง โดยตั้งอยู่บริเวณทางเข้าของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)


..........คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เป็นอาคารครึ่งปูนเครื่องไม้บนสูงสองชั้น


ชั้นล่างเสาก่ออิฐหนาก่อเป็นรูปโค้งฉาบปูนเรียบมีระเบียงโดยรอบ


รูปแบบผสมระหว่างเรือนมนิลากับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลซึ่งเป็นรูปแบบที่แพร่หลายในประเทศอาณานิคม
ส่วนชั้นบนเป็นไม้มีระเบียงโดยรอบเช่นกัน


หลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยาคลุมระเบียงโดยรอบเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมตะวันตกในเชียงใหม่ยุคแรก
สันนิษฐานว่าบริษัทป่าไม้ของชาวอังกฤษเป็นผู้เข้ามาก่อสร้างให้เจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เมื่อประมาณปี พ.ศ.2432-2436
อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างลักษณะพื้นถิ่นและอิทธิพลตะวันตกอย่างลงตัว
อีกทั้งยังแสดงออกถึงวิทยาการของการก่ออิฐและการแปรรูปไม้

..........ปัจจุบันศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)
เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทำหน้าที่ในการวิจัย จัดเก็บและเผยแพร่ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมล้านนา และศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่อง
มีที่ทำการ ณ อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์
ตั้งอยู่ที่สี่แยกกลางเวียงเมืองเชียงใหม่
ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้รับบริจาคจาก ตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544

บ่อน้ำ
..........น้ำบ่อ หมายถึง บ่อน้ำสำหรับดื่มกินหรือใช้ และเนื่องจากน้ำมีความสำคัญต่อชีวิต
ซึ่งมีวิธีปฏิบัติในการขุด การสร้างการใช้การรักษาตลอดจนพิธีกรรมตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย
สำหรับทางล้านนาแต่ละท้องที่อาจมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกันโดยทั่วไป
ทั้งนี้ในเอกสารโบราณพบว่ามีการ เรียกน้ำบ่อว่า "น้ำส้าง" และ "น้ำบ่อส้าง"
อีกด้วยตำแหน่งบ่อน้ำหลักตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคาร
มีความเป็นมงคลต่อเจ้าของ เนื่องจากทำให้ มีโชคลาภ และชื่อเสียงปรากฏ

..........ปัจจุบันบ่อน้ำภายในศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)
ได้มีการบูรณะและปรับปรุงเพื่อให้อยู่ในสภาพที่สวยงาม
ซึ่งประกอบด้วยบ่อน้ำโบราณ จำนวน 2 บ่อ คือ
บริเวณด้านหน้าอาคารซึ่งในอดีตสันนิษฐานว่าใช้สำหรับบริโภคดื่มกินทำอาหารของเจ้านายผู้เป็นเจ้าบ้าน
ซึ่งเดิมก่อนการบูรณะน้ำบ่อหน้าบ้านมีฐานสำหรับติดรอกไม้ทั้ง 2 ข้างบ่อ
และเป็นหลังคาคลุมเพื่อป้องกันการพัดพาเศษใบไม้ลงไปสู่น้ำบ่อที่รักษาให้สะอาดอยู่เสมอ
บ่อน้ำมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่ง คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นต้น


และบ่อน้ำบริเวณด้านหลัง 1 บ่อ สำหรับการอุปโภคและใช้เพื่อการซักล้าง
หรือทำความสะอาดและการอุปโภคของผู้อยู่อาศัย คนใช้ และทาส
อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการชำระล้างร่างกายโดยมีต๊อมอาบน้ำ ตั้งอยู่ข้าง ๆ
น้ำบ่อด้านหลังบ้านที่ค่อนข้างลับตา เพื่อใช้สำหรับผู้หญิงที่อาศัยอยู่ภายในคุ้มแห่งนี้

ปั๊มโยกน้ำโบราณ
..........ปั๊มโยกหน้าโรงครัวเป็นปั๊มที่มีอยู่เดิม


ในอดีตสันนิษฐานว่าใช้สำหรับการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคภายในคุ้ม
ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้ ตั้งอยู่หน้าโรงครัว
โดยที่บริเวณลำคันโยกมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ บอกรายละเอียดเป็นของบริษัท MYERS เมือง Ashland มลรัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตจากพี่น้องชื่อ Francis and Phillip Myers เพื่อการสูบน้ำโดยคันโยกแบบใช้มือสองจังหวะขึ้นลง และได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2455 รุ่นที่ปรากฏ คือ Model 2927 เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากต่างประเทศชิ้นหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

โรงครัว
..........โรงครัวในอดีต มีลักษณะที่ดีคือ การแยกไปอีกหลังหนึ่ง โดยจะไม่อยู่ในตัวอาคารคุ้ม


เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายและสิ่งรบกวนต่าง ๆ อัคคีภัย กลิ่น เสียง ความสกปรก เป็นต้น
ตอนบนหลังคาระดับจั่วจะเจาะโปร่งเป็นช่อง เพื่อการระบายควันไฟขณะทำครัว
โรงครัวเดิมของคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับตัวอาคาร
มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงขนาดใหญ่ผิดปกติจากโรงครัวอื่น ๆ
ซึ่งในอดีตใช้สำหรับเป็นสถานที่จัดเตรียมอาหาร เครื่องคาวหวาน เพื่อเลี้ยงผู้ที่อยู่อาศัยในคุ้มหรือแขกผู้มาเยื่ยมเยียนจำนวนมาก
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสามารถทำอาหารเลี้ยงผู้คนได้กว่า 50 คน ตลอด 3 มื้อต่อวัน
ปัจจุบันคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการปรับปรุงโรงครัวให้มีสภาพใช้งานได้
พร้อมกับตัวอาคารศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ในปี พ.ศ.2547
และได้ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยเป็นห้องนิทรรศการ
โดยจัดแสดงเกี่ยวกับวัสดุ เครื่องมือที่สำคัญในการสร้างบ้าน และเป็น "หน่วยสล่าเฮือน"
ซึ่งเป็นการบริการวิชาการ ให้คำปรึกษาเรื่องบ้านโดยคณาจารย์ จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คุ้ม
..........หมายถึง ที่พำนักของเจ้านายในราชวงศ์ฝ่ายเหนือ
โดยในอดีตเจ้านายในราชวงศ์ฝ่ายเหนือ มีลำดับฐานันดรศักดิ์ 5 ชั้น เรียกว่า "เจ้าขันห้าใบ" หรือ "เจ้าห้าขัน"
เป็นระบบการปกครองแบบคณาธิปไตย
โดยเจ้าห้าขันเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ที่มีอำนาจและอิทธิพลสูง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
การสืบตำแหน่งเจ้าห้าขันนั้น จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในวงศ์ตระกูลของเจ้านายจะต้องเป็นเชื้อสายเจ้านายสำคัญ
มีอิทธิพล มั่งคั่ง มีข้าทาสบริวารจำนวนมาก เป็นที่เคารพนับถือของราษฎร
และมีราชสำนักสยามเป็นผู้รับรองการแต่งตั้ง
ประกอบด้วย เจ้าหลวง หรือ เจ้าผู้ครองนคร, เจ้าอุปราช, เจ้าราชวงศ์,  เจ้าราชบุตร และ เจ้าบุรีรัตน์
ซึ่งเจ้าบุรีรัตน์ ถือว่าเป็นบรรดาศักดิ์ตำแหน่ง 1 ใน 5 ลำดับฐานันดรศักดิ์ เป็นตำแหน่งสำคัญในการปกครองนครเชียงใหม่แต่ครั้งโบราณ








..........เครื่องประดับยศเจ้านายล้านนา ในฐานันดรศักดิ์ที่เรียกว่า เจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ
ได้แก่ 1. ดาบยศ 2. ขันหมาก 3. คนโท (น้ำต้น) 4. กระโถนปากแตร 5. กุบละแอ 6. ไม้เท้า 7. พานบุหรี่ เป็นต้น

..........คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว
จึงได้ดำเนินการจัดทำห้องนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับ "วิถีชีวิต" ความเป็นอยู่ของเจ้าขันห้าใบในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)
หรือเรียกว่า "ห้องจำลองวิถีชีวิตเจ้านายสมัยก่อน"
ภายในห้องประกอบด้วย เครื่องประกอบเกียรติยศ เครื่องเรือน และเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจบริบทวิถีชีวิตของเจ้านายสมัยก่อน
ควบคู่ไปกับการจัดแสดงนิทรรศการอื่น ๆ ของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา
โดยได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2558
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่