“ฟองสบู่ที่กำลังแตก” มาดูความสุดยอดของ ดร. กัน

บทความนี้เผยแพร่ใน วันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

หลังการประกาศงบการเงินไตรมาศ 1 ปี 2561 สิ่งที่เกิดขึ้นกับหุ้นโดยเฉพาะตัวเล็กและกลางหลายตัวนั้นน่าสนใจทีเดียว  เพราะมันเป็นเหมือนสัญญาณที่บอกว่า  “ฟองสบู่” ของหุ้นเหล่านั้นกำลัง “แตก”   ว่าที่จริงหุ้นขนาดเล็กและกลางหลายตัวที่มีราคาปรับขึ้นมากจนทำให้ค่า PE สูงเกินกว่าพื้นฐานไปมากขนาดเป็น 50-100 เท่า ได้ทยอยตกลงมาเป็นระยะอยู่แล้วเพราะสาเหตุต่าง ๆ  รวมถึงการถูกเปิดเผยว่ามีการ  “โกง”  การแต่งบัญชี   Story หรือโครงการไม่ประสบความสำเร็จ  และผลประกอบการที่แย่ลง  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่า “หุ้นดาวเด่น”  ที่มีมูลค่าสูงลิ่วอีกหลายตัวก็ยังสามารถรักษาระดับราคาในระดับสูงไว้ได้จนกระทั่งการประกาศงบการเงินงวดนี้ที่ทำให้หุ้นกลายเป็น  “นางฟ้าตกสวรรค์”

ถ้าจะลองไล่เรียงดูว่าบริษัทที่หุ้นมีราคาตกลงมามากขนาดที่อาจเรียกว่า  “ฟองสบู่แตก” นั้นอยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอะไรบ้างนั้น  คงต้องเริ่มจากกลุ่มพลังงานทดแทนที่หลายตัวนั้นราคาหุ้นตกลงมาเกิน 50%  บางตัวอาจจะกลายเป็นศูนย์  ต่อมาก็เป็นหุ้นกลุ่มผู้บริโภครวมถึงอาหารที่เป็นขนม  และเครื่องดื่มที่ตกลงมาหลายสิบเปอร์เซ็นต์   ที่ตัวใหญ่ขึ้นมาก็เป็นเรื่องของธุรกิจการเงินที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของแบ้งค์ชาติที่ตกลงมาบางตัวเป็นหายนะ  และธุรกิจเครื่องสำอางค์และบันเทิงที่เริ่ม “เห็นอาการ”  ในช่วงหลัง ๆ  ที่มีการประกาศผลประกอบการที่ถดถอยลงหรือไม่เข้าเป้าของนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนที่คาดหวังผลประกอบการที่ดีเลิศเกินกว่าที่จะทำได้

ในอดีตย้อนหลังไป 2-3 ปีนั้น  หุ้นตัวเล็กและกลางที่มีผลประกอบการที่ “เติบโต”  อย่างโดดเด่น  ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมดังที่กล่าวข้างต้นนั้น  ปรับตัวขึ้นไปสูงมากจนแทบจะ  “เป็นไปไม่ได้”  เพราะค่า PE ของหุ้นขึ้นไปสูงมากคล้าย ๆ  กับหุ้นซุปเปอร์สต็อกระดับโลกอย่างอะเมซอนหรือเฟซบุค  บ่อยครั้งค่า PE สูงเป็น 3-4 เท่าของค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน  ซึ่งเมื่อประกอบกับกำไรที่โตขึ้นจากฐานที่ต่ำถึง 40-50%  ก็ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไป บางที 2-3 เท่าในเวลาอันสั้น  หุ้นบางตัวยอดขายก็ไม่ได้สูงนัก  ระดับแค่พันหรือไม่กี่พันล้านบาทแต่มีมูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านบาท  บางตัวเกือบแสนล้านบาท  มองอย่างไรก็ยากที่บริษัทจะโตไปได้ถึงขนาดนั้น  สิ่งที่โตขึ้นไปมันคือ  “ฟองสบู่” ที่ในที่สุดก็จะต้อง “แตก”  เพียงแต่ไม่รู้ว่า  “เมื่อไร”

ภาวะที่ “ฟองสบู่แตก” นั้น  บางครั้งก็เกิดจากภาพ Macro หรือภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ  เช่น  การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วหรือการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้เม็ดเงินหายไปจากตลาดหุ้นและทำให้การ “เก็งกำไร”  หายไป  เมื่อหุ้นถูกขายโดยที่ไม่มีนักลงทุนระยะยาวที่เน้น  “พื้นฐาน”ของกิจการเข้ามารับซื้อ  หุ้นก็จะปรับตัวลงมามาก  แต่นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่ทำให้หุ้นตัวเล็กและกลางตกลงมาในช่วงนี้

ฟองสบู่ของหุ้นตัวเล็กและกลางที่  “แตก” ในช่วงนี้นั้น  ผมคิดว่าเกิดขึ้นจากเรื่องของผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามที่คาดเป็นหลัก  โดยที่มีเรื่องของการโกงและความไม่โปร่งใสของผู้บริหารรวมถึงการปั่นหุ้นของนักลงทุนเป็นประเด็นรอง  โดยที่ทั้งหมดนั้นก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในหมู่นักลงทุนและนักเก็งกำไรถึงอนาคตของบริษัทว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่นตามที่พวกเขาเคยเชื่อหรือไม่   ว่าที่จริง  ก่อนหน้านี้ 2-3 ไตรมาศ  หลายบริษัทก็ประกาศตัวเลขผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามที่คาดอยู่บ้างแล้วเพียงแต่ผู้บริหารก็มักจะสามารถ  “แก้ตัว”  หรือมีข้ออ้างว่าเกิดจากอุปสรรคบางประการและ “อนาคต” จะต้องดีแน่นอนเนื่องจากเหตุผลที่ฟังดูน่าเชื่อถือ  พูดง่าย ๆ  บริษัทยังมี Story ที่สดใสและนักลงทุนรวมถึงนักวิเคราะห์ก็ยังยอมรับ  พวกเขาบอกว่างวดต่อไปกำไรจะกลับมาโต 50% และดังนั้นค่า PE ที่ 50 เท่าก็ยังแนะนำให้ซื้อได้  แต่การประกาศงบงวดนี้ดูเหมือนจะสั่นคลอนความมั่นใจของนักลงทุนไปไม่น้อย

ดูเหมือนว่านักลงทุนและนักเก็งกำไรอาจจะมีขอบเขตความอดทนที่จำกัด  ความหวาดระแวงว่าหุ้นตัวนี้จะ  “ซ้ำรอย”  หุ้นตัวก่อนที่  “ฟองสบู่แตกไปแล้ว”  ประกอบกับผลประกอบการที่น่าผิดหวังและดูเหมือนว่า “อนาคตอันสดใส” ที่ผู้บริหารออกมารับรองนั้นจะไม่สามารถทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้  ดังนั้น  การขายหุ้นออกมาอย่างหนักจึงเกิดขึ้น  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  คนที่ขายหนักมากอาจจะเป็นคนที่ยังได้กำไรมหาศาลเพราะถือหุ้นในราคาที่ต่ำก่อนที่หุ้นจะวิ่งขึ้นไป “สูงเสียดฟ้า”   ผลก็คือ  หุ้นตกหนักจนไม่น่าเชื่อ  บางตัวตกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาไม่กี่วันทั้ง ๆ  ที่บริษัทก็ยังทำเหมือนเดิมทุกอย่าง  พื้นฐานก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

ผมเองก็ไม่รู้ว่าหุ้นที่ตกลงมาหนักแบบฟองสบู่แตกนั้น  ราคาสมเหตุผลหรือยัง  สิ่งที่ผมคิดก็คือ  การตกของหุ้นตัวเล็กและกลางรอบนี้ก็ยังไม่ใช่การสูญเสียความมั่นใจในการเก็งกำไรของนักลงทุนส่วนบุคคลโดยสิ้นเชิง  เพราะมันเกิดขึ้นกับหุ้นเฉพาะตัวที่ผลประกอบการ “น่าผิดหวัง”  ส่วนหุ้นที่ผลประกอบการยังโดดเด่นนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ถูกกระทบ  ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวลดลง  บางตัวราคาหุ้นก็ยังปรับตัวขึ้นไปได้พร้อม ๆ  กับค่า PE ที่ไม่ลดลงหรือสูงขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน  บางทีอาจจะเป็นเพราะนักเล่นหุ้นในตลาดหุ้นไทยนั้นยังไงก็ต้องหาหุ้นที่จะ “เล่น”  ทุกวัน  หุ้นตัวไหนที่ตกลงมาแรงและไม่น่าเล่นแล้วก็อาจจะถูกละเลย  หุ้นตัวไหนที่ยังโตและมีสตอรี่ก็จะถูกเล่นต่อไป—จนกว่ามันจะ  “เน่า”  เหมือนตัวอื่น  นี่เป็นความรู้สึกของผมที่อาจจะไม่จริงเลย  เพียงแต่ผมเห็นว่าหุ้นหลายตัวก็เป็นอย่างนั้น  ก่อนฟองสบู่จะแตก  คนก็จะเล่นหุ้นตัวนั้นอย่าง  “บ้าคลั่ง”  ราคาหุ้นขึ้นไป “สุดขอบฟ้า”   นักวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อ  “เซียน VI” เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  กองทุนชื่อดังเข้ามาเก็บ  ผู้บริหารขายหุ้นบิ๊กล็อตให้นักลงทุนต่างประเทศหรือสถาบัน  หุ้นยิ่งขึ้น  ทุกอย่างก็ดูดีไปหมดเป็นเวลาหลายปีจนคนคิดว่าราคาหุ้นนั้นเหมาะสมกับพื้นฐานของบริษัท  แต่แล้วหุ้นก็ตกอย่างแรงในชั่วเวลา  “ข้ามคืน”

หุ้นตัวเล็กและกลางที่เป็น “ฟองสบู่” คือมีค่า PE สูงมากและมีราคาที่ปรับตัวขึ้นไปมากอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นนั้น  ผมคิดว่ายังมีอยู่มากในตลาดหุ้นไทย  ถ้าให้ผมเดาก็คือ  ในไม่ช้าก็จะค่อย ๆ  “แตก”  หรือถ้ามีการ “บริหารหุ้น” ที่ดีก็จะค่อย ๆ  ปรับตัวลงไปเรื่อย ๆ  จนมีราคาที่เหมาะสมนั่นก็คือ  ถ้าประเมินจากพื้นฐานหรือผลประกอบการและการจ่ายปันผลในระยะยาวแล้ว   ราคาหุ้นที่เราจ่ายนั้น  “คุ้มค่า”  ที่เราจะถือหุ้นไปเรื่อย ๆ    โดยที่สำหรับภาวะดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ 1-2% ต่อปีนั้น  คำว่าคุ้มค่าก็คือ  อย่างน้อยเราจะได้ผลตอบแทนประมาณ 5-6% ต่อปี  ซึ่งถ้าแปลออกมาอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  บริษัทไม่ควรมีค่า PE ที่สูงเกินกว่า 20-30 เท่าถ้าบริษัทไม่ได้โตและแข็งแกร่งแบบไม่มีใครเทียบได้ในระยะยาว

นักลงทุนแทบทุกคนนั้นมักมีข้อยกเว้น   ผมเองก็ทำอยู่บ่อย ๆ  วอเร็น บัฟเฟตต์เองก็ดูเหมือนว่าจะลงทุนในสิ่งที่ดูเหมือนว่าไม่ตรงกับสิ่งที่เขาเชื่อและพูดอยู่เป็นครั้งคราว  อย่างไรก็ตาม  ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งก็จะพบว่า  ข้อยกเว้นนั้นต้องเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักจริง ๆ  และมักจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  ในกรณีของฟองสบู่หุ้นตัวเล็กและกลางของไทยนั้น  ผมเองคิดว่าในที่สุดแล้ว  หุ้นส่วนใหญ่ก็จะปรับตัวลงเมื่อ “ฟองสบู่แตก”  อาจจะมีหุ้นบางตัวที่เป็น “ข้อยกเว้น”  คือกิจการดีและแข็งแกร่งจริง ๆ  ที่หุ้นยังรักษาระดับความแพง “ระดับเทพ”  ได้  อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่ากรณีไหน  ผมคิดว่าการที่จะหวังให้หุ้นเหล่านั้นยังปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ  และให้ผลตอบแทนดีเยี่ยมอย่างที่เคยเป็นในช่วงที่เป็นฟองสบู่นั้น  ค่อนข้างยากมาก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่