อีกมุมมอง กรณีเด็กติดถ้ำหลวง // มีป้ายเตือน แต่ยังเข้าไป ใครผิด?



มีป้ายเตือน แต่ยังเข้าไป ใครผิด? /โดย ดร. พีท พีรภัทร

หลังจากเมื่อคืนดีใจที่ทีมกู้ภัยสามารถช่วยเหลือน้อง ๆ #ทีมหมู่ป่าอะคาเดมี่ ได้สำเร็จ

วันนี้เริ่มมีกระแสตำหนิเด็กที่ซุกซน เข้าไปในถ้ำจนทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตถึงขนาดนี้

บ้างก็ว่าไปถึงเรื่องการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศที่ใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือให้น้อง ๆ กลุ่มนี้รอดออกมาได้

อย่าลืมว่าน้องกลุ่มนี้ คือ “เด็ก”

แม้จะมีโค้ชเข้าไปด้วย แต่โค้ชก็อายุแค่ 25 ปีเท่านั้นเอง (ไม่ได้บอกว่าแตะต้องไม่ได้นะครับ แต่อยากให้มองรอบด้านก่อนที่จะตำหนิครับ)

ลองคิดว่าดูว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้ก็เหมือนโดนลงโทษจากความซุกซนของเขาไปแล้วนะครับ

“ต้องเข้าไปนั่งอยู่ในถ้ำมืด ๆ เกือบ 10 วัน โดยที่ไม่มีอาหารให้กิน ไม่มีเตียงให้นอน”

นี่มันยิ่งกว่านักโทษที่ติดอยู่ในเรือนจำอีกนะครับ

ผมว่าแค่นี้พวกเขาก็ได้รับบทเรียนใหญ่หลวงในชีวิตไปแล้ว

......

แต่ถ้าอยากจะชวนคุยเรื่องความรับผิด ผมก็ขอชวนคุยในมุมกฎหมายเล่น ๆ กันบ้างครับ

เรื่องที่อยากชวนคุยคือเรื่อง “ป้าย”

ลองดูภาพป้ายประกอบจาก ThaiPBS นะครับ

ป้ายเขียนว่า...

“อันตราย!! ห้ามเข้า ก่อนได้รับอนุญาต

เนื่องจากเป็นฤดูน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งจะมีน้ำไหลออกจากถ้ำปริมาณมากในระหว่างเดือน กรกฎาคม - พฤศจิกายน

วนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน”

การที่มีป้ายนี้ ถ้าอ่านตามตัวอักษร แปลว่า ในเดือน ก.ค. - พ.ย. ห้ามทุกคนเข้าถ้ำก่อนได้รับอนุญาต

ทีนี้ย้อนมาดูวันที่เกิดเหตุ น้อง ๆ เข้าถ้ำกันไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. แสดงว่าน้อง ๆ ไม่ได้ฝ่าฝืนป้ายนี้แต่อย่างใด

หลายคนบอกว่า ก็ปลาย มิ.ย. แล้ว ไม่ต่างจากต้น ก.ค. เลย น้อง ๆ ก็ควรจะต้องรู้ซิ

อันนี้ ผมว่าเราจะไปตีความแบบขยายความเกินจากป้ายไม่ได้นะครับ เพราะป้ายเขียนว่าเริ่ม ก.ค. ความจริงแล้วอุทยานก็คงจะกำหนดเวลาแบบเผื่อ ๆ ไว้แล้ว เพียงแต่ปีนี้ฝนมันดันมาเร็วกว่าปกติ

........

ถ้าป้ายไม่ชัดเจนแบบนี้ แล้วใครต้องรับผิดชอบล่ะ ?

คำตอบ ก็คือ ต้องไปดูอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายว่า กรมอุทยานเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครเข้า หรือ ห้ามเข้าอุทยานหรือวนอุทยานใด ๆ หรือเปล่า ?

ถ้าใช่

กรมอุทยานได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือยัง ?

ถ้ายัง กรมอุทยานก็อาจต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ด้วย

ซึ่งเทียบเคียงได้กับ คำตัดสินของศาลปกครองหลายคดีเลยครับ

เช่น กทม. ที่พึ่งโดนเรื่องซานติก้าผับ เพราะมีหน้าที่ดูแลเรื่องการให้ใบอนุญาต แต่ทำไมไม่ตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยหากเกิดเหตุเพลิงไหม้จนนักเที่ยวหนีออกมาไม่ได้

หรือ หลายเทศบาลที่โดนศาลตัดสินให้รับผิดชอบกรณีที่คน หรือ รถตกท่อระบายน้ำที่ชำรุดหรือเปิดทิ้งไว้ เพราะเทศบาลไม่ทำป้ายเตือนให้เห็นชัด

เพียงแต่บางคดี หากศาลมองว่าผู้เสียหายก็มีส่วนประมาทด้วย ก็จะลดค่าเสียหายที่ผู้เสียหายควรจะได้ตามสัดส่วนของความประมาท

.

ผมไม่ได้บอกว่าเคสนี้กรมอุทยานผิดนะครับ (และผมก็ไม่อยากหาคนผิดด้วย)

เพียงแต่ผมอยากชี้ในมุมมองทางกฎหมาย ว่าอย่าพึ่งไปโทษเด็กทั้งหมด

เพราะหากถ้ำนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แล้วเขาไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่ง หรือทำผิดกฎอะไร หรือถึงแม้จะผิดแต่ถ้าเทียบสัดส่วนแล้วหน่วยงานรัฐผิดมากกว่า แบบนี้จะไปโทษเด็กทั้งหมดคงไม่ถูกต้องนัก

งั้นควรจะโทษหน่วยงานรัฐดีไหม ?

ผมว่าในเคสนี้ก็คงไม่มีผู้ปกครองน้องคนไปฟ้องเรียกค่าเสียหายหรอกครับ เพราะแค่ช่วยลูกเขาออกมาได้ แค่นี้เขาก็ดีใจ จนไม่รู้จะดีใจยังไงแล้ว

.

ที่ผมมาเสนอหรือชวนคุยเรื่องนี้ ก็เพียงแค่อยากให้คนที่กำลังหาคนผิด หรืออยากจะด่าเด็ก ๆ ลองคิด พิจารณาในมุมของกฎหมายเพิ่มเติมด้วยครับ

ส่วนถ้ามาถามความเห็นผมว่าใครผิด ?

ผมก็คงบอกว่า ผมมีข้อมูลไม่ครบถ้วน แล้วก็ไม่ใช่ศาลด้วย คงตัดสินไม่ได้ว่าใครถูก ใครผิดครับ

อาจจะไม่มีคนผิดเลย เพราะเป็นเหตุสุดวิสัยก็เป็นได้

.

เอาเป็นว่าเคสนี้ผมขอให้กำลังใจน้อง ๆ ทุกคนให้ออกมาโดยปลอดภัย

และขอชื่นชม ขอบคุณทีมกู้ภัยทุกคนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ นำทีมโดยท่าน ผวจ.เชียงราย ที่มีส่วนร่วมกันช่วยน้อง ๆ ออกมาจาก #ถ้ำหลวง

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะบอกว่า จริง ๆ แล้ว การถอดบทเรียน ก็ไม่จำเป็นต้องหาคนผิดเสมอไปนะครับ ^^!

ดร.พีรภัทร ฝอยทอง, CFP
ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย
3 ก.ค. 61

เครดิต :: https://www.facebook.com/drperapat.f/posts/2009451425739984?hc_location=ufi

...

ได้เจอบทความนี้น่าสนใจเป็นอีกมุมองค่ะ
ตอนนี้กระแสน้อง ๆ ติดถ้ำกำลังมาแรงมาก ทั้งยินดี และเริ่มมาดราม่าโทษนั่น โทษนี่
แต่บางครั้ง การถอดบทเรียน ก็ไม่จำเป็นต้องหาคนผิดเสมอไป เรารู้สึกเห็นด้วยกับบทความนี้

ตอนนี้น้องก็น่าจะได้รับบทเรียนแล้ว ตามความรู้สึกเราถามว่าผิดไหม ความคิดเราว่าน้องไม่ผิดนะคะ
แต่อาจจะประมาท และเกิดจากภัยธรรมชาติ ที่ไม่มีใครจะทราบว่าจะเกิดน้ำป่ามาล่วงหน้าและฝนตกหนักขนาดนั้น

ท้ายนี้ รู้สึกดีใจที่น้อง ๆ ปลอดภัย เหมือนน้องเป็นลูกเป็นหลานจริงๆ ค่ะ
และขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ทั้งคนไทยและต่างชาติ
ที่เสียสละอะไรหลาย ๆ อย่างมากเพื่อช่วยน้องๆ รวมทั้งชาวบ้านที่ยอมสละพื้นนาของตนเอง
ทุกคนคงตื้นตันใจ และรู้สึกดีใจที่ภารกิจการค้นหาครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้
ที่เหลือก็คือ การเอาใจช่วยให้น้อง ๆ ออกมาสู่อ้อมอกพ่อ แม่ครอบครัว ได้โดยเร็ว
ซึ่งนั่นก็คงเป็น เป้าหมายสูงสุดของน้อง นอกจากการหิวข้าว ^_^

มันคือพลังสามัคคีที่คนไทยและน้อง ๆ ที่ติดถ้ำคงจดจำไปอีกนานเท่านานค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่